ตัวอย่างเชื้อไวรอยด์ที่สำคัญ ของ ไวรอยด์

เชื้อไวรอยด์ที่สำคัญ

1. Chrysanthemum stunt viroid (CSVd) พบครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกาในปี 1945 (Dimock, 1947) และในช่วงทศวรรษที่ 50 เชื้อแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วไปยังแคนาดาและทั่วโลกที่มีการปลูกพืชวงศ์ chrysanthemum เนื่องจากขนส่งเคลื่อนย้ายไม้ตัดดอก (Lawson, 1987) CSVd เป็นเชื้อโรคที่สำคัญกับพืชทั่วไปและไม้ดอกหลายชนิด ลักษณะอาการที่สำคัญคือ ต้นแคระแกร็น ใบเสียรูปร่าง ระบบรากลดลง ยอดเกสรซีดและเป็นหมัน ในพืชบางชนิดจะทำให้เกิดอาการแคระแกร็นอย่างรุนแรง ซึ่งทำให้ผลผลิตเสียหาย เชื้อนี้สามารถแพร่กระจายไปกับเศษใบไม้จากพืชที่เป็นโรค (Hollings and Stone, 1973) ทางกล และการต่อกิ่ง (Brierley and Smith, 1949) ไม่สามารถถ่ายทอดโรคโดยแมลง (Brierley and Smith, 1951) และพบว่าในมะเขือเทศ CSVd สามารถถ่ายทอดโรคผ่านทางเมล็ดและละอองเกสรได้ (Kryczynski et al., 1988) อุณหภูมิและความเข้มของแสงจะมีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการเพิ่มปริมาณของเชื้อในพืช โดยการแสดงออกและความรุนแรงของโรคขึ้นกับปริมาณของเชื้อที่พืชได้รับรวมกับอุณหภูมิ ความเข้มของแสง และระยะเวลาที่พืชได้รับแสง โดยที่สภาวะที่ทำให้พืชแสดงอาการโรคได้ดีที่สุดคือ ที่ความเข้มแสงสูง อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 26 - 29°C (Handley and Horst, 1988) พบว่า เมื่อนำน้ำคั้นจากพืชเป็นโรคที่เก็บที่ 18°C นาน 7 สัปดาห์ ยังคงความสามารถทำให้พืชเกิดโรคได้ สามารถเจือจางเชื้อได้จนถึง 10-4 และพบว่ายังสามารถทำให้พืชเกิดโรคได้หลังจากที่ผ่านอุณหภูมิ 98°C นาน 10 นาที (Brierley, 1952; Hollings and Stone, 1973) และในสภาพที่เป็นเนื้อเยื่อแห้งที่เก็บนานอย่างน้อย 2 ปียังสามารถทำให้พืชเกิดโรคได้ (Keller, 1953) เชื้อชนิดนี้ไม่สามารถกำจัดโดยวิธีการ heat treatment ได้ การป้องกันทำโดยการแช่วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ในสารละลาย 2% trisodium orthophosphate (TSP) หรือ 2% formaldehyde หรือล้างมือใน 2% trisodium orthophosphate (TSP) ก่อนการตัดกิ่ง (Hollings and Stone, 1973)

2. Citrus exocortis viroid (CEVd) ลักษณะอาการที่สำคัญในมะเขือเทศคือจะมีอาการใบหงิกย่นม้วนลงและลดรูป ลำต้นเตี้ยแคระแกร็น ขนาดของผลลดลง ไวรอยด์ส่วนใหญ่มักจะอยู่ที่บริเวณเนื้อเยื่อ phloem ที่ยังเป็นเซลล์อ่อนอยู่ ส่วนใหญ่การกระจายของเชื้อจะกระจายในทิศทางสู่ยอดของลำต้น (Semancik et al., 1978; Baksh et al., 1983) ไวรอยด์ชนิดนี้อาศัยและเพิ่มปริมาณอยู่ในนิวเคลียสของเซลล์พืช (Semancik et al., 1976) และอาศัย host RNA polymerase II ในการเพิ่มปริมาณ (Warrilow and Symons, 1999) การแพร่กระจายของเชื้อจะแพร่กระจายโดยทางกล เช่น อุปกรณ์ในการตัดแต่งกิ่ง มีด กรรไกร

3. Columnea latent viroid (CLVd) ถูกค้นพบโดยการนำสารพันธุกรรมที่เตรียมได้จากใบที่ไม่แสดงอาการโรคของ Columnea erythrophea ถ่ายทอดไปยังมะเขือเทศสายพันธุ์ Rutgers โดยอาการของโรคที่แสดงออกในมะเขือเทศสายพันธุ์ Rutgers จะมีความคล้ายคลึงกับ PSTVd แต่อาการจะไม่รุนแรงเท่า PSTVd สายพันธุ์รุนแรง (Owen et al., 1978) พบว่าลำดับนิวคลีโอไทด์ส่วนใหญ่ของ CLVd จะมีความเหมือนกันกับไวรอยด์ในกลุ่ม PSTVd มาก แต่ลำดับนิวคลีโอไทด์ในบริเวณ central domain จะมีความเหมือนกับ HSVd นอกจากนี้เชื้อ CLVd สามารถก่อให้เกิดโรคได้ในมันฝรั่ง พืชในวงศ์ Cucurbitaceae และ Gynura aurantiaca

4. Cucumber pale fruit viroid (CPFVd) Sanger et al. (1976) พบว่าเชื้อ CPFVd สามารถทำให้เกิดโรคในมะเขือเทศได้ นอกเหนือจากพืชในวงศ์ Cucurbitaceae

5. Hop stunt viroid (HSVd) เป็นโรคที่มีความสำคัญใน hop สามารถติดโรคได้ในพืชในวงศ์ Cucurbitaceae องุ่น Solanaceae และ Moraceae ลักษณะอาการที่สำคัญคือทำให้พืชเกิดอาการเตี้ยแคระแกร็น ก้านใบสั้น ใบม้วนเหลือง ในมะเขือเทศพบว่าโรคนี้สามารถถ่ายทอดโรคได้โดยทางกลแต่ไม่สามารถถ่ายทอดโรคได้ทางเมล็ด (Sano and Shikata, 1988)

6. Mexican papita viroid (MPVd) แยกเชื้อได้จากพืช Solanum cardiophyllum Lindl. พบว่าลำดับนิวคลีโอไทด์ของ MPVd มีความใกล้เคียงกันกับ TPMVd และ PSTVd

7. Potato spindle tuber viroid (PSTVd) ก่อให้เกิดโรคในมะเขือเทศโดยใช้เวลาในการพัฒนาอาการ 4 - 5 สัปดาห์ หลังจากพืชได้รับเชื้อ ลักษณะอาการที่สำคัญ จะทำให้ผลมีขนาดเล็กลง เปอร์เซ็นต์ความงอกลดลง 24 - 48 เปอร์เซ็นต์ (Benson and Singh, 1964) ใบหงิกย่นโค้งลง ลดรูป และมีอาการใบเหลืองและม่วง ก้านใบหดลดขนาด เกิดอาการเซลล์ตายและต้นเตี้ยแคระแกร็น (Fernow et al., 1969) ในมันฝรั่งพบว่ามีการแตกพุ่มของตาข้าง ผลมีขนาดเล็กลง บิดยาว มีรูปร่างเหมือน dumb-bell ใบหงิกย่นโค้งลงและลดรูป นอกจากนี้ PSTVd ยังทำให้ผลผลิตของมันฝรั่งลดลง ซึ่งจะขึ้นกับชนิดพันธุ์ของมันฝรั่ง ความรุนแรงของเชื้อ และช่วงระยะเวลาที่มันฝรั่งได้รับเชื้อ (Pfannenstiel and Slack, 1980) พบว่าถ้าเป็นเชื้อสายพันธุ์ที่รุนแรงจะทำให้ผลผลิตลดลงมากกว่า 64 เปอร์เซ็นต์ ไวรอยด์ชนิดนี้สามารถถ่ายทอดโรคได้ทั้งทางเมล็ดและละอองเกสร ทั้งในมะเขือเทศและมันฝรั่ง (Benson and Singh, 1964; Hunter et al., 1969; Singh, 1970) และสามารถถ่ายทอดโรคผ่านทางกลได้ง่าย PSTVd สามารถติดเชื้อได้ทั่วทุกส่วนของพืช (Diener, 1987; Weidemann, 1987) ถึงแม้ว่า PSTVd มีการแพร่ระบาดไปเกือบทั่วโลก แต่จากข้อมูลในรายงานจาก European and Mediterranean Plant Protection Organization (EPPO)

8. Tomato apical stunt viroid (TASVd) พบการระบาดครั้งแรกใน Ivory Coast และ อินโดนีเซีย มีการรายงานว่าระบาดร้ายแรงใน อิสราเอล ลักษณะอาการที่สำคัญคือ ลำต้นข้อสั้น ใบเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหดย่นและเสียรูปร่าง ขนาดผลลดลง สีผลซีด ทำให้ผลผลิตลดลงอย่างมาก การแพร่ระบาดของโรคเกิดโดยผ่านทางกลและการต่อกิ่ง ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการถ่ายทอดโรคผ่านทางเมล็ดและทางละอองเกสร (Antignus et al., 2002)

9. Tomato bunchy top viroid (TBTVd) มีการรายงานครั้งแรกในประเทศแอฟริกาใต้ ลักษณะอาการมักจะขึ้นกับระยะการเจริญเติบโตของพืช (Diener, 1979) อาการโดยทั่วไปจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับเชื้อ PSTVd (Raymer and O’ Brien, 1962) โดยอาการเริ่มแรกจะพบเนื้อเยื่อตายบริเวณเส้นใบ จากนั้นอาการจะขยายไปตามความยาวของเส้นใบและจะกระจายไปยังก้านใบและลำต้น นอกจากนี้ยังทำให้ใบมีลักษณะผิดรูปร่าง ใบม้วนและมีขนาดเล็กลง มะเขือเทศที่ได้รับเชื้อ TBTVd สามารถออกดอกและติดผลได้แต่ผลจะมีขนาดเล็ก มีรูปร่างที่ผิดปกติ และมีจำนวนเมล็ดภายในผลลดน้อยลง (Diener, 1979, 1987)

10. Tomato chlorotic dwarf viroid (TCDVd) ลักษณะอาการที่สำคัญของโรค คือเกิดอาการใบเหลืองอย่างฉับพลัน การเจริญลดลง ต้นเตี้ยแคระแกร็น ใบแสดงอาการเป็นยอดพุ่ม (Singh et al., 1999)

11. Tomato planta macho viroid (TPMVd) ลักษณะอาการที่สำคัญของโรคจะทำให้ต้นมะเขือเทศเตี้ยแคระแกร็นอย่างรุนแรง มักมีการแตกใบยอดและใบข้างจำนวนมาก ส่วนใบด้านล่างแสดงอาการเหลือง แห้ง และร่วง พบอาการเนื้อเยื่อตายบริเวณเส้นใบและก้าน มะเขือเทศที่ติดเชื้อนี้จะมีการออกดอกติดผลมากกว่าปกติ แต่ผลที่ได้จะมีขนาดเล็ก สามารถถ่ายทอดโรคสู่มะเขือเทศโดยมีเพลี้ยอ่อนเป็นพาหะ (Galindo et al., 1982)