ศัพยวิทยาทางสุนทรียศาสตร์ ของ ละครโน

เซอามิและเซ็นจิกุได้บรรยายคุณลักษณะของนักแสดงละครโนที่จำเป็นต่อการทำความเข้าใจละครโนให้เป็นรูปแบบทางศิลปะอย่างหนึ่ง

  • ฮานะ (ญี่ปุ่น: 花; โรมาจิ: Hana; ดอกไม้) ในคาเด็นโช (คู่มือการจัดดอกไม้) ของเซอามิได้เขียนอธิบายความหมายของคำว่าฮานะไว้ว่า "เมื่อคุณเชี่ยวชาญเรียนรู้ความลับของทุกสรรพสิ่งและผ่านความเป็นไปได้ในทุก ๆ ทางแล้ว ฮานะที่ไม่เคยสูญสิ้นหายไปจะยังคงอยู่"[17] นักแสดงละครโนที่แท้จริงจะพยายามสร้างความสัมพันธ์กับผู้ชมที่หาได้ยากในทำนองเดียวกันกับการเพาะปลูกดอกไม้ นอกจากนี้ยังสังเกตได้ว่า ฮานะหรือดอกไม้ สมควรที่จะได้รับการชื่นชมโดยผู้ชม ฮานะสามารถแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ ฮานะแบบที่แสดงให้เห็นถึงความสวยงามของดอกไม้อันอ่อนเยาว์ซึ่งจะผ่านไปตามกาลเวลา นอกจากนี้ฮานะแบบที่จะสร้างและแบ่งปันความสวยงามโดยสมบูรณ์ของดอกไม้ตลอดการแสดง
  • ยูเก็ง (ญี่ปุ่น: 幽玄; โรมาจิ: Yūgen; ความงามลึกซึ้งอันสูงส่ง) ยูเก็งเป็นแนวคิดที่มีคุณค่าอย่างยิ่งในศิลปะรูปแบบต่าง ๆ ของวัฒนธรรมญี่ปุ่น ในอดีตหมายความว่าความงดงามหรือสง่างาม ใช้เพื่อสื่อถึงความความสวยงามสมบูรณ์แบบในวากะ (กวีญี่ปุ่น) ยูเก็ง นั้นเป็นสิ่งงดงามที่มองไม่เห็น มักจะรู้สึกได้มากกว่ามองเห็นในงานศิลปะ คำศัพท์นี้ยังถูกนำมาใช้ในละครโนซึ่งสื่อถึงความงดงามยิ่งยวดของปรโลก รวมถึงการอาลัยอาวรณ์ที่สง่างามของผู้แสดง ปรากฏในบทเศร้าโศรกหรือความสูญเสีย[17]
  • โรจากุ (ญี่ปุ่น: 老弱; โรมาจิ: Rojaku) โร หมายถึงแก่ และจากุ หมายถึงความสงบเงียบ โรจากุเป็นขั้นสุดท้ายของการพัฒนาฝึกฝนทักษะการแสดงของนักแสดงละครโน โดยพวกเขาจะกำจัดการเคลื่อนไหวหรือการส่งเสียงที่ไม่จำเป็น ทิ้งไว้แต่เพียงการถ่ายทอดแก่นแท้ของฉากหรือการกระทำ[17]
  • โคโคโระ หรือ ชิน (ญี่ปุ่น: 心; โรมาจิ: Kokoro, Shin) หมายถึงหัวใจ จิตใจ หรือทั้งสอง โคโคโระในละครโนที่เซอามิกล่าวไว้ในคำสอนของเขาถูกจำกัดความในความหมายของจิตใจมากกว่า ในการที่นักแสดงละครโนจะสามารถรู้ซึ้งถึงฮานะได้ พวกเขาจะต้องผ่านเข้าไปสู่สภาวะไร้ความคิดหรือมูชิน (ญี่ปุ่น: 無心; โรมาจิ: Mushin)
  • เมียว (ญี่ปุ่น: 妙; โรมาจิ: Myō; ละเมียดละไม) เสน่ห์ของนักแสดงละครโนที่สามารถทำการแสดงได้อย่างพริ้วไหว
  • โมโนมาเนะ (ญี่ปุ่น: 物真似; โรมาจิ: Monomane; การจำลอง) เจตจำนงของนักแสดงละครโนที่จะเคลื่อนไหวอย่างถูกต้องแม่นยำซึ่งตรงข้ามกับเหตุผลทางสุนทรียศาสตร์ที่มีความเป็นนามธรรมหรืองดงามอลังการเสียมากกว่า โมโนมาเนะมีความแตกต่างกับยูเก็งอยู่บ้างเล็กน้อย แต่ทั้งสองแสดงให้เห็นถึงจุดจบของความต่อเนื่องยาวนานมากกว่าจะแยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง
  • คาบุอิชชิน (ญี่ปุ่น: 歌舞一心; โรมาจิ: Kabu Isshin; เพลงและการรำด้วยหัวใจดวงเดียว) เป็นทฤษฎีที่ว่าเพลง (รวมถึงกวีนิพนธ์) และการรำเป็นสิ่งคู่กัน นักแสดงละครโนจึงพยายามในการถ่ายทอดให้เห็นถึงทั้งสองสิ่งดังกล่าวด้วยหัวใจและจิตใจอย่างพร้อมเพรียง