ประวัติศาสตร์ ของ ยุคเอโดะ

ยุทธการที่เซกิงาฮาระ

ใน ค.ศ. 1600 ยุทธการที่เซกิงาฮาระ (ญี่ปุ่น: 関ヶ原の戦い โรมาจิSekigahara-no-tatakai) ทำให้โทกูงาวะ อิเอยาซุ ไดเมียวผู้มีอำนาจหลังจากการอสัญกรรมของไทโกโทโยโตมิ ฮิเดโยชิ (ญี่ปุ่น: 豊臣秀吉 โรมาจิToyotomi Hideyoshi) กลายเป็นผู้ปกครองญี่ปุ่นโดยเบ็ดเสร็จปราศจากไดเมียวที่จะท้าทายอำนาจ และอิเอยาซุยังสามารถอ้างการสืบเชื้อสายจากตระกูลมินาโมโตะโบราณได้ จึงได้รับการแต่งตั้งจากราชสำนักเกียวโตให้เป็นเซอิไทโชกุน (ญี่ปุ่น: 征夷大将軍 โรมาจิSeii Taishōgun) ใน ค.ศ. 1603 เป็นจุดเริ่มต้นของรัฐบาลเอโดะหรือ เอโดบากูฟุ (ญี่ปุ่น: 江戸幕府 โรมาจิEdo bakufu) ที่ปกครองโดยตระกูลโทกูงาวะเป็นระยะเวลาประมาณสองร้อยห้าสิบปี

การติดต่อกับชาวตะวันตกและการปิดประเทศ

ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่สิบเจ็ด ชาวฮอลันดาและชาวอังกฤษได้เข้ามาติดต่อค้าขายที่เมืองนางาซากิ ซึ่งโชกุนอิเอยาซุก็ได้ให้การต้อนรับอย่างดี ด้วยเหตุที่ชาวฮอลันดาและชาวอังกฤษเข้ามาทำการค้าขายเพียงอย่างเดียวไม่เผยแผ่ศาสนา ในค.ศ. 1604 โชกุนอิเอยาซุมีคำสั่งให้วิลเลียม อดัมส์ (William Adams) ต่อเรือแบบตะวันตกให้แก่ญี่ปุ่นครั้งแรก และอนุญาตให้ชนชั้นพ่อค้าล่องเรือออกไปค้าขายยังอาณาจักรต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ เรียกว่าเรือตราแดงหรือชูอินเซ็ง (ญี่ปุ่น: 朱印船 โรมาจิShuinsen) ทำให้พ่อค้าชาวญี่ปุ่นเป็นคู่แข่งรายสำคัญของชาวฮอลันดาในภูมิภาค และใน ค.ศ. 1609 โอโงโชอิเอยาซุได้ออกประกาศอนุญาตให้บริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์เข้ามาตั้งสถานีการค้าที่เมืองฮิราโดะ (ญี่ปุ่น: 平戸 โรมาจิHirado) ใกล้กับเมืองนางาซากิ และใน ค.ศ. 1613 ไดเมียวดาเตะ มาซามูเนะ (ญี่ปุ่น: 伊達政宗 โรมาจิDate Masamune) ได้ส่งฮาเซกูระ สึเนนางะ (ญี่ปุ่น: 支倉常長 โรมาจิHasekura Tsunenaga) ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับชาติต่าง ๆ ในทวีปยุโรป เรียกว่า คณะทูตปีเคโจ (ญี่ปุ่น: 慶長使節 โรมาจิKeichō shisetsu)

เรือตราแดงหรือชูอินเซ็ง

ใน ค.ศ. 1605 โชกุนอิเอยาซุได้สละตำแหน่งโชกุนให้แก่บุตรชายคือโทกูงาวะ ฮิเดตาดะ (ญี่ปุ่น: 徳川秀忠 โรมาจิTokugawa Hidetada) แต่อำนาจการปกครองยังคงอยู่ที่อิเอยาซุซึ่งดำรงตำแหน่งโอโงโช (ญี่ปุ่น: 大御所) หรือโชกุนผู้สละตำแหน่ง โอโงโชอิเอยาซุถึงแก่อสัญกรรมในค.ศ. 1616 เมื่อโชกุนฮิเดตาดะขึ้นมามีอำนาจ ได้ดำเนินการปราบปรามชาวคริสเตียนอย่างรุนแรง ในค.ศ. 1622 ได้ทำการสังหารชาวคริสเตียนจำนวนห้าสิบคนที่เมืองนางาซากิ (Great Martyrdom of Nagasaki) เรียกว่า การปราบปรามชาวคริสเตียนปีเง็นนะ (ญี่ปุ่น: 元和の大殉教 โรมาจิGenna-no-daijungyō) ใน ค.ศ. 1615 โชกุนฮิเดตาดะได้ออกกฎหมายซามูไรหรือบูเกชูฮัตโตะ (ญี่ปุ่น: 武家諸法度 โรมาจิฺBuke shuhatto) ออกมาเป็นฉบับแรกของสมัยเอโดะ ในค.ศ. 1623 โชกุนฮิเดตาดะได้สละตำแหน่งให้แก่บุตรชายคือโชกุนโทกูงาวะ อิเอมิตสึ (ญี่ปุ่น: 徳川家光 โรมาจิTokugawa Iemitsu) แล้วลงมาดำรงตำแหน่งเป็นโอโงโช การปราบปรามชาวคริสต์ระลอกใหญ่เกิดขึ้นอีกครั้งใน ค.ศ. 1629 ที่เมืองนางาซากิ โดยทางบากูฟุได้บังคับให้ชาวเมืองกระทำการฟูมิเอะ (ญี่ปุ่น: 踏み絵 โรมาจิfumi-e) คือการเหยียบย่ำลงบนรูปของพระเยซูเพื่อพิสูจน์ว่าตนไม่ได้เป็นคริสเตียน

ฮะเซะกุระ สึเนะนะงะ

โอโงโชฮิเดตาดะถึงแก่อสัญกรรมใน ค.ศ. 1632 ทำให้โชกุนอิเอมิตสึมีอำนาจเต็มในการปกครองญี่ปุ่น โชกุนอิเอมิตสึเป็นโชกุนคนแรกที่เติบโตมาอย่างนักปราชญ์และไม่เคยผ่านประสบการณ์สงครามมาก่อน ใน ค.ศ. 1635 โชกุนอิเอมิตสึได้ออกกฎหมายซังกิงโกไต (ญี่ปุ่น: 参勤交代 โรมาจิฺSankin-kōtai) บังคับให้ไดเมียวของทุกแคว้นต้องพำนักอยู่ในเมืองเอโดะหนึ่งปีสลับกับอยู่ในแคว้นของตนอีกหนึ่งปี เป็นการลดทอนอำนาจของไดเมียวไม่ให้มีการซ่องสุมอำนาจหรือกำลังทหารในแคว้นของตนได้ การกดขี่ชาวคริสเตียนอย่างหนักและภาวะอดอยากทำให้ชาวคริสเตียนบนแหลมชิมาบาระและเกาะอามากูซะ อันเป็นส่วนหนึ่งของเกาะคีวชู ได้ก่อกบฏขึ้นในค.ศ. 1637 เรียกว่า กบฏชิมาบาระ (ญี่ปุ่น: 島原の乱 โรมาจิShimabara-no-ran) ทัพของบากูฟุใช้เวลาถึงหนึ่งปีจนกระทั่งเข้ายึดปราสาทฮาระอันเป็นฐานที่มั่นของกบฏได้ใน ค.ศ. 1638

โชกุนอิเอมิตสึได้รับอิทธิพลจากที่ปรึกษาที่เป็นปราชญ์ขงจื๊อ โดยเฉพาะฮายาชิ ราซัง (ญี่ปุ่น: 林羅山 โรมาจิHayashi Razan) ให้ดำเนินนโยบายการปิดประเทศหรือไคกิง (ญี่ปุ่น: 海禁 โรมาจิKaikin) ซึ่งต่อมาภายหลังเรียกว่าซาโกกุ (ญี่ปุ่น: 鎖国 โรมาจิSakoku) โดยการเลิกการค้าขายของเรือตราแดง เลิกการค้ากับชาวโปรตุเกส อนุญาตให้มีการค้าขายกับชาวจีนและฮอลันดาที่เมืองนางาซากิเท่านั้น และย้ายสถานีการค้าของฮอลันดาออกไปยังเกาะเดจิมะ (ญี่ปุ่น: 出島 โรมาจิDejima) รวมทั้งการห้ามชาวญี่ปุ่นออกนอกประเทศโดยระวางโทษถึงประหารชีวิต นโยบายปิดประเทศของโชกุนอิเอมิตสึส่งผลต่อการต่างประเทศของญี่ปุ่นไปเป็นเวลาอีกสองร้อยปี โดยที่มีชาวฮอลันดาเป็นชาวตะวันตกเพียงชาติเดียวที่ทำการค้ากับญี่ปุ่น

อิทธิพลของลัทธิขงจื๊อและวัฒนธรรมเก็นโรกุ

ช่วงสมัยของโชกุนสามคนแรกนั้นเรียกว่าสมัยการปกครองของทหาร (ญี่ปุ่น: 武断政治 โรมาจิButen seishi) การติดต่อกับเกาหลีและจีนในช่วงต้นศตวรรษที่สิบเจ็ดทำให้ลัทธิขงจื๊อใหม่ (Neo-Confucianism) แพร่เข้ามาในชนชั้นซามูไรอันเป็นชนชั้นปกครองของญี่ปุ่น ประกอบกับสภาพว่างเว้นสงครามเป็นเวลานานถึงสองร้อยปี ทำให้ชนชั้นซามูไรผันตนเองจากชนชั้นนักรบมาเป็นชนชั้นนักปราชญ์ ในค.ศ. 1651 โชกุนอิเอมิตสึถึงแก่อสัญกรรม โชกุนโทกูงาวะ อิเอ็ตสึนะ (ญี่ปุ่น: 徳川家綱 โรมาจิTokugawa Ietsuna) อายุเพียงเก้าปีสืบทอดตำแหน่งโชกุนต่อมา ทำให้อำนาจการปกครองตกอยู่ที่ขุนนางไดเมียวฟูไดและปราชญ์ขงจื๊อ ซึ่งเข้าครอบงำบากูฟุทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านการปกครอง สังคมและวัฒนธรรมไปในทางของพลเรือนมากขึ้นเรียกว่าสมัยการปกครองของพลเรือน (ญี่ปุ่น: 文治政治 โรมาจิBunchi seishi) ปรัชญาของลัทธิขงจื๊อทำให้สังคมญี่ปุ่นแบ่งออกเป็นสี่ชนชั้นอย่างชัดเจน และมีผลให้สังคมญี่ปุ่นมีความเคร่งครัดและพิธีรีตองมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

สำนักยูชิมะ

ภาวะว่างเว้นสงครามทำให้เกิดปัญหาของโรนิน (ญี่ปุ่น: 浪人 โรมาจิRōnin) หรือซามูไรตกงานจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นซามูไรที่เคยรับใช้ฝ่ายตระกูลโทโยโตมิ ซึ่งทางบากูฟุได้กีดกันและไม่ให้การสนับสนุนเนื่องจากเห็นว่าเป็นภัยสังคมและโรนินเหล่านี้ก็ไม่ได้รับโอกาสในสังคมขงจื๊อแบบใหม่ ทำให้โรนินกลายเป็นตัวแทนหรือสัญลักษณ์ของการต่อต้านการปกครองของโชกุนตระกูลโทกูงาวะ

ในช่วงศตวรรษที่สิบเจ็ดเป็นช่วงเวลาของปราชญ์ขงจื๊อชาวญี่ปุ่นคนสำคัญหลายคนได้แก่ฮายาชิ ราซัง (ญี่ปุ่น: 林 羅山 โรมาจิHayashi Razan) และยามาซากิ อันไซ (ญี่ปุ่น: 山崎闇斎 โรมาจิYamazaki Ansai) เป็นปราชญ์ขงจื๊อที่ส่งเสริมให้บากูฟุยึดลัทธิขงจื๊อสำนักของจูซื่อ (Zhu Xi ญี่ปุ่น: 朱子学 โรมาจิShushi gaku) ให้เป็นศาสนาประจำชาติ โดยเฉพาะตระกูลฮายาชิ ซึ่งผูกขาดตำแหน่งที่ปรึกษาของโชกุน และยังมีปราชญ์ขงจื๊อที่เป็นโรนินต่อต้านลัทธิขงจื๊อสำนักของจูซื่อซึ่งเป็นสำนักที่บากูฟุยึดถือ ยกตัวอย่างเช่นคูมาซาวะ บันซัง (ญี่ปุ่น: 熊沢蕃山 โรมาจิKumazawa Banzan) ผู้ยึดมั่นในลัทธิขงจื๊อสำนักของหวังหยางหมิง (Wang Yangming) อันเป็นสำนักคู่แข่งของจูซื่อ และยามางะ โซโก (ญี่ปุ่น: 山鹿素行 โรมาจิYamaga Sokō) ผู้ซึ่งนำลัทธิขงจื๊อมาประยุกต์เข้ากับหลักบูชิโดอันเป็นหลักการของชนชั้นซามูไรในสมัยก่อน

โรนินสี่สิบเจ็ดคน

ในสมัยของโชกุนโทกูงาวะ สึนาโยชิ (ญี่ปุ่น: 徳川綱吉 โรมาจิTokugawa Tsunayoshi) ศิลปวัฒนธรรมญี่ปุ่นสมัยเอโดะเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด เรียกว่า สมัยเก็นโรกุ (ญี่ปุ่น: 元禄時代 โรมาจิGenroku jidai) และวัฒนธรรมเก็นโรกุ (ญี่ปุ่น: 元禄文化 โรมาจิGenroku bunka) ประกอบด้วยการศึกษาอักษรศาสตร์และหลักปรัชญาตามลัทธิขงจื๊อ งานศิลปกรรมต่างๆ และการบันเทิงอย่างเช่นละครคะบุกิ และละครโนะ ทั้งสามเมืองได้แก่ เอโดะ เกียวโต และโอซากะ เจริญขึ้นเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ

แต่ชาวญี่ปุ่นกลับมองว่าสมัยเก็นโรกุเป็นสมัยที่มีความเสื่อมโทรมในด้านสังคมและจริยธรรมมากที่สุดสมัยหนึ่ง ด้วยการเรืองอำนาจของขุนนางไดเมียวฟูไดในบากูฟุทำให้มีการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างกว้างขวาง ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์โรนินสี่สิบเจ็ดคน (Forty-Seven Ronins; ญี่ปุ่น: 元禄赤穂事件 โรมาจิGenroku Akō jiken) โชกุนสึนาโยชิได้ปราบปรามและลดอำนาจกลุ่มขุนนางฟูไดอย่างหนัก และดึงกลุ่มขุนนางคนสนิทหรือโซบาโยนิน (ญี่ปุ่น: 側用人 โรมาจิSobayōnin) เข้ามามีอำนาจแทน โชกุนสึนาโยชิยังได้ส่งเสริมลัทธิขงจื๊อด้วยการก่อตั้งสำนักยูชิมะ (ญี่ปุ่น: 湯島聖堂 โรมาจิYushima Seidō) ในค.ศ. 1691 ให้เป็นสำนักขงจื๊อประจำชาติของญี่ปุ่น ตลอดช่วงสองร้อยปีในยุคเอโดะรัฐบาลโชกุนดำเนินนโยบายปิดประเทศโดยทำการค้าขายกับจีนและฮอลันดาในปริมาณที่จำกัด อิทธิพลของลัทธิขงจื้อทำให้สถาบันโชกุนในยุคเอโดะมิได้เป็นเพียงผู้นำเผด็จการทหารเพียงอย่างเดียวแต่เป็นรัฏฐาถิปัตย์ผู้ทรงธรรมและศักดิ์สิทธิ์ตามหลักขงจื้อ

ปัญหาเศรษฐกิจสังคมและการปฏิรูป

ตลาดข้าวเป็นที่อยู่ของพ่อค้าคนกลางขายข้าว ซึ่งเป็นชนชั้นที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจมากในยุคเอโดะ

ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่สิบแปดประเทศญี่ปุ่นประสบปัญหาภาวะค่าเงินแข็งตัวอันเนื่องมาจากเงินทองที่หมุนเวียนอยู่ภายในประเทศญี่ปุ่นรั่วไหลออกไปทางการค้ากับต่างประเทศ คนสนิทของโชกุนได้แก่อาราอิ ฮากูเซกิ (ญี่ปุ่น: 新井白石 โรมาจิArai Hakuseki) และมานาเบะ อากิฟูสะ (ญี่ปุ่น: 間部詮房 โรมาจิManabe Akifusa) ออกนโยบายเพิ่มปริมาณเงินในระบบด้วยการออกเงินกษาปณ์ชุดใหญ่ชุดใหม่ในค.ศ. 1714 และกำจัดการนำเงินไปใช้จ่ายในการค้ากับต่างประเทศ หลังจากที่โชกุนโทกูงาวะ อิเอ็ตสึงุ (ญี่ปุ่น: 徳川家継 โรมาจิTokugawa Ietsugu) ถึงแก่กรรมโดยปราศจากทายาทในค.ศ. 1716 ทำให้ตระกูลโทกูงาวะสาขาหลักต้องสูญสิ้นไป และโทกูงาวะ โยชิมูเนะ (ญี่ปุ่น: 徳川吉宗 โรมาจิTokugawa Yoshimune) ไดเมียวแห่งแคว้นคีอิจากสาขาย่อยของตระกูลโทกูงาวะได้ขึ้นครองตำแหน่งโชกุน โชกุนโทกูงาวะ โยชิมูเนะ ออกนโยบายการปฏิรูปปีเคียวโฮ (ญี่ปุ่น: 享保の改革 โรมาจิKyōhō no kaikaku) ขึ้นในค.ศ. 1721 เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นส่งเสริมบทบาทของข้าวไว้ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าแทนเงิน รวมทั้งการผ่อนคลายความเข้มงวดของลัทธิขงจื้อทำให้ชนชั้นพ่อค้ามีบทบาทมากขึ้นและผ่อนคลายการปิดประเทศทำให้สื่อและองค์ความรู้ตะวันตกเข้ามาในญี่ปุ่นได้มากขึ้นเกิดเป็นรังงากุ (ญี่ปุ่น: 蘭学 โรมาจิRangaku) หรือศิลปศาสตร์ตะวันตก ในสมัยของโชกุนโทกูงาวะ อิเอฮารุ (ญี่ปุ่น: 徳川家治 โรมาจิTokugawa Ieharu) ซึ่งเข้ารับตำแหน่งในค.ศ. 1760 อำนาจการปกครองในรัฐบาลโชกุนเป็นของทานูมะ โอกิตสึงุ (ญี่ปุ่น: 田沼意次 โรมาจิTanuma Okitsugu) เป็นสมัยที่รัฐบาลโชกุนมีความเสรีนิยมมากขึ้น ชนชั้นพ่อค้ามีอำนาจมากขึ้นและศิลปศาสตร์รังงากุเจริญรุ่งเรือง แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่มีความเสื่อมถอยของคุณธรรมเกิดการทุจริตติดสินบนขึ้นอย่างกว้างขวางโดยมีทานูมะ โอกิตสึงุ เป็นศูนย์กลางของความฉ้อฉลเหล่านั้น

ในสมัยเอโดะมีการอพยพของชาวญี่ปุ่นเข้าไปตั้งถิ่นฐานบนเกาะเอโซะ (ญี่ปุ่น: 蝦夷 โรมาจิEzo) หรือเกาะฮกไกโดในปัจจุบัน ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายรัฐบาลโชกุนและชาวญี่ปุ่นกับฝ่ายชาวไอนุ (Ainu) ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมบนเกาะเอโซะ ชาวไอนุพื้นเมืองลุกฮือขึ้นต่อต้านการปกครองของรัฐบาลโชกุนในปีค.ศ. 1669-1672 กบฎของชากูชาอิน (Shakushain's revolt) และในค.ศ. 1789 กบฎเมนาชิ-คูนาชีร์ (Menashi-Kunashir rebellion)

ในสมัยของทานูมะเป็นสมัยที่ชนชั้นพ่อค้าเรืองอำนาจ แม้วัตถุเจริญรุ่งเรืองแต่สังคมกลับถดถอยลง เมื่อโชกุนอิเอฮารุถึงแก่กรรมในค.ศ. 1786 ทำให้ทานูมะ โอกิตสึงุสูญสิ้นอำนาจไป โชกุนคนต่อมาคือโทกูงาวะ อิเอนาริ (ญี่ปุ่น: 徳川家斉 โรมาจิTokugawa Ienari) อำนาจการปกครองอยู่ที่โรจูมัตสึไดระ ซาดาโนบุ (ญี่ปุ่น: 松平定信 โรมาจิMatsudaira Sadanobu) มัตสึไดระ ซาดาโนบุ มีความยึดมั่นในลัทธิขงจื้อและต้องการที่จะฟื้นฟูความเรียบร้อยในสังคมญี่ปุ่นให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามธรรมนองเดิม นำไปสู่การปฏิรูปปีคันเซ (ญี่ปุ่น: 寛政の改革 โรมาจิKansei no kaikoku) ในค.ศ. 1790 เน้นย้ำความสำคัญของหลักการลัทธิขงจื้อในสังคมโดยการประกาศให้ลัทธิขงจื้อของจูซื่อเป็นศาสนาประจำชาติ ลดอำนาจของชนชั้นพ่อค้าและปราบปรามอิทธิพลของรังงากุ ในค.ศ. 1842 โรจูมิตซูโนะ ทาดากูนิ (ญี่ปุ่น: 水野忠邦 โรมาจิMizuno Tadakuni) ออกนโยบายการปฏิรูปปีเทมโป (ญี่ปุ่น: 天保の改革 โรมาจิTenpō no kaikoku) ลดความฟุ่มเฟือยต่างๆในสังคม

ภาพวาดเรือมอร์ริสันเทียบท่าอ่าวอูรางะในค.ศ. 1837

ในค.ศ. 1792 ญี่ปุ่นมีการติดต่อกับจักรวรรดิรัสเซียเป็นครั้งแรก เรือของรัสเซียซึ่งนำโดยนายอดัม แลกซ์แมน (Adam Laxman) มาเทียบท่าเมืองมัตสึมาเอะบนเกาะฮกไกโดเพื่อเจรจาขอทำการค้าขายกับญี่ปุ่น โรจูมะสึไดระ ซะดะโนะบุ ปฏิเสธที่จะให้รัสเซียค้าขายที่ฮกไกโดแต่ให้อนุญาตให้เรือสินค้ารัสเซียไปเทียบท่าที่นางาซากิแทน การยอมให้สิทธิการค้าแก่รัสเซียทำให้มะสึไดระ ซะดะโนะบุ ถูกโจมตีอย่างหนักจนพ้นจากอำนาจไปในค.ศ. 1793 หลังจากนั้นมีเหตุการณ์เรือของชาติตะวันตกหยั่งเชิงเข้าเทียบท่าที่ญี่ปุ่นหลายครั้งเพื่อท้าทายนโยบายการปิดประเทศและเปิดโอกาสการทำสนธิสัญญาการค้า แต่รัฐบาลโชกุนเพิกเฉยไม่สนใจต่อชาวตะวันตกเหล่านั้น ในค.ศ. 1837 เรือของสหรัฐอเมริกาชื่อว่ามอร์ริสัน (Morrison) ได้เข้าเทียบท่าที่เมืองคาโงชิมะและอ่าวอูรางะใกล้เมืองเอโดะ ฝ่ายรัฐบาลโชกุนทำการตอบโต้อย่างรุนแรงด้วยการยิงปืนใหญ่เรียกว่า เหตุการณ์มอร์ริสัน (Morrison Incident)

ในช่วงปลายยุคเอโดะในขณะที่ชนชั้นซามูไรและรัฐบาลโชกุนให้การสนับสนุนแก่ลัทธิขงจื้อของจูซื่อและชื่นชมวัฒนธรรมจีนโบราณ เกิดแนวความคิดที่หันกลับมาศึกษาและชื่นชมวัฒนธรรมญี่ปุ่นดั้งเดิม เรียกว่า "โคกูงากุ" (ญี่ปุ่น: 国学 โรมาจิKokugaku) นักปราชญ์ในปลายยุคเอโดะได้แก่ โทกูงาวะ มิตสึกูนิ (ญี่ปุ่น: 徳川光圀 โรมาจิTokugawa Mitsukuni) ไดเมียวแห่งแคว้นมิโตะ และโมโตโอริ โมรินากะ (ญี่ปุ่น: 本居宣長 โรมาจิMotoori Norinaga) เป็นผู้ริเริ่มแนวความคิดโคกูงากุ โดยที่นักปราชญ์สำนักนี้ให้ความสำคัญแก่ศาสนาชินโตและยกย่องสถาบันพระจักรพรรดิซึ่งอยู่คู่ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นมาตั้งแต่โบราณ แนวความคิดแบบโคกูงากุจะมีอิทธิพลอย่างมากต่อการเมืองในช่วงปลายยุคเอโตะในสมัยต่อมา

ปลายยุคเอโดะ: บากูมัตสึ

พลเรือจัตวา แมทธิว ซี. เพร์รี ผู้นำเรือรบของสหรัฐอเมริกาเข้าเรียกร้องให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศเพื่อทำการค้า
ดูบทความหลักที่: บากูมัตสึ

ในสมัยของโชกุนโทกูงาวะ อิเอโยชิ (ญี่ปุ่น: 徳川家慶 โรมาจิTokugawa Ieyoshi) ปีค.ศ. 1853 พลเรือจัตวาแมทธิว ซี. เพร์รี (Matthew C. Perry) นำเรือรบของสหรัฐอเมริกาจำนวนสี่ลำ ที่ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า "เรือดำ" (ญี่ปุ่น: 黒船 โรมาจิKurofune) เข้ามาจอดปิดอ่าวอูรางะใกล้กับนครเอโดะ เรียกร้องให้รัฐบาลโชกุนเปิดประเทศทำการค้าขายกับสหรัฐอเมริกา มิฉะนั้นจะนำเรือติดอาวุธปืนใหญ่เข้าโจมตีเมืองเอโดะ พลเรือจัตวาแมทธิว เพร์รี ใช้วิธีทางการทูตแบบเรือปืน (Gunboat diplomacy) ข่มขู่รัฐบาลโชกุนให้ยอมเปิดประเทศ รัฐบาลโชกุนภายใต้การนำของโชกุนอิเอโยชิและโรจูอาเบะ มาซาฮิโระ (ญี่ปุ่น: 阿部正弘 โรมาจิAbe Masahiro) ตื่นตระหนกอย่างมากกับการข่มขู่จากเรือดำ โชกุนอิเอโยชิล้มป่วยจนถึงแก่กรรมในปีเดียวกันนั้น บุตรชายของโชกุนอิเอโยชิคือ โทกูงาวะ อิเอซาดะ (ญี่ปุ่น: 徳川家定 โรมาจิTokugawa Iesada) ซึ่งสุขภาพอ่อนแอเช่นเดียวกันขึ้นดำรงตำแหน่งโชกุนคนต่อมา ในปีค.ศ. 1854 โรจูอาเบะ มาซาฮิโระ ยินยอมทำตามข้อเรียกร้องของนายแมทธิวเพร์รี นำไปสูงการลงนามในข้อตกลงเมืองคานางาวะ (Convention of Kanagawa) โดยรัฐบาลโชกุนยอมเปิดเมืองท่าชิโมดะ (Shimoda) และฮาโกดาเตะ (Hakodate) ให้แก่เรือของสหรัฐอเมริกาเข้ามาทำการค้าขาย เท่ากับเป็นการสิ้นสุดการปิดประเทศญี่ปุ่นาเป็นเวลาสองร้อยกว่าปี การที่รัฐบาลโชกุนยินยอมลงนามเปิดประเทศค้าขายนั้น มิได้ทำเรื่องขึ้นทูลถวายฯพระจักรพรรดิแต่อย่างใด ทำให้นายอาเบะ มาซาฮิโระ และรัฐบาลโชกุนถูกตำหนิอย่างมากว่ากระทำโดยพลการ จนอาเบะ มาซาฮิโระต้องลาออกจากตำแหน่งโรจูไปในค.ศ. 1855 นอกจากสหรัฐอเมริกาแล้วรัฐบาลโชกุนยังทำสนธิสัญญาการค้ากับประเทศตะวันตกอื่นๆอีกได้แก่ อังกฤษ รัสเซีย และฝรั่งเศส

การที่รัฐบาลโชกุนเปิดประเทศญี่ปุ่นให้แก่ชาวตะวันตกเข้ามาติดต่อค้าขาย สร้างความไม่พอใจแก่ฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะ โดยเฉพาะกลุ่มซามูไรในภาคตะวันตกของญี่ปุ่น ได้ใช้การเปิดประเทศญี่ปุ่นมาโจมตีรัฐบาลโชกุนในทางการเมืองและให้การสนับสนุนแก่พระจักรพรรดิที่เมืองเกียวโต ภายใต้คติพจน์ "ซนโนโจอิ" (ญี่ปุ่น: 尊皇攘夷 โรมาจิSonnō jōi) หรือ "เชิดชูองค์จักรพรรดิ ต่อต้านอนารยชน" โดยเฉพะซามูไรในแคว้นซัตสึมะ (ญี่ปุ่น: 薩摩 โรมาจิSatsuma) และแคว้นโจชู (ญี่ปุ่น: 長州 โรมาจิChōshū) ซึ่งมีความเห็นว่าการยินยอมทำสนธิสัญญาที่เสียเปรียบทางการค้ากับชาติตะวันตกเกิดผลเสียแก่ประเทศ ในค.ศ. 1858 โชกุนอิเอซาดะถึงแก่กรรมโดยที่ปราศจากบุตรและทายาท ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลโชกุนนำโดยโทกูงาวะ นาริอากิ (ญี่ปุ่น: 徳川斉昭 โรมาจิTokugawa Nariaki) ไดเมียวแห่งแคว้นมิโตะ ต้องการผลักดันให้บุตรชายของตนคือ โทกูงาวะ โยชิโนบุ (ญี่ปุ่น: 徳川慶喜 โรมาจิTokugawa Yoshinobu) ขึ้นเป็นโชกุนคนต่อมาแต่ไม่สำเร็จ ฝ่ายรัฐบาลโชกุนซึ่งนำโดยอิอี นาโอซูเกะ (ญี่ปุ่น: 井伊直弼 โรมาจิIi Naosuke) สามารถผลักดันให้ตำแหน่งโชกุนเป็นของโทกูงาวะ อิเอโมจิ (ญี่ปุ่น: 徳川家定 โรมาจิTokugawa Iemochi) ได้สำเร็จ ทำให้อิอี นาโอซูเกะ เรืองอำนาจขึ้นในรัฐบาลโชกุน ไทโรอิอี นาโอซูเกะ นำประเทศญี่ปุ่นเข้าทำสนธิสัญญาเพื่อมิตรภาพและการค้า (Treaty of Amity and Commerce) กับสหรัฐอเมริกาซึ่งมีนายทาวน์เซนด์ แฮร์ริส (Townsend Harris) เป็นตัวแทนในค.ศ. 1858 เรียกว่า สนธิสัญญาแฮร์ริส (Harris Treaty) เปิดเมืองท่าเพิ่มเติมได้แก่เมืองคานางาวะและนางาซากิให้แก่เรือของอเมริกา และมอบสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้แก่ชาวอเมริกันในญี่ปุ่น อิอี นาโอซูเกะ กำจัดคู่แข่งทางการเมืองกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลโชกุน เรียกว่า การกวาดล้างทางการเมืองปีอันเซ ไดเมียวโทกูงาวะ นาริอากิ ถูกกักบริเวณ ขุนนางซามูไรกลุ่มซนโนโจอิต่างต้องโทษต่างๆนานาตั้งแต่ประหารชีวิตจนถึงเนรเทศ อิอี นาโอซูเกะ ถูกลอบสังหารโดยซามูไรจากแคว้นมิโตะ ในเหตุการณ์ที่ประตูซากูระดะ (Sakuradamon Gate Incident) ที่ปราสาทเอโดะในปีค.ศ. 1860

ภาพวาดในค.ศ. 1861 แสดงถึงคติ"ซนโนโจอิ"

รัฐบาลโชกุนแต่งตั้งคณะทูตเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาในค.ศ. 1860 เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีและเรียนรู้วิทยาการตะวันตก แม้ว่าจะสูญเสียอำนาจทางการเมืองแต่ซามูไรกลุ่มซนโนโจอิยังคงดำเนินการต่อต้านรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะอย่างต่อเนื่อง โดยเข้ายึดอำนาจในนครเกียวโตและทำร้ายขุนนางจากรัฐบาลโชกุน ในค.ศ. 1863 พระจักรพรรดิโคเมมีพระราชโองการให้ขับไล่ชาวตะวันตกออกไปจากญี่ปุ่น ในค.ศ. 1864 กองกำลังจากแคว้นโจชูเข้ารุกรานพระราชวังหลวงเมืองเกียวโตเพื่อจะยึดถวายอำนาจคืนแด่พระจักรพรรดิในเหตุการณ์ที่ประตูคิมมง (Kinmon Incident) แต่ไม่สำเร็จ ในค.ศ. 1866 รัฐบาลโชกุนนำโดยโชกุนโทกูงาวะ อิเอโมจิ นำทัพของรัฐบาลโชกุนเข้ารุกรานตอบโต้แคว้นโจชู (Second Chōshū Expedition) โดยมีแคว้นซัตสึมะคอยช่วยเหลือฝ่ายรัฐบาล แต่ทว่าโชกุนอิเอโมจิกลับล้มป่วงลงจนถึงแก่กรรมที่ปราสาทโอซากะในปีเดียวกัน โทกูงาวะ โยชิโนบุ ขึ้นดำรงตำแหน่งโชกุนคนต่อมาเป็นโชกุนคนสุดท้ายของรัฐบาลโทกูงาวะ ซากาโมโตะ เรียวมะ (ญี่ปุ่น: 坂本龍馬 โรมาจิSakamoto Ryōma) เป็นคนกลางนำซามูไรจากแคว้นซัตสึมะ นำโดยไซโง ทากาโมริ (ญี่ปุ่น: 西郷隆盛 โรมาจิSaigō Takamori) และแคว้นโจชู นำโดยคัตสึระ โคโกโร (ญี่ปุ่น: 桂小五郎 โรมาจิKatsura Kogorō) มาทำข้อตกลงเป็นพันธมิตรกัน (ญี่ปุ่น: 薩長同盟 โรมาจิSatchō dōmei) เพื่อล้มการปกครองของรัฐบาลโชกุน

ในปีค.ศ. 1867 โชกุนโทกูงาวะ โยชิโนบุ ประกาศสละตำแหน่งโชกุนและถวายอำนาจคืนแด่พระจักรพรรดิเมจิ เป็นการสิ้นสุดการปกครองของรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะที่มีมาเป็นเวลาสองร้อยห้าสิบกว่าปี แต่ความขัดแย้งทางการเมืองและการทหาร ระหว่างฝ่ายตระกูลโทกูงาวะและฝ่ายซนโนโจอิยังคงดำเนินต่อไป จนนำไปสู่สงครามโบชิง (Boshin War)