ประเภท ของ ความเอนเอียงเพื่อยืนยัน

ความลำเอียงเพื่อยืนยันเป็นปรากฏการณ์เกี่ยวกับการประมวลข้อมูลซึ่งต่างจากปรากฏการณ์ที่ยืนยันด้วยการกระทำ ที่เรียกว่า self-fulfilling prophecy (แปลว่า คำพยากรณ์ที่เป็นจริงในตัวเอง)ซึ่งพฤติกรรมที่เกิดจากความหวัง เป็นเหตุให้ความหวังนั้นกลายเป็นจริง[4] นักจิตวิทยาบางท่านใช้คำว่าความลำเอียงเพื่อยืนยัน เพื่อหมายถึงความโน้มน้าวที่จะหลีกเลี่ยงการยกเลิกความเชื่อเก่า ๆในขณะที่กำลังค้นหาหลักฐาน ตีความหมายหลักฐาน หรือระลึกถึงหลักฐานนั้น ๆ จากความจำ ส่วนนักจิตวิทยาพวกอื่นจำกัดการใช้คำนี้ในเรื่องการสั่งสมหลักฐานโดยเลือก (แต่สิ่งที่ยืนยันความเชื่อ)[5][upper-alpha 3]

การหาข้อมูลอย่างลำเอียง

งานทดลองต่าง ๆ พบเหมือน ๆ กันว่า มนุษย์มักตรวจสอบสมมติฐานจากทางด้านเดียวโดยค้นหาหลักฐานที่จะลงรอยกับสมมติฐานของตน[6][7] แทนที่จะสืบหาหลักฐานที่เกี่ยวข้องกันทั้งหมด มนุษย์มักตั้งคำถามเพื่อที่จะได้รับคำตอบเชิงบวกที่สนับสนุนสมมติฐานของตน[8]คือมักค้นหาผลที่จะเกิดขึ้นถ้าสมมติฐานของตนตรงกับความจริง ไม่ค้นหาผลที่เกิดขึ้นถ้าสมมติฐานของตนไม่ตรงกับความจริง[8] ยกตัวอย่างเช่น สำหรับบุคคลที่ใช้คำถามแบบถูกไม่ถูกเพื่อจะสืบหาตัวเลขที่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเลข 3 อาจตั้งคำถามว่า "เลขนี้เป็นเลขคี่ใช่ไหม" บุคคลมักนิยมคำถามชนิดนี้ ซึ่งเป็นคำถามที่เรียกว่า การทดสอบเชิงบวก (positive test) แม้ว่าการใช้คำถามเชิงลบว่า "เลขนี้เป็นเลขคู่ใช่ไหม" ความจริงแล้วก็จะได้ข้อมูลที่เหมือนกัน[9] แต่ว่า ไม่ใช่หมายความว่า แต่ละคนจะตรวจสอบที่จะได้คำตอบเป็นบวกเสมอไป ในงานทดลองที่ผู้ร่วมการทดลองสามารถเลือกการตรวจสอบเทียมหรือการตรวจสอบที่จะให้วินิจฉัยความจริงได้ ผู้ร่วมการทดลองชอบใจการตรวจสอบที่จะให้วินิจฉัยความจริงได้[10][11]

นอกจากนั้นแล้ว ความชอบใจในการทดสอบเชิงบวกไม่ใช่เป็นความเอนเอียงโดยตรง เนื่องจากว่าการทดสอบเช่นนี้สามารถให้ข้อมูลที่ดี[12] แต่ว่า เมื่อรวมเข้ากับพฤติกรรมอื่น ๆ วิธีเช่นนี้สามารถใช้เพื่อยืนยันความเชื่อหรือสมมติฐานของตน ไม่ว่าความเชื่อนั้นจะเป็นความจริงหรือไม่[13] ในชีวิตจริง หลักฐานข้อมูลต่าง ๆ มักซับซ้อนและปรากฏคละกัน ยกตัวอย่างเช่น ข้อคิดเห็นต่าง ๆ ที่ขัดแย้งกันเองเกี่ยวกับบุคคลหนึ่ง แต่ละอย่างสามารถสนับสนุนได้โดยดูพฤติกรรมด้านหนึ่งของบุคคลนั้น[7] ดังนั้น การหาหลักฐานเพื่อที่จะสนับสนุนสมมติฐานหนึ่ง ๆ จึงมีโอกาสประสบผลสำเร็จสูง[13] ตัวอย่างหนึ่งก็คือ การตั้งคำถามสามารถมีผลต่อคำตอบได้โดยนัยสำคัญ[7] เช่นคำถามว่า "คุณมีความสุขในชีวิตสังคมของคุณหรือไม่" มักได้คำตอบเชิงบวกมากกว่าคำถามว่า "คุณไม่มีความสุขในชีวิตสังคมของคุณใช่ไหม"[14]

แม้แต่การเปลี่ยนแปลงคำถามเพียงเล็กน้อยสามารถมีผลต่อวิธีการที่ผู้ตอบเสาะหาข้อมูลเพื่อจะตอบและดังนั้น จึงมีผลต่อคำตอบมีการแสดงให้เห็นอย่างนี้ โดยงานวิจัยที่สมมุติคดีฟ้องร้องเกี่ยวกับการปกครองของเด็ก[15] คือมีการให้ผู้ร่วมการทดลองอ่านความว่า ผู้ปกครอง "ก" มีความเหมาะสมพอประมาณในการเป็นผู้ปกครองเพราะเหตุหลายอย่างและผู้ปกครอง "ข" มีคุณสมบัติและคุณวิบัติที่เด่นหลายอย่าง เช่นมีความใกล้ชิดกับเด็กแต่มีอาชีพที่ต้องจากเด็กไปเป็นระยะเวลายาวนาน เมื่อถามว่า "ผู้ปกครองคนไหนควรจะได้รับสิทธิปกครองเด็ก" ผู้ร่วมการทดลองโดยมากเลือกผู้ปกครอง ข เพราะสืบหาแต่ลักษณะที่ดี ๆแต่เมื่อถามว่า "ผู้ปกครองคนไหนไม่ควรจะได้รับสิทธิปกครองเด็ก" ผู้ร่วมการทดลองโดยมากก็เลือกผู้ปกครอง ข เช่นกัน เพราะสืบหาแต่ลักษณะที่เสีย ๆ ซึ่งโดยปริยายหมายความว่า ผู้ปกครอง ก ควรจะได้รับสิทธิปกครอง[15]

งานวิจัยที่คล้ายกันอื่น ๆ แสดงวิธีที่บุคคลต่าง ๆ เสาะหาข้อมูลประกอบด้วยความเอนเอียง แต่ว่า ความเอนเอียงสามารถจำกัดได้เพราะมนุษย์มีความชอบใจในข้อทดสอบที่เป็นกลางจริง ๆ ในการทดลองหนึ่ง ผู้ร่วมการทดลองให้คะแนนกับอีกคนหนึ่งว่าเป็นคนเปิดเผยหรือเป็นคนเก็บตัวโดยเลือกคำถามเพื่อสัมภาษณ์จากรายการที่ได้รับ ถ้าแนะนำผู้รับการสัมภาษณ์ว่าเป็นคนเก็บตัว ผู้ร่วมการทดลองก็จะเลือกคำถามที่ตั้งข้อสันนิษฐานว่าคนนั้นเป็นคนเก็บตัว เป็นต้นว่า "คุณไม่ชอบใจอะไรในงานปาร์ตี้ที่หนวกหู"แต่ว่าถ้าแนะนำว่า เป็นคนเปิดเผย คำถามที่เลือกเกือบทั้งหมดจะเป็นประเภทที่ตั้งข้อสันนิษฐานว่าคนนั้นเป็นคนเปิดเผยเป็นต้นว่า "คุณจะทำอย่างไรเพื่อจะเพิ่มสีสันให้กับงานปาร์ตี้ที่ไม่มีชีวิตชีวา"คำถามที่ชี้คำตอบอย่างนี้ไม่ได้ให้โอกาสผู้รับสัมภาษณ์ที่จะให้ข้อมูลที่พิสูจน์ว่าข้อสันนิษฐานนั้นผิดพลาด[16] ส่วนการทดลองนั้นอีกแบบหนึ่งให้คำถามที่เป็นกลาง ๆ มากกว่ากับผู้ร่วมการทดลองเพื่อให้เลือก เช่น "ปกติ คุณหลีกเลี่ยงการเข้าสังคมหรือไม่"[17] ปรากฏว่าผู้ร่วมการทดลอชอบใจที่จะถามคำถามที่สามารถให้หลักฐานวินิจฉัยที่ดีกว่าโดยมีความเอนเอียงเล็กน้อยเพียงเท่านั้นต่อคำถามแบบบวกความเป็นไปเช่นนี้ ที่มีความชอบใจต่อข้อทดสอบที่เป็นกลาง ๆ และมีความชอบใจต่อคำถามเชิงบวกเพียงเล็กน้อยก็พบในงานวิจัยอื่น ๆ อีกด้วย[17]

บุคลิกภาพมีอิทธิพลและทำงานร่วมกับกระบวนการค้นหาหลักฐานแบบลำเอียง[18] มนุษย์มีความสามารถต่าง ๆ กันในการยืนยันความคิดเห็นฝ่ายตนเมื่อคนอื่นคัดค้านโดยนัยว่า "ใช้หลักฐานตามเลือก" "เป็นการค้นหาแต่ข้อมูลที่เข้ากัน"และ "ไม่หาข้อมูลที่ไม่เข้ากัน"[19] งานทดลองหนึ่งตรวจสอบขอบเขตที่บุคคลสามารถหักล้างข้อโต้แย้งที่คัดค้านความความเชื่อฝ่ายตน[18] บุคคลที่มีความมั่นใจสูงมักสืบหาข้อมูลคัดค้านความคิดเห็นฝ่ายตนได้อย่างเต็มใจกว่าส่วนบุคคลที่มีความมั่นใจต่ำมักไม่ค้นหาข้อมูลที่ไม่เข้ากันแต่จะชอบใจข้อมูลที่สนับสนุนความคิดเห็นฝ่ายตนโดยย่อก็คือ มนุษย์มักค้นหาและประเมินหลักฐานจากหลักฐานที่มีความเอนเอียงไปทางความเชื่อหรือความเห็นฝ่ายตน[20] แต่ระดับความมั่นใจที่สูงจะช่วยลดความชอบใจในข้อมูลที่สนับสนุนความเชื่อส่วนตัว

งานทดลองอีกงานหนึ่งทดสอบผู้ร่วมการทดลองโดยให้ค้นหากฎการเคลื่อนไหวของวัตถุที่ซับซ้อนโดยสังเกตการเคลื่อนไหวของวัตถุที่จำลองโดยคอมพิวเตอร์[21] คือ วัตถุบนจอคอมพิวเตอร์จะเคลื่อนไหวตามกฎระเบียบอย่างหนึ่ง ซึ่งผู้ร่วมการทดลองต้องทำความเข้าใจโดย "ยิง" วัตถุต่าง ๆ ข้ามจอคอมพิวเตอร์เพื่อที่จะทดสอบสมมติฐานของตนแม้ว่าจะทำความพยายามตลอด 10 ช.ม. ไม่มีใครเลยที่สามารถทำความเข้าใจกฎระเบียบของระบบผู้รับการทดลองมักพยายามหาหลักฐานเพื่อยืนยันสมมติฐานของตน แต่ไม่พยายามหาหลักฐานที่คัดค้านและมักลังเลในการพิจารณาสมมติฐานอื่น ๆ แม้ว่าจะได้เห็นหลักฐานที่คัดค้านสมมติฐานของตน แต่ก็มักพยายามทำการทดสอบอย่างเดียวกันต่อ ๆ ไปและถึงแม้ว่าผู้ร่วมการทดลองบางคนจะได้รับคำอธิบายเกี่ยวกับวิธีการทดสอบสมมติฐานที่ถูกต้อง แต่คำอธิบายเหล่านี้กลับแทบไม่มีผลอะไร[21]

การตีความหมายแบบเอนเอียง

"คนฉลาดเชื่ออะไรแปลก ๆ เพราะว่าชำนาญในการ (หาเหตุผล) ที่ป้องกันรักษาความเชื่อของตน ที่เกิดขึ้นจากเหตุผลที่ไม่ฉลาดสักเท่าไร"

—Michael Shermer[22]

ความลำเอียงเพื่อยืนยันไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การสั่งสมหลักฐานแม้ว่าคนสองคนจะมีหลักฐานเดียวกัน แต่การตีความหมายอาจจะประกอบกับความเอนเอียง

คณะวิจัยที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดทำการทดลองกับผู้ร่วมการทดลองที่มีความเห็นชัดเจนเกี่ยวกับโทษประหารชีวิต โดยที่ครึ่งหนึ่งเห็นด้วยอีกครึ่งหนึ่งคัดค้าน[23][24] ผู้ร่วมการทดลองแต่ละคนอ่านบทความงานวิจัยสองงาน งานแรกเป็นการเปรียบเทียบรัฐต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกาที่มีและไม่มีโทษประหารชีวิตและงานที่สองเป็นกา เปรียบเทียบอัตราการฆ่าคนตายในรัฐหนึ่ง ๆ ก่อนและหลังการออกกฎหมายลงโทษประหารชีวิต หลังจากการอ่านข้อความสั้น ๆ ของแต่ละงานวิจัย ก็จะถามผู้ร่วมการทดลองว่ามีความเห็นที่เปลี่ยนไปหรือไม่ หลังจากนั้น ก็ให้ผู้ร่วมการทดลองอ่านรายละเอียดของวิธีการในงานวิจัย และให้ผู้ร่วมการทดลองให้คะแนนว่า งานวิจัยนั้นทำได้ดีและน่าเชื่อถือแค่ไหน[23] แต่ว่าจริง ๆ แล้ว ผลงานวิจัยเหล่านั้นเป็นเรื่องกุขึ้น มีการบอกผู้ร่วมการทดลองครึ่งหนึ่งว่า มีงานวิจัยหนึ่งที่สนับสนุนว่ากฎหมายมีผลในการลดอัตราฆาตกรรม และงานวิจัยอีกงานหนึ่งแสดงว่ากฎหมายไม่มีผล ในขณะที่บอกผู้ร่วมการทดลองอีกครึ่งหนึ่งในนัยตรงกันข้าม[23][24]

ผู้ร่วมการทดลอง ไม่ว่าจะสนับสนุนหรือคัดค้านโทษประหารชีวิต รายงานว่าความเห็นได้เปลี่ยนไปเล็กน้อยตามหลักฐานที่แสดงในงานวิจัยแรก แต่หลังจากที่ได้อ่านรายละเอียดของงานวิจัยทั้งสองเกือบทั้งหมดจะกลับไปที่ความคิดเห็นเดิมของตนโดยไม่ขึ้นกับหลักฐานที่ได้แล้วชี้รายละเอียดที่สนับสนุนข้อคิดเห็นของตนและทิ้งรายละเอียดอื่นที่คัดค้านผู้ร่วมการทดลองแสดงว่า งานวิจัยที่สนับสนุนความคิดเห็นของตนทำได้ดีกว่างานทดลองที่คัดค้าน โดยที่ผู้ร่วมการทดลองสามารถแสดงเหตุผลได้อย่างละเอียดและเฉพาะกรณี[23][25]

ผู้ที่สนับสนุนโทษประหารชีวิตกล่าวถึงงานวิจัยที่แสดงความที่กฎหมายไม่มีผลว่า "งานวิจัยสั่งสมข้อมูลในช่วงเวลาน้อยเกินไป" ในขณะที่ผู้คัดค้านโทษประหารชีวิตกล่าวถึงงานวิจัยเดียวกันว่า "ไม่มีหลักฐานสำคัญ (เพิ่มขึ้น) ที่จะมาคัดค้านผู้ทำงานวิจัย (ว่ากฎหมายมีผล)"[23] ผลงานวิจัยนี้แสดงว่า มนุษย์ใช้มาตรฐานที่สูงกว่าในการประเมินหลักฐานของสมมติฐานที่คัดค้านความคิดเห็นฝ่ายตน เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ความเอนเอียงเพื่อคัดค้าน (disconfirmation bias) เป็นความเอนเอียงซึ่งพบในงานทดลองหลายงาน[26]

นักวิจัยสามารถใช้เครื่องเอ็มอาร์ไอ เพื่อตรวจดูว่า สมองมนุษย์มีปฏิกิริยาต่อข้อมูลที่ไม่น่าปรารถนาได้อย่างไร

มีการทำอีกงานวิจัยหนึ่งเกี่ยวกับการตีความหมายแบบบเอนเอียงในระหว่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ค.ศ. 2004 ซึ่งทดสอบผู้ร่วมการทดลองผู้รายงานว่ามีความเห็นที่ชัดเจนเกี่ยวกับผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้ร่วมการทดลองได้รับข้อมูลคำแถลงเป็นคู่ ๆ ที่ขัดแย้งกันจากผู้สมัครรับเลือกตั้งพรรคริพับลิกัน จอร์จ ดับเบิลยู. บุชและจากผู้สมัครรับเลือกตั้งพรรคเดโมแครต จอห์น เคอร์รี่ หรือจากคนมีชื่อเสียงอื่นที่เป็นกลางทางการเมืองนอกจากนั้น มีการให้คำแถลงอื่น ๆ ที่ทำให้ข้อมูลที่ขัดแย้งกันดูเหมือนมีเหตุผลจากข้อมูล 3 อย่างเหล่านี้ ผู้ร่วมการทดลองต้องตัดสินใจว่า คำพูดของแต่ละคนขัดแย้งกันเองหรือไม่[27]:1948 มีความแตกต่างกันอย่างสำคัญในข้อตัดสินของผู้ร่วมการทดลอง คือมีโอกาสมากกว่าที่จะตีความหมายของคำพูดจากผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ตนคัดค้านว่าขัดแย้งกันเอง[27]:1951

ในการทดลองนี้ ผู้ร่วมการทดลองทำการตัดสินใจเมื่ออยู่ในเครื่องเอ็มอาร์ไอซึ่งตรวจดูการทำงานในสมอง เมื่อผู้ร่วมการทดลองกำลังประเมินคำพูดที่ขัดแย้งกันของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ตนสนับสนุนศูนย์อารมณ์ในสมองจะเกิดการเร้า แต่จะไม่มีการเร้าเมื่อกำลังประเมินคำพูดของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ตนคัดค้านผู้ทำงานวิจัยอนุมานผลนี้ว่า ปฏิกิริยาที่แตกต่างกันต่อคำพูดที่ขัดแย้งกันไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดในการคิดหาเหตุผลอย่าง passive แต่ว่า ผู้ร่วมการทดลองต้องทำการลดระดับความขัดแย้งกันทางปริชาน (cognitive dissonance) ที่เกิดจากการรับรู้พฤติกรรมที่ไม่สมเหตุสมผลหรือหน้าไหว้หลังหลอกของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ตนสนับสนุนอย่างแอ๊กถีฟ

ความเอนเอียงในการตีความหมายเกี่ยวกับความเชื่อนั้นฝังแน่น ไม่ว่าจะฉลาดแค่ไหน ในการทดลองหนึ่ง ผู้ร่วมการทดลองทำข้อทดสอบ SAT เพื่อตรวจสอบสติปัญญา หลังจากนั้น ก็ให้อ่านข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยของรถโดยสารที่นักวิจัยจะกุข้อมูลเกี่ยวประเทศกำเนิดของรถผู้ร่วมการทดลองชาวอเมริกันต้องให้คะแนนเป็น 6 แต้มว่ารถคันนั้นควรห้ามไม่ให้ใช้หรือไม่ โดย 1 คะแนนเป็นการ "ห้ามเด็ดขาด" และ 6 เป็นการ "ไม่ห้ามเด็ดขาด" ผู้ร่วมการทดลองต้องประเมินว่าจะให้ใช้รถเยอรมันอันตรายในถนนคนอเมริกัน และรถอเมริกันอันตรายในถนนคนเยอรมันหรือไม่ ปรากฏว่า ผู้ร่วมการทดลองเชื่อว่า ควรห้ามรถเยอรมันอันตรายในถนนคนอเมริกัน อย่างรวดเร็วกว่าควรห้ามรถอเมริกันอันตรายในถนนคนเยอรมันและไม่ปรากฏว่าระดับสติปัญญามีผลต่อคำตอบของผู้ร่วมการทดลอง[20]

การตีความหมายแบบเอนเอียงไม่ได้จำกัดอยู่ในประเด็นที่ทำให้เกิดอารมณ์เพียงเท่านั้น ในอีกการทดลองหนึ่ง ผู้วิจัยบอกผู้ร่วมการทดลองเกี่ยวกับการลักขโมยเหตุการณ์หนึ่ง ผู้ร่วมการทดลองต้องกำหนดความสำคัญทางหลักฐานของข้อความที่เสนอว่า บุคคลหนึ่งเป็นขโมยหรือไม่ใช่ เมื่อผู้ร่วมการทดลองสันนิษฐานว่า บุคคลหนึ่งเป็นผู้มีความผิด ก็จะกำหนดข้อความที่สนับสนุนข้อสันนิษฐานของตนว่ามีความสำคัญมากกว่าข้อความที่แสดงความขัดแย้ง[28]

ความทรงจำที่เอนเอียง

แม้ว่า บุคคลหนึ่งอาจจะสั่งสมและตีความหมายหลักฐานโดยความเป็นกลางแต่ก็อาจจะเลือกระลึกถึงหลักฐานเหล่านั้นเพื่อที่จะส่งเสริมความคิดเห็นฝ่ายตน[29] ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า การเลือกจำ (selective recall)ทฤษฎีทางจิตวิทยาต่าง ๆ มีพยากรณ์ที่แตกต่างกันในเรื่องการเลือกจำ ทฤษฏีโครงสร้างความรู้ (Schema theory) พยากรณ์ว่า ข้อมูลที่ตรงกับความคาดหมายที่มีมาก่อนจะสามารถจำและระลึกได้ดีกว่าข้อมูลที่ไม่ตรงกัน[30] ส่วนทฤษฎีอื่นบอกว่า ข้อมูลที่ทำให้ประหลาดใจจะเด่นกว่าและดังนั้นจึงจำได้ดีกว่า[30] คำพยากรณ์จากทั้งสองทฤษฎีที่กล่าวมานั้นได้รับการยืนยันจากการทดลองที่มีรูปแบบที่ต่างกัน ดังนั้นจึงไม่ปรากฏทฤษฎีที่ชนะโดยเด็ดขาด[31]

ในอีกงานวิจัยหนึ่ง ผู้ร่วมการทดลองอ่านข้อความแสดงลักษณะของหญิงคนหนึ่งเป็นพฤติกรรมทั้งแบบเปิดเผยและเก็บตัว[32] หลังจากนั้น ก็จะต้องระลึกถึงตัวอย่างของความเป็นผู้เปิดเผยและความเป็นผู้เก็บตัว ผู้ร่วมการทดลองกลุ่มหนึ่งต้องประเมินหญิงนั้นสำหรับงานเป็นบรรณารักษ์ในขณะที่กลุ่มที่สองต้องประเมินหญิงนั้นเพื่องานเป็นนายหน้าขายที่ดิน สิ่งที่คนสองกลุ่มนี้ระลึกได้แตกต่างกันอย่างสำคัญคือ กลุ่มบรรณารักษ์ระลึกถึงตัวอย่างที่แสดงความเป็นคนไม่เปิดเผยได้มากกว่า ในขณะที่กลุ่มนายหน้าระลึกถึงตัวอย่างที่แสดงความเป็นคนเปิดเผยได้มากกว่า[32]

ผลของความจำเลือกสรรก็ปรากฏด้วยในงานทดลองต่าง ๆ ที่มีการกุความน่าปรารถนาของบุคลิกประเภทต่าง ๆ[30][33] ในงานทดลองหนึ่ง มีการแสดงหลักฐานกับผู้ร่วมการทดลองกลุ่มหนึ่งว่า ผู้มีบุคลิกเปิดเผยมีความสำเร็จในชีวิตมากกว่า ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งมีการแสดงข้อมูลตรงกันข้าม ในงานทดลองต่อมาอีกงานหนึ่งซึ่งไม่ทำเชื่อมต่อกัน มีการให้ผู้ร่วมการทดลองระลึกถึงเหตุการณ์ในชีวิตที่ตนแสดงพฤติกรรมเปิดเผยหรือเก็บตน ผู้ร่วมการทดลองในแต่ละกลุ่มระลึกถึงเหตุการณ์ที่เชื่อมตนเองกับบุคลิกภาพที่น่าปรารถนาได้มากกว่า และระลึกถึงเหตุการณ์เหล่านั้นได้เร็วกว่า[34]

การประเมินถึงเหตุการณ์ที่เปลี่ยนไปสามารถมีผลต่อความทรงจำ[35] มีการให้ผู้ร่วมการทดลองลงคะแนนว่า ตนได้รู้สึกอย่างไรเมื่อรู้เป็นครั้งแรกว่า โอเจ ซิมป์สัน (อดีตนักกีฬาอเมริกันฟุตบอลชื่อดังผู้ถูกกล่าวหาว่าฆ่าภรรยาของตน) ได้รับการตัดสินว่าไม่ผิดในข้อหาฆาตกรรม[35] ผู้ร่วมการทดลองได้พรรณนาถึงความรู้สึกและความมั่นใจของตนในข้อตัดสินในช่วงหนึ่งอาทิตย์ สองเดือน และหนึ่งปีหลังจากการตัดสินคดี ผลแสดงว่า การประเมินความผิดผู้ต้องหาของผู้ร่วมการทดลองเปลี่ยนไปตามเวลาและถ้าความคิดเห็นของผู้ร่วมการทดลองยิ่งเปลี่ยนไปเท่าไร ความทรงจำของของผู้ร่วมการทดลองเกี่ยวกับความรู้สึกที่มีในเบื้องต้นก็จะไม่มีเสถียรภาพยิ่งขึ้นเท่านั้น เมื่อผู้ร่วมการทดลองระลึกถึงปฏิกิริยาทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นที่สองเดือนและที่หนึ่งปีให้หลัง ความทรงจำว่ามีความรู้สึกอย่างไรในอดีต ก็จะขึ้นอยู่กับการประเมินเหตุการณ์นั้น ๆ ในปัจจุบัน[35]มนุษย์แสดงความลำเอียงเพื่อยืนยันเมื่อกล่าวถึงความคิดเห็นฝ่ายตนในประเด็นที่มีความเห็นขัดแย้งกัน[20]

ความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ความรู้สึกสามารถมีผลต่อความทรงจำ[36] ในการทดลองหนึ่ง มีการให้พ่อหม้ายและแม่หม้ายให้คะแนนความรู้สึกเศร้าหกเดือนและห้าปีหลังจากการเสียชีวิตของคู่ครอง ผู้ร่วมการทดลองบอกว่า มีความรู้สึกเศร้าที่ช่วงหกเดือนในระดับที่สูงกว่าช่วงห้าปี แต่ว่า เมื่อถามผู้ร่วมการทดลองหลังห้าปีไปแล้วว่า มีความรู้สึกอย่างไรหกเดือนหลังจากการเสียชีวิตของคู่ครอง การให้คะแนนระดับความรู้สึกเศร้าที่ระลึกได้มีสหสัมพันธ์ในระดับสูงกับความรู้สึกปัจจุบันคือ มนุษย์ดูเหมือนจะใช้อารมณ์ความรู้สึกปัจจุบันเพื่อวิเคราะห์ว่าตนรู้สึกอย่างไรในอดีต[35] นั่นก็คือ ความทรงจำในอดีตที่ประกอบด้วยอารมณ์เกิดการสร้างขึ้นใหม่อาศัยอารมณ์ความรู้สึกในปัจจุบัน

งานวิจัยหนึ่งอธิบายว่า ความจำเลือกสรรสามารถดำรงรักษาความเชื่อในการรับรู้นอกเหนือประสาทสัมผัส (extrasensory perception ตัวย่อ ESP) เช่นการอ่านใจของผู้อื่นได้[37] คือ มีการแสดงคำพรรณนาถึงการทดลองเกี่ยวกับ ESP ให้ทั้งคนเชื่อและไม่เชื่อมีการบอกคนกึ่งหนึ่งของแต่ละกลุ่มว่า มีผลการทดลองที่สนับสนุนว่า ESP นั้นมีจริงและบอกอีกกึ่งหนึ่งว่า ผลการทดลองไม่สนับสนุนความมีอยู่ของ ESP เมื่อสอบถามผู้ร่วมการทดลองภายหลัง ผู้ร่วมการทดลองโดยมากสามารถระลึกถึงข้อมูลที่ได้รับอย่างแม่นยำ ยกเว้นคนเชื่อที่อ่านข้อมูลที่ไม่สนับสนุน ผู้ร่วมการทดลองกลุ่มนี้ระลึกถึงข้อมูลได้น้อยกว่ากลุ่มอื่นและบางคนแถมจำผิดอีกด้วยว่า ข้อมูลการทดลองสนับสนุน ESP (ตรงกับความเชื่อของตนว่า ESP มีจริง)[37]

ใกล้เคียง

ความเจ็บปวด ความเสียวสุดยอดทางเพศ ความเท่าเทียมทางเพศ ความเอนเอียงเพื่อยืนยัน ความเอนเอียงโดยการมองในแง่ดี ความเหนือกว่าเทียม ความเครียด (จิตวิทยา) ความเสี่ยงมหันตภัยทั่วโลก ความเอนเอียงรับใช้ตนเอง ความเป็นมาของตัวละครในเพชรพระอุมา

แหล่งที่มา

WikiPedia: ความเอนเอียงเพื่อยืนยัน http://hosted.xamai.ca/confbias/ http://www.amazon.com/Emerging-Perspectives-Judgme... http://www.amazon.com/Handbook-Social-Psychology-S... http://www.boston.com/bostonglobe/ideas/articles/2... http://books.google.com/books?id=0SYVAAAAYAAJ&pg=P... http://web.mac.com/kstanovich/Site/YUP_Reviews_fil... http://www.myfoxal.com/story/23395758/camm-trial-9... http://www.scientificamerican.com/article.cfm?id=t... http://skepdic.com/confirmbias.html http://www.skepdic.com/backfireeffect.html