ราชวงศ์เหงียน ของ ประวัติศาสตร์เวียดนาม

ดูบทความหลักที่: ราชวงศ์เหงียน

เมื่อองเชียงสือเหงียนฟุกอั๊ญรวบรวมเวียดนามตั้งแต่เหนือจรดใต้ได้สำเร็จในค.ศ. 1802 แล้ว จึงปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นฮว่างเด๊หรือพระจักรพรรดิพระนามว่าจักรพรรดิซา ล็อง (Gia Long, 嘉隆) ก่อตั้งราชวงศ์เหงียน (Nguyễn dynasty) พระจักรพรรดิซาล็องทรงวางรากฐานการปกครองของราชวงศ์เหงียน ทรงส่งเสริมลัทธิขงจื๊อให้เป็นคติปรัชญาประจำชาติของเวียดนาม ทรงสร้างพระราชวังเมืองเว้ หรือ ฮว่างถ่าญ (Hoàng thành, 皇城) ตามแบบพระราชวังต้องห้ามของจีน มีการประมวลกฎหมายขึ้นใหม่เพื่อทดแทนกฎหมายจากสมัยราชวงศ์เล

ฉลองพระองค์จักรพรรดิและจักรพรรดินีสมัยราชวงศ์เหงียน
ดูบทความหลักที่: อานามสยามยุทธ

ในสมัยราชวงศ์เหงียนมีการแข่งขันระหว่างเวียดนามและสยามสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เกี่ยวกับอิทธิพลเหนืออาณาจักรเขมรอุดง นำไปสู่อานามสยามยุทธซึ่งประกอบไปด้วยสองช่วง ช่วงแรกค.ศ. 1831-1834 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) นำทัพเข้ารุกรานอาณาจักรเขมรเพื่อนำนักองค์ด้วงเจ้าชายเขมรขึ้นครองราชสมบัติกัมพูชา ทรงให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) นำทัพเรือไปโจมตีเวียดนามภาคใต้ ฝ่ายสยามได้เมืองพนมเปญและเมืองบันทายมาศ จักรพรรดิมิญ หมั่งทรงให้เจืองมิญสาง (Trương Minh Giảng, 張明講) เป็นผู้นำทัพเรือเวียดนามเข้าต้านทานทัพสยามสามารถตอบโต้การรุกรานได้ทำให้ทัพฝ่ายสยามต้องถอยออกไป พระจักรพรรดิมิญหมั่งทรงสถาปนากษัตรีองค์มี (Ang Mei) ให้เป็นเป็นหุ่นเชิดของเวียดนาม จักรพรรดิมิญหมั่งมีพระราชประสงค์ที่จะผนวกอาณาจักรเขมรเข้ามาเป็นของเวียดนามโดยสิ้นเชิงทั้งในทางการเมืองและทางวัฒนธรรม เป็นมณฑลหนึ่งของเวียดนามมีชื่อว่าเจิ๊นเต็ย (Trấn Tây, 鎮西) ชาวเขมรถูกบังคับให้เปลี่ยนมาพูดภาษาเวียดนามและดำเนินชีวิตตามแบบวัฒนธรรมเวียดนามสร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวเขมร สงครามช่วงที่สองค.ศ. 1841-1845 ชาวกัมพูชาก่อการกบฎต่อต้านการปกครองของเวียดนามทำให้ฝ่ายเวียดนามต้องล่าถอยกลับมาไป ฝ่ายสยามสามารถเข้าครองนครอุดงมีชัยและนครพนมเปญได้แต่กองทัพฝ่ายเวียดนามยกทัพมายึดเมืองพนมเปญจากสยามกลับไปได้สำเร็จอีกครั้งและยกทัพเข้ารุกรานเมืองอุดงมีชัย เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯนำทัพสยามเข้าโจมตีทัพเวียดนามอย่างไม่ทันรู้ตัวจนแตกพ่ายไป เมื่อสงครามระหว่างเวียดนามและสยามดำเนินมาเป็นเวลานานโดยไม่ประสบผลไม่สามารถเอาชนะกันได้ การเจรจาจึงเริ่มขึ้นโดยให้นักองค์ด้วงขึ้นครองราชสมบัติกัมพูชาเป็นสมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี โดยที่เป็นประเทศราชอยู่ในอาณัติของทั้งสยามและเวียดนาม

กองทัพฝรั่งเศสเข้ายึดเมืองไซ่ง่อนในค.ศ. 1859

ราชสำนักราชวงศ์เหงียนมีนโยบายต่อต้านอิทธิพลของชาวตะวันตกและการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ จักรพรรดิมิญหมั่งทรงมีพระราชโองการห้ามมิให้มีการเผยแพร่คริสต์ศาสนาในพระราชอาณาจักรและทรงห้ามมิให้มิชชันนารีชาวตะวันตกเดินทางเข้าประเทศ มีการลงโทษประหารชาวคริสเตียนทั้งที่เป็นชาวตะวันตกและชาวเวียดนาม เปิดโอกาสให้ฝรั่งเศสใช้เป็นข้ออ้างในการเข้ายึดดินแดนเวียดนาม ในค.ศ. 1847 มิชชันนารีดอมีนิก เลอแฟบฟวร์ (Dominique Lefèbvre) ชาวฝรั่งเศสถูกจับกุมในข้อหาลักลอบเผยแพร่ศาสนาคริสต์ใน แม่ทัพเรือฝรั่งเศสฌ็อง- บาติสต์ เซซีย์ (Jean-Baptiste Cécille) นำเรือรบเข้าปิดล้อมเมืองท่าดานัง หรือเมืองตูราน (Tourane) ยิงปืนใหญ่เข้าทำลายเรือรบของเวียดนามไปสังหารทหารเวียดนามไปจำนวนมาก เรียกว่าเหตุการณ์โจมตีเมืองตูราน (Bombardment of Tourane) ในค.ศ. 1857 แม่ทัพเรือฝรั่งเศส ชาร์ล รีโกล เดอ เยอนูยยี (Charles Rigault de Genuoilly) ยกทัพเรือฝรั่งเศสมายังเวียดนามเข้ายึดเมืองท่าดานังในค.ศ. 1858 พระจักรพรรดิตึ ดึ๊กทรงส่งแม่ทัพเหงียนจิเฟือง (Nguyễn Tri Phương, 阮知方) ยกทัพเข้าล้อมทัพฝรั่งเศสในเมืองดานังไว้ เดอเยอนูยยียึดเมืองไซ่ง่อนได้สำเร็จในค.ศ. 1859 เหงียนจิเฟืองจึงยกทัพตามไปล้อมเมืองไซ่ง่อนคืนจากฝรั่งเศส แต่ทัพฝรั่งเศสสามารถฝ่าวงล้อมของเหงียนจิเฟืองออกมาจากไซ่ง่อนและสามารถเอาชนะเหงียนจิเฟืองได้ในยุทธการที่กี่ฮว่า (Battle of Kỳ Hòa) นำไปสู่การเจรจาระหว่างราชสำนักเวียดนามกับฝ่ายฝรังเศสในค.ศ. 1862 ในสนธิสัญญาไซ่ง่อน (Treaty of Saigon) จักรพรรดิตึดึ๊กทรงยกเมืองไซ่ง่อนรวมทั้งดินแดนเวียดนามตอนใต้ซึ่งเรียกว่าโคชินจีน (Cochinchina) ให้แก่ฝรั่งเศส นับว่าเป็นการสูญเสียดินแดนให้แก่ชาติตะวันตกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เวียดนาม

กองกำลังเพื่อการเดินทัพสู่ตังเกี๋ย (Tonkin Expeditionary Corps) ของรัฐบาลฝรั่งเศส นำโดยนายอาเมดี กูร์แบ (Amédée Courbet) ยกทัพเข้ายึดป้อมปราการถ่วนอาน (Battle of Thuận An) ในค.ศ. 1883 ซึ่งเป็นป้อมปราการที่อยู่ใลก้กับเมืองเว้ การเสียป้อมถั่วนอันให้แก่ฝรั่งเศสนำไปสู่การเจรจาสนธิสัญญาเว้ (Treaty of Hue) ฝรั่งเศสจัดตั้งรัฐในอารักขาขึ้นในเวียดนามภาคเหนือ เรียกว่า รัฐในอารักขาตังเกี๋ย (Protectorate of Tonkin) และรัฐในอารักขาอันนัม (Protectorate of Annam) ในเวียดนามภาคกลาง ราชสำนักราชวงศ์เหงียนสูญสิ้นซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศเวียดนามและสูญเสียเอกราชให้แก่ฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ใกล้เคียง

ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสนาพุทธ ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์จีน ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์อินเดีย ประวัติศาสตร์สหรัฐ ประวัติการบินไทย ประวัติศาสตร์เทคโนโลยี