ประวัติ ของ ละครโน

เวทีละครโนที่เก่าแก่ที่สุดในโลกที่อิตสึกูชิมะเสื้ออาภรณ์คาราโอริในยุคเอโดะช่วงศตวรรษที่ 18 ลายตารางไม้ไผ่และดอกเบญจมาศ

ต้นกำเนิด

คันจิของคำว่า โน (能) หมายถึง "ทักษะ" "งานฝีมือ" หรือ "ความสามารถ" อย่างเฉพาะเจาะจงในแวดวงศิลปะการแสดง คำว่า โน อาจใช้อยู่เดี่ยว ๆ หรือคู่กับ กากุ (, ความบันเทิงหรือดนตรี) เพื่อสร้างคำโนงากุ ในปัจจุบันละครโนเป็นขนบธรรมเนียมที่ได้รับการเคารพโดยผู้คนจำนวนมาก หากใช้อยู่เดี่ยว ๆ โนจะหมายถึงประเภทของละครทางประวัติศาสตร์ที่มีต้นกำเนิดมาจากซารูงากุ (ญี่ปุ่น: 猿楽; โรมาจิ: Sarugaku) ในช่วงกลางศตวรรษที่ 14 และยังคงแสดงอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้[3]

รากฐานการแสดงละครโนและเคียวเง็นที่เก่าแก่ที่สุดคือซังงากุ [ja] โดยประเทศญี่ปุ่นได้รับมาจากประเทศจีนในศตวรรษที่ 8 ณ ขณะนั้น คำว่าซังงากุ หมายถึงการแสดงหลากหลายประเภทที่มีทั้งกายกรรม ดนตรี และการเต้นรำประกอบอยู่ เช่นเดียวกันกับการแสดงตลกแบบสเก็ตช์คอมเมดี ซึ่งหลังจากการดัดแปลงซังงากุสู่สังคมญี่ปุ่นที่นำพาไปสู่การกลายกลืนของรูปแบบทางศิลปะดั้งเดิมอื่น ๆ[2] องค์ประกอบของศิลปะการแสดงที่หลากหลายของซังงากุ เฉกเช่นเดียวกันกับองค์ประกอบการแสดงของเด็งงากุ (ญี่ปุ่น: 田楽; โรมาจิ: Dengaku; เพลงทุ่งนา, การเฉลิมฉลองการปลูกข้าวในท้องถิ่น) ซารูงากุ (การแสดงที่ประกอบไปด้วยกายกรรม เล่นพิเรนทร์ และละครใบ้) ชิราเบียวชิ (ญี่ปุ่น: 白拍子; โรมาจิ: Shirabyōshi, การรำโบราณโดยผู้แสดงหญิงในพระราชวังในศตวรรษที่ 12) กางากุ (ญี่ปุ่น: 雅楽; โรมาจิ: Gagaku, การรำและการแสดงดนตรีในพระราชวังตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 7) และ คางูระ (ญี่ปุ่น: 神楽; โรมาจิ: Kagura, การรำชินโตโบราณในนิทานชาวบ้าน) ถูกวิวัฒนาการมาเป็นละครโนและเคียวเง็น[1]

การศึกษาทางพงศาวลีวิทยาของนักแสดงละครโนในศตวรรษที่ 14 ชี้ให้เห็นว่าพวกเขาเป็นสมาชิกของครอบครัวที่มีความสามารถในด้านศิลปะการแสดง ตามตำนานแล้วโรงเรียนคนปารุ (ญี่ปุ่น: 金春流; โรมาจิ: Konparuryō) ซึ่งถือเป็นโรงเรียนละครโนที่เก่าแก่ที่สุด ก่อตั้งโดยฮาตะ โนะ คาวากัตสึ (ญี่ปุ่น: 秦河勝; โรมาจิ: Hata no Kawakatsu) ในศตวรรษที่ 6 แต่อย่างไรก็ตามผู้ก่อตั้งโรงเรียนคนปารุซึ่งเป็นที่ยอมรับในหมู่นักประวัติศาสตร์คือคนปารุ กนโนกามิ ในยุคราชสำนักเหนือ-ใต้เสียมากกว่า จากพงศาวลีของโรงเรียนดังกล่าว คนปารุ กนโนกามิเป็นทายาทรุ่นที่ 53 ของฮาตะ โนะ คาวากัตสึ โรงเรียนคนปารุสืบทอดมาจากคณะผู้แสดงซารูงากุในศาลเจ้าคาซูงะและวัดโคฟูกุในจังหวัดยาโมโตะ (ปัจจุบันคือจังหวัดนาระ)[4][5][6]

อีกหนึ่งทฤษฎีโดยชินฮาจิโร มัตสึโมโตะ สันนิษฐานว่าละครโนมีต้นกำเนิดจากผู้ไร้วรรณะที่พยายามยกสถานะทางสังคมของตนให้สูงขึ้นด้วยการมอบความบันเทิงแก่ผู้ที่มีอำนาจในขณะนั้น กล่าวคือซามูไรที่เป็นผู้ปกครองชนชั้นวรรณะ การโอนถ่ายอำนาจของโชกุนจากคามากูระไปยังเกียวโตในตอนต้นของยุคมูโรมาจิซึ่งถือว่าเป็นการเพิ่มอำนาจของชนชั้นซามูไรและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างโชกุนและพระราชวัง ขณะที่ละครโนเป็นรูปแบบทางศิลปะที่เป็นที่ชื่นชอบของเหล่าโชกุน ละครโนจึงสามารถเป็นศิลปะที่สง่างามได้ผ่านการสร้างความสัมพันธ์ครั้งใหม่นี้ โดยในศตวรรษที่ 14 ด้วยแรงสนับสนุนและการอุปถัมภ์ค้ำชูจากโชกุนอาชิกางะ โยชิมิตสึ บุตรชายของคันอามิ เซอามิ โมโตกิโยะ จึงสามารถทำให้ละครโนเป็นศิลปะการแสดงโรงละครที่มีความโดดเด่นและมีชื่อเสียงได้[3]

การริเริ่มละครโนโดยคันอามิและเซอามิ

ยุคมูโรมาจิในศตวรรษที่ 14 (ค.ศ. 1336–1573) คันอามิ คิโยสึกุ และบุตรชายของเขา เซอามิ โมโตกิโยะ ได้ตีความศิลปะการแสดงดั้งเดิมที่หลากหลายใหม่อีกครั้ง และพัฒนาละครโนให้แตกต่างไปจากแบบดั้งเดิมโดยสิ้นเชิงจนเป็นละครโนในปัจจุบัน[7] คันอามิเป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงจากการเล่นเป็นหญิงอรชร เด็กชาย ไปจนถึงชายแกร่ง เมื่อเขาได้ทำการแสดงแก่อาชิกางะ โยชิมิตสึที่ ณ ขณะนั้นอายุ 17 ปี เป็นครั้งแรก เซอามิที่ยังเป็นเด็กอายุราว 12 ปี ในการแสดงครั้งนั้น โยชิมิตสึได้ชื่นชอบการแสดงของเซอามิและชักชวนเขาให้ไปเล่นในพระราชวัง จึงทำให้ละครโนถูกแสดงอยู่บ่อยครั้งเพื่อโยชิมิตสึตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา[3]

คนปารุ เซ็นจิกุ ซึ่งเป็นเหลนของคนปารุ กนโนกามิ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนคนปารุ และสามีของลูกสาวของเซอามินำองค์ประกอบของวากะ (กวี) ไปใช้ในการแสดงละครโนของเซอามิและพัฒนาให้ดีขึ้นต่อไป[8][6]

ในบรรดาโรงเรียนละครโนหลักทั้ง 5 โรง มีโรงเรียน 4 โรงอันได้แก่ โรงเรียนคันเซะ ก่อตั้งโดยคันอามิและเซอามิ โรงเรียนโฮโช ก่อตั้งโดยพี่ชายคนโตของคันอามิ โรงเรียนคนปารุ และโรงเรียนคงโง โรงเรียนเหล่านี้สืบทอดมาจากคณะผู้แสดงซารุงากุในจังหวัดยาโมโตะ รัฐบาลโชกุนอาชิกางะให้การสนับสนุนเพียงแค่โรงเรียนคันเซะจาก 4 โรงเท่านั้น[5][9]

ยุคโทกูงาวะ

ในช่วงยุคเอโดะ ละครโนถูกมองว่าเป็นศิลปะของชนชั้นสูงที่ได้รับการสนับสนุนจากโชกุน และขุนนางในระบอบศักดินา (ไดเมียว) เช่นเดียวกันกับสามัญชนผู้มีความร่ำรวยและมากประสบการณ์ ในขณะที่คาบูกิและโจรูริ (ญี่ปุ่น: 浄瑠璃; โรมาจิ: Jōruri) นั้นเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นกลางที่ชื่นชอบความบันเทิงแบบใหม่ที่อยู่ในขั้นลองผิดลองถูก ละครโนจึงต้องพยายามและดิ้นรนในการคงรักษาประวัติศาสตร์ของละครโนที่ถ่องแท้และมาตรฐานการแสดงที่สูงไว้ไม่ให้เปลี่ยนแปลง ด้วยเหตุนี้จึงแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ตลอดยุคเอโดะ และเพื่อที่จะเก็บเกี่ยวแก่นสาระของการแสดงโดยนักแสดงละครโนมืออาชีพ ทุกรายละเอียดของท่าทางและตำแหน่งการยืนจะถูกทำเก็บไว้เป็นหลักฐานเพื่อสืบทอดต่อไปแก่รุ่นอื่น ๆ ในอนาคต ส่งผลให้จังหวะของการแสดงค่อย ๆ ช้าลงตามกาลเวลา[3]

ในยุคโทกูงาวะ รัฐบาลเอโดะได้กำหนดให้โรงเรียนคันเซะเป็นหัวหน้าของโรงเรียนละครโน อีก 4 โรง คิตะ ชิจิดายู (ชิจิดายู โชโน) นักแสดงละครโนที่รับใช้โทกูงาวะ ฮิเดตาดะ ได้ก่อตั้งโรงเรียนคิตะ ซึ่งเป็นโรงเรียนละครโนสุดท้ายในบรรดาโรงเรียนละครโนหลัก 5 โรง[5][9]

ละครโนสมัยใหม่หลังยุคเมจิ

ในโรงละครโน ปี 1891 โดยโองาตะ เก็กโก

หลังจากการล่มสลายของรัฐบาลเอโดะในปี 1868 และการจัดตั้งรัฐบาลที่มีความทันสมัยใหม่ ส่งผลให้ละครโนไม่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐอีกต่อไปและต้องประสบกับวิกฤติทางการเงินครั้งใหญ่ หลังจากการฟื้นฟูเมจิไม่นาน ตัวเลขของผู้แสดงละครโนและเวทีละครโนลดลงอย่างเห็นได้ชัด การสนับสนุนบางส่วนจากรัฐบาลจักรวรรดิได้กลับคืนมาหลังผู้แสดงละครโนยื่นขออุทธรณ์แก่นักการทูตต่างประเทศ บริษัทที่ยังคงอยู่ตลอดยุคเมจิได้ทำให้ละครโนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางขึ้นโดยการทำการแสดงแก่สาธารณชน หรือทำการแสดงที่โรงละครในเมืองใหญ่ ๆ เช่น โตเกียวและโอซากะ[10]

ในปี 1957 รัฐบาลญี่ปุ่น ได้กำหนดให้โนงากุเป็นภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมสำคัญที่จับต้องไม่ได้ซึ่งส่งผลให้โนงากุและนักแสดงได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย มีการเปิดให้บริการโรงละครโนแห่งชาติ (ญี่ปุ่น: 国立能楽堂; โรมาจิ: Kokuritsu Nō Gakudō) โดยรัฐบาลในปี 1983[11] เพื่อทำการแสดงและจัดหลักสูตรฝึกหัดแก่นักแสดงในการรับบทนำในโนงากุ ในปี 2008 โรงละครโนงากุได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติโดยยูเนสโก[2]

แม้คำว่า โน และโนงากุ จะสามารถนำมาใช้แทนกันได้ก็ตาม แต่ตามคำจำกัดความของรัฐบาลญี่ปุ่นนั้นโนงากุจะครอบคลุมความหมายของการแสดงทั้งละครโนและเคียวเง็น[12] โดยจะแสดงเคียวเง็นคั่นกลางระหว่างช่วงสับเปลี่ยนการแสดงละครโนบนเวทีเดียวกัน เมื่อเปรียบกับละครโน เคียวเง็นจะไม่ค่อยใช้หน้ากากและแผลงมาจากการแสดงเชิงตลกขบขันเรียกซังงากุดังจะทราบได้จากบทพูดของการแสดง

ผู้หญิงในละครโน

ในยุคเอโดะ ระบบสมาคม (guild system) ที่ห้ามไม่ให้ผู้หญิงทำการแสดงละครโนได้ค่อย ๆ เคร่งขรัดมากยิ่งขึ้น เว้นแต่โสเภณีชั้นสูง (courtesan) ที่สามารถเล่นดนตรีในบางโอกาสได้บ้างเป็นกรณีพิเศษ[13] ต่อมาในยุคเมจิผู้แสดงละครโนได้มีการฝึกสอนการแสดงให้แก่สามัญชนที่มีความร่ำรวยและขุนนางซึ่งนำไปสู่โอกาสที่จะมีผู้แสดงหญิงมากขึ้นเนื่องจากผู้เข้ารับการฝึกที่เป็นผู้หญิงยืนกรานที่จะรับการฝึกจากอาจารย์ที่เป็นผู้หญิงเช่นกัน[13] ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โรงเรียนดนตรีโตเกียว (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยศิลปกรรมโตเกียว) ได้อนุญาตให้ผู้หญิงเข้ารับการศึกษาได้ ทำให้กฎที่ห้ามผู้หญิงศึกษาในโรงเรียนละครโนต่าง ๆ ได้รับการผ่อนปรน ในปี 1948 และ 2004 ผู้หญิงสามารถเข้าร่วมสมาคมละครโนต่าง ๆ ได้ ในปี 2007 โรงละครโนแห่งชาติเริ่มจัดการแสดงที่มีผู้แสดงเป็นผู้หญิงในทุกปี[14][15] และในปี 2009 มีนักแสดงละครโนชายประมาณ 1,200 คน และหญิงราว 200 คน[16]