คู่สงคราม ของ สงครามกลางเมืองซีเรีย

แผนภาพกลุ่มแยกหลักในสงครามกลางเมืองซเรียและฝ่ายต่าง ๆ ในปี 2561

พรรคบะอัธซีเรียและพันธมิตร

แหล่งข้อมูลหลายแหล่งเน้นว่าปลายปี 2558 และต้นปี 2559 รัฐบาลซีเรียพึ่งพาอาสาสมัครและทหารอาสาสมัครมากกว่ากองทัพซีเรีย[401][402]

กองทัพซีเรีย

ก่อนการก่อการกำเริบและสงครามอุบัติ มีประมาณการว่ากองทัพซีเรียมีกำลังพลประจำการ 325,000 นาย ซึ่งในจำนวนนี้ 220,000 นายเป็น "ทหารบก" และที่เหลืออยู่ในกองทัพเรือ กองทัพอากาศและกำลังป้องกันภัยทางอากาศ นอกจากนี้ยังมีกองหนุนอีกประมาณ 280,000–300,000 นาย ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2554 มีรายงานการแปรพักตร์ของทหาร ในเดือนกรกฎาคม 2555 การสังเกตการณ์สิทธิมนุษยชนซีเรียประมาณว่าทหารหลายหมื่นนายแปรพักตร์ และข้าราชการตุรกีคนหนึ่งประมาณว่ามีทหารแปรพัตกร์ 60,000 นาย

รัฐบาลซีเรียได้รับการสนับสนุนระดับสูงในบางพื้นที่ในการควบคุม ตามผลสำรวจความเห็นที่จัดโดย บริติชโออาร์บีอินเตอร์เนชันแนล โดยประชากร 73% ในพื้นที่ที่รัฐบาลควบคุมสนับสนุนความพยายามของรัฐบาล[403]

กำลังป้องกันชาติ

กำลังป้องกันชาติซีเรียตั้งจากทหารอาสาสมัครนิยมรัฐบาล พวกเขาได้รับเงินเดือนและยุทธภัณฑ์จากรัฐบาล[404][405] มีจำนวนประมาณ 100,000 นาย[406][407] กำลังนี้ปฏิบัติหน้าที่ในบทบาททหารราบ โดยสู้รบกับกบฏโดยตรงภาคพื้นและดำเนินปฏิบัติการต่อต้านการก่อความไม่สงบโดยประสานงานกับกองทัพบก ซึ่งจัดการสนับสนุนทางลอจิสติกส์และปืนใหญ่ กำลังนี้มีหน่วยหญิง 500 นายที่เรียก "นางสิงห์แห่งกำลังป้องกันชาติ" (Lionesses of National Defense) ซึ่งควบคุมจุดตรวจ[408] ทหารกำลังป้องกันชาติได้รับอนุญาตให้ฉกชิงทรัพย์จากสมรภูมิและขายของนั้นเอาเงินในที่ที่ถูกตั้งฉายาว่า "ตลาดซุนนี" เช่นเดียวกับทหารบกตามแบบ[404]

แชบบีฮา

แชบบีฮา (Shabiha) เป็นทหารอาสาสมัครนิยมรัฐบาลอย่างไม่เป็นการที่ส่วนใหญ่มาจากชนกลุ่มน้อยอะลาวีของอะซัด นับแต่การก่อการกำเริบ รัฐบาลซีเรียใช้แชบบีฮาสลายการชุมนุมและบังคับใช้กฎหมายในย่านที่กระด้างกระเดื่อง[409] เมื่อการประท้วงบานปลายเป็นการขัดกันด้วยอาวุธ ฝ่ายค้านเริ่มใช้คำว่า แชบบีฮา อธิบายผู้สนับสนุนอะซัดพลเรือนใด ๆ ที่มีส่วนในการปราบปรามการก่อการกำเริบของรัฐบาล[410] ฝายค้านกล่าวหาแชบบีฮาว่าใช้ความรุนแรงเกินต่อผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลและผู้สนับสนุนฝ่ายค้าน[410] ตลอดจนการฉกชิงทรัพย์และการทำลาย[411][412] ในเดือนธันวาคม 2555 สหรัฐกำหนดให้แชบบีฮาเป็นองค์การก่อการร้าย[413]

มีรายงานว่าบัสเซล อัลอะซัด (Bassel al-Assad) สถาปนาแชบบีฮาในคริสต์ทศวรรษ 1980 เพื่อให้รัฐบาลใช้ในยามวิกฤต[414] มีการอธิบายว่าแชบบีฮาเป็น "กำลังกึ่งทหารอะลาวีที่ฉาวโฉ่ ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำตนเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นทางการให้ระบอบอะซัด"[415] "มือปืนภักดีต่ออะซัด"[416] และจากข้อมูลของศูนย์อาหรับเพื่อการวิจัยและนโยบายศึกษาในประเทศกาตาร์ ว่า "กึ่งแก๊งอาชญากรที่ประกอบด้วยอัทธพาลที่ใกล้ชิดกับระบอบ"[416] แม้ภาพลักษณ์ของกลุ่มเป็นทหารอาสาสมัครอะลาวี มีรายงานว่าแชบบีฮาที่ปฏิบัติหน้าที่ในอะเลปโปบางส่วนเป็นซุนนี[417] ในปี 2555 รัฐบาลอะซํดสถาปนาทหารอาสาสมัครอย่างเป็นทางการที่จัดระเบียบมากกว่า เรียก ญัยช์อัลชาบี (Jaysh al-Sha'bi) ซึ่งมีการกล่าวหาว่าได้รับความช่วยเหลือจากอิหร่านและฮิซบุลลอฮ์ เช่นเดียวกับแชบบีฮา สมาชิกญัยช์อัลชาบีส่วนใหญ่เป็นอาสาสมัครอะลาวีและชีอะฮ์[418][419]

ทหารอาสาสมัครคริสต์ศาสนิกชน

ทหารอาสาสมัครคริสต์ศาสนิกชนในประเทศซีเรีย (และประเทศอิรักตอนเหนือ) ส่วนใหญ่ประกอบขึ้นจากชาติพันธุ์อัสซีเรีย ซีเรีย-อารัม (Syriac-Aramean) และอาร์มีเนีย รายงานของซีบีเอสหนึ่งแสดงว่าคริสต์ศาสนิกชนในประเทศซีเรียส่วนใหญ่นิยมรัฐบาลโดยอ้างว่าพวกเขาเชื่อว่าความอยู่รอดของพวกเขาเชื่อมโยงกับรัฐบาลโลกวิสัยส่วนใหญ่[420][421] ทหารอาสาสมัครคริสต์ศาสนิกชนต่อสู้อยู่ข้างรัฐบาลซีเรีย[422][423] จากข้อมูลของเวิลด์ทริบูน.คอม (WorldTribune.com) "แหล่งข่าวอ้างว่าคริสต์ศาสนิกชนหลายพันคนเข้าร่วมกองทัพบกซีเรียตลอดจนทหารอาสาสมัครของระบอบ เช่น กำลังป้องกันชาติและคณะกรรมการประชาชน พวกเขาว่า NDF ช่วยจัดระเบียบหน่วยคริสต์ศาสนิกชนเพื่อคุ้มครองชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคอัสซีเรียทางตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรีย หน่วยหลักเรียกว่า การต้านทานคริสเตียน (Christian Resistance) กล่าวกันว่าปฏิบัติการในจังหวัดฮอมส์"[424] ชาวอัสซีเรียที่พูดภาษาอารัมตะวันออกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรียและภาคเหนือของอิรักตั้งทหารอาสาสมัครต่าง ๆ (รวมกำลังป้องกันอัสซีเรีย) เพื่อปกป้องเมืองโบราณ หมู่บ้านและฟาร์มของพวกตนจากผู้ก่อการร้าย ISIS พวกเขามักต่อสู้เคียงคู่กับกลุ่มชาวเคิร์ดและอาร์มีเนีย แต่ไม่เสมอไป[425][426][427]

ฮิซบุลลอฮ์

ในปี 2555 นักรบฮิซบุลลอฮ์ข้ามพรมแดนจากเลบานอนและยึดแปดหมู่บ้านในเขตอัลกุสซัยร (Al-Qusayr) ของซีเรีย อดีตเลขาธิการฮิซบุลลอฮ์ ชิคซุบฮีอัลตุฟัยลี (Subhi al-Tufayli) ยืนยันในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ว่า ฮิซบุลลอฮ์กำลังต่อสู้ให้กองทัพบกซีเรีย[428]

วันที่ 14 พฤษภาคม 2556 มีรายงานว่านักรบฮิซบุลลอฮ์ต่อสู้เคียงคู่กับกองทัพซีเรีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตผู้ว่าการฮอมส์ Hassan Nasrallah เรียกร้องให้ชีอะฮ์และฮิซบุลลอฮ์พิทักษ์เทวสถาน Sayida Zeinab วันที่ 25 พฤษภาคม 2556 นัสรัลละฮ์ประกาศว่าฮิซบุลลอฮ์กำลังต่อสู้ในซีเรียต่อพวกหัวรุนแรงอิสลามและ "สาบานว่ากลุ่มของเขาจะไม่ยอมให้นักรบซีเรียควบคุมดินแดนที่ต่อแดนกับเลบานอน"[429] เขายืนยันว่าฮิซบุลลอฮ์กำลังต่อสู้ในเมืองกุซัยรซึ่งเป็นเมืองยุทธศาสตร์ในซีเรียอยู่ข้างเดียวกับกำลังของอะซัด[106] ในการปราศรัยทางโทรทัศน์ เขากล่าวว่า "หากซีเรียตกอยู่ในมืออเมริกา อิสราเอลและตักฟีรี ประชาชนในภูมิภาคของเราจะเข้าสู่ยุคมืด"[106] จากข้อมูลของนักวิเคราะห์อิสระ เมื่อต้นปี 2557 มีนักรบฮิซบุลลอฮ์เสียชีวิตในความขัดแย้งซีเรียแล้วประมาณ 500 คน[430] วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2559 นักรบฮิซบุลลอฮ์เสียชีวิต 50 คนในการปะทะกับ Jaysh al-Islam ใกล้กับกรุงดามัสกัส นักรบเหล่านี้อยู่ในกำลังรบของกองทัพซีเรีย เรียก กองพลทหารบก 39[431]

ประเทศอิหร่าน

ศพของทหารอิหร่านกลับคืนประเทศอิหร่าน เดือนสิงหาคม 2559

ประเทศอิหร่านยังปฏิเสธการมีกำลังรบอยู่ในประเทศซีเรีย โดยยืนยันว่าให้คำแนะนำทางทหารแก่กำลังของอะซัดในการต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้าย[432] หลังจากระยะการก่อการกำเริบ ประเทศอิหร่านให้การสนับสนุนทางการเงิน เทคนิคและทางทหาร ซึ่งรวมการฝึกและกำลังรบบ้าง[433][434][435] ประเทศอิหร่านและซีเรียเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ที่ใกล้ชิด ประเทศอิหร่านมองว่าการอยู่รอดของรัฐบาลซีเรียสำคัญต่อผลประโยชน์ในภูมิภาคของตน[435][436] ผู้นำสูงสุดอิหร่าน อาลี คาเมนี มีรายงานว่าออกปากสนับสนุนรัฐบาลซีเรีย[434]

ราชการความมั่นคงและข่าวกรองของอิหร่านให้คำปรึกษาและช่วยเหลือกองทัพซีเรียเพื่อธำรงการครองอำนาจของบัชชาร อัลอะซัด[435] ความพยายามเหล่านี้ได้แก่ การฝึก การสนับสนุนทางเทคนิค กำลังรบ[433][435] ในเดือนธันวาคม 2556 เชื่อว่าประเทศอิหร่านมีผู้ปฏิบัติงานในประเทศซีเรียประมาณ 10,000 นาย[436] แต่ตามข้อมูลของจูบิน กูดาร์ซี (Jubin Goodarzi) ผู้ช่วยศาสตราจารย์และนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยเว็บสเตอร์ ประเทศอิหร่านช่วยเหลือระบอบอะซัดด้วยหน่วยและกำลังพลที่วางกำลังจำนวนจำกัด "มากสุดหลายร้อยคน ... และมิใช่หลายพันอย่างที่แหล่งข่าวฝ่ายค้านอ้าง"[437] นักรบฮิซบุลลอฮ์ที่รัฐบาลอิหร่านหนุนหลังมีบทบาทรบโดยตรงตั้งแต่ปี 2555[436][438] ในฤดูร้อนปี 2556 ประเทศอิหร่านและฮิซบุลลอฮ์จัดหาการสนับสนุนในสมรภูมิที่สำคัญแก่อะซํดโดยทำให้รัฐบาลรุกคืบต่อฝ่ายค้าน[438] ในปี 2557 ในเวลาเดียวกับการเจรจาสันติภาพที่เจนีวา 2 ประเทศอิหร่านสนับสนุนประธานาธิบดีอะซัดอย่างเปิดเผย[436][438] รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและเศรษฐกิจซีเรียประกาศว่า "รัฐบาลอิหร่านให้เงินกว่า 15,000 ล้านดอลลาร์" แก่ประเทศซีเรีย[439] ผู้บัญชาการกำลังกุดส์ (Quds Force) ของเหล่าพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน (Iranian Revolutionary Guards Corps) กะเซม ซุลัยมะนี (Qasem Suleimani) รับผิดชอบตำแหน่งรัฐมนตรีที่ประจำตามกระทรวงความมั่นคงและดูแลการติดอาวุธและฝึกนักรบชีอะฮ์นิยมรัฐบาลหลายพันคน[440][441]

ทหารเหล่าพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่านอย่างน้อย 328 นาย ซึ่งรวมผู้บัญชาการหลายนาย ถูกฆ่าในสงครามกลางเมืองซีเรียนับแต่เกิดสงคราม[442]

ทหารอาสาสมัครชีอะฮ์ต่างประเทศ

นักรบชีอะฮ์จากประเทศอัฟกานิสถานและปากีสถานมี "จำนวนมากกว่า" นักรบต่างประเทศซุนนีมาก แม้ได้รับ "ความสนใจน้อยกว่ามาก" จากสื่อ[443] จำนวนชาวอัฟกานิสถานที่ต่อสู้ในประเทศซีเรียในนามของรัฐบาลซีเรียมีประมาณการไว้ "ระหว่าง 10,000 ถึง 12,000 คน" ส่วนจำนวนชาวปากีสถานนั้นไม่ทราบ[443] นักรบหลายคนหรือส่วนใหญ่เป็นผู้ลี้ภัย และประเทศอิหร่านถูกกล่าวหาว่าฉวยประโยชน์จากที่พวกเขาไม่สามารถ "ได้ใบอนุญาตประกอบอาชีพหรือเป็นผู้อยู่อาศัยตามกฎหมายในประเทศอิหร่าน" และใช้การขู่เนรเทศแก่ผู้ที่ไม่ยินยอมอาสาสมัคร[443] นักรบเหล่านี้ยังได้รับค่าจ้างค่อนข้างสูง และบอกกับนักหนังสือพิมพ์ว่า "รัฐอิสลามเป็นศัตรูร่วมของอิหร่านและอัฟกานิสถาน ... นี่เป็นสงครามศักดิ์สิทธิ์ และว่าพวกเขาปรารถนาพิทักษ์สถานแสวงบุญชีอะฮ์ชายยิดาไซอินับ (Sayyida Zaynab) จากญิฮัดซุนนี"[443]

ประเทศรัสเซีย

ซู-34 ของรัสเซียทิ้งระเบิดเหนือประเทศซีเรีย

วันที่ 30 กันยายน 2558 สภาสหพันธรัฐของรัสเซียอนุมัติคำขอของประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดีมีร์ ปูติน อย่างเป็นเอกฉันท์อนุญาตให้ใช้กองทัพรัสเซียในซีเรีย[444][445] หลังจากคำขอความช่วยเหลือทางทหารต่อกลุ่มกบฏและญิฮัดอย่างเป็นทางการของรัฐบาลซีเรีย[446][447] วันเดียวกัน พลเอก เซอร์เกย์ คูราเลนโกของรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้แทนของรัสเซีย ณ ศูนย์สารสนเทศร่วมในกรุงแบกแดดมายังสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐในกรุงแบกแดดและขอให้กำลังสหรัฐในพื้นที่เป้าหมายใด ๆ ออกทันที[448] ชั่วโมงต่อมา อากาศยานรัสเซียที่อยู่ในดินแดนที่รัฐบาลครองเริ่มการโจมตีทางอากาศโดยดูเหมือนต่อเป้าหมายฝ่ายกบฏ[449]

ป้อมปืนป้องกันภัยทางอากาศรัสเซียในเดือนธันวาคม 2558 ประกอบด้วยระบบป้องกันพิสัยใกล้ปันซีร์-เอส1 และพาหนะปล่อยสองคันสำหรับขีปนาวุธบินพิสัยไกลเอส-400 ที่ลาษิกียะฮ์

ก่อนหน้าปฏิบัติการเหล่านี้ การเข้ามีส่วนของรัสเซียในสงครามกลางเมืองซีเรียส่วนใหญ่เป็นการจัดหากำลังบำรุงแก่กองทัพบกซีเรีย[450] ข้าราชการรัสเซียรับรองวัตถุประสงค์ของพวกตนว่า เพื่อช่วยรัฐบาลซีเรียยึดพื้นที่คืนจากกลุ่มค้านต่าง ๆ ซึ่งรวม ISIL และกลุ่มที่สหรัฐหนุนหลังและติดอาวุธ[451] ในการสัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ที่แพร่ภาพเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2558 ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดีมีร์ ปูติน กล่าวว่า ปฏิบัติการทางทหารมีการเตรียมล่วงหน้าอย่างรอบคอบ เขานิยามเป้าหมายของรัสเซียในซีเรียว่า "สร้างเสถียรภาพอำนาจชอบธรรมในซีเรียและสร้างสภาพสำหรับการประนีประนอมทางการเมือง"[452]

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 อากาศยานซุคฮอย ซู-24 ของรัสเซียถูกเครื่องบินขับไล่เอฟ-16 ของกองทัพอากาศตุรกียิงตกในเหตุการณ์ที่เชื่อว่าเป็นครั้งแรกที่ประเทศนาโตยิงเครื่องบินรัสเซียตกในรอบครึ่งศตวรรษ[453] รัสเซียตอบโต้โดยประกาศว่าเครื่องบินรบของแนวร่วมที่มีสหรัฐนำที่บินผ่านทางตะวันตกของแม่น้ำยูเฟรตีสจะถูกกำลังต่อสู้อากาศยานรัสเซียติดตามทั้งบนฟ้าและบนบกและถือเป็นเป้าหมาย[454]

ฝ่ายค้านซีเรีย

ฝ่ายค้านติดอาวุธประกอบด้วยหลายกลุ่มที่ตั้งระหว่างห้วงความขัดแย้งหรือเข้าร่วมจากนอกประเทศ จากข้อมูลของมัวร์ เฮิร์ช (Seymour Hersh) ฝ่ายค้านได้รับเงินสนับสนุนจากซาอุดีอาระเบีย 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ปี 2557)[455] ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรีย กลุ่มแยกฝ่ายค้านหลักคือ แนวร่วมอัลนุสเราะ (al-Nusra Front) ที่เข้ากับอัลกออิดะฮ์ ซึ่งเป็นพันธมิตรกับกลุ่มอิสลามอื่นที่เล็กกว่าหลายกลุ่ม ในจำนวนนี้บางกลุ่มปฏิบัติการภายใต้กลุ่มกองทัพซีเรียเสรี (FSA)[456] ชาติตะวันตกกำหนดให้ FSA เป็นกลุ่มแยกฝ่ายค้านสายกลางซึ่งทำให้กลุ่มได้รับอาวุธทันสมัยและการสนับสนุนทางทหารอื่นจากสหรัฐและประเทศอ่าวบางประเทศภายใต้โครงการที่ซีไอเอดำเนินการ[281][280][457] ซึ่งเพิ่มสมรรถนะการสู้รบรวมของกบฏอิสลาม[458][459] ในทางตะวันออก รัฐอิสลามอิรักและลิแวนต์ (ISIL) กลุ่มนักรบญิฮัดที่กำเนิดจากประเทศอิรัก ได้ความได้เปรียบทางทหารอย่างรวดเร็วทั้งในประเทศซีเรียและอิรัก สุดท้าย ISIL กลายมาขัดแย้งกับกบฏอื่น โดยเฉพาะอัลนุสเราะ ซึ่งผู้นำกลุ่มไม่ต้องการสวามิภักดิ์ต่อ ISIL ในเดือนกรกฎาคม 2557 ISIL ควบคุมหนึ่งในสามของดินแดนประเทศซีเรีย และการผลิตน้ำมันแลัแก๊สส่วนใหญ่ ฉะนั้นจึงสถาปนาตนเป็นกำลังต่อต้านรัฐบาลหลัก[460] ในปี 2558 กาตาร์ ซาอุดีอาระเบียและตุรกีหนุนหลังกองทัพการพิชิตดินแดน (Army of Conquest) อย่างเปิดเผย ซึ่งเป็นกลุ่มกบฏรวมที่มีรายงานว่ารวมแนวร่วมอัลนุสเราะที่เชื่อมโยงกับอัลกออิดะฮ์และแนวร่วมซะละฟีอีกกลุ่มหนึ่ง ชื่อ อะห์รัรอัชชาม (Ahrar ash-Sham) และฟัยลักอัลชาม (Faylaq Al-Sham) กลุ่มกบฏที่เชื่อมโยงกับแนวร่วมภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood)[461][462][463] นอกจากนี้ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทหารอาสาสมัครเคิร์ดอย่างหน่วยคุ้มครองประชาชน (YPG) จับอาวุธขึ้นต่อสู้กับทั้งกลุ่มแยกอิสลามกบฏ[464]และผู้จงรักภักดีต่อรัฐบาล[465]

แนวร่วมแห่งชาติซีเรีย

สมาชิกแนวร่วมแห่งชาติซีเรียในโดฮา 11 พฤศจิกายน 2555

วันที่ 11 พฤศจิกายน 2555 ในกรุงโดฮา สภาแห่งชาติและกำลังฝ่ายค้านอื่นรวมกันเป็นแนวร่วมกำลังปฏิวัติและฝ่ายค้านซีเรียแห่งชาติ (National Coalition for Syrian Revolutionary and Opposition Forces)[466] วันรุ่งขึ้น หลายรัฐอ่าวเปอร์เซียรับรองให้เป็นรัฐบาลซีเรียโดยชอบ ผู้แทนสภาผู้นำของแนวร่วมฯ มีหญิงและผู้แทนของชนกลุ่มน้อยศาสนาและชาติพันธุ์ซึ่งรวมอะละวีด้วย มีรายงานว่าสภาทหารรวมกองทัพซีเรียเสรีด้วย[467] เป้าหมายหลักของแนวร่วมแห่งชาติฯ คือ แทนรัฐบาลบัชชาร อัลอะซัดและ "สัญลักษณ์และเสาการสนับสนุนของมัน" "รื้อราชการความมั่นคง" สร้างเอกภาพและสนับสนุนกองทัพซีเรียเสรี ปฏิเสธการพูดคุยเจรจากับรัฐบาลอัลอะซัด และ "นำตัวผู้รับผิดชอบการฆ่าชาวซีเรีย ทำลาย [ซีเรีย] และไล่ที่ [ชาวซีเรีย] มาลงโทษ"[468]

กองทัพซีเรียเสรี

มีการประกาศตั้งกองทัพซีเรียเสรีเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2554 โดยนายทหารกองทัพบกซีเรียที่แปรพักตร์กลุ่มหนึ่ง ในวิดีทัศน์ นายทหารเรียกร้องให้นายทหารและทหารชาวซีเรียแปรพักตร์เพื่อคุ้มครองผู้ประท้วงพลเรือนจากความรุนแรงโดยรัฐและมีผลเปลี่ยนแปลงรัฐบาล[469] ในเดือนธันวาคม 2554 ประมาณการจำนวนผู้แปรพักตร์ FSA มีตั้งแต่ 1,000 ถึงกว่า 25,000 คน FSA เดิมมีสำนักงานใหญ่ในประเทศตุรกี ย้ายสำนักงานใหญ่สู่ภาคเหนือของซีเรียในเดือนกันยายน 2555 และเป็นเสมือนองค์การรวม ๆ มากกว่าสายการบังคับบัญชาตามเดิม

ในเดือนมีนาคม 2555 ผู้สื่อข่าวเดอะนิวยอร์กไทมส์ เป็นพยานการเข้าตีแนวรถถังซีเรียหุ้มเกราะของ FSA ในซะระกิบ (Saraqib) และทราบว่า FSA มีทหารและอดีตนายทหารที่สามารถและได้รับการฝึก มีการจัดระเบียบอยู่ระดับหนึ่ง แต่ไม่มีอาวุธที่จะต่อสู้อย่างจริงจัง[470]

ในเดือนเมษายน 2556 สหรัฐประกาศว่าจะส่งความช่วยเหลือไม่ถึงชีวิตต่อกบฏซีเรีย 123 ล้านดอลลาร์สหรัฐผ่านพลเอกที่แปรพักตร์ ซะลิม อิดริส (Salim Idriss) ผู้นำ FSA[471] ต่อมาเขายอมรับว่า "กบฏ" แตกเป็นเสี่ยงและขาดทักษะทางทหารที่จำเป็นเพื่อโค่นรัฐบาลประธานาธิบดีบัชชาร อัลอะซัด อิดริสกล่าวว่าเขากำลังสร้างโครงสร้างบังคับบัญชาทั่วประเทศ แต่การขาดการสนับสนุนทางวัตถุทำให้ความพยายามนั้นไม่เป็นผล เขายอมรับว่าปฏิบัติการร่วมกับกลุ่มอิสลาม อะห์รัรอัชชาม แต่ปฏิเสธความร่วมมือใด ๆ กับกลุ่มอิสลาม แนวร่วมอัลนุสเราะ[471]

อะบู ยูซัฟ (Abu Yusaf) ผู้บัญชาการคนหนึ่งของรัฐอิสลาม กล่าวในเดือนสิงหาคม 2557 ว่าสมาชิก FSA หลายคนที่นายทหารสหรัฐ ตุรกีและอาหรับฝึกแท้จริงแล้วกำลังเข้าร่วมกับไอเอส[472] ซึ่งในทางตรงข้ามกับข้ออ้างของผู้บัญชาการนายนี้ ในเดือนกันยายน 2557 กองทัพซีเรียเสรีกำลังเข้าร่วมพันธมิตรและแนวร่วมกับทหารอาสาสมัครเคิร์ดซึ่งรวม YPG ซึ่งต่อสู้กับไอเอส[473][474]

ต้นเดือนตุลาคม 2558 ไม่นานหลังรัสเซียเริ่มแทรกแซงทางทหารในซีเรีย โรเบิร์ต ฟิสก์ประเมินว่าการดำรงอยู่ของ FSA เป็นกลลวง เป็นข้อเท็จจริงที่ข้าราชการสหรัฐรับทราบ โดยกบฏ FSA แทบทั้งหมดที่สหรัฐฝึกแปรพักตร์เข้ากับกลุ่มกบฏอื่น[475] และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เซอร์เกย์ ลัฟรอฟ เรียก FSA ว่า "โครงสร้างที่ไม่มีตัวตนแล้ว"[476][477] ภายหลังประกาศว่ารัสเซียพร้อมช่วยเหลือ FSA ด้วยการโจมตีทางอากาศต่อ ISIS[478] อีกฝ่ายหนึ่ง ในเดือนธันวาคม 2558 ตามข้อมูลสถาบันยุทธศึกษาอเมริกัน กลุ่มที่ระบุตัวเป็น FSA ยังมีอยู่รอบอะเลปโปและฮะมาฮ์และในภาคใต้ของซีเรีย และ FSA ยังเป็น "กลุ่มกบฏใหญ่สุดและโลกวิสัยที่สุด"[479]

ในเดือนมีนาคม 2560 FSA ที่ตุรกีหนุนหลังสำเร็จการกวาดล้างรัฐอิสลามจากภาคเหนือของซีเรีย[480] หลังจากนั้นหันไปพยายามยึดแคนทอนอะฟรินจาก YPG

สภาแห่งชาติซีเรีย

สภาแห่งชาติซีเรียตั้งเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 เป็นแนวร่วมกลุ่มต่อต้านรัฐบาลซึ่งมีฐานในประเทศตุรกี สภาแห่งชาติมุ่งยุติการปกครองของอัลอะซัด และสถาปนารัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ SNC มีความเชื่อมโยงกับกองทัพซีเรียเสรี ในเดือนพฤศจิกายน 2555 สภาตกลงรวมกับกลุ่มฝ่ายค้านอีกหลายกลุ่มตั้งเป็นแนวร่วมแห่งชาติซีเรีย SNC มีผู้แทน 22 จาก 60 ที่นั่งในแนวร่วมแห่งชาติซีเรียง[481]

สภาฯ ถอนตัวจากแนวร่วมฯ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2557 เป็นการประท้วงการตัดสินใจของแนวร่วมในการเข้าประชุมการเจรจาเจนีวา[482]

แนวร่วมอิสลาม

แนวร่วมอิสลามเป็นการรวมกลุ่มกบฏเจ็ดกลุ่มที่เกี่ยวข้องในสงครามกลางเมืองซีเรีย[26] มีการประกาศเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2556[483] กลุ่มนี้มีนักรบระหว่าง 40,000[484] ถึง 60,000 คน โฆษกนิรนามของกลุ่มแถลงว่า กลุ่มจะไม่มีความสัมพันธ์กับแนวร่วมแห่งชาติซีเรีย[485] แม้สมาชิกกรมการเมืองของกลุ่ม อะห์มัด มุซาแถลงว่า เขาหวังการรับรองจากสภาแห่งชาติซีเรียในความร่วมมือสิ่งที่เขาแนะว่า "สิ่งที่ชาวซีเรียต้องการ พวกเขาต้องการการปฏิวัติและมิใช่วาระการเมืองและต่างชาติ"[486] ซาอุดีอาระเบียหนุนหลังและติดอาวุธกลุ่มนี้อย่างกว้างขวาง[487][488][489]

กฎบัตรของแนวร่วมอิสลามปฏิเสธมโนทัศน์ประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนและโลกวิสัย และมุ่งสถาปนารัฐอิสลามที่ปกครองโดยมัยลิสอัชชูรา (Majlis-ash-Shura) และบังคับใช้ชะรีอะฮ์ กลุ่มยอมรับชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์และศาสนาที่อาศัยอยู่ในซีเรีย ขณะที่ยังต้อนรับนักรบต่างด้าวที่เข้าร่วมกำลังต่อต้านอะซัด และปฏิเสธวิธียุติสงครามกลางเมืองนอกเหนือจากทางทหาร[490]

กลุ่มแยกซะละฟี

ในเดือนกันยายน 2556 จอห์น เคอร์รี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ แถลงว่ากลุ่มญิฮัดซะละฟีสุดโต่งประกอบเป็น 15–25% ของกำลังกบฏ[491] จากข้อมูลของชาลส์ ลิสเตอร์ กบฏประมาณ 12% เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มที่เชื่อมโยงกับอัลกออิดะฮ์ 18% เป็นของอะห์รัรอัชชาม และ 9% เป็นของศุกูรอัชชาม (Suqour al-Sham Brigade)[492][493] จำนวนนี้ค้านกับกลุ่มสารสนเทศเจนส์ (Jane's Information Group) สิ่งพิมพ์ด้านกลาโหม อ้างว่ากบฏทั้งหมดเกือบครึ่งเข้ากับกลุ่มอิสลาม[494] ศูนย์ศาสนาและภูมิรัฐศาสตร์ คลังสมอง (think-tank) สัญชาติบริติช ซึ่งเชื่อมโยงกับอดีตนายกรัฐมนตรีบริติช โทนี แบลร์ กล่าวว่า กบฏ 60% อาจจำแนกเป็นพวกหัวรุนแรงอิสลาม[495] นักรบต่างด้าวเข้าร่วมความขัดแย้งโดยอยู่ฝ่ายค้านซีเรีย[496]

ศูนย์ระหว่างประเทศเพื่อการศึกษาการทำให้หัวรุนแรงและความรุนแรงทางการเมือง (The International Centre for the Study of Radicalisation and Political Violence) ประมาณว่านักรบต่างด้าว 2,000–5,500 คนไปประเทศซีเรียนับแต่เริ่มการประท้วง โดยประมาณ 7–11% มาจากทวีปยุโรป ศูนย์ฯ ยังประมาณว่าจำนวนนักรบต่าวด้าวมีไม่เกิน 10% ของกองทัพฝ่ายค้าน[497] อีกการประมาณหนึ่งกะจำนวนนักรบญิฮัดต่างด้าวไว้ 15,000 คนเมื่อต้นปี 2557[498] คณะกรรมการยุโรปแสดงความกังวลว่า นักรบบางส่วนอาจใช้ทักษะที่ได้ในประเทศซีเรียกลับมาก่อการร้ายในทวีปยุโรปในอนาคต[499]

ในเดือนตุลาคม 2555 กลุ่มศาสนาอิรักหลายกลุ่มเข้าร่วมความขัดแย้งในซีเรียทั้งสองฝ่าย ซุนนีหัวรุนแรงจากประเทศอิรักเดินทางไปประเทศซีเรียเพื่อต่อสู้กับประธานาธิบดีบัชชาร อัลอะซัดและรัฐบาลซีเรีย[500] นอกจากนี้ ชีอะฮ์จากประเทศอิรัก ในจังหวัดบาบิลและดิยาลา เดินทางไปกรุงดามัสกัสจากกรุงเตหะราน หรือจากนะญัฟ ประเทศอิรัก นครศักดิ์สิทธิ์ของอิสลามชีอะฮ์ เพื่อพิทักษ์ซัยยิดะห์ซัยนับ (Sayyida Zeinab) มัสยิดสำคัญและแท่นบูชาของนิกายชีอะฮ์ในกรุงดามัสกัส[500]

ในเดือนกันยายน 2556 ผู้นำกองพลน้อยกบฏที่ทรงอำนาจ 13 คนปฏิเสธแนวร่วมแห่งชาติซีเรีย และเรียกร้องให้กฎหมายชะรีอะฮ์เป็น "บ่อเกิดของกฎหมายแหล่งเดียว" กลุ่มกบฏที่ลงนามมีแนวร่วมอัลนุสเราะ อะห์รัรอัชชามและอัลเตาฮีดรวมอยู่ด้วย[501]

แนวร่วมอัลนุสเราะ

แนวร่วมอัลนุสเราะซึ่งเชื่อมโยงกับอัลกออิดะฮ์[502] เป็นกลุ่มญีฮัดใหญ่สุดในประเทศซีเรีย มักถือว่าเป็นส่วนที่ก้าวร้าวและรุนแรงที่สุดของฝ่ายค้าน[503] กลุ่มนี้ก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตายแล้วกว่า 50 ครั้ง ซึ่งรวมเหตุระเบิดที่มีผู้เสียชีวิตหลายครั้งในกรุงดามัสกัสในปี 2554 และ 2555 รัฐบาลซีเรียและรัฐบาลสหรัฐกำหนดให้เป็นองค์การก่อการร้ายในเดือนธันวาคม 2555[107] จากข้อมูลของหน่วยข่าวกรองสหรัฐ รัฐบาลตุรกีสนับสนุนกลุ่มนี้มาหลายปีแล้ว[455] ในเดือนเมษายน 2556 ผู้นำรัฐอิสลามอิรักออกแถลงการณ์เสียงประกาศว่าแนวร่วมอัลนุสเราะเป็นสาขาของตนในประเทศซีเรีย[504] ผู้นำอัลนุสเราะ อะบู โมฮัมมัด อัลโกลานี (Abu Mohammad al-Golani) กล่าวว่า กลุ่มจะไม่รวมกับรัฐอิสลามอิรักแต่จะยังสวามิภักดิ์ต่ออัยมัน อัซเซาะวาฮิรี ผู้นำอัลกออิดะฮ์[505] กำลังคนโดยประมาณของแนวร่วมอัลนุสเราะอยู่ประมาณ 6,000–10,000 คน ซึ่งรวมนักรบต่างด้าวจำนวนมาก[506]

ความสัมพันธ์ระหว่างแนวร่วมอัลนุสเราะและฝ่ายค้านซีเรียพื้นเมืองตึงเครียด แม้อัลนุสเราะต่อสู้ร่วมกับ FSA ในหลายยุทธการ และนักรบ FSA บางส่วนแปรพักตร์ไปแนวร่วมอัลนุสเราะ[507] มุมมองศาสนาเข้มงวดของมูญาฮิดีนและเจตนาบังคับกฎหมายชะรีอะฮ์รบกวนชาวซีเรียจำนวนมาก[508] ผู้บัญชาการกบฏบางนายกล่าวหานักรบญีฮัดว่า "ขโมยการปฏิวัติ" ปล้นโรงงานซีเรียและแสดงอขันติทางศาสนา[509] แนวร่วมอัลนุสเราะถูกกล่าวหาว่าปฏิบัติไม่ดีต่อชนกลุ่มน้อยศาสนาและชาติพันธุ์นับแต่ก่อตั้ง[510]

เคิร์ดซีเรีย

ทหารหญิงของหน่วยคุ้มครองหญิงยิงปืนอัตโนมัติจากที่กำบัง

ชาวเคิร์ดซึ่งส่วนใหญ่เป็นมุสลิมซุนนี และกลุ่มน้อยยะซีดีส (Yezidis) ขนาดเล็กประกอบเป็น 10% ของประชากรซีเรียเมื่อเริ่มการก่อการกำเริบในปี 2554 พวกเขาถูกเลือกปฏิบัติและละเลยหลายทศวรรษ ขาดสิทธิพลเมือง วัฒนธรรม เศรษฐกิจและสังคมพื้นฐาน[511] เมื่อการประท้วงเริ่ม สุดท้ายรัฐบาลอะซัดให้ความเป็นพลเมืองแก่ชาวเคิร์ดไร้สัญชาติประมาณ 200,000 คน ในความพยายามเพื่อหยุดการค้านของชาวเคิร์ดที่อาจเกิดขึ้น[512] การให้สิทธินี้ประกอบกับการสนับสนุนฝ่ายค้านของตุรกีและการมีผู้แทนน้อยเกินในสภาแห่งชาติซีเรีย ส่งผลให้มีชาวเคิร์ดเข้าร่วมสงครามกลางเมืองเป็นจำนวนน้อยกว่าอาหรับซุนนีซีเรีย[512] ผลคือ ความรุนแรงและการปราบปรามของรัฐในพื้นที่เคิร์ดรุนแรงน้อยลง[512] ในแง่ของซีเรียหลังอะซัด มีรายงานว่าชาวเคิร์ดปรารถนาอัตตาณัติระดับหนึ่งในรัฐที่กระจายอำนาจปกครอง[513] เมื่อสงครามกลางเมืองเริ่ม พรรคการเมืองเคิร์ดส่วนใหญ่จัดระเบียบตนเองเป็นคณะกรรมการประสานงานแห่งชาติเพื่อการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตย (NCC) โดยถือท่าทีสายกลางมากกว่าต่อรัฐบาลอะซัด ทว่า ในเดือนตุลาคม 2554 ทุกพรรคยกเว้นพรรคสหภาพประชาธิปไตย (PYD) ออกจาก NCC ไปตั้งองค์การรวมของตนเอง คือ สภาแห่งชาติเคิร์ด

อาสาสมัครตะวันตกจากกำลังกองโจรประชาชนปฏิวัตินานาชาติ (International Revolutionary People's Guerrilla Forces) ต่อสู้ในตับเกาะ กลุ่มนี้ต่อสู้ร่วมกับ SDF

หน่วยป้องกันประชาชนเคิร์ดซีเรีย (YPG) เข้าสู่สงครามกลางเมืองซีเรียครั้งแรกเป็นคู่สงครามในเดือนกรกฎาคม 2555 โดยยึดเมืองโคบานีซึ่งจนถึงเวลานั้นอยู่ในการควบคุมของรัฐบาลอะซัดซีเรีย กำลังประชาธิปไตยซีเรียก่อตั้งในเดือนธันวาคม 2558 นำโดยหน่วยป้องกันประชาชน (YPG) เคิร์ดเป็นหลัก ประมาณการขนาดมีตั้งแต่ 55,000[514] ถึง 80,000 คน[515] ส่วนใหญ่เป็นเคิร์ด แต่นักรบประมาณ 40% มิใช่เคิร์ด สภาทหารซีเรีย เช่นเดียวกับทหารอาสาสมัครคริสต์ศาสนิกชนหลายกุล่มเดิมก่อตั้งเพื่อคุ้มครองหมู่บ้านคริสต์ศาสนิกชน แต่เข้าร่วมกำลังเคิร์ดเพื่อยึดอัลฮะซะกะฮ์จาก ISIS ในปลายปี 2558[516] กำลังคุ้มครองแผ่นดินระหว่างสองแม่น้ำหญิง (Female Protection Forces of the Land Between the Two Rivers) เป็นกำลังหญิงล้วนนักรบอัสซีเรียในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรีย ซึ่งต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับหน่วยอื่น ๆ[517]

ความขัดแย้งระหว่างหน่วยป้องกันประชาชนเคร์ด (YPG) และกลุ่มอิสลามอย่างแนวร่วมอัลนุสเราะบานปลายตั้งแต่กลุ่มชาวเคิร์ดขับฝ่ายอิสลามออกจากเมืองชายแดนรัสอัลอัยน์ (Ras al-Ain)[518]

วันที่ 17 มีนาคม 2559 สภาประชาธิปไตยซีเรีย ฝ่ายการเมืองของ SDF ประกาศการสถาปนาสหพันธรัฐอัตตาณัติในซีเรียเหนือ[519] สภาประชาธิปไตยซีเรียได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมสันติภาพเจนีวาระหว่างประเทศในเดือนมีนาคม 2559 แต่ปฏิเสธคำเชิญ

รัฐอิสลามอิรักและลิแวนต์

รัฐอิสลามอิรักและลิแวนต์ (ISIL) หรือรัฐอิสลามอิรักและซีเรีย (ISIS) ได้เปรียบทางทหารอย่างรวดเร็วในซีเรียตอนเหนือเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2556 และในกลางปี 2557 ควบคุมส่วนใหญ่ของภูมิภาคนั้น ขณะที่ผู้สังเกตการณ์สิทธิมนุษยชนซีเรียอธิบายว่าเป็น "กลุ่มแข็งแกร่งที่สุด"[520] กลุ่มกำหนดกฎหมายชะรีอะฮ์เข้มงวดเหนือดินแดนที่ตนควบคุม จนถึงปี 2557 กลุ่มสวามิภักดิ์ต่ออัลกออิดะฮ์ ซึ่งมีนักรบชาวอิรัก อะบู บักร์ อัลบัฆดาดี และมีนักรบโดยประมาณ 7,000 คนในประเทศซีเรีย ซึ่งมีผู้ที่มิใช่ชาวซีเรียหลายคน ถูกยกย่องว่าทุจริตน้อยกว่ากลุ่มทหารอาสาสมัครอื่นแต่ถูกวิจารณ์ว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน[521] และไม่มีขันติต่อกลุ่มทหารอาสาสมัคร นักหนังสือพิมพ์หรือคนงานช่วยเหลือต่างประเทศ ซึ่งสมาชิกถูกขับไล่ กักขัง[522]หรือประหารชีวิต ไมเคิล ไวส์ (Michael Weiss) เขียนว่า ISIL ไม่ถูกรัฐบาลซีเรียมุ่งเป้า "ด้วยความกระตือรือร้นอย่างเดียวกัน" กับกลุ่มแยกกบฏอื่น[440]

ในฤดูร้อน 2557 ISIL ควบคุมหนึ่งในสามของประเทศซีเรีย สถาปนาตนเป็นกำลังครอบงำของฝ่ายค้านซีเรีย พิชิตยับฮัตอัลนุสเราะ (Jabhat al-Nusra) ในเขตผู้ว่าราชการเดอีร์เอซซอร์ (Deir Ezzor Governorate) และอ้างสิทธิควบคุมเหนือการผลิตน้ำมันและแก๊สส่วนใหญ่ของประเทศซีเรีย[523]

รัฐบาลซีเรียไม่เริ่มต่อสู้กับ ISIL จนเดือนมิถุนายน 2557 แม้มีอยู่ในประเทศซีเรียตั้งแต่เดือนเมษายน 2556 จากข้อมูลของข้าราชการเคิร์ดผู้หนึ่ง[524]

ISIL สามารถเกณฑ์นักรบได้กว่า 6,300 คนในเดือนกรกฎาคม 2557 เดือนเดียว[525] ในเดือนกันยายน 2557 มีรายงานว่า กบฏซีเรียบางส่วนลงนามความตกลง "ไม่รุกราน" กับ ISIL ในชานกรุงดามัสกัส โดยอ้างความไร้สามารถจัดการกับทั้งการโจมตีของ ISIL และกองทัพซีเรียได้พร้อมกัน[526] ทว่า กบฏซีเรียบางส่วนประณามข่าวสนธิสัญญา "ไม่รุกราน" ISIL ยังวางระเบิดในพื้นที่นครโบราณพัลไมรา นครซึ่งมีประชากร 50,000 คน พัลไมรานับเป็นแหล่งมรดกโลกของยูเนสโก เพราะเป็นที่ของซากปรักโรมันโบราณที่กว้างใหญ่และรักษาดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลก[527]

แนวร่วมที่สหรัฐนำต่อ ISIL

ประเทศที่เข้าร่วมในกำลังเฉพาะกิจร่วมผสม ไม่ใช่ทั้งหมดที่ปฏิบัติการอยู่ในประเทศซีเรีย

ประเทศจำนวนหนึ่ง รวมทั้งสมาชิกนาโต้หลายประเทศ เข้าร่วมกำลังเฉพาะกิจร่วมผสม (Combined Joint Task Force) โดยหลักเพื่อต่อสู้กับ ISIL และสนับสนุนกลุ่มกบฏที่ถูกมองว่าสายกลางและเป็นมิตรต่อชาติตะวันตกอย่างกองทัพซีเรียเสรี ประเทศที่ดำเนินการโจมตีทางอากาศในประเทศซีเรียมีสหรัฐ ออสเตรเลีย บาห์เรน แคนาดา ฝรั่งเศส จอร์แดน เนเธอร์แลนด์ ซาอุดีอาระเบีย ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และสหราชอาณาจักร[528] สมาชิกบางประเทศเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งนอกเหนือจากการสู้รบกับ ISIL คือ ประเทศตุรกีถูกกล่าวหาว่าต่อสู้กับกำลังเคิร์ดในประเทศซีเรียและอิรัก รวมทั้งการประสานงานด้านข่าวกรองกับ ISIL ในบางกรณี[529][530] ข้อสรุปของการประเมินที่เป็นความลับสูงที่สำนักข่าวกรองกลาโหม (DIA) ดำเนินการและเสนาธิการร่วมในปี 2556 มีว่า ประเทศตุรกีเปลี่ยนโครงการอาวุธลับของสหรัฐเพื่อสนับสนุนกบฏสายกลางซึ่งไม่มีอยู่แล้วเป็นโครงการจัดหาการสนับสนุนทางเทคนิคและลอจิสติกส์แบบไม่เลือกแก่ฝ่ายค้านทั้งหมด ซึ่งรวมยับฮัตอัลนุสเราะและรัฐอิสลาม[455]

การพัวพันของต่างประเทศ

แผนที่ประเทศแวดล้อมซีเรีย (สีแดง) แบ่งตามการเกี่ยวข้องทางทหาร
  ประเทศที่สนับสนุนรัฐบาลซีเรีย
  ประเทศที่สนับสนุนกบฏซีเรีย
  ประเทศที่สนับสนุนสองฝ่าย

ทั้งรัฐบาลซีเรียและฝ่ายค้านได้รับการสนับสนุนทั้งทางทหารและการทูตจากต่างประเทศซึ่งนำให้ความขัดแย้งนี้ถูกขนานนามว่า สงครามตัวแทน[531] ภาคีหลักที่สนับสนุนรัฐบาลซีเรีย ได้แก่ ประเทศรัสเซีย อิหร่านและฮิซบุลลอฮ์ ทั้งสองประทเศพัวพันในสงครามทั้งทางการเมืองและลอจิสติกส์โดยจัดหายุทธภัณฑ์ การฝึกกำลังพลและกำลังรบ รัฐบาลซีเรียยังได้รับอาวุธจากประเทศรัสเซียและการสนับสนุนข่าวกรองทางสัญญาณโดยตรงจากหน่วยอำนวยการข่าวกรองหลัก (GRU)[532] นอกเหนือไปจากการสนับสนุนทางการเมืองอย่างสำคัญจากรัสเซีย[533]

องค์กรฝ่ายค้านหลักของซีเรีย หรือแนวร่วมซีเรีย ได้รับการสนับสนุนทางการเมือง ลอจิสติกส์และทางทหารจากสหรัฐ บริเตนและฝรั่งเศส[534] กบฏซีเรียบางส่วนได้รับการฝึกจากซีไอเอที่ฐานทัพในประเทศกาตาร์ จอร์แดนและซาอุดีอาระเบีย[535] ภายใต้โครงการทิมเบอร์ซิกามอร์ (Timber Sycamore) และความเคลื่อนไหวซ่อนเร้นอื่น เจ้าหน้าที่ซีไอเอและทหารปฏิบัติการพิเศษของสหรัฐฝึกและติดอาวุธนักรบฝ่ายกบฏเกือบ 10,000 คนเป็นมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่ปี 2555[536] ฝ่ายค้านซีเรียยังได้รับการสนับสนุนทางลอจิสติกส์และการเมืองจากรัฐซุนนี ที่สำคัญคือ ประเทศตุรกี กาตาร์และซาอุดีอาระเบีย ทว่ารัฐผู้สนับสนุนหลักทั้งสามมิได้ส่งกำลังพัวพันโดยตรงในสงคราม แม้ประเทศตุรกีมีอุบัติการณ์ชายแดนกับกองทัพซีเรีย เดอะไฟแนนเชียลไทมส์และดิอินดีเพนเดนต์รายงานว่าประเทศกาตาร์ให้เงินทุนกบฏซีเรียมากถึง 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ[537] มีรายงานว่าประเทศกาตาร์เสนอข้อตกลงลี้ภัยประมาณ 50,000 ดอลลาร์สหสรัฐต่อปีแก่ผู้แปรพักตร์และครอบครัว[537] ประเทศซาอุดีอาระเบียเป็นกลุ่มหลักที่ให้เงินสนับสนุนและติดอาวุธฝ่ายกบฏ[538] ในปี 2557 ฝ่ายข่าวกรองสหรัฐประมาณการว่าฝ่ายค้านได้รับเงินทุนสนับสนุนจากซาอุดีอาระเบียปีละ 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การกำหนด FSA เป็นกลุ่มแยกฝ่ายค้านสายกลางโดยตะวันตกทำให้ FSA ได้รับอาวุธทันสมัยและการสนับสนุนอื่นจากสหรัฐ ตุรกีและประเทศอ่าวบางประเทศซึ่งเพิ่มสมรรถนะการสู้รบรวมของกบฏอิสลามิสต์[458][459]

สถานีโทรทัศน์ฝรั่งเศส ฟรานซ์ 24 รายงานว่ารัฐอิสลามอิรักและลิแวนต์ ซึ่งมีนักรบญิฮัดต่างด้าวประมาณ 3,000 คน[539] "ได้รับการบริจาคเอกชนจากรัฐอ่าว"[540] มีการประมาณว่า ISIL ขายน้ำมันเป็นมูลค่าระหว่าง 1–4 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวันแก่ผู้ซื้อชาวตุรกีเป็นหลัก ระหว่างอย่างน้อยหกเดือนในปี 2556 ซึ่งช่วยการเติบโตของกลุ่มอย่างมาก[541] รัฐบาลตุรกียังถูกกล่าวหาว่าช่วยเหลือ ISIL โดยเพิกเฉยต่อการขนย้ายอาวุธ นักรบ น้ำมันและโบราณวัตถุที่ถูกปล้นอย่างผิดกฎหมายข้ามชายแดนทางใต้[542] ในปี 2558 ประเทศกาตาร์ ซาอุดีอาระเบียและตุรกีหนุนหลังกองทัพพิชิตดินแดนอย่างเปิดเผย ซึ่งเป็นกลุ่มกบฏรวมซึ่งมีรายงานว่ารวมแนวร่วมอัลนุสเราะซึ่งเกี่ยวข้องกับอัลกออิดะฮ์และแนวร่วมซาลาฟีอีกหนึ่ง เรียก อะห์รัรอัชชาม และฟัยลักอัลชาม แนวร่วมของกลุ่มกบฏที่เชื่อมโยงกับภราดรภาพมุสลิม[461][462] กลุ่มฝ่ายค้านเคิรดซีเรียหลัก PYD มีรายงานว่าได้รับการสนับสนุนทางลอจิสติกส์และการฝึกฝนกำลังพลจากอิรักเคอร์ดิสถาน

อาสาสมัครต่างประเทศเข้าร่วมการพิพาทนี้เพื่อคัดค้านอะซัด ส่วนใหญ่เป็นญิฮัด แต่บางคน เช่น Mahdi al-Harati (อดีตผู้บังคับบัญชาในสงครามกลางเมืองลิเบีย) ร่วมสนับสนุนฝ่ายค้านซีเรีย[543]

ศูนย์การศึกษาการกลายเป็นหัวรุนแรงและความรุนแรงทางการเมืองระหว่างประเทศ (The International Centre for the Study of Radicalisation and Political Violence) ประมาณการว่ามีนักรบต่างประเทศ 2,000–5,500 คนเดินทางไปประเทศซีเรียนับแต่เริ่มต้นการประท้วง ประมาณร้อยละ 7–11 มาจากทวีปยุโรป มีประมาณการว่าจำนวนนักรบต่างประเทศไม่เกินร้อยละ 10 ของกองทัพฝ่ายค้าน[544] ต้นปี 2557 มีประมาณการญิฮัดต่างประเทศไว้ 15,000 คน[498] ในเดือนตุลาคม 2555 กลุ่มศาสนาในอิรักหลายกลุ่มเข้าร่วมความขัดแย้งในประเทศซีเรียทั้งสองฝ่าย ซุนนีหัวรุนแรงจากประเทศอิรักเดินทางเข้าสู่ประเทศซีเรียเพื่อต่อสู้รัฐบาลซีเรีย[500] ในเดือนธันวาคม 2558 กลุ่ม Soufan ประมาณการว่ามีนักรบต่างประเทศรวม 27,000–31,000 คนจาก 86 ประเทศเดินทางไปประเทศซีเรียและอิรักเพื่อเข้าร่วมกับกลุ่มสุดโต่ง[545]

ใกล้เคียง

สงครามโลกครั้งที่สอง สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามเวียดนาม สงครามกลางเมืองอเมริกา สงครามแปซิฟิก สงครามเกาหลี สงครามอ่าว สงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง สงครามครูเสด สงครามกัมพูชา–เวียดนาม

แหล่งที่มา

WikiPedia: สงครามกลางเมืองซีเรีย http://www.thenational.ae/arts-culture/instead-of-... http://www.thenational.ae/world/middle-east/syria-... http://www.businessinsider.com.au/graphic-the-most... http://www.businessinsider.com.au/syrian-kurds-now... http://www.news.com.au/world/breaking-news/turkey-... http://mobile.abc.net.au/news/2014-06-05/syrias-as... http://www.cbc.ca/news/politics/government-positio... http://coat.ncf.ca/our_magazine/links/issue51/arti... http://english.aawsat.com/2017/01/article55366551/... http://www.aksalser.com/index.php?page=view_articl...