เบื้องหลัง ของ สงครามกลางเมืองซีเรีย

รัฐบาลอะซัด

ประเทศซีเรียกลายเป็นสาธารณรัฐเอกราชในปี 2489 แต่การปกครองระบอบประชาธิปไตยสิ้นสุดลงด้วยรัฐประหารในเดือนมีนาคม 2492 ตามด้วยรัฐประหารอีกสองครั้งในปีเดียวกัน[122][123] การก่อการกำเริบของประชาชนต่อการปกครองระบอบทหารในปี 2497 มีการถ่ายโอนอำนาจของกองทัพสู่พลเรือน ตั้งแต่ปี 2501 ถึง 2504 สหภาพช่วงสั้น ๆ กับประเทศอียิปต์เปลี่ยนระบบรัฐสภาของซีเรียเป็นรัฐบาลระบบประธานาธิบดีที่รวมอำนาจปกครองอย่างสูง[124] รัฐบาลพรรคบะอัธสาขาภูมิภาคซีเรียซึ่งเป็นฆราวาสเถลองอำนาจผ่านรัฐประหารที่สัมฤทธิ์ผลในปี 2506 อีกหลายปีถัดมา ประเทศซีเรียเผชิญรัฐประหารและการเปลี่ยนแปลงผู้นำอีก[125]

ในเดือนมีนาคม 2514 ฮาฟิซ อัลอะซัด ชาวอะละวี ประกาศตนเป็นประธานาธิบดีซึ่งเป็นตำแหน่งที่เขาครองจนถึงแก่อสัญกรรมในปี 2543 ตั้งแต่ปี 2513 สาขาภูมิภาคซีเรียซึ่งเป็นฆราวาสยังเป็นองค์การการเมืองที่ครอบงำในประเทศซึ่งเป็นรัฐพรรคการเมืองเดียวจนมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาประชาชนซีเรียแบบหลายพรรคการเมืองครั้งแรกในปี 2555[126] ในวันที่ 31 มกราคม 2516 ฮาฟิซ อัลอะซัดนำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปปฏิบัติ ซึ่งนำสู่วิกฤตการณ์ระดับชาติ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผิดจากฉบับก่อนที่ไม่กำหนดให้ประธานาธิบดีซีเรียเป็นมุสลิม ทำให้เกิดการเดินขบวนดุเดือดในฮะมาฮ์ ฮอมส์และอะเลปโป ซึ่งกลุ่มภราดรภาพมุสลิมและอูละมา (ulama) เป็นผู้จัดระเบียบ พวกเขาตีตราอะซัดว่าเป็น "ศัตรูแห่งอัลลอฮ์" และเรียกร้องญิฮาดต่อการปกครองของเขา[127] รัฐบาลรอดพ้นการกบฏด้วยอาวุธโดยอิสลามซุนนีย์ซึ่งเป็นสมาชิกภราดรภาพมุสลิมเป็นหลักหลายครั้งตั้งแต่ปี 2519 ถึง 2525

ครั้นฮาฟิซ อัลอะซัดถึงแก่อสัญกรรมในปี 2553 บุตรของเขา บัชชาร อัลอะซัด ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีซีเรีย บัชชาร อัลอะซัดกับภรรยา อัสมา มุสลิมซุนนีย์ซึ่งเกิดและได้รับการศึกษาในบริเตน ทีแรกจุดความหวังการปฏิรูปประชาธิปไตย เกิดดามัสกัสสปริง ช่วงการอภิปรายทางสังคมและการเมือง ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2543 และสิงหาคม 2544[128] ดามัสกัสสปริงสิ้นสุดลงในเดือนสิงหาคม 2544 ด้วยการจับกุมและจำคุกนักกิจกรรมชั้นแนวหน้าสิบคนซึ่งเรียกร้องการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยและการรณรงค์ดื้อแพ่ง[129] ในความเห็นของนักวิจารณ์ บัชชาร อัลอะซัดไม่อาจให้การปฏิรูปตามที่ให้คำมั่นไว้[130] ในการเลือกตั้งปี 2543 และ 2550 เขาได้รับเสียงสนับสนุน 99.7% และ 97.6% ในการลงประชามติเรื่องตำแหน่งผู้นำของเขาโดยไม่มีคู่แข่ง[131][132][133] ประธานาธิบดีบัชชาร อัลอะซัดยืนยันว่าไม่มี "ฝ่ายค้านสายกลาง" ต่อการปกครองของเขา และว่ากำลังฝ่ายค้านทั้งหมดเป็นญิฮัดที่เจตนาทำลายรัฐบาลฆราวาสของเขา ในเดือนเมษายน 2560 เขาให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์โครเอเชียฉบับหนึ่งว่า กลุ่มก่อการร้ายที่ปฏิบัติการอยู่ในซีเรีย "เชื่อมโยงกับวาระของต่างประเทศ"[134]

ประชากรศาสตร์

อาหรับซีเรีย ร่วมกับอาหรับปาเลสไตน์ประมาณ 600,000 คนคิดเป็นร้อยละ 74 ของประชากร (หากไม่นับคริสต์ศาสนิกชนซีเรีย)[135] มุสลิมในซีเรียเป็นซุนนีร้อยละ 74 (รวมซูฟี) ชีอะฮ์ร้อยละ 13 (รวมอะลาวีร้อยละ 8–12 และมูรชิด) ดรูซร้อยละ 3 ส่วนอีกร้อยละ 10 ที่เหลือเป็นคริสต์ศาสนิกชน ซุนนีซีเรียมิใช่อาหรับทั้งหมด ตระกูลอะซัดมีศาสนาผสม บัชชารแต่งงานกับภรรยาซุนนีและมีบุตรหลายคน เขาเข้ารีตนิกายเดียวกับบิดามารดาคืออะลาวี[136] อะลาวีควบคุมฝ่ายความมั่นคงของซีเรีย[137][138] ส่วนคริสต์ศาสนิกชนซีเรียส่วนใหญ่เป็นคริสตจักรตะวันออกซึ่งอยู่ในบริเวณนี้มาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 1[139]

เคิร์ดซีเรีย ชนกลุ่มน้อยซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 9 ของประชากร เผชิญเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาตและปฏิเสธสิทธิทางวัฒนธรมและภาษา ตลอดจนการปฏิเสธความเป็นพลเมืองอยู่บ่อยครั้งตลอดประวัติศาสตร์ของรัฐซีเรีย[140] เติร์กเมนคิดเป็นร้อยละ 3–5 ของประชากร

ชาวอัสซีเรีย ชนเซมิติกคริสต์ศาสนิกชนที่พูดภาษาแอราเมอิกตะวันออกพื้นเมือง มีจำนวนประมาณ 400,000 คน[141] ส่วนใหญ่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศซีเรีย ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์อื่นได้แก่อาร์มีเนีย เซอร์แคสเซียน เติร์กเมน กรีก Mhallami, Kawliya, เยซีดี, Shabaks, และ Mandeans[142]

ภูมิหลังทางสังคม-เศรษฐกิจ

ความไม่เสมอภาคทางสังคม-เศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างสำคัญหลังฮาฟิซ อัลอะซัดริเริ่มนโยบายตลาดเสรีในช่วงบั้นปลายชีวิต และเพิ่มมากขึ้นหลังบัชชาร อัลอะซัดเถลิงอำนาจ ด้วยการเน้นภาคบริการ นโยบายเหล่านี้ให้ประโยชน์ต่อประชากรส่วนน้อยของประเทศ ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์กับรัฐบาล และสมาชิกของชนชั้นวาณิชซุนนีในกรุงดามัสกัสและอะเลปโป[143] ในปี 2553 จีดีพีต่อหัวของซีเรียอยู่ที่ 2,834 ดอลลาร์สหรัฐ เทียบได้กับประเทศแอฟริกาใต้สะฮาราอย่างไนจีเรีย และต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างเลบานอน โดยมีอัตราเติบโตต่อปีร้อยละ 3.39 ซึ่งต่ำกว่าประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่[144]

ประเทศซีเรียยังเผชิญกับอัตราว่างงานของเยาวชนสูง[145] เมื่อสงครามเริ่ม ความไม่พอใจต่อรัฐบาลมีมากที่สุดในพื้นที่ยากจนของซีเรีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งซุนนีอนุรักษนิยม[143] ซึ่งรวมนครที่มีความยากจนสูงอย่างดัรอาและฮอมส์ และเขตยากจนของนครใหญ่ ๆ

สิทธิมนุษยชน

สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศซีเรียเป็นหัวข้อวิจารณ์อย่างหนักจากองค์การระดับโลก[146] สิทธิการแสดงออกอย่างเสรี การสมาคมและการชุมนุมถูกควบคุมอย่างเข้มงวดตั้งแต่ก่อนการก่อการกำเริบ[147] ประเทศอยู่ภายใต้การปกครองฉุกเฉินตั้งแต่ปี 2506 ถึงปี 2554 และห้ามการชุมนุมเกินกว่าห้าคน[148] กำลังความมั่นคงมีอำนาจจับกุมและกักขังอย่างกว้างขวาง[149]

ทางการรังควานและจำคุกนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนและนักวิจารณ์รัฐบาลอื่นซึ่งมักถูกกักขัอย่างไม่มีกำหนดและถูกทรมานภายใต้ภาวะคล้ายเรือนจำ[147] สตรีและชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์เผชิญกับการเลือกปฏิบัติในภาครัฐ[147] เคิร์ดซีเรียหลายพันคนถูกปฏิเสธการให้สิทธิพลเมืองในปี 2505 และผู้สืบสันดานถูกตีตราว่า "คนต่างด้าว"[150] เหตุจลาจลหลายครั้งในปี 2547 ทำให้เกิดความตึงเครียดเพิ่มขึ้นในเคอร์ดิสถานซีเรีย[151] และมีการปะทะกันบางครั้งระหว่างผู้ประท้วงเคิร์ดกับกำลังความมั่นคงนับแต่นั้น

แม้มีความหวังการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยในดามัสกัสสปริงปี 2543 แต่ส่วนใหญ่ถือว่าบัชชาร อัลอะซัดล้มเหลวการนำพัฒนาการไปปฏิบัติ รายงานของฮิวแมนไรตส์วอชที่ออกก่อนการก่อการกำเริบปี 2554 ระบุว่า เขาล้มเหลวในการพัฒนาสถานะสิทธิมนุษยชนนับแต่ครองอำนาจ[152]

ใกล้เคียง

สงครามโลกครั้งที่สอง สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามเวียดนาม สงครามกลางเมืองอเมริกา สงครามแปซิฟิก สงครามเกาหลี สงครามอ่าว สงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง สงครามครูเสด สงครามกัมพูชา–เวียดนาม

แหล่งที่มา

WikiPedia: สงครามกลางเมืองซีเรีย http://www.thenational.ae/arts-culture/instead-of-... http://www.thenational.ae/world/middle-east/syria-... http://www.businessinsider.com.au/graphic-the-most... http://www.businessinsider.com.au/syrian-kurds-now... http://www.news.com.au/world/breaking-news/turkey-... http://mobile.abc.net.au/news/2014-06-05/syrias-as... http://www.cbc.ca/news/politics/government-positio... http://coat.ncf.ca/our_magazine/links/issue51/arti... http://english.aawsat.com/2017/01/article55366551/... http://www.aksalser.com/index.php?page=view_articl...