ปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกัน ของ ความเอนเอียงเพื่อยืนยัน

ความเห็นที่สุดโต่งเพิ่มขึ้น

เมื่อกลุ่มบุคคลที่มีความเห็นตรงกันข้ามกันตีความหมายข้อมูลหลักฐานใหม่ ๆ โดยมีความเอนเอียงความเห็นของกลุ่มคนเหล่านั้นสามารถเกิดความต่างที่ห่างกันยิ่งขึ้นนี้เรียกว่า "ความเห็นที่สุดโต่งเพิ่มขึ้น" (attitude polarization)[38] ปรากฏการณ์นี้เห็นได้โดยการทดลองที่เอาลูกบอลสีแดงและดำมาจากถุงหนึ่งหรือสองถุงที่ซ่อนอยู่ผู้ร่วมการทดลองรู้ว่า ถุงหนึ่งมีลูกบอลสีดำ 60% สีแดง 40% และอีกถุงหนึ่งสีดำ 40% สีแดง 60% นักวิจัยได้ทำการตรวจดูว่าอะไรจะเกิดขึ้นถ้าเอาลูกบอลมีสีสลับกันออกมา ซึ่งเป็นลำดับการเอาออกมาที่ไม่ให้สามารถระบุถุงใดถุงหนึ่งได้ หลังจากที่เอาลูกบอลแต่ละลูกออกมา ให้ผู้ร่วมการทดลองในแต่ละกลุ่มบอกทางวาจาว่า ตนคิดว่ามีความเป็นไปได้เท่าไรที่ลูกบอลเหล่านี้ได้นำออกมาจากถุงใดถุงหนึ่ง ผู้ร่วมการทดลองมักเกิดความมั่นใจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเอาลูกบอลแต่ละลูกออกมาก ไม่ว่าตอนแรกตนจะคิดว่ากำลังดึงลูกบอลออกมาจากถุงที่มีสีดำ 60% หรือสีแดง 60% ความน่าจะเป็นที่ผู้ร่วมการทดลองประเมินจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆส่วนในผู้ร่วมการทดลองอีกกลุ่มหนึ่ง นักวิจัยให้ประเมินค่าความน่าจะเป็นหลังจากเอาลูกบอลออกมาหมดชุดแล้วเท่านั้น ไม่ใช่ประเมินหลังจากเอาลูกบอลแต่ละลูกออกมาเหมือนกลุ่มแรก กลุ่มนี้ไม่เกิดปรากฏการณ์ความเห็นที่สุดโต่งเพิ่มขึ้นซึ่งบอกเป็นนัยว่าปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่เกิดขึ้นเพราะว่าคนสองพวกมีความเชื่อที่ขัดแย้งกันเท่านั้นแต่ว่าเกิดขึ้นเมื่อตนได้แสดงออกมาแล้วว่าตนเป็นพวกไหน[39]

ความเห็นที่ชัดเจนเช่นในเรื่องของการมีปืนอาจจะทำให้เกิดการตีความหมายข้อมูลใหม่ ๆ อย่างเอนเอียง

การทดลองในแนวนี้ที่เป็นรูปธรรมมากกว่าก็คือการทดลองตีความหมายของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ที่ผู้ร่วมการทดลองผู้มีความเห็นที่ชัดเจนเกี่ยวการลงโทษประหารอ่านข้อความเกี่ยวกับข้อมูลหลักฐานการทดลองที่ผสมผเสกัน ผู้ร่วมการทดลอง 23% รายงานว่า ความเห็นของตนนั้นยิ่งมั่นคงเพิ่มขึ้นและความเปลี่ยนแปลงที่ผู้ร่วมการทดลองรายงานเองเช่นนี้ มีสหสัมพันธ์ที่ชัดเจนกับความเชื่อในเบื้องต้น (คือยิ่งมีความเห็นเบื้องต้นที่ชัดเจนเท่าไร ระดับการเปลี่ยนแปลงความเห็นที่เพิ่มความมั่นคงก็มีมากขึ้นเท่านั้น)[23] ในงานวิจัยต่อ ๆ มา ผู้ร่วมการทดลองก็รายงานด้วยว่า ความเห็นของตนมั่นคงเพิ่มขึ้นแม้ว่าจะได้ข้อมูลที่ไม่ชัดเจน แต่ว่า การเปรียบเทียบความคิดเห็นโดยบททดสอบ (ที่เป็นปรวิสัย) ก่อนและหลังการรับข้อมูลใหม่ ไม่ได้แสดงความเปลี่ยนแปลงเป็นนัยสำคัญซึ่งบอกเป็นนัยว่า การเปลี่ยนแปลงที่เจ้าตัวรายงาน (ที่เป็นอัตวิสัย) อาจไม่ได้มีจริง ๆ[26][38][40]

โดยใช้ข้อมูลจากการทดลองเหล่านี้ ดีนนา คุห์น และโจเซ็ฟ ลาว สรุปว่า ความเห็นที่สุดโต่งเพิ่มขึ้นเป็นปรากฏการณ์ที่มีจริง ๆ แต่ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นคือเลี่ยงไม่ได้ เพราะว่า เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่มีจำนวนน้อยพวกเขาพบว่า มันเกิดขึ้นไม่ได้มีเหตุจากการรับหลักฐานใหม่ แต่เกิดจากเพียงแค่คิดถึงประเด็นนั้นเท่านั้น[38]

ชาลส์ เทเบอร์ และมิลตัน ล็อดจ์ เสนอว่า ผลของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดทำซ้ำได้ยากเพราะว่าประเด็นที่ใช้ในการทดลองที่ทำภายหลังมีลักษณะเป็นนามธรรมมากเกิดไป หรือว่า เป็นเรื่องสับสนมากเกินไปกว่าที่จะให้เกิดปฏิกิริยาทางอารมณ์ ดังนั้น งานวิจัยของเทเบอร์และล็อดจ์จึงใช้ประเด็นที่ก่อให้เกิดอารมณ์คือเรื่องกฎหมายควบคุมการมีปืน และเรื่องการยืนยันสิทธิประโยชน์ของคนบางพวก (affirmative action)[26] พวกเขาวัดทัศนคติของผู้ร่วมการทดลองเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ก่อนและหลังการอ่านข้อโต้แย้งจากทั้งสองฝ่าย มีกลุ่มผู้ร่วมการทดลอง 2 กลุ่มที่เกิดความเห็นที่สุดโต่งเพิ่มขึ้น คือพวกที่มีความคิดเห็นที่มั่นคงมาก่อน และบุคคลที่มีความรู้ด้านการเมือง ในส่วนหนึ่งของงานวิจัยนี้ ผู้ร่วมการทดลองสามารถเลือกแหล่งกำนิดของหลักฐานที่จะอ่าน จากรายการที่นักวิจัยเป็นคนเตรียมขึ้น ยกตัวอย่างเช่นสามารถเลือกที่จะอ่านข้อมูลหลักฐานของสมาคมไรเฟิลแห่งชาติ (สหรัฐอเมริกา ซึ่งต่อต้านกฎหมายควบคุมการมีปืน) หรือของคณะต่อต้านปืนพกเบรดี (ซึ่งสนับสนุนกฎหมายควบคุม)แม้ว่าจะได้รับคำสั่งว่าให้มีใจเป็นกลาง ผู้ร่วมการทดลองมักอ่านหลักฐานข้อมูลที่สนับสนุนทัศนคติที่ตนมีอยู่มากกว่าที่คัดค้าน การแสวงหาข้อมูลที่มีความเอนเอียงเช่นนี้มีสหสัมพันธ์สูงกับความเห็นที่สุดโต่งเพิ่มขึ้น[26]

ปรากฏการณ์ผลตรงกันข้าม (backfire effect) เป็นชื่อของปรากฏการณ์ที่เมื่อได้รับหลักฐานที่คัดค้านความเชื่อฝ่ายตน มนุษย์กลับปฏิเสธหลักฐานนั้นแล้วตั้งมั่นอยู่ในความเชื่อนั้นเพิ่มขึ้น[41][42]

ความทนทานของความเชื่อที่ถูกหักล้างแล้ว

"ความเชื่อสามารถอยู่รอดพ้นจากเหตุผลทางตรรกะและทางหลักฐานได้

สามารถจะอยู่รอดพ้นและอาจจะเพิ่มความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้นแม้มีหลักฐานที่คนอื่นที่เป็นกลางจะต้องกล่าวว่า เป็นเหตุผลพอเพียงที่จะลดความเชื่อนั้นลง

สามารถจะอยู่รอดได้แม้หลักฐานที่เป็นที่ตั้งของความเชื่อนั้นจะถูกทำลายอย่างสิ้นเชิง"

—ลี รอส และเครก แอนเดอร์สัน[43]

ความลำเอียงเพื่อยืนยันสามารถใช้อธิบายว่าทำไมความเชื่อบางอย่างสามารถที่จะอยู่รอดได้แม้ว่าหลักฐานที่เป็นที่ตั้งถูกหักล้างหมดแล้ว[44] ความทนทานของความเชื่อได้รับการแสดงในการทดลองเป็นชุด ๆ ใช้วิธีที่เรียกว่าการเปิดเผยหลังเหตุการณ์ (debriefing paradigm) คือ จะให้ผู้ร่วมการทดลองอ่านหลักฐานปลอมของสมมุติฐานหนึ่ง ๆ หลังจากนั้น ความเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติจะได้รับการวัด ต่อจากนั้น ก็จะแสดงอย่างละเอียดว่าหลักฐานนั้นเป็นเรื่องปลอมแปลงจากนั้น ทัศนคติของผู้ร่วมการทดลองก็จะได้รับการวัดอีกครั้งหนึ่งเพื่อเช็คดูว่า ความเชื่อในเรื่องนั้นจะกลับไปสู่ระดับเดิมก่อนแสดงหลักฐานปลอมหรือไม่[43]

สิ่งที่พบโดยสามัญก็คือความเชื่อที่เกิดขึ้นเพราะหลักฐานปลอมนั้นไม่หมดไปแม้หลังจากมีการเปิดเผยอย่างละเอียด[45] ในการทดลองหนึ่ง ผู้ร่วมการทดลองต้องแยกแยะระหว่างจดหมายฆ่าตัวตายที่เป็นของจริงและของปลอม ผู้วิจัยให้คะแนนความแม่นยำโดยสุ่ม คือบอกบางคนว่าทำได้ดี และบอกคนอื่นว่าทำได้แย่มากแม้ว่าหลังจากที่เปิดเผยวิธีการทดลองนี้อย่างละเอียด ผู้ร่วมการทดลองก็ยังอยู่ใต้อิทธิพลของคะแนนที่ให้แบบสุ่มนั้น คือ ยังคิดว่าตนเองเก่งกว่าหรือแย่กว่าคนอื่นโดยเฉลี่ยในการทำงานประเภทนั้น ขึ้นอยู่กับว่านักวิจัยกล่าวว่าได้คะแนนเท่าไร[46]

ในอีกงานวิจัยหนึ่ง ผู้ร่วมการทดลองอ่านเรื่องผลประเมินการทำงานของเจ้าหน้าที่ดับเพลิงสองคน รวมถึงผลข้อทดสอบเกี่ยวกับการเลี่ยงความเสี่ยง[43] ผลการทดลองที่กุขึ้นนี้ แสดงความสัมพันธ์ไม่ลบก็บวกคือ มีการบอกผู้ร่วมการทดลองพวกหนึ่งว่า เจ้าหน้าที่ดับเพลิงที่เสี่ยงอันตรายมีผลงานดีกว่าและบอกอีกพวกหนึ่งว่า เจ้าหน้าที่ดับเพลิงที่เสี่ยงอันตรายมีผลงานด้อยกว่าผู้เลี่ยงความเสี่ยง[47] จริง ๆ แล้ว แม้ถ้าผลประเมินเหล่านี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่กุขึ้น แต่หลักฐานที่ให้ก็ไม่ใช่หลักฐานที่ได้มาตรฐานทางวิทยาศาสตร์เพื่อจะสรุปประเด็นเกี่ยวกับผลงานของเจ้าหน้าที่ดับเพลิงอย่างไรก็ดี ผู้ร่วมการทดลองกลับเห็นว่าผลประเมินนั้นน่าเชื่อถือ[47]

เมื่อบอกผู้รับการทดลองว่า ผลประเมินเหล่านี้เป็นเรื่องปลอมแปลง ความเชื่อของผู้ร่วมการทดลองเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่ข้อมูลแสดงก็ลดลงแต่ว่า ประมาณครึ่งหนึ่งของผลทางความคิดที่เกิดจากผลประเมินกุนั้นกลับดำรงอยู่ได้[43] การสัมภาษณ์ผู้ร่วมการทดลองหลังจากนั้นแสดงว่า ผู้ร่วมการทดลองเข้าใจถึงเรื่องที่เปิดเผยและเชื่อว่าเป็นความจริง แต่กลับเห็นว่าหลักฐานที่ถูกหักล้างนั้นไม่มีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อของตน ๆ (ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วเหตุผลที่หลักฐานนั้นกุขึ้นมีผลต่อความคิดของผู้ร่วมการทดลอง)[47]

ความชอบใจต่อข้อมูลเบื้องต้น

งานทดลองหลายงานพบว่า ข้อมูลต้น ๆ จากข้อมูลเป็นชุด ๆ มีน้ำหนักมากกว่าต่อมนุษย์ แม้ว่าลำดับข้อมูลจะไม่มีความสำคัญยกตัวอย่างเช่น บุคคลมักมีความประทับใจเชิงบวก กับบุคคลที่กล่าวว่ามีลักษณะ "ฉลาด ขยัน หุนหันพลันแล่น ปากร้าย ดื้อ มักริษยา" มากกว่าบุคคลที่มีลักษณะแบบเดียวกันแต่กล่าวถึงโดยลำดับกลับกัน[48] การให้ความสำคัญในอันดับแรกที่ไร้เหตุผล (irrational primacy effect) เป็นอิสระจากปรากฏการณ์ความสำคัญในลำดับของความทรงจำ (serial position effect)ซึ่งข้อมูลส่วนต้น ๆ ในลำดับสามารถระลึกถึงได้ดีกว่า[48] การตีความหมายแบบเอนเอียงสามารถอธิบายปรากฏการณ์นี้คือเมื่อเห็นข้อมูลส่วนเบื้องต้น มนุษย์จะตั้งสมมติฐานที่มีผลต่อการตีความหมายข้อมูลที่เหลือ[44]

งานวิจัยที่แสดงการให้ความสำคัญในอันดับแรกที่ไร้เหตุผลใช้ชิปสีที่บอกว่าจะมาจากอ่างสองใบ มีการบอกผู้ร่วมการทดลองว่า ชิปสีต่าง ๆ มีสัดส่วนเท่าไรในอ่างทั้งสองและผู้ร่วมการทดลองจะต้องประมาณความน่าจะเป็นของชิปที่นำมาจากอ่างใบหนึ่ง[48] แต่จริง ๆ แล้วนักวิจัยแสดงชิปตามลำดับที่จัดไว้แล้ว ชิป 30 อันแรกดูเหมือนจะระบุอ่างใบหนึ่ง และ 30 อันต่อไประบุอ่างอีกใบหนึ่ง[44] โดยรวม ๆ แล้ว ชิปที่นำออกมาทั้งหมดเป็นกลาง ๆ ฉะนั้น โดยเหตุผลแล้ว อาจจะมาจากอ่างทั้งสองใบใดใบหนึ่งก็ได้ แต่หลังจากการแสดงชิป 60 อัน ผู้ร่วมการทดลองชอบใจอ่างที่ชิป 30 อันแรกดูเหมือนจะระบุ[48]

อีกการทดลองหนึ่งแสดงภาพสไลด์ชุดของวัตถุหนึ่งที่เป็นภาพมัวไม่ชัดตอนต้น ๆ และชัดขึ้นเรื่อย ๆ ในภาพต่อ ๆ มา[48] หลังจากแสดงแต่ละภาพ ผู้ร่วมการทดลองต้องเดาว่าวัตถุนั้นคืออะไรผู้ร่วมการทดลองที่เดาผิดตอนต้น ๆ กลับเดาเหมือนกันต่อไปเรื่อย ๆแม้ว่า ภาพจะชัดจนกระทั่งคนอื่นสามารถบอกได้โดยง่ายว่าวัตถุนั้นคืออะไร[44]

ความสัมพันธ์ลวงระหว่างเหตุการณ์ต่าง ๆ

สหสัมพันธ์ลวง (Illusory correlation) เป็นความโน้มน้าวที่จะเห็นความสัมพันธ์ที่ไม่มีจริง ๆ ในเซตข้อมูล[49] ความโน้มน้าวอย่างนี้ได้มีการแสดงเป็นครั้งแรกในชุดการทดลองในปลายคริสต์ทศวรรษ 1960[50] ในงานทดลองหนึ่ง ผู้ร่วมการทดลองอ่านเค้สทางจิตเวชชุดหนึ่ง รวมทั้งปฏิกิริยาต่อแบบทดสอบภาพหยดหมึกรอร์ชัคผู้ร่วมการทดลองสรุปว่า ชายรักร่วมเพศในกรณีเหล่านั้นมีโอกาสสูงกว่าที่จะเห็นก้น รูทวารหนัก หรือรูปคลุมเครือทางเพศต่าง ๆ ในรูปหมึกจุดเหล่านั้น แต่ว่าจริง ๆ แล้วเป็นเรื่องกุขึ้น แถมในการทดลองหนึ่ง กรณีเหล่านั้นกุขึ้นโดยที่ชายรักร่วมเพศมีโอกาสน้อยกว่าที่จะเห็นภาพเป็นอย่างนั้น[49] ในการสำรวจอีกงานหนึ่ง (ที่ไม่มีการให้อ่านกรณีต่าง ๆ ที่กุขึ้น) นักจิตวิทยามีประสบการณ์สูงกลุ่มหนึ่งถึงกับรายงานความสัมพันธ์เทียมแบบนี้กับคนรักร่วมเพศ แม้ว่าความสัมพันธ์แบบนี้ไม่มีจริง ๆ[49][50]

ตัวอย่างของแบบทดสอบภาพหยดหมึกรอร์ชัค

งานวิจัยอีกงานหนึ่งบันทึกอาการของคนไข้ข้ออักเสบและสภาพภูมิอากาศในช่วงเวลา 15 เดือนคนไข้เกือบทั้งหมดรายงานว่า ความเจ็บปวดของตนมีความสัมพันธ์กับสภาพภูมิอากาศ ทั้งที่จริง ๆ แล้วระดับสหสัมพันธ์อยู่ที่ศูนย์[51]

ปรากฏการณ์นี้เป็นรูปแบบหนึ่งของการตีความหมายแบบเอนเอียง คือตีความหมายหลักฐานที่เป็นกลาง ๆ หรือมีผลลบว่าสนับสนุน (คือมีผลบวก) กับความเชื่อที่มีอยู่ของตนและมีความเกี่ยวข้องกับความเอนเอียงแบบอื่น ๆ ในการทดสอบสมมติฐาน[52]

ในการตัดสินว่าเหตุการณ์สองอย่าง เช่นความเจ็บป่วยและอากาศที่ไม่ดี มีความสัมพันธ์กันหรือไม่ มนุษย์มักให้น้ำหนักกับหลักฐานเชิงบวก ซึ่งในตัวอย่างที่ผ่านมานี้ เป็นความเจ็บปวดและอากาศที่ไม่ดีแต่ไม่ใส่ใจสังเกตการณ์อย่างอื่น ๆ (เช่นไม่เจ็บในวันที่อากาศไม่ดี หรือเจ็บในวันที่อากาศดี)[53] นี้มีความคล้ายกันกับการให้น้ำหนักกับการตรวจสอบสมมติฐานเชิงบวก[52] นี่อาจจะเกี่ยวข้องกับความจำเลือกสรรอีกด้วยคือ มนุษย์อาจจะมีความรู้สึกว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ มีความสัมพันธ์กันเพราะว่าง่ายที่จะระลึกถึงวันที่เหตุการณ์ทั้งสองอย่างเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน[52]

ตัวอย่าง
จำนวนวันมีฝนไม่มี
มีอาการข้ออักเสบ146
ไม่มี72

ในตัวอย่างข้างบน ความจริงแล้ว อาการข้ออักเสบเกิดขึ้นบ่อยกว่าในวันที่ไม่มีฝน (คือใน 8 วันที่ไม่มีฝน มี 6 วันมีอาการข้ออักเสบเป็นอัตราส่วน 75%)แต่บุคคลมักให้ความสนใจกับจำนวนวันที่สูงโดยเปรียบเทียบที่มีทั้งฝนตกและเกิดอาการ (แต่มีอาการเพียงแค่ 67% ของวันที่ฝนตก) โดยไปใส่ใจเพียงแค่ช่องเดียวในตารางแทนที่จะใส่ใจในทั้งสี่ช่อง บุคคลสามารถสร้างความสัมพันธ์ผิด ๆ ซึ่งในกรณีนี้ เป็นการสัมพันธ์วันที่ฝนตกกับวันที่มีอาการข้ออักเสบ[54]

ใกล้เคียง

ความเจ็บปวด ความเสียวสุดยอดทางเพศ ความเท่าเทียมทางเพศ ความเอนเอียงเพื่อยืนยัน ความเอนเอียงโดยการมองในแง่ดี ความเหนือกว่าเทียม ความเครียด (จิตวิทยา) ความเสี่ยงมหันตภัยทั่วโลก ความเอนเอียงรับใช้ตนเอง ความเป็นมาของตัวละครในเพชรพระอุมา

แหล่งที่มา

WikiPedia: ความเอนเอียงเพื่อยืนยัน http://hosted.xamai.ca/confbias/ http://www.amazon.com/Emerging-Perspectives-Judgme... http://www.amazon.com/Handbook-Social-Psychology-S... http://www.boston.com/bostonglobe/ideas/articles/2... http://books.google.com/books?id=0SYVAAAAYAAJ&pg=P... http://web.mac.com/kstanovich/Site/YUP_Reviews_fil... http://www.myfoxal.com/story/23395758/camm-trial-9... http://www.scientificamerican.com/article.cfm?id=t... http://skepdic.com/confirmbias.html http://www.skepdic.com/backfireeffect.html