มารยาทของผู้ชม ของ ละครโน

มารยาทในการชมละครโนนั้นมีความคล้ายคลึงกับโรงละครในตะวันตกซึ่งก็คือการนั่งชมอย่างเงียบสงบ โดยจะไม่มีการใช้คำบรรยายสดบนหน้าจอ [en] แต่อาจมีการอ่านลิเบรตโต (บทละคร) ในขณะชมการแสดง และเพราะว่าบนเวทีนั้นไม่มีผ้าม่าน การแสดงจะเริ่มขึ้นเมื่อผู้แสดงเดินเข้าเวทีและจบเมื่อเดินออกจากเวที โดยปกติแล้วแสงไฟในโรงละครโนจะเปิดไว้ตลอดการแสดงเพื่อสร้างความรู้สึกที่ใกล้ชิดกันระหว่างผู้แสดงและผู้ชมละครโน[10]

ในตอนท้ายของการแสดง ผู้แสดงจะตั้งแถวตอนลึกและเดินออกอย่างช้า ๆ (เรียงลำดับจากตัวละครที่สำคัญก่อนและมีช่องว่างระหว่างผู้แสดง) ขณะที่ผู้แสดงเดินมาถึงบนทางเดิน (ฮาชิงาการิ) ผู้ชมจะปรบมือและหยุด จากนั้นจึงปรบมืออีกครั้งเมื่อผู้แสดงคนถัดไปเดินออกจากเวที โดยจะแตกต่างจากโรงละครตะวันตกที่จะไม่มีการโค้งคำนับหรือกลับมาทำการแสดงอีกครั้งเมื่อลงจากเวทีไปแล้ว หรือบทละครอาจจบลงด้วยชิเตะเดินออกจากเวทีเสมือนว่าเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเรื่อง (ยกตัวอย่างบทละครโนเช่นโคกาจิ) แทนที่ตัวละครทุกตัวจะมารวมตัวกันบนเวที[19]

ช่วงสับเปลี่ยนการแสดงอาจมีการให้บริการอาหารหรือเครื่องดื่มที่ห้องโถง เช่น ชา กาแฟ หรือวากาชิ (ขนมญี่ปุ่น) ในยุคเอโดะที่ทำการแสดงละครโนทั้งวัน จะมีการรับรองมากุโนะโออูจิเบ็นโต (ญี่ปุ่น: 幕の内弁当; โรมาจิ: Makunoouchi Bentō; ข้าวกล่องระหว่างองก์) ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ในงานสำคัญต่าง ๆ เมื่อการแสดงสิ้นสุดลง อาจมีการเตรียมโอมิกิ (ญี่ปุ่น: お神酒; โรมาจิ: Omiki; สาเกในงานพิธีทางการ) ไว้บริเวณทางออกสู่ห้องโถงเฉกเช่นเดียวกันกับพิธีกรรมทางลัทธิชินโต

ผู้เข้าชมจะนั่งจากแถวหน้าของเวที ทางซ้ายของเวที และมุมซ้ายหน้าของเวทีตามลำดับ ในขณะที่เสานำสายตา (ดู § เวที) จะบดบังการมองเห็นเวที ผู้แสดงโดยส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณตามมุมต่าง ๆ ไม่ใช่ตรงกลาง ดังนั้นจึงมีเพียงทางเดินระหว่างที่นั่งทั้งสองฝั่งมองเห็นการแสดงได้ยากและทำให้สามารถชมการแสดงได้โดยไม่มีอะไรบดบังแม้ว่าจะนั่งอยู่ตรงไหนก็ตาม[10]