รูปแบบย่อยและอาการ ของ ความผิดปรกติในความคิด

ความผิดปกติในความคิด (thought disorder) อาจต่อเนื่องจากพฤติกรรมปกติคือ คนปกติอาจมีอาการเป็นบางครั้งบางคราวเช่นเมื่อเหนื่อยหรือเมื่อเสียความยับยั้งชั่งใจ เมื่อนักเขียนใช้ภาษาแบบสร้างสรรค์ หรือเมื่อคนในอาชีพบางอย่างเช่น นักการเมือง ผู้บริหาร นักปรัชญา รัฐมนตรี หรือนักวิทยาศาสตร์ใช้ภาษาแบบเป็นวิชาการ/แบบเป็นทางการมากเกิน หรือเมื่อคนที่ไม่ค่อยฉลาดหรือไม่มีการศึกษาใช้ภาษาคล้ายกับคนไข้ที่มีอาการโรคทางจิตอย่างรุนแรง[12]

เพื่อพิจารณาว่าคนไข้มีอาการนี้หรือไม่ แพทย์พยาบาลจะสังเกตดูการพูดอย่างละเอียดแม้การมีอาการต่าง ๆ ที่จะกล่าวต่อไปจะเป็นเรื่องปกติในบางครั้ง แต่ระดับความผิดปกติ ความถี่ และผลต่อการใช้ชีวิตก็จะเป็นตัวให้สรุปว่าคนไข้มีอาการนี้หรือไม่[13]คนไข้ควรจะประเมินภายในบริบทเช่น คนไข้ควบคุมอาการนี้ได้หรือไม่ สามารถลดลงเมื่อขอให้กล่าวอย่างเจาะจงหรือย่างกระชับขึ้นได้หรือไม่ พูดดีขึ้นไหมเมื่อกล่าวถึงอีกเรื่องหนึ่ง มีอาการที่สำคัญอย่างอื่น ๆ อีกหรือไม่ คนไข้มีพื้นเพอย่างไร (เช่น การศึกษาและระดับเชาวน์ปัญญา)[12]อนึ่ง ความใส่ใจที่พิการ ความจำไม่ดี และปัญหาการเข้าใจความคิดทางนามธรรมอาจแสดงว่ามีความผิดปกตินี้ ซึ่งสามารถเฝ้าสังเกตหรือประเมินด้วยแบบประเมินสถานะทางจิตใจ เช่น serial sevens[upper-alpha 1]หรือการตรวจสอบความจำ[10]

มีรูปแบบย่อยที่ได้ตั้งชื่อหลายอย่างและอาจสับสนได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อกล่าวถึงโดยไม่ระบุว่าเป็นรูปแบบย่อยของความผิดปกติทางความคิด[15]รูปแบบย่อยต่าง ๆ ที่อาจพบในวรรณกรรมแพทย์รวมทั้ง

  • อาการพูดน้อย (alogia หรือ poverty of speech)[16] คือพูดน้อยไม่ว่าจะโดยปริมาณหรือโดยเนื้อความ ในการจัดอาการของโรคจิตเภทเป็นอาการเชิงบวกหรืออาการเชิงลบ มันเป็นอาการเชิงลบ แต่เมื่อจัดลงในหมวดหมู่ที่มากกว่านั้น การพูดน้อยโดยเนื้อความ (poverty of speech content) คือพูดสื่อความได้น้อยแม้ปริมาณคำพูดจะปกติ เป็นอาการสับสน (disorganization symptom) อย่างหนึ่ง เทียบกับการพูดน้อยโดยปริมาณ (poverty of speech) ที่เป็นอาการเชิงลบอย่างหนึ่ง[16] ในแบบการวัดเพื่อประเมินอาการบกพร่องสำหรับโรคจิตเภท (SANS) ซึ่งใช้ในงานวิจัยทางคลินิก อาการความคิดชะงัก (thought blocking) และการเพิ่มความล่าช้าในการตอบ (increased latency in response) ก็จัดเป็นส่วนของอาการพูดน้อยด้วย[17]
  • อาการความคิดชะงัก (thought blocking)[18] คือการคิดชะงักไปโดยยังไม่จบเรื่อง คนไข้อาจหรือไม่อาจดำเนินความคิดต่อไปได้[19] นี่เป็นความผิดปกติทางความคิดอย่างหนึ่งที่เห็นในโรคจิตเภท[2]
  • อาการคิดอ้อมค้อม (circumstantiality, circumstantial thinking, circumstantial speech)[18] คือบอกรายละเอียดที่ไม่จำเป็นโดยมักไม่เข้าประเด็นคำถามแต่ก็ยังไม่เสียประเด็นหลัก[20] ไม่สามารถตอบคำถามโดยไม่ให้รายละเอียดเกินควรและไม่จำเป็น[21] ต่างกับอาการตอบเฉียด (tangentiality) เพราะคนไข้ยังกลับไปยังประเด็นหลักได้ ตัวอย่างเช่น คนไข้ตอบคำถามคือ "ตอนนี้นอนหลับดีไหม" ว่า "ผมนอนตั้งแต่เช้าจะได้นอนพอ ผมชอบฟังเพลงหรืออ่านหนังสือก่อนนอน ผมกำลังอ่านนิยายปริศนาอยู่ บางทีผมอาจจะเขียนนิยายปริศนาในอนาคต แต่มันไม่ได้ช่วยหรอก หมายถึงการอ่านหนังสือน่ะ ผมนอนได้เพียง 2-3 ชม. ตอนกลางคืน"[22]
  • อาการคิดสัมผัสเสียง (clanging, clang association)[18] เป็นอาการความคิดแล่นเตลิด (flight of ideas) ที่รุนแรง ที่ไอเดียต่าง ๆ จะสัมพันธ์กันตามสัมผัสเสียงหรือสัมผัสอักษร ไม่ได้ตามความหมาย[19] ในภาษาอังกฤษ คนไข้อาจกล่าว่า "Many moldy mushrooms merge out of the mildewy mud on Mondays." (ตามสัมผัสอักษร) หรือ "I heard the bell. Well, hell, then I fell." (ตามสัมผัสเสียง) ปกติมักเห็นในคนไข้โรคอารมณ์สองขั้วในระยะฟุ้งพล่าน แต่ก็เห็นด้วยในอาการโรคจิตที่มีเหตุจากโรคทางจิตเวช คือ โรคจิตเภท และ schizoaffective disorder
  • อาการคิดนอกเรื่อง (derailment, loose association, knight's move thinking)[18] ความคิดเปลี่ยนจากเรื่องหนึ่งไปยังอีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกันนิด ๆ หน่อย ๆ หรือไม่เกี่ยวเลย มักจะเห็นในคำพูดแต่ก็เห็นในการเขียนด้วย[23] เช่น "พรุ่งนี้ฉันจะออกจากบ้านนะ ฉันเข้าไปจัดการ เออ ฉันใส่ยาฟอกสีในผมของฉันในรัฐแคลิฟอร์เนีย"[24]
  • อาการพูดวอกแวก (distractible speech) คือเมื่อพูดอยู่ยังไม่จบ คนไข้เปลี่ยนประเด็นไปอีกเรื่องหนึ่งเพราะสิ่งเร้าภายนอกใกล้ ๆ เช่น "ต่อจากนั้น ฉันก็ย้ายที่อยู่จากซานฟรานซิสโกไปยัง... คุณได้เน็คไทนั้นมาจากที่ไหน"[25]
  • อาการพูดเลียน (echolalia)[26] คืออาการเลียนคำหรือวลีของผู้อื่นที่ทำโดยอัตโนมัติและไม่รู้ตัว[19][27][28] อาจทำครั้งเดียว หรือทำซ้ำ ๆ อย่างต่อเนื่อง อาจเลียนแค่คำสุดท้าย ๆ ที่คนอื่นพูด อาจเป็นอาการอย่างหนึ่งของ Tourette's Syndrome ตัวอย่างเช่น (ถาม) "จะกินข้าวเย็นไหม" (ตอบ) "จะกินข้าวเย็นไหม [หยุดไปครู่หนึ่ง] กิน มีอะไรกิน"[29]
  • อาการพูดเลี่ยงความคิดต่อไป (evasion) คือเปลี่ยนความคิดต่อไปตามเหตุผลในลำดับความคิด ด้วยความคิดอื่นที่ใกล้ ๆ กันแต่ไม่สมควรหรือไม่ถูกต้อง เรียกด้วยว่า paralogia หรือ perverted logic[30][31] ตัวอย่างภาษาอังกฤษเช่น "I... er ah... you are uh... I think you have... uh-- acceptable erm... uh... hair."
  • อาการความคิดแล่นเตลิด (flight of ideas)[18] คือกระโดดจากประเด็นหนึ่งไปยังอีกประเด็นหนึ่ง แม้จะอาจจะสัมพันธ์กันบ้าง อาจเป็นเพราะความคล้ายกันของประเด็น หรือในกรณีที่รุนแรงขึ้น เพราะสัมผัสเสียง เพราะคำที่มีความหมายหลายนัย เพราะเล่นคำ หรือเพราะสิ่งเร้าธรรมดา ๆ รอบ ๆ ตัว เช่น เสียงนกร้อง ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของคราวฟุ้งพล่านในโรคอารมณ์สองขั้ว[19]
  • ความไม่สมเหตุผล (illogicality)[32] คือสรุปเรื่องโดยไม่สมเหตุผล (โดย non-sequitur หรือการอนุมานที่ผิดพลาด) เช่น "คุณคิดว่านี่จะใส่ในกล่องได้ไหม" ตอบเช่นว่า "พูดเล่นหรือไง มันเป็นสีน้ำตาลไม่ใช่หรือ"
  • พูดไม่ปะติดปะต่อ (incoherence, word salad)[18] พูดเข้าใจไม่ได้เพราะแม้จะใช้คำที่มีจริง ๆ แต่วิธีประกอบคำเข้าด้วยกันทำให้ไร้ความหมาย ปะติดปะต่อไม่ได้[19] เช่น ถามว่า "ทำไมคนถึงหวีผม" ตอบว่า "เพราะมันทำให้เป็นวงในชีวิต กล่องของฉันเสีย ช่วยฉันด้วย ช้างสีน้ำเงิน ผักกาดช่างกล้าหาญจริง ๆ เนอะ ฉันชอบอิเล็กตรอน ฮัลโหล ขอที!"
  • การเสียจุดมุ่งหมาย (loss of goal)[33] การไม่ตามกระแสความคิดไปให้ถึงข้อยุติตามปกติได้[34] เช่น ถามว่า "ทำไมคอมพ์ของฉันถึงล้มอยู่เรื่อย" ตอบว่า "คือ คุณอยู่ในบ้านปูนฉาบ ดังนั้น กรรไกรจึงต้องอยู่ในลิ้นชักอีกอันหนึ่ง"
  • การสร้างคำใหม่ (neologism)[18] เมื่อใช้ในบริบททางประสาทวิทยาหรือจิตพยาธิวิทยา หมายถึงการสร้างคำ วลี หรือสำนวนใหม่ ที่ปกติคนอื่นเข้าใจความหมายและที่มาไม่ได้ ตัวอย่างในภาษาอังกฤษก็คือ การใช้คำว่า klipno เพื่อเรียกนาฬิกา (watch)[35][36] แม้คำภาษาอังกฤษว่า neologism อาจใช้หมายถึงคำที่สร้างขึ้นอย่างไม่ถูกต้องแต่สามารถเข้าใจที่มาได้ (เช่น "headshoe"-รองเท้าศีรษะ แทน hat-หมวก) แต่จะชัดเจนกว่าถ้าเรียกว่า word approximation (การสร้างคำเลียน)[37]
  • การรวมรายละเอียดเกิน (overinclusion)[26] คือรวมรายละเอียดที่ไร้ประโยชน์ ไม่สมควร ไม่ตรงประเด็น เกินความต้องการเกี่ยวกับเรื่องหนึ่ง ๆ[38][39]
  • การคงใช้คำพูดซ้ำ ๆ (perseveration)[26] คือคงยืนใช้เสียง คำหรือวลีซ้ำ ๆ แม้เมื่อคนอื่นพยายามเปลี่ยนประเด็นการพูด[19][40][41] เช่น "ดีใจมากเลยที่ได้มาอยู่ที่เนวาดา เนวาดา เนวาดา เนวาดา" หรืออาจตอบคำถามแบบเดิม ๆ แม้จะเปลี่ยนคำถามไปแล้ว เช่น "คุณชื่อแมรี่ใช่ไหม" "ใช่" "คุณอยู่ใน รพ. หรือเปล่า" "ใช่" "คุณเป็นโต๊ะใช่ใหม่" "ใช่" อาการอาจรวมอาการพูดซ้ำเร็ว (palilalia) และการพูดซ้ำพยางค์สุดท้ายของคำ (logoclonia) อาจเป็นตัวบ่งชี้ว่ามีโรคสมองที่เป็นโรคกายเช่น โรคพาร์คินสัน
  • การพูดเร็ว (pressure of speech)[32] คือพูดไม่หยุด เร็ว ไม่หยุดแม้ชั่วครู่[19] ขัดจังหวะได้ยาก อาจพูดต่อไปแม้เมื่อถามคำถามอื่นตรง ๆ เป็นการพูดมากผิดปกติ[42]
  • การพูดมีเนื้อความน้อย (Poverty of content of speech)[16] คือปริมาณคำพูดที่ใช้ตอบคำถามอาจจะปกติแต่คำพูดมักคลุมเครือ ตรงไปตรงมาเกิน เป็นนามธรรมเกิน ซ้ำ ๆ เกิน พูดเป็นพิมพ์เดียว และสื่อความหมายได้น้อย[17] เช่น คนไข้ตอบคำถาม "ทำไมถึงได้เข้า รพ." ว่า “ผมมักจะใคร่ครวญ มันเป็นเรื่องทั่วไปของโลก มันเป็นแนวโน้มที่ต่างกันไปบ้างเป็นครั้งเป็นคราว มันระบุเรื่องต่าง ๆ มากกว่าสิ่งอื่น ๆ มันอยู่ในลักษณะนิสัย นี่เป็นสิ่งที่ผมอยากจะกล่าวเพื่ออธิบายทุกสิ่งทุกอย่าง”[38]
  • พูดวางท่า (stilted speech)[43] คือพูดเป็นรูปแบบ/ตามภาษาเขียน/ตามภาษาทางการ มีพิธีรีตอง วางท่า สุภาพ ไม่คุ้นเคย ล้าสมัย[44] เป็นภาษาดอกไม้[19] ตามกฎเกณฑ์/ระเบียบวิธี เป็นปรัชญา อย่างเลยเถิด[45] ตัวอย่างภาษาอังกฤษเช่น "The attorney comported himself indecorously." (ทนายวางท่าอย่างไม่เหมาะ)
  • อาการตอบเฉียด (tangentiality)[18] คือพูดโดยมักออกนอกประเด็น ไม่กล่าวถึงประเด็นหลัก[46] มักตอบคำถามอย่างอ้อม ๆ[47][19] เช่น สำหรับคำถาม "คุณมาจากไหน" ตอบว่า "สุนัขของผมมาจากประเทศอังกฤษ ปลาและแผ่นมันฝรั่งทอดที่นั่นอร่อย ปลาหายใจด้วยเหงือก"
  • อาการพูดหรือเขียนซ้ำ ๆ อย่างไร้ความหมาย (verbigeration)[48] เป็นคำหรือวลีที่พูดหรือเขียนซ้ำ ๆ และไร้ความหมายโดยใช้แทนที่คำพูดที่เข้าใจได้ ดังที่เห็นในโรคจิตเภท[48][49]
  • การสร้างคำเลียน (word approximations) คือใช้คำเก่าสร้างคำใหม่อย่างไม่ถูกต้อง แต่ที่มาของคำสามารถเข้าใจได้ ตัวอย่างภาษาอังกฤษเช่น เช่น "headshoe"-รองเท้าศีรษะ แทน hat-หมวก[37]

ใกล้เคียง

ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย ความผิดปกติทางบุคลิกภาพ ความผิดปกติทางอารมณ์ ความผิดปรกติในความคิด ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบหลงตัวเอง ความผันแปรได้ทางพันธุกรรม ความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ ความผิดทางพินัย ความผิดปกติทางจิต

แหล่งที่มา

WikiPedia: ความผิดปรกติในความคิด http://www.sciencedirect.com/science/article/pii/0... //www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5519298 //www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/18297385 //www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/19521143 //www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/496551 http://www.who.int/entity/classifications/icd/en/b... //doi.org/10.1001%2Farchpsyc.1979.01780120045006 //doi.org/10.1007%2F978-1-4939-2528-5 //doi.org/10.1007%2Fs10803-007-0526-6 //doi.org/10.1037%2F14646-000