ราชวงศ์เล ของ ประวัติศาสตร์เวียดนาม

พระจักรพรรดิเล ทั้ญ ตง

เลเหล่ย (Lê Lợi, 黎利) คหบดีจากจังหวัดทัญฮว้าก่อการกบฎต่อต้านการปกครองของจีนราชวงศ์หมิงขึ้นในค.ศ. 1418 เรียกว่า กบฎลัมเซิน (Lam Sơn uprising) จัดตั้งจากกองกำลังท้องถิ่นสู้รบแบบกองโจรโดยมีฐานที่มั่นอยู๋ที่จังหวัดทัญฮว้า หลังจากการสู้รบเป็นเวลาแปดปี ในค.ศ. 1426 ทัพของเลเหล่ยสามารถเอาชนะทัพของราชวงศ์หมิงได้ในยุทธการที่โต๊ดด่ง-จุ๊กด่ง (Battle of Tốt Động – Chúc Động) และเข้ายึดเมืองดงกิญหรือเมืองฮานอยได้ ฝ่ายจีนราชวงศ์หมิงยอมเจรจาสงบศึกพระจักรพรรดิเซฺวียนเต๋อยอมรับในอธิปไตยของประเทศดั่ยเหวียต ภายใต้เงื่อนไขว่าดั่ยเหวียตต้องส่งเครื่องบรรณาการจิ้มก้องให้แก่ราชวงศ์หมิงเป็นพิธีการ ประเทศเวียดนามจึงได้รับเอกราชอีกครั้ง เลเหล่ยปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นพระจักรพรรดิเล ท้าย โต๋ (Lê Thái Tổ, 黎太祖) ในค.ศ. 1418 ก่อตั้งราชวงศ์เลหลัง (Later Lê dynasty) พระจักรพรรดิเลท้ายโต๋จัดการปกครองและร่างกฎหมายขึ้นใหม่ตามอย่างราชวงศ์ถังและราชวงศ์ซ่ง

หลังจากรัชสมัยของจักรพรรดิเลท้ายโต๋เป็นช่วงเวลาแห่งการแก่งแย่งอำนาจระหว่างพระราชวงศ์และขุนพลผู้ใกล้ชิดของพระจักรพรรดิเลท้ายโต๋ หลังจากการยึดอำนาจในค.ศ. 1460 กลุ่มขุนนางอัญเชิญพระจักรพรรดิเล ทั้ญ ตง (Lê Thánh Tông, 黎聖宗) ขึ้นครองราชสมบัติ รัชสมัยของจักรพรรดิเลทั้ญตงเป็นสมัยแห่งความเจริญรุ่งเรืองของอาณาจักรดั่ยเหวียดทั้งทางด้านการทหารและวัฒนธรรมเรียกว่า รัชศกห่งดึ๊ก (Hồng Đức, 洪德) แห่งความเจริญรุ่งเรือง จักรพรรดิเลทั้ญตงทรงส่งเสริมลัทธิขงจื๊อขึ้นมาให้เป็นศาสนาประจำชาติเวียดนามแทนที่พระพุทธศาสนามหายาน มีการจัดรูปแบบการปกครองและร่างกฎหมายขึ้นใหม่อีกครั้งโดยมีแบบอย่างจากจีนราชวงศ์หมิง ทรงกำหนดข้อระเบียบทางจริยธรรมให้ขุนนางและราษฎรปฏิบัติตามหลักการของลัทธิขงจื๊อ พระเจ้ามหาซาจัน (Maha Sajan) แห่งอาณาจักรจามปานำทัพจามเข้ารุกรานดั่ยเหวียด พระเจ้าเลทั้ญตงทรงนำทัพเวียดนามเข้ารุกรานอาณาจักรจามปาในค.ศ. 1471 สามารถตีเมืองวิชัย (Vijaya) ราชธานีของจามปาแตกและเข้ายึดครองผนวกเอาดินแดนของจามปาทั้งหมดในเวียดนามภาคกลางเข้ามารวมกับดั่ยเหวียด ชาวจามถอยร่นลงไปทางใต้ตั้งราชธานีใหม่ที่เมืองปัณฑุรังคะ (Panduranga) อาณาจักรจามปาซึ่งเคยยิ่งใหญ่ในสมัยโบราณจึงถูกทำลายลงเกือบหมดสิ้นนับแต่นั้น และทำให้อาณาจักรดั่ยเหวียดมีอาณาเขตดินแดนเพิ่มเป็นสองเท่าจากเดิม นอกจากนี้พระจักรพรรดิเลทั้ญตงทรงนำทัพเข้าบุกอาณาจักรล้านช้างในค.ศ. 1479 ในสมัยของพระเจ้าไชยจักรพรรดิแผ่นแผ้ว เข้ายึดเมืองหลวงพระบางได้ แม้ว่าล้านช้างจะสามารถยึดเมืองหลวงพระบางคืนไปได้ในที่สุด

ราชวงศ์หมัก

หลังจากรัชสมัยของพระจักรพรรดิเลทั้ญตงพระจักรพรรดิราชวงศ์เลทรงขาดพระปรีชาและเกิดการยึดอำนาจขึ้นหลายครั้ง ทหารองครักษ์ชื่อว่าหมักดังซุง (Mạc Đăng Dung, 莫登庸) เรืองอำนาจขึ้นมาในราชสำนัก ในค.ศ. 1516 หมักดังซุงตั้งพระจักรพรรดิเลเจียวตง (Lê Chiêu Tông, 黎昭宗) ที่ยังพระเยาว์ขึ้นเป้นจักรพรรดิหุ่นเชิด สร้างความไม่พอใจให้แก่ขุนนางตระกูลเหงียนและตระกูลจิ่ญซึ่งนำโดยเหงียนฮหว่างสุ (Nguyễn Hoằng Dụ, 阮弘裕) รวมกลุ่มต่อต้านอิทธิพลของหมักดังซุง ในค.ศ. 1522 เหงียนฮหว่างสุนำองค์พระจักรพรรดิเลเจียวตงเสด็จไปยังจังหวัดทัญฮว้าเพื่อหลบหนีอิทธิพลของหมักดังซุง หมักดังซุงยกทัพไปสังหารเหงียนฮหว่างสุรวมทั้งสำเร็จโทษปลงพระชนม์จักรพรรดิเลเจียวตงในค.ศ. 1527 และในปีเดียวกันปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิหมักท้ายโต๋ (Mạc Thái Tổ, 莫太祖) ก่อตั้งราชวงศ์หมัก (Mạc dynasty) ราชวงศ์เลจึงขาดช่วงไประยะหนึ่ง

เหงียนกิม (Nguyen Kim, 阮淦) บุตรชายของเหงียนฮหว่างสุ และจิ่ญเกี๋ยม (Trịnh Kiểm, 鄭檢) ก่อการกบฎต่อต้านพระจักรพรรดิหมักท้ายโต๋และถวายฏีกาแด่พระจักรพรรดิเจียจิ้งแห่งจีนราชวงศ์หมิงให้ส่งทัพลงมาปราบราชวงศ์หมักและคืนราชสมบัติให้แก่ราชวงศ์เล จักรพรรดิเจียจิ้งทรงส่งกองทัพขนาดใหญ่มาที่เวียดนาม แต่ทว่าพระจักรพรรดิหมักท้ายโต๋ทรงใช้การเจรจาทำให้แม่ทัพจีนเปลี่ยนมาให้การสนับสนุนแก่ราชวงศ์หมัก ต่อมาในค.ศ. 1533 เหงียนกิมและจิ่ญเกี๋ยมอัญเชิญพระจักรพรรดิราชวงศ์เลขึ้นครองราชสมบัติอีกครั้งที่เมืองเต็ยโดอดีตราชธานีของราชวงศ์โห่ในจังหวัดทัญฮว้า ทำให้ประเทศเวียดนามแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนที่อยู่ทิศเหนือของแม่น้ำแดงมีราชวงศ์หมักปกครองอยู่ที่เมืองดงกิญ และส่วนทิศใต้ของแม่น้ำแดงราชวงศ์เลปกครองจากเมืองเต็ยโด เมื่อเหงียนกิมเสียชีวิตในค.ศ. 1545 จิ่ญเกี๋ยมขึ้นมามีอำนาจแทนและลดทอนอำนาจของตระกูลเหงียน ทำให้บุตรชายของเหงียนกิมชื่อว่า เหงียนฮว่าง (Nguyễn Hoàng, 阮潢) เดินทางออกจากเมืองเต็ยโดไปยังจังหวัดเถื่อเทียนในเวียดนามภาคกลางเพื่อหลีกให้พ้นจากอิทธิพลของจิ่ญเกี๋ยมและสร้างฐานอำนาจของตนเอง ในค.ศ. 1592 บุตรชายของจิ่ญเกี๋ยมชื่อว่าจิ่ญตุ่ง (Trịnh Tùng, 鄭松) ยกทัพเข้ายึดนครดงกิญจากราชวงศ์หมักได้และสำเร็จโทษประหารจักรพรรดิหมักเหม่าเหิป (Mạc Mậu Hợp) ทำให้ราชวงศ์หมักต้องล่าถอยไปอยู่ที่จังหวัดกาวบั่ง ราชวงศ์เลจึงนิวัติหวนคืนสู่เมืองดงกิญอีกครั้งแต่อยู่ภายใต้อิทธิพลของตระกูลจิ่ญ แม้ว่าฝ่ายราชวงศ์หมักเหลือดินแดนเพียงแค่จังหวัดกาวบั่งจังหวัดเดียวแต่เนื่องจากราชวงศ์หมักได้รับการสนับสนุนจากราชวงศ์หมิง จิ่ญตุ่งจึงงดเว้นการทำสงครามกับราชวงศ์หมักไปชั่วคราว จวบจนกระทั่งหลังจากที่ราชวงศ์หมิงสิ้นสุดลงแล้ว จิ่ญตุ่งจึงยกทัพไปยึดจังหวัดกาวบั่งในค.ศ. 1677 ทำให้ราชวงศ์หมักสิ้นสุดลง

ตระกูลจิ่ญและตระกูลเหงียน

เวียดนามประมาณค.ศ. 1650 ตระกูลจิ่ญปกครองเวียดนามภาคเหนือ ตระกูลเหงียนปกครองเวียดนามภาคกลาง ในขณะที่เวียดนามภาคใต้ยังคงเป็นดินแดนของอาณาจักรจามปาและอาณาจักรเขมร

หลังจากที่ทำลายราชวงศ์หมักลงได้แล้ว จึงเกิดความขัดแย้งระหว่างตระกูลจิ่ญและตระกูลเหงียน ตระกูลจิ่ญมีผู้นำคือจิ่ญตุ่งมีอำนาจเหนือราชสำนักราชวงศ์เลโดยมีจักรพรรดิราชวงศ์เลเป็นหุ่นเชิด ในขณะเดียวกันเหงียนฮว่างซึ่งอพยพไปอยู่เวียดนามภาคกลางนั้นได้สร้างฐานอำนาจขึ้นในจังหวัดเถื่อเทียน ในค.ศ. 1615 บุตรชายของเหงียนฮว่างชื่อว่าเหงียนฟุกเงวียน (Nguyễn Phúc Nguyên, 阮福源) อนุญาตให้ชาวโปรตุเกสและชาวญี่ปุ่นเข้ามาตั้งสถานีค้าขายที่เมืองห่อยอัน หรือฮอยอัน (Hội An ชาวโปรตุเกสเรียกเมืองไฟโฟ Faifo) ทำให้ตระกูลเหงียนสามารถเข้าถึงปืนใหญ่ตามแบบตะวันตกซึ่งจะนำไปใช้ในสงครามในอนาคต ในค.ศ. 1620 เหงียนฟุกเงวียนปฏิเสธไม่ส่งเครื่องราชบรรณาการให้แด่พระจักรพรรดิราชวงศ์เลที่นครดงกิญ จิ่ญตุ่งส่งกองทัพเข้ารุกรานฐานที่มั่นของตระกูลเหงียนในค.ศ. 1627 แต่พ่ายแพ้ ทำให้ประเทศเวียดนามถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน ได้แก่ เวียดนามภาคเหนือปกครองโดยตระกูลจิ่ญมีอำนาจเหนือพระจักรพรรดิราชวงศ์เลที่เมืองดงกิญ เรียกว่า จั๊วจิ่ญ (Chúa Trịnh, 主鄭) หรือเจ้าญวนเหนือ และเวียดนามภาคกลางปกครองโดยตระกูลเหงียน เรียกว่า จั๊วเหงียน (Chúa Nguyễn, 阮主) หรือเจ้าญวนใต้ โดยมีการแบ่งอาณาเขตกันที่แม่น้ำซัญ (Gianh River) ในจังหวัดกว๋างบิ่ญ นำไปสู่เป็นสงครามจิ่ญ-เหงียน (Trịnh–Nguyễn War) ซึ่งดำเนินไปเป็นเวลาประมาณห้าสิบปี จั๊วเหงียนเหงียนฟุกเงวียนสร้างกำแพงสองชั้นขึ้นที่พรมแดนที่แม่น้ำซัญซึ่งได้รับการติดปืนใหญ่ที่ได้มาจากชาวโปรตุเกสเพื่อช่วยในการป้องกัน จิ่ญตุ่งยกทัพเข้าทำลายกำแพงของตระกูลเหงียนสองครั้งแต่ไม่สำเร็จ ในค.ศ. 1653 เหงียนฟุกลัน (Nguyễn Phúc Lan, 阮福瀾) ยกทัพตระกูลเหงียนเป็นฝ่ายบุกเข้าภาคเหนือบ้าง แต่พ่ายแพ้ให้แก่ทัพของจั๊วจิ่ญจิ่ญตัก (Trịnh Tạc, 鄭柞) ในค.ศ. 1672 จิ่ญตักส่งทัพเข้าโจมตีกำแพงของตระกูลเหงียนแต่ล้มเหลวอีกครั้ง นำไปสู่การเจรจาสงบศึกในค.ศ. 1673 ตระกูลเหงียนยอมรับอำนาจของจักรพรรดิราชวงศ์เลแต่ในทางพิธีการเท่านั้น ทำให้ตระกูลจิ่ญและตระกูลเหงียนสงบศึกซึ่งกันและกันเป็นเวลาประมาณหนึ่งร้อยปี

ภาพวาดเมืองฮอยอันโดยพ่อค้าชาวญี่ปุ่น

สงครามจิ่ญเหงียนสิ้นสุดลงเปิดโอกาสให้ตระกูลเหงียนแผ่ขยายอำนาจลงไปทางใต้ไปยังอาณาจักรจามปาและอาณาจักรเขมรอุดง การแผ่ขยายอำนาจลงทางใต้ของชาวเวียดนามเรียกว่า นัมเที้ยน (Nam tiến, 南進) ในค.ศ. 1620 เหงียนฟุกเงวียนส่งบุตรสาวของตนคือนางเหงียนฟุกหง็อกหวั่น (Nguyễn Phúc Ngọc Vạn, 阮福玉萬) อภิเษกเป็นพระมเหสีในพระไชยเชษฐาที่ 2 แห่งกัมพูชาที่เมืองอุดงฦาไชย โดยที่ตระกูลเหงียนได้รับดินแดนปากแม่น้ำโขงที่เรียกว่าไพรนคร (Prey Nokor) มาจากกัมพูชา นำไปสู่การก่อตั้งเมืองไซ่ง่อน หรือเมืองซาดิ่ญ (Gia Định) ชาวเวียดนามค่อยๆอพยพไปยังเมืองไซ่ง่อนและอาณาบริเวณโดยรอบ ค.ศ. 1659 นางเหงียนฟุกหง็อกหวั่นร้องขอให้จั๊วเหงียนเหงียนฟุกต่าน (Nguyễn Phúc Tần, 阮福瀕) ยกทัพเข้ารุกรานกัมพูชาเพื่อปลดพระรามาธิบดีที่ 1ออกจากราชสมบัติ นับจากนั้นมาตระกูลเหงียนจึงเข้าไปเกี่ยวข้องกับการแย่งชิงราชสมบัติภายในอาณาจักรเขมรหลายครั้ง ในยุคมืดของกัมพูชาเวียดนามตระกูลเหงียนและสยามอาณาจักรอยุธยาแผ่ขยายอำนาจเข้าไปในกัมพูชา นำไปสู่ความขัดแย่งระหว่างตระกูลเหงียนและอาณาจักรอยุธยาในเรื่องอิทธิพลเหนือกัมพูชา ค.ศ. 1687 มีการสร้างเมืองเว้ (Huế) สร้างคฤหาสน์ป้อมปราการไว้เป็นฐานที่มั่นสำหรับตระกูลเหงียน ในค.ศ. 1707 เจ้าญวนใต้เหงียนฟุกจู (Nguyễn Phúc Chu, 阮福淍) ยกทัพบุกกัมพูชาเพื่อยกราชสมบัติให้แก่พระแก้วฟ้าที่ 3 ทำให้พระศรีธรรมราชาธิราชที่ 2เสด็จหลบหนีไปยังอยุธยารัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ในค.ศ. 1717 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระโปรดฯให้ยกทัพสยามมาทั้งทางบกตีเมืองอุดงมีชัยและทางทะเลตีเมืองบันทายมาศ แม้ว่าม่อจิ่ว (莫玖 ภาษาเวียดนามเรียกหมักจิ๋ว Mạc Cửu) เจ้าเมืองบันทายมาศซึ่งเป็นชาวจีนโพ้นทะเลสามารถเอาชนะทัพเรือสยามได้ แต่ฝ่ายตระกูลเหงียนก็ต้องสูญเสียเมืองอุดงมีชัยให้แก่ฝ่ายสยามไป ม่อจิ่วสวามิภักดิ์ขึ้นกับเจ้าญวนใต้ตระกูลเหงียน เมืองบันทายมาศเป็นเมืองท่าซึ่งเรืองอำนาจจากการค้าโดยเฉพาะในสมัยของม่อซื่อหลิน (莫士麟 ภาษาเวียดนามเรียก หมักเทียนตื๊อ Mạc Thiên Tứ) บุตรชายของม่อจิ่ว ต่อมาในสมัยของเจ้าญวนใต้เหงียนฟุกควั้ต (Nguyễn Phúc Khoát, 阮福濶) ให้การสนับสนุนแก่กษัตริย์กัมพูชา ได้รับดินแดนบริเวณปากแน้ำโขงเพิ่มเติมส่งผลให้เวียดนามและกัมพูชามีพรมแดนอาณาเขตดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ใกล้เคียง

ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสนาพุทธ ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์จีน ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์อินเดีย ประวัติศาสตร์สหรัฐ ประวัติการบินไทย ประวัติศาสตร์เทคโนโลยี