ภูมิหลังทางศาสนา ของ กรณีพิพาทอโยธยา

ที่ดินที่ซึ่งมัสยิดที่สร้างขึ้นในยุคกลาง มัสยิดบาบรี เคยตั้งอยู่นั้นเป็นพื้นที่ที่ชาวฮินดูเชื่อตามขนบว่าเป็นสถานที่ประสูติของพระราม เทพเจ้าในศาสนาฮินดู ประเด็นนี้ถือเป็นศูนย์กลางของกรณีพิพาทอโยธยาทั้งหมด[8]

รามชนมภูมิ (สถานที่ประสูติของพระราม)

ดูบทความหลักที่: รามชนมภูมิ

พระรามทรงเป็นหนึ่งในเทพเจ้าฮินดูที่ได้รับการเคารพบูชาสูงที่สุด พระองค์ทรงเป็นอวตารปางที่ 7 ของพระวิษณุ[9] มหากาพย์รามายณะระบุว่าพระรามประสูติในอโยธยา แก่พระนางเกาศัลยา (หรือพระนางเกาสุริยาในฉบับไทย) และ พระเจ้าทศรถ[10]

ในคัมภีร์ครุฑปุราณะระบุว่าอโยธยาเป็นหนึ่งในเจ็ดสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่บุคคลหนึ่งสามารถเข้าถึงโมกษะได้ เพื่อหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด[11]

มัสยิดบาบรี (มัสยิดของจักรพรรดิบาบูร์)

ดูบทความหลักที่: มัสยิดบาบรี

จักรพรรดิบาบูร์ทรงเป็นจักรพรรดิพระองค์แรกของจักรวรรดิโมกุล เชื่อกันว่าหนึ่งในนายพลของจักรวรรดิ มีร์บากี ได้สร้างมัสยิดบาบรี ("มัสยิดของจักรพรรดิบาบูร์") ขึ้นในปี 1528 ตามพระกระแสรับสั่ง[12] นักสำรวจของบริษัทอีสต์อินเดีย ฟรานซิส บูชานานรายงานว่าเขาพบจารึกบนผนังมัสยิดระบุไว้ดังที่กล่าวมาข้างต้น นอกจากนี้เขายังบันทึกคำบอกเล่าของชาวท้องถิ่นที่เชื่อกันว่ามัสยิดนี้สร้างขึ้นโดยจักรพรรดิออรังเซบ (ค. 1658 – 1707) หลังทรงทำลายโบสถ์พระรามที่เคยตั้งอยู่เดิม[13][14]

เอกสารเก่าแก่ที่สุดที่บันทึกการมีอยู่ของมัสยิดนั้นเป็นบันทึกของชัย สิงห์ที่สอง ขุนนางราชปุตในราชสำนักโมกึล ผู้ซึ่งซื้อที่ดินของมัสยิดและที่ดินโดยรอบในปี 1717 ในเอกสารของเขาได้ระบุถึงอาคารของมัสยิดที่มีสามโดม ที่กลับระบุว่าเป็น "สถานที่ประสูติ" (ฉถี; chhathi) ในพื้นที่ด้านหน้ายังพบ "แท่นบูชา" (จพุตร; chabutra) ที่ซึ่งพบศาสนิกชนเข้ามาประกอบพิธีกรรมบูชา[15] รายละเอียดทั้งหมดได้รับการยืนยันโดยนักบวชเยซูอิต Joseph Tieffenthaler ในครึ่งศตวรรษถัดมา[16] Tieffenthaler ยังระบุต่ออีกว่า "ที่เห็น [มีการบูชาโดยชาวฮินดูอยู่ด้วยนี้] ด้วยเมื่อครั้งหนึ่งในอดีตกาลเคยเป็นที่ที่พระเพสจัน (Beschan) [หมายถึงพระวิษณุ] ได้ประสูติในปางอวตารเป็นพระราม"[17]

ทั้งชาวฮินดูและมุสลิมได้มีการระบุไว้ว่าล้วนเข้ามาประกอบพิธีกรรมใน "มัสยิด-มนเทียร" (mosque-temple) นี้ โดยชาวมุสลิมประกอบพิธีในมัสยิด และชาวฮินดูอยู่นอกมัสยิดแต่ยังอยู่ในที่ดิน หลังอินเดียตกอยู่ภายใต้การปกครองของบริเตน รัฐบาลบริเตนได้แบ่งพื้นที่ทั้งสองออกจากกันเพื่อป้งอกันการวิวาทกัน[18] ในปี 1949 ภายหลังอินเดียได้รับเอกราช ได้มีคนนำเทวรูปของพระรามไปประดิษฐานภายในมัสยิด อันเป็นฉนวนให้เกิดการวิวาทตามมา[19]

ใกล้เคียง

กรณีพิพาทพรมแดนไทย–กัมพูชา กรณีพิพาทอินโดจีน กรณีพิพาทหมู่เกาะคูริล กรณีพิพาทอโยธยา กรณีพิพาทกู่เต็งนาโย่ง กรณีพิพาทชื่อทะเลญี่ปุ่น กรณีพิพาทหมู่เกาะเซ็งกากุ กรณีพิพาทกัศมีร์ กรณีพิพาทเปดราบรังกา กรณีพิพาทกุญแจเข้ารหัสเอเอซีเอส