การค้าภายใต้ระบบอาณานิคม ของ การค้าเครื่องเทศ

จากบันทึกของสารานุกรมบริตานิกา ค.ศ. 2002: “เฟอร์ดินานด์ มาเจลลันเริ่มเดินทางให้กับสเปนในปี ค.ศ. 1519 ในบรรดาเรือห้าลำภายใต้การนำมีเพียงลำเดียวคือเรือวิกตอเรีย ที่เดินทางกลับสเปนด้วยความสำเร็จพร้อมด้วยกานพลูเต็มท้องเรือ”[1]

แผนที่แสดงตำแหน่งที่ตั้งถิ่นฐานของชาวยุโรปในอินเดีย

การสำรวจของดัตช์เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกจากอัมสเตอร์ดัมเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1595 โดยมีจุดหมายการเดินทางไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[24] กองเรืออีกกองหนึ่งออกเดินทางในปี ค.ศ. 1598 และกลับมาในปีต่อมาพร้อมด้วยเครื่องเทศหนัก 600,000 ปอนด์และสินค้าอื่น ๆ จากอินเดียตะวันออก[24] หลังจากนั้นสหบริษัทอินเดียตะวันออกที่ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1602 ก็เริ่มผูกขาดการค้าขายกับผู้ผลิตกานพลูและจันทน์เทศหลัก[24] ระหว่างนั้นบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษก็ส่งเครื่องเทศเป็นจำนวนมากกลับมายังยุโรปในคริสต์ศักราช 17[24]

จากบันทึกของสารานุกรมบริตานิกา ค.ศ. 2002:[1]

ในปี ค.ศ. 1602 บริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ได้รับการก่อตั้งขึ้นโดยอำนาจของรัฐสภาแห่งเนเธอร์แลนด์ (States-General of the Netherlands) ในปี ค.ศ. 1664 บริษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศสโดยการอนุมัติของรัฐบาลภายใต้พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ชาติยุโรปอื่น ๆ ต่างก็ออกใบอนุญาตแก่บริษัทอินเดียตะวันออกโดยได้รับความสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง ที่ตามมาด้วยความแก่งแย่งที่จะมีอภิสิทธิ์และเอกสิทธิ์ในการควบคุมการค้า โปรตุเกสมีอิทธิพลเหนือกว่าประเทศใดอยู่ราว 100 ปีแต่ในที่สุดก็มาเสียอำนาจให้แก่อังกฤษและดัตช์ เมื่อมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ของอังกฤษก็มาอยู่ในอินเดียและศรีลังกา ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ดัตช์มาควบคุมการค้าส่วนใหญ่ในอินเดียตะวันออกตะวันออก

การแข่งขันเพื่อที่จะควบคุมการค้าขายเครื่องเทศที่เพิ่มมากขึ้นนำไปสู้ความขัดแย้งที่ทำให้ต้องใช้กำลังทางทหารในการพยายามแก้ปัญหา[24] ในปี ค.ศ. 1641 หมู่เกาะโมลุกกะของโปรตุเกสก็ถูกยึดโดยดัตช์[24] การยึดโมลุกกะทำให้เกิดการทำไร่กานพลูและจันทน์เทศกันเป็นอุตสาหกรรมกันบนเกาะ ในขณะเดียวกันก็มีการพยายามกำจัดการปลูกบนเกาะอื่นโดยใช้สนธิสัญญาปัตตาเวีย (ค.ศ. 1652) ทั้งนี้ก็เพื่อการควบคุมปริมาณของผลผลิตของตลาดเพื่อรักษาราคา[24] ความพยายามครั้งนี้เป็นการยุติระบบการค้าขายเครื่องเทศที่ทำกันมาในอดีตและเป็นการลดจำนวนประชากรของหมู่เกาะต่าง ๆ โดยเฉพาะในหมู่เกาะบันดา[24]

การค้าขายโดยชาวยุโรประหว่างบริเวณต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกันทำผลกำไรได้มากกว่าการนำกลับไปขายยังบ้านเกิด ในคริสต์ทศวรรษ 1530 โปรตุเกสขนกานพลู และผลิตผลจากจันทน์เทศไปยังอินเดียและออร์มุซมากกว่าจำนวนที่ส่งไปยังโปรตุเกส ผู้ซื้อในออร์มุซก็ได้แก่พ่อค้ามัวร์ผู้ส่งต่อไปขายยังเปอร์เซีย‎ อาหรับ และประเทศในเอเชียอื่น ๆ จนถึงตุรกี ตั้งแต่อย่างน้อยก็ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 สินค้าอย่างเดียวกันก็ถูกส่งไปยังเบงกอลโดยโปรตุเกสและดัตช์ พ่อค้าอังกฤษพบว่าการค้าเครื่องเทศเป็นไปอย่างดีกว่าที่คาดที่สุรัต (Surat) และตามเมืองต่าง ๆ ในอินเดียและเปอร์เซีย‎ ระหว่าง ค.ศ. 1620 ถึง ค.ศ. 1740 ดัตช์ทำการค้ากว่าหนึ่งในสามของตลาดเครื่องเทศโดยเฉพาะการค้ากานพลูในเอเชียที่รวมทั้งเปอร์เซีย อาหรับ และอินเดีย โปรตุเกสขายให้ญี่ปุ่นจากมาเก๊าและต่อมาดัตช์ แต่ความต้องการกานพลูและเครื่องเทศเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 อยู่ในระดับต่ำซึ่งเป็นผลให้ราคาลดตามลงไปด้วย

ปีนังซึ่งเป็นอาณานิคมอังกฤษได้รับการก่อตั้งขึ้นเป็นเมืองท่าสำหรับการค้าพริกไทยในปี ค.ศ. 1786[25] ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 18 อาณานิคมของฝรั่งเศสในอินเดียก็ถูกยึดโดยอังกฤษผู้พยายามควบคุมการค้าขายของดัตช์ในบริเวณตะวันออกไกล[26] อิทธิพลของอังกฤษที่เพิ่มมากขึ้นเป็นผลให้อิทธิพลของบริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์เริ่มอ่อนตัวลง[26]

ในปี ค.ศ. 1585 เรือจากเวสต์อินดีสก็เดินทางมาถึงยุโรปพร้อมด้วย “ขิงจาเมกา” ที่เดิมปลูกกันในอินเดียและทางใต้ของประเทศจีน ซึ่งเป็นเครื่องเทศชนิดแรกจากเอเชียที่ไปเติบโตในโลกใหม่สำเร็จ[27] ความคิดที่ว่าต้นไม้หรือพืชพันธุ์ไม่สามารถนำไปปลูกนอกบริเวณดั้งเดิมที่เชื่อกันมาจนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 ที่สนับสนุนโดยก็นักพฤษศาสตร์คนสำคัญของสมัยนั้นเช่นจอร์จ อีเบอร์ฮาร์ด รัมเฟียส[27] ก็หมดความหมายไปจากการทดลองปลูกพืชพันธุ์ต่าง ๆ ในยุโรปและคาบสมุทรมลายูระหว่างต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18[28]

เมื่อมาถึงปี ค.ศ. 1815 การส่งผลผลิตของจันทน์เทศจากสุมาตราก็มาถึงยุโรปเป็นครั้งแรก[25] นอกจากนั้นหมู่เกาะในเวสต์อินดีสเช่นเกรนาดาก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของการค้าขายเครื่องเทศ[25]

บริติชสร้างกำแพงป้องกันที่ตั้งถิ่นฐานในปีนังเช่นที่ฟอร์ตคอร์นวาลลิส

ไม้จันทน์จากติมอร์และทิเบตก็เริ่มมีความสำคัญมากขึ้นเและกลายเป็นสินค้ามีค่าของจีนระหว่างต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18[29] เอเชียตะวันออกนิยมใช้สินค้าที่ทำจากไม้จันทน์ที่ใช้ในการแกะพระพุทธรูปและสิ่งมีค่าอื่น ๆ[29]

ระหว่างครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 19 พ่อค้าจากเมืองซาเลม แมสซาชูเซตส์ได้ผลกำไรเป็นอันมากจากการค้าขายกับสุมาตรา[30] รัฐสุลต่านอาเจะฮ์ที่ตั้งอยู่ตอนปลายของเกาะสุมาตรากลายมาเป็นผู้มีอำนาจในการค้าขายเครื่องเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อชนอาเจะฮ์ต่อต้านการรุกรานของดัตช์โดยหันไปเป็นพันธมิตรกับผู้ค้าขายจากซาเล็ม[31] ในปี ค.ศ. 1818 การค้าขายระหว่างซาเล็มและสุมาตราก็เกิดขึ้นหลายครั้งอย่างไม่มีเหตุการณ์สำคัญใดใด[32] มาจนกระทั่งเมื่อถูกโจมตีโดยโจรสลัดเข้าหลายครั้ง ซึ่งทำให้เกิดข่าวลือกันไปต่าง ๆ ในวงผู้ค้าขายถึงอันตรายของนักเดินเรือชาวอินเดียและชาวยุโรปที่ประสบจากน้ำมือของโจรสลัดในบริเวณนั้น[32] สหรัฐอเมริกาแก้ปัญหาโดยใช้มาตรการการลงโทษหลังจากที่ผู้ค้าขายจากนิวอิงแลนด์ประสบภัยจากโจรสลัดและหลังจากกะลาสีของเรือสินค้าห้าคนถูกสังหารซึ่งถือว่าเป็นเหตุการณ์อันร้ายแรงที่มีผลกระทบกระเทือนต่อความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสุมาตราและซาเล็ม[32]

การประดิษฐ์ระบบการทำความเย็น (refrigeration) ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นผลทำให้ความต้องการเครื่องเทศโดยทั่วไปลดลงซึ่งก็ทำให้มีผลกระทบกระเทือนต่อการค้าขายเครื่องเทศโดยตรง[33]

ใกล้เคียง

การค้าประเวณี การค้าประเวณีเด็ก การค้าประเวณีในประเทศไทย การค้นหาแบบทวิภาค การค้าเครื่องเทศ การค้นหาแบบเอสตาร์ การค้นหาและกู้ภัยในเขตเมือง การค้นหาในแนวกว้าง การค้าระหว่างประเทศ การค้นหาในแนวลึกแบบวนเพิ่มความลึก