ประวัติศาสตร์ ของ นิคมญี่ปุ่นในประเทศปาเลา

ระยะแรก (ค.ศ. 1820–1945)

รายงานลายลักษณ์อักษรชิ้นแรกระบุว่าการติดต่อระหว่างชาวญี่ปุ่นกับปาเลาเกิดขึ้นเมื่อลมพัดเรือใบเลียบชายฝั่งของญี่ปุ่นออกนอกเส้นทาง ใน ค.ศ. 1820 และผู้รอดชีวิตทั้งแปดใช้ชีวิตอยู่ในปาเลาเป็นเวลา 5 ปี จนถึง ค.ศ. 1825[7] พ่อค้าชาวญี่ปุ่นเริ่มตั้งนิคมตั้งแต่ช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 และใน ค.ศ. 1890 ได้มีการก่อตั้งสถานีการค้าของญี่ปุ่นขึ้น 2 แห่ง[8] พ่อค้าเหล่านี้จำนวนมากสมรสกับธิดาของผู้นำท้องถิ่นและเลี้ยงดูครอบครัวท้องถิ่น เมื่อญี่ปุ่นผนวกปาเลาจากเยอรมนีใน ค.ศ. 1914 ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวญี่ปุ่นและทายาททำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ติดต่อประสานงานของรัฐและล่ามสำหรับการปกครองด้วยรัฐบาลทหารของญี่ปุ่น[9]

คอรอร์ระหว่างการปกครองของญี่ปุ่น

รัฐบาลพลเรือนได้รับการจัดตั้งขึ้นแทนที่การปกครองด้วยทหารใน ค.ศ. 1922 โดยมีศูนย์กลางการบริหารอยู่ที่คอรอร์ รัฐบาลพลเรือนได้ริเริ่มแผนงานที่จะระบุและรวบรวมที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ระหว่าง ค.ศ. 1923 และ 1932 เพื่อการพัฒนาขึ้นใหม่ ที่ดินเหล่านี้ส่วนมากใช้สำหรับการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมและการขยายพื้นที่เมืองเพื่อรองรับประชากรที่ย้ายถิ่นฐานมาจากญี่ปุ่นและโอกินาวะ[10] รัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนชาวญี่ปุ่นและชาวโอกินาวะอย่างแข็งขันเพื่อให้ไปตั้งรกรากใหม่ในภูมิภาคไมโครนีเซีย ซึ่งมีปาเลาเป็นหนึ่งในนั้น และจัดตั้งนิคมเกษตรกรรมขึ้น นิคมเกษตรกรรมแห่งแรกก่อตั้งขึ้นที่เงเรมเลงุยใน ค.ศ. 1926 แต่ผู้ตั้งถิ่นฐานประสบปัญหากับสภาพอากาศร้อนชื้นและต้องละทิ้งนิคมใน ค.ศ. 1930 ทว่าการตั้งนิคมในระยะต่อมาประสบความสำเร็จมากขึ้น[11]

ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ส่งผลให้เกิดการว่างงานครั้งใหญ่ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1920 และ 1930 ชาวญี่ปุ่นและชาวโอกินาวะจำนวนมากย้ายถิ่นฐานมายังปาเลา ผู้ย้ายถิ่นได้นำครอบครัวของพวกเขามาด้วยและพยายามแสวงหางานทำในหลากหลายวิชาชีพ ผู้ย้ายถิ่นชาวญี่ปุ่นได้ตำแหน่งในรัฐบาลอาณานิคม ขณะที่ชาวโอกินาวะและชาวเกาหลีจำนวนหนึ่ง[fn 4] ทำงานเป็นแรงงานในภาคการเกษตร ประมงและอุตสาหกรรมเหมืองแร่[12] ใน ค.ศ. 1935 ชาวญี่ปุ่นมีจำนวนคิดเป็นร้อยละ 60 ของประชากรปาเลา[13] และรวมกลุ่มอยู่ในเขตเมือง เช่น อาเงาร์และคอรอร์ ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวญี่ปุ่นบางส่วนมีหญิงปาเลาเป็นภรรยาหรืออนุภรรยา ทำให้มีประชากรเด็กลูกครึ่งญี่ปุ่น-ปาเลา[fn 5]พอสมควรในเวลานั้น จนถึงปีท้าย ๆ ของการปกครองของญี่ปุ่น[14]

นับตั้งแต่ ค.ศ. 1937 เป็นต้นไป กองทัพเรือญี่ปุ่นได้ขยายสิ่งอำนวยความสะดวกทางทหาร ส่งผลให้เกิดการจ้างแรงงานจำนวนมากจากญี่ปุ่นและเกาหลีในการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ภายในระยะเวลาอันสั้น จำนวนของแรงงานบังคับมีมากกว่า 10,000 คนทั้วทั้งภูมิภาคไมโครนีเซีย และสร้างภาระอย่างหนักต่อทรัพยากรอันจำกัดของเกาะ แรงงานชาวโอกินาวะและชาวญี่ปุ่น รวมถึงผู้ตั้งถิ่นฐานถาวรถูกส่งกลับภูมิลำเนาของพวกเขา[15] มีการเกณฑ์ชายชาวญี่ปุ่นเป็นทหาร ส่วนชาวปาเลาที่มีหน้าที่ด้านอำนวยการในกองกำลังตำรวจ ต้องเปลี่ยนงานไปอยู่ในภาคการเกษตร[16] พลเรือนชาวญี่ปุ่นมีส่วนสำคัญในกิจกรรมโฆษณาชวนเชื่อบนเกาะ ในช่วงเวลานี้ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากประสบปัญหาเป็นอย่างมากในการจัดการกับความอดอยากจากการที่แหล่งอาหารจากญี่ปุ่นถูกตัดขาด ซึ่งต่างจากชาวปาเลาที่มีองค์ความรู้การเอาชีวิตรอดในเขตร้อนมากกว่าชาวญี่ปุ่น[17]

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง (ค.ศ. 1945–ปัจจุบัน)

หลังจากการยอมจำนนของญี่ปุ่นต่อฝ่ายสัมพันธมิตร บุคลากรทางทหารและพลเรือนชาวญี่ปุ่นถูกส่งตัวกลับประเทศญี่ปุ่นระหว่าง ค.ศ. 1945–46 ขณะที่แรงงานและเจ้าหน้าที่เทคนิคจำนวน 350 คน ได้รับอนุญาตให้อยู่ต่อเพื่อดำเนินการซ่อมแซมสาธารณูปโภคของปาเลาให้แล้วเสร็จ[18] นอกจากนี้ทายาทของการสมรสต่างพวกระหว่างชาวญี่ปุ่นและปาเลายังได้รับอนุญาตให้อยู่ต่อไปได้ โดยมีบางส่วนที่ย้ายถิ่นฐานไปญี่ปุ่นติดตามบิดาของตน[19] ใน ค.ศ. 1950 ชาวญี่ปุ่น-ปาเลา[fn 6] ได้ก่อตั้งองค์กร ซากุระ-ไค เพื่อช่วยเหลือเยาวชนชาวญี่ปุ่น-ปาเลาและชาวญี่ปุ่นที่ถูกทอดทิ้งโดยบิดามารดาของพวกเขา องค์กรนี้จะช่วยค้นหาบิดามารดาและญาติที่ต้องแยกจากกันจากผลของการบังคับให้ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวญี่ปุ่นกลับประเทศ ต่อมานับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นไป องค์กรแห่งนี้ได้เปลี่ยนเป็นองค์กรทางวัฒนธรรม จากการที่ชาวญี่ปุ่น-ปาเลาส่วนมากได้กลับไปรวมตัวกับครอบครัวญี่ปุ่นอีกครั้งหรือบางคนสมัครใจเลือกที่จะปล่อยให้การแยกครอบครัวเป็นไปเช่นเดิม[20]

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างปาเลาและญี่ปุ่นอยู่ในระดับน้อยมากในช่วงหลังสงคราม แม้ว่าจะมีชาวประมงโอกินาวะล่องเรือเข้ามาจับปลาในปาเลาเป็นบางครั้งในช่วงทศวรรษ 1960 เป็นต้นไป ชาวญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งได้มาตั้งถิ่นฐานในปาเลาช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 และสมรสกับหญิงปาเลา[21] ต่อมาในคริสต์ทศวรรษ 1980 นักธุรกิจชาวญี่ปุ่นเริ่มประกอบธุรกิจในปาเลา และพบว่ามีชาวญี่ปุ่นอาศัยอยู่ในปาเลาจำนวน 218 คน ใน ค.ศ. 1995 ในจำนวนนี้กว่าครึ่งแสดงความประสงค์ที่จะได้อยู่อาศัยฐาวรในปาเลา และมีชาวญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งสมรสกับหญิงชาวปาเลาหรือฟิลิปปินส์[22] อย่างไรก็ตามชาวญี่ปุ่นส่วนมากมักนำครอบครัวมาอยู่ด้วยและยังคงมีการติดต่อกับในประเทศญี่ปุ่นเป็นระยะ[21] ผู้ตั้งถิ่นฐานตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1980 บางส่วนประกอบด้วยอดีตผู้ตั้งถิ่นฐานที่ถูกส่งตัวกลับญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติ อดีตผู้ตั้งถิ่นฐานที่กลับมาสู่ปาเลามักเป็นผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี และมักทำงานเป็นมัคคุเทศก์หรือเจ้าของร้านอาหารในปาเลา[23]

ชาวญี่ปุ่น-ปาเลาหลายคนมีตำแหน่งสำคัญในภาครัฐและการเมือง นักชาติพันธุ์วิทยาอย่างมาร์ก พิตตีเสนอว่าการมีส่วนร่วมอย่างสูงของชาวญี่ปุ่น-ปาเลาในตำแหน่งระดับสูงน่าจะมาจากการศึกษาแบบญี่ปุ่นที่พวกเขาได้รับตั้งแต่เด็ก[24] คูนิโวะ นากามูระ ซึ่งเป็นประธานาธิบดีคนแรกของปาเลาและเป็นลูกครึ่งญี่ปุ่น ได้สนับสนุนให้เกิดความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างญี่ปุ่นและปาเลาขณะที่เขาดำรงตำแหน่ง ระหว่างที่เขาเดินทางเยือนญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1996 สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะเสด็จมาต้อนรับด้วยพระองค์เอง ซึ่งชาวญี่ปุ่นและชาวปาเลาต่างชื่นชมการพบปะกันในครั้งนี้ การเดินทางเยือนญี่ปุ่นของนากามูระได้ทำให้ญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ปาเลาในการซ่อมแซมสะพานคอรอร์-บาเบลดาอบ และยังบรรลุข้อตกลงพิเศษทางการค้ากับญี่ปุ่นอีกด้วย[25]

ใกล้เคียง

นิคมญี่ปุ่นในประเทศปาเลา นิคมญี่ปุ่นในประเทศไมโครนีเชีย นิคมญี่ปุ่นในประเทศหมู่เกาะมาร์แชลล์ นิคมญี่ปุ่นในภูมิภาคไมโครนีเชีย นิคมญี่ปุ่นในประเทศคิริบาส นิคม ไวยรัชพานิช นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง นิคม เชาว์กิตติโสภณ นิคม แสนเจริญ

แหล่งที่มา

WikiPedia: นิคมญี่ปุ่นในประเทศปาเลา http://ijb.sagepub.com/cgi/content/abstract/7/2/12... http://ir.lib.u-ryukyu.ac.jp/bitstream/123456789/1... http://www.asahi-net.or.jp/~un3k-mn/0815-hisaizu.h... http://www.fasid.or.jp/daigakuin/sien/kaisetsu/gai... http://pidp.eastwestcenter.org/pireport/2009/Augus... http://www.nanyou.org/shrine.html http://www.pacificdigitallibrary.org/cgi-bin/pdl?e... http://www.pacificweb.org/DOCS/193035Japcensus/Jap... http://www.spf.org/spinf/news/pdf/wop6.pdf https://books.google.com/books?id=iDg9oAkwsXAC&pg=...