สังคม ของ นิคมญี่ปุ่นในประเทศปาเลา

การแบ่งแยกเชื้อชาติ

รัฐบาลพลเรือนญี่ปุ่นแบ่งแยกผู้ย้ายถิ่นชาวญี่ปุ่นออกจากชาวปาเลา และใช้นโยบายที่มีจุดประสงค์สำคัญในการปกป้องสวัสดิภาพของชาวปาเลา อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1930 เป็นต้นไป จุดเน้นของนโยบายเปลี่ยนแปลงไปโดยให้สิทธิ์แก่ผู้ย้ายถิ่นชาวญี่ปุ่นมากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลพลเรือนประสบความยากลำบากในการตอบสนองความต้องการของผู้ย้ายถิ่นที่มีประชากรเพิ่มขึ้น การแบ่งแยกเชื้อชาติถูกปฏิบัติอยู่ในเกือบทุกภาคส่วนของสังคม แต่เห็นได้อย่างชัดเจนในภาคแรงงานและการศึกษา ชาวปาเลาต้องเผชิญกับความยากลำบากในการได้รับตำแหน่งในรัฐบาลอาณานิคม ซึ่งมักอยู่ในการครอบครองของผู้ตั้งถิ่นฐานชาวญี่ปุ่น ส่วนภาคส่วนการศึกษาพบว่าเด็กญี่ปุ่นจะเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนประถมศึกษากระแสหลัก (โชกักโก) ซึ่งบทเรียนที่จัดการเรียนการสอนอิงตามหลักสูตรเหมือนกับโรงเรียนอื่นในญี่ปุ่น ขณะที่เด็กปาเลาจะเข้ารับการศึกษาใน "โรงเรียนของรัฐ" (โลกักโก) ซึ่งบทเรียนจะเน้นไปที่การสอนทักษะสำหรับแรงงานระดับล่าง นักเรียนส่วนมากจาก "โรงเรียนของรัฐ" มักออกจากระบบการศึกษาเมื่อสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษา นอกจากนี้เด็กที่เกิดจากบิดาชาวญี่ปุ่นและมารดาชาวปาเลาก็ประสบปัญหาการเข้าศึกษาต่อโรงเรียนประถมศึกษาเช่นกัน[53] โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กที่เกิดนอกสมรส[24]

ลูกครึ่ง

ชาวญี่ปุ่น-ปาเลาในสมัยอาณานิคมญี่ปุ่นเป็นประชากรกลุ่มน้อยที่มีจำนวนมากประมาณหนึ่ง โดยกลุ่มนี้มักถือกำเนิดจากบิดาชาวญี่ปุ่นและมารดาชาวปาเลา ประชากรกลุ่มนี้ส่วนมากอาศัยอยู่ในเขตเมืองและได้รับการเลี้ยงดูตามบรรทัดฐานและค่านิยมแบบญี่ปุ่น รวมถึงใช้ภาษาญี่ปุ่นในชีวิตประจำวัน ชาวญี่ปุ่น-ปาเลาจำนวนหนึ่งศึกษาต่อในประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้คนกลุ่มนี้มีความรู้ด้านประเพณีและภาษาปาเลาที่จำกัด อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าเด็กที่เกิดนอกสมรสมีโอกาสสัมผัสกับประเพณีจากฝ่ายมารดามากกว่า และสามารถสื่อสารทั้งภาษาญี่ปุ่นและภาษาปาเลาได้อย่างคล่องแคล่ว[54] แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วเด็กญี่ปุ่น-ปาเลาได้รับการจัดว่าเป็นชาวญี่ปุ่นในสถิติทางการ และเข้าถึงอภิสิทธิ์สังคมของชาวญี่ปุ่น แต่มีรายงานว่าคนกลุ่มนี้จำนวนมากเผชิญกับการเลือกปฏิบัติเมื่ออยู่ในวงของชาวญี่ปุ่นและชาวปาเลา ในพื้นที่ชนบทที่มีชาวปาเลาอยู่เป็นจำนวนมาก คู่สมรสและอนุภรรยาของชายญี่ปุ่นมักถูกรังเกียจ และกลุ่มชาตินิยมปาเลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มโมเด็กเงย์ ที่ไม่เห็นด้วยกับการสมรสต่างพวกระหว่างชายญี่ปุ่นและหญิงปาเลา[55] ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนให้เกิดการสมรสต่างพวก และให้สิทธิประโยชน์แก่หญิงที่สมรสกับชายญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามมีเพียงพลเรือนชายเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้สมรสต่างพวก ส่วนทหารไม่สามารถสมรสลักษณะนี้ได้ แต่สามารถมีอนุภรรยาได้[4] นอกจากนี้รัฐบาลพลเรือนยังระงับการสมรสระหว่างชายปาเลาและหญิงญี่ปุ่น[56] โดยมีเพียงกรณีเดียวเท่านั้นที่มีการสมรสระหว่างชายปาเลาและหญิงญี่ปุ่นเกิดขึ้นในสมัยอาณานิคมญี่ปุ่น[57]

หลังจากการยอมจำนนของญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1945 ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวญี่ปุ่นถูกส่งกลับประเทศ และชายญี่ปุ่นที่ดูแลครอบครัวญี่ปุ่น-ปาเลาได้ละทิ้งครอบครัวของพวกเขา และเลือกที่จะถูกส่งตัวกลับ โดยให้เหตุผลว่าลูกของตนน่าจะปรับตัวในปาเลาได้ง่ายกว่าในญี่ปุ่น หญิงปาเลาเหล่านี้จำนวนมากต้องเลี้ยงดูลูกเพียงลำพัง ขณะที่บางคนถูกทอดทิ้งและมีครอบครัวปาเลารับเลี้ยงดูต่อ[58] ครอบครัวญี่ปุ่น-ปาเลาบางส่วนได้อพยพย้ายถิ่นไปอยู่ญี่ปุ่น แต่โดยทั่วไปแล้วมักเผชิญกับความตื่นตระหนกทางวัฒนธรรม และยื่นคำร้องขอกลับปาเลาหลังจากที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นเป็นระยะเวลาหนึ่ง คำร้องส่วนมากได้รับการอนุมัติ แม้ว่าจะไม่ได้รับอนุญาตให้นำคู่สมรสชาวญี่ปุ่นกลับมาด้วยก็ตาม[fn 8][59]

ทายาวชาวญี่ปุ่น-ปาเลารุ่นที่สองและสาม ซึ่งสืบเชื้อสายจากผู้ตั้งถิ่นฐานยุคเริ่มแรกมักเลือกที่จะอยู่ปาเลาต่อไป แม้ว่าผู้ที่ได้รับการเลี้ยงดูในครอบครัวที่พูดภาษาญี่ปุ่นเผชิญกับปัญหาการสนทนาภาษาปาเลา คนกลุ่มนี้ยังคงใช้นามสกุลแบบญี่ปุ่นอยู่ เพียงแต่ว่ามักระบุตัวตนว่าเป็นชาวปาเลาหลังจบสงคราม ทายาทรุ่นที่สองมักสมรสกับหญิงชาวปาเลา และกลมกลืนไปกับชาวปาเลาท้องถิ่นในที่สุด[41] คนกลุ่มนี้จะระบุอัตลักษณ์ของตนว่าเป็นญี่ปุ่น เมื่อเข้าสังคมกับชาวญี่ปุ่นคนอื่น เช่น เมื่อเข้าร่วมการระลึกถึงทหารญี่ปุ่นที่เสียชีวิตในช่วงสงครามแปซิฟิก ชาวญี่ปุ่น-ปาเลาบางคนเลือกที่จะฝังศพตนเองในสุสานญี่ปุ่นหลังจากเสียชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่คอรอร์[60]

ใกล้เคียง

นิคมญี่ปุ่นในประเทศปาเลา นิคมญี่ปุ่นในประเทศไมโครนีเชีย นิคมญี่ปุ่นในประเทศหมู่เกาะมาร์แชลล์ นิคมญี่ปุ่นในภูมิภาคไมโครนีเชีย นิคมญี่ปุ่นในประเทศคิริบาส นิคม ไวยรัชพานิช นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง นิคม เชาว์กิตติโสภณ นิคม แสนเจริญ

แหล่งที่มา

WikiPedia: นิคมญี่ปุ่นในประเทศปาเลา http://ijb.sagepub.com/cgi/content/abstract/7/2/12... http://ir.lib.u-ryukyu.ac.jp/bitstream/123456789/1... http://www.asahi-net.or.jp/~un3k-mn/0815-hisaizu.h... http://www.fasid.or.jp/daigakuin/sien/kaisetsu/gai... http://pidp.eastwestcenter.org/pireport/2009/Augus... http://www.nanyou.org/shrine.html http://www.pacificdigitallibrary.org/cgi-bin/pdl?e... http://www.pacificweb.org/DOCS/193035Japcensus/Jap... http://www.spf.org/spinf/news/pdf/wop6.pdf https://books.google.com/books?id=iDg9oAkwsXAC&pg=...