องค์ประกอบการแสดง ของ ละครโน

การแสดงละครโนเป็นการผสมผสานระหว่างองค์ประกอบที่หลากหลายให้อยู่ในรูปแบบเดียวกัน เช่น ความบริสุทธิ์ใสสะอาดที่สืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่นตามความเชื่อของลัทธิชินโต และแนวคิดแบบมินิมอลลิสม์ตามหลักสุนทรียศาสตร์ของละครโน

หน้ากาก

หน้ากากโน ขวา: วิญญาณนักเลงสุรา (โชโจ) ทำมาจากไม้เคลือบเงากับเส้นไหมสีแดงผูกไว้โดย ฮิมิ มูเนทาดะ ยุคเอโดะ ศตวรรษที่ 19 ซ้าย: นากิโซะ บ่งบอกถึงบทบาทของเทพธิดาหรือผู้หญิงที่มีชั้นยศสูงที่ใช้ในบทละครโนเช่น ฮาโงโรโมะ และ โอฮาระ มิยูกิ ทำมาจากไม้เคลือบเงาและไม้ทาสีโดย โนรินาริ ออกแบบโดย โซอามิศตวรรษที่ 18–19รูปภาพสามรูปของหน้ากากผู้หญิงเดียวกันแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของการแสดงออกทางสีหน้าตามองศาการเอียงศีรษะที่แตกต่างกัน ในภาพเหล่านี้ หน้ากากติดอยู่บนพนังและแสงไฟคงที่ มีเพียงแต่กล้องเท่านั้นที่ขยับเปลี่ยนองศาหน้ากากโนแบบฮันเนีย ศตวรรษที่ 17 หรือ 18 ถูกประกาศขึ้นทะเบียนเป็นภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมสำคัญที่จับต้องไม่ได้

หน้ากากโน (ญี่ปุ่น: 能面; โรมาจิ: Nōmen; ทับศัพท์: โนเมง, ญี่ปุ่น: 面; โรมาจิ: Omote; ทับศัพท์: โอโมเตะ) แกะสลักจากแท่งไม้ฮิโนกิ (ญี่ปุ่น: 檜; โรมาจิ: Hinoki) และลงสีด้วยสีย้อมธรรมชาติด้วยกาวและผงเปลือกหอยที่มีเบสเป็นกลาง หน้ากากโนมีประมาณทั้งสิ้น 450 แบบที่แตกต่างกัน สามารถแบ่งออกเป็น 60 ประเภทและมีชื่อเฉพาะเป็นของตนเอง หน้ากากบางแบบอาจใช้ได้ในบทละครโนหลายบท ในขณะที่หน้ากากน้อยแบบมีความเฉพาะเจาะจงมากและสามารถใช้ได้ในบทละครโนเพียงแค่ 1 หรือ 2 บทเท่านั้น หน้ากากละครโนบ่งบอกถึงเพศสภาพ อายุ และสถานะทางสังคมของตัวละคร นอกจากนี้นักแสดงละครโนยังสามารถสวมหน้ากากเพื่อแสดงเป็นคนหนุ่มสาว ชายสูงวัย ผู้หญิง หรืออมนุษย์ (พระเจ้า ปิศาจ หรือสัตว์) แต่เฉพาะชิเตะเท่านั้นที่จำเป็นที่จะต้องสวมหน้ากากในทุกบทละคร แม้ว่าสึเระอาจสวมหน้ากากในบางโอกาสเพื่อแสดงเป็นตัวละครเพศหญิง[25]

แม้ว่าหน้ากากจะปิดบังการแสดงออกทางสีหน้าของนักแสดงก็ตาม แต่การใช้หน้ากากในละครโนก็ไม่ได้ละทิ้งการแสดงออกดังกล่าวไปเสียทีเดียว ในทางตรงกันข้าม เจตนาหลักของการสวมหน้ากากคือเพื่อจัดระเบียบการแสดงออกทางสีหน้าให้เป็นแบบแผนผ่านการใช้หน้ากาก และกระตุ้นจินตนาการของผู้รับชมการแสดง นอกจากนี้นักแสดงยังสามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกและภาษากายในลักษณะที่ควบคุมได้ดีกว่า หน้ากากบางแบบนำเทคนิคการจัดแสงไฟเพื่อถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกผ่านการเอียงหรือตะแคงศีรษะเพียงเล็กน้อย กล่าวคือ การแหงนศีรษะขึ้น หรือการทำหน้ากาก "สว่างขึ้น" จะทำให้หน้ากากสามารถรับแสงไฟได้มากขึ้น รูปหน้าอื่น ๆ เช่น หัวเราะ หรือยิ้ม จึงปรากฏขึ้น ในทางกลับกัน การหันหน้าลงหรือการทำหน้ากาก "มืดลง" จะทำให้หน้ากากแสดงใบหน้าเศร้าหมองหรือโกรธเคือง[17]

หน้ากากโนเป็นสมบัติตกทอดมาจากครอบครัวและสถาบันละครโน โรงเรียนละครโนมีหน้ากากโนที่เก่าแก่และทรงคุณค่าที่สุดไว้ในครอบครองโดยจะสะสมไว้เป็นสมบัติส่วนตัวของพวกเขาและมักไม่ได้นำออกมาให้สาธารณชนได้เห็น มีการสันนิษฐานว่า หน้ากากที่มีอายุมากที่สุด ถูกเก็บไว้ในโรงเรียนละครโนที่เก่าแก่ที่สุดเช่นกัน กล่าวคือโรงเรียนคนปารุ โดยอ้างอิงจากครูใหญ่ของโรงเรียน หน้ากากนั้นถูกแกะสลักเมื่อหลายพันปีก่อนโดยเจ้าชายโชโตกุ (ค.ศ. 572–622) ขณะที่ความแม่นยำทางประวัติศาสตร์ของหน้ากากที่เจ้าชายโชโตกุแกะสลักนั้นยังคงเป็นที่ถกเถียง ตำนานดังกล่าวได้รับการกล่าวถึงในศาสตรนิพนธ์ของเซอามิในชื่อ "ฟูชิกาเด็ง (ญี่ปุ่น: 風姿花伝; โรมาจิ: Fūshikaden)" ที่ถูกบันทึกในศตวรรษที่ 14[26] ทั้งนี้ยังมีหน้ากากบางส่วนของโรงเรียนคนปารุที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติโตเกียวเป็นผู้เก็บรักษาและจัดแสดงไว้ให้ผู้เข้าชม[27]

เวที

โรงละครโนแบบโครงสร้างหลังคาภายในร่วมสมัย1: ฮาชิงาการิ 2: จุดนั่งนักแสดงเคียวเง็น 3: จุดนั่งผู้ควบคุมเวที 4: กลองไทโกะ 5: กลองใหญ่ 6: กลองเล็ก 7: ขลุ่ย 8: จุดนั่งจิอูไต (คณะขับร้องหมู่) 9: จุดนั่งวากิ 10: จุดยืนวากิ 11: จุดยืนชิเตะ 12: ชิเตะ-บาชิระ (เสาชิเตะ) 13: เมสึเกะ-บาชิระ (เสานำสายตา) 14: วากิ-บาชิระ (เสาวากิ) 15: ฟูเอะ-บาชิระ (เสาขลุ่ย)

เวทีละครโนโบราณ (บูไต) เป็นเวทีแบบเปิดโดยไม่มีส่วนหน้าของเวที (proscenium) หรือผ้าม่านที่บดบังสายตา ผู้ชมยังสามารถเห็นนักแสดงก่อนที่พวกเขาจะเดินเข้าและออกจากเวทีกลาง (ญี่ปุ่น: 本舞台; โรมาจิ: Honbutai; ทับศัพท์: ฮงบูไต; เวทีหลัก) ด้วย ซึ่งสร้างความใกล้ชิดระหว่างนักแสดงและผู้ชมตลอดการแสดง โรงละครโนถือเป็นว่าเป็นสัญลักษณ์และได้รับความเคารพนับถือโดยทั้งผู้แสดงและผู้ชม[17]

ลักษณะเด่นของละครโนที่สามารถสังเกตและจดจำได้ที่สุดคือหลังคาที่มีเสาทั้ง 4 ค้ำจุนติดตั้งอยู่บนเวทีแม้ว่าโรงละครจะอยู่ภายในก็ตาม หลังคาดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์ของความศักดิ์สิทธิ์ การออกแบบสถาปัตยกรรมของเวทีละครโนได้รับอิทธิพลมาจาก ไฮเด็ง (ศาลาใช้เพื่อการสักการะบูชา) หรือ คางูราเด็ง (ศาลาใช้เพื่อการเต้นรำบูชา) แบบชินโต หลังคายังทำให้พื้นที่บนเวทีเป็นหนึ่งเดียวกันและสื่อให้เห็นถึงเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรม[17]

เสาทั้ง 4 ที่ค้ำจุนหลังคาจะเรียกว่าชิเตะบาชิระ (เสาของตัวชูโรง) เมสึเกะบาชิระ (เสานำสายตา) วากิบาชิระ (เสาของตัวสมทบ) และ ฟูเอะบาชิระ (เสาของผู้เป่าขลุ่ย) ตามเข็มนาฬิกาจากหลังเวทีฝั่งขวามือตามลำดับ เสาแต่ละต้นจะสัมพันธ์กับนักแสดงและอากัปกิริยาของพวกเขา[28] เวทีจะทำด้วยต้นไซปรัสญี่ปุ่นหรือไม้ฮิโนกิที่ยังไม่ได้ขัดเงาเกือบทั้งหมด นักกวีและนักแต่งนวนิยาย โทซง ชิมาซากิ ได้เขียนไว้ว่า

บนเวทีละครโนนั้นจะไม่มีฉากหรือผ้าม่านกั้นใด ๆ ที่จะเปลี่ยนไปตามองก์ของเรื่อง มีเพียงแต่แผ่นกระดานหลังเวที (ญี่ปุ่น: 鏡板; โรมาจิ: Kagami Ita; ทับศัพท์: คางามิอิตะ) ที่เป็นภาพวาดของต้นเกี๊ยะสีเขียวซึ่งสร้างความคิดของผู้ชมว่าอะไรก็ตามที่เป็นความมืดมนได้ถูกกำจัดออกไปแล้ว การหักล้างความซ้ำซากจำเจและการทำบางสิ่งบางอย่างให้เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย[17]

อีกหนึ่งลักษณะเด่นของเวทีคือฮาชิงาการิ (ญี่ปุ่น: 橋掛; โรมาจิ: Hashigakari) หรือทางเดินของนักแสดงที่ใช้เดินเข้าเวที ฮาชิงาการิแปลว่าสะพานแขวน ซึ่งสื่อความหมายโดยนัยว่าเป็นสื่อกลางที่เชื่อมโลกสองโลกให้อยู่ในระดับเดียวกัน และยังเป็นสัญลักษณ์ของธรรมชาติของละครโนโบราณที่ผีและวิญญาณมักจะปรากฏตัว เมื่อเปรียบเทียบกับฮานามิจิ (ญี่ปุ่น: 花道; โรมาจิ: Hanamichi) ในโรงละครคาบูกิ ซึ่งก็เป็นทางเดิน (ญี่ปุ่น: 道; โรมาจิ: Michi; ถนน, ทาง) เช่นเดียวกันกับฮาชิงาการิ แต่ฮานามิจิเป็นทางเดินที่ใช้เชื่อมระหว่างสองสถานที่ในโลกเดียวกันเท่านั้น เพราะฉะนั้นแล้วจึงมีความหมายที่แตกต่างกัน[17]

เครื่องแต่งกาย

เครื่องแต่งกายละครโน (คาริงินุ) ลายตารางและหอยสังข์ ยุคเอโดะ ศตวรรษที่ 18 จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติโตเกียว

นักแสดงละครโนจะสวมเสื้อคลุมทำจากผ้าไหมที่เรียกว่าโชโซกุ ตามด้วยผมปลอม หมวก และพัด ด้วยสีสันของเสื้อคลุมที่สะดุดตาและเนื้อผ้าที่เย็บปักถักร้อยอย่างประณีต เสื้อคลุมละครโนจึงจัดเป็นงานศิลปะแขนงหนึ่งด้วยตัวของมันเอง เครื่องแต่งกายโดยเฉพาะของชิเตะนั้นจะมีความหรูหราตระการตาเป็นอย่างยิ่งจากผ้ายกที่มีความแวววาว แต่สำหรับเครื่องแต่งกายของสึเระ วากิสึเระ และนักแสดงเคียวเง็นนั้นจะไม่โออ่าเท่าชิเตะ[17]

เป็นเวลาหลายศตวรรษ มุมมองของเซอามิที่ว่าเครื่องแต่งกายละครโนเป็นการเอาอย่างเสื้อผ้าที่ตัวละครจะสวมใส่จริง ๆ อย่างเช่นเสื้อคลุมของข้าราชสำนักและเครื่องแต่งกายของชาวไร่ชาวนาหรือสามัญชน แต่ในช่วงปลายศตวรรษที่ 16 เครื่องแต่งกายละครโนถูกทำให้ทันสมัยขึ้นด้วยจารีตประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ ในยุคเอโดะ (โทกูงาวะ) เสื้อคลุมที่ทำอย่างพิถีพิถันถูกมอบไปยังนักแสดงโดยขุนนางและซามูไรในยุคมูโรมาจิถูกพัฒนาเป็นเครื่องแต่งกายละครโน[29]

โดยปกตินักดนตรีและคณะขับร้องหมู่จะสวมมนสึกิกิโมโน (เสื้อคลุมสีดำประดับตกแต่งด้วยตราประจำตระกูลทั้ง 5) ร่วมกับฮากามะ (คล้ายกระโปรง) หรือ คามิชิโมะ (เครื่องแต่งกายที่เป็นการผสมผสานระหว่างฮากามะและเสื้อกั๊กแบบไหล่กว้าง) ส่วนผู้ควบคุมเวทีจะสวมเสื้อคลุมสีดำแต่ไม่มีการประดับตกแต่งใด ๆ ลักษณะคล้ายเครื่องแต่งกายของผู้ควบคุมเวทีในโรงละครแบบตะวันตกร่วมสมัย[10]

อุปกรณ์ประกอบการแสดง

อุปกรณ์ประกอบการแสดงในละครโนนั้นมีความทันสมัยและเป็นสารัตถศิลป์ อุปกรณ์ประกอบการแสดงที่จะพบได้บ่อยสุดคือพัด เนื่องจากทุกตัวละครจะถือมันโดยไม่คำนึงถึงบทบาทในการแสดง คณะขับร้องหมู่และนักดนตรีอาจถือพัดในมือระหว่างเดินขึ้นเวทีหรือสอดไว้ในโอบิ (สายคาดเอวรัดชุดกิโมโนให้แน่น) โดยปกติพัดจะถูกวางไว้ทางด้านของผู้แสดงและจะไม่นำออกมาอีกครั้งจนกว่าจะออกจากเวที นอกจากนี้พัดยังสามารถใช้แทนอุปกรณ์ประกอบการแสดงอื่น ๆ ที่ใช้มือถือได้ เช่น ดาบ เหยือกแก้ว ขลุ่ย หรือพู่กัน[17]

คูโรโกะนั่งอยู่ด้านหลังนักแสดง

เมื่อนำอุปกรณ์การแสดงที่เป็นแบบมือถือนอกเหนือจากพัดมาใช้ก็จะถูกเก็บกลับคืนโดยคูโรโกะ (ญี่ปุ่น: 黒衣; โรมาจิ: Kuroko) ที่ทำหน้าเสมือนผู้ควบคุมเวทีในโรงละครร่วมสมัย คูโรโกะสามารถปรากฏตัวได้ระหว่างการแสดงกำลังดำเนินอยู่หรือจะอยู่บนเวทีจนกว่าการแสดงจะจบก็ได้ โดยทั้งสองกรณีผู้ชมจะมองเห็นพวกเขา คูโรโกะจะสวมเสื้อคลุมสีดำเพื่อแสดงเป็นนัยว่าพวกเขาไม่ได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมบนเวทีและมองไม่เห็น[10]

อุปกรณ์ประกอบฉากในละครโน เช่น เรือ บ่อน้ำ แท่นบูชา และระฆังจะถูกนำมาวางไว้บนเวทีก่อนที่จะเริ่มการแสดงของแต่ละองก์ถ้าต้องการ โดยทั่วไปอุปกรณ์ประกอบฉากเหล่านี้เป็นเพียงแค่สิ่งจำลองของวัตถุจริง ยกเว้นระฆังใบใหญ่เป็นกรณีพิเศษที่ถูกออกแบบเพื่อปิดบังนักแสดงในระหว่างการเปลี่ยนเครื่องแต่งกายในช่วงการแสดงเคียวเง็นคั่นกลาง[23]

การขับร้องและดนตรี

ฮายาชิคาตะ (นักดนตรี) จากซ้ายไปขวา: กลองไทโกะ กลองใหญ่ กลองเล็ก และขลุ่ย

โรงละครโนจะมีคณะขับร้องหมู่และวงมโหรี (กลุ่มของฮายาชิ) ที่เรียกโนบายาชิ (ญี่ปุ่น: 能囃子; โรมาจิ: Nōbayashi) ละครโนเป็นละครบทขับร้องที่มีเพียงผู้บรรยายพากย์เป็นบางส่วนเท่านั้น (เปรียบได้เหมือนอุปรากร) แต่อย่างไรก็ตาม การขับร้องในละครโนจะมีข้อจำกัดด้านระดับเสียงที่ยืดยาวและซ้ำหลายครั้งผ่านช่วงความกว้างของระดับความดังเสียงที่แคบ บทขับร้องจะให้น้ำหนักไปทางฉันทลักษณ์กลอนญี่ปุ่นแบบห้า-เจ็ดที่มีการจัดเรียงสำนวนอย่างเป็นระบบและเต็มไปด้วยการใช้คำอุปมาตลอดทั้งบท ช่วงการขับร้องของละครโนจะเรียกว่าอูไต (ญี่ปุ่น: 歌い; โรมาจิ: Utai) และบทพูดจะเรียกว่าคาตารุ (ญี่ปุ่น: 語る; โรมาจิ: Kataru)[30] ดนตรีจะมีช่วงพักเป็นจำนวนมากระหว่างเสียงที่แท้จริง ซึ่งช่วงพักเหล่านั้นเป็นหัวใจที่แท้จริงของดนตรีในละครโน นอกจากนี้ วงมโหรี (กลุ่มของฮายาชิ) ประกอบไปด้วยนักดนตรี 4 คน หรือที่รู้จักกันในชื่อฮายาชิคาตะ ซึ่งได้แก่ มือกลอง 3 คนที่เล่น กลองไทโกะ กลองใหญ่ กลองเล็ก ตามลำดับและคนเป่าขลุ่ย[17]

บางครั้งนักแสดงจะพูดบทของตนหรืออธิบายเหตุการณ์จากมุมมองของอีกตัวละครหนึ่งหรือแม้กระทั่งผู้บรรยายที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่อง ซึ่งแตกต่างจากการขัดจังหวะของการแสดงละครโนแบบมูเก็งที่พยายามรักษาความรู้สึกของการอยู่ในโลกอีกใบหนึ่งเป็นอย่างมาก