สงครามตีกรุงธนบุรี ของ สงครามอะแซหวุ่นกี้

สงครามบางแก้ว

สงครามครั้งนี้เป็นสงครามที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันเริ่มจากสงครามบางแก้ว ที่เมืองราชบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2317 หลังจากที่ทัพของ พระเจ้ากรุงธนบุรี นำทัพ 15,000 นายไปป้องกันกองทัพพม่าด้วยพระองค์เอง ทรงสามารถล้อมทัพของงุยอคงหวุ่น หรือฉับกุงโบ่ หนึ่งในแม่ทัพที่เคยมาตี กรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. 2310 ไว้ได้นานถึง 47 วันก่อนที่งุยอคงหวุ่นจะยอมแพ้ทำให้ทางฝั่งกรุงธนบุรีสามารถจับเชลยได้มากตามที่ พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ได้บันทึกเอาไว้ว่าทางกรุงธนบุรีได้เชลยมากถึง 1,328 คนจากทหารทั้งหมด 3,000 คน ทางด้านอะแซ่หวุ่นกี้ที่อยู่ เมืองเมาะตะมะ เมื่อทราบข่าวว่าทัพหน้าที่ส่งไปพ่ายแพ้ก็มิได้ส่งกองทัพลงไปช่วย เนื่องจากเห็นว่าจะทำให้สูญเสียกำลังไพร่พลไปมากกว่านี้ โดยกองทัพนี้เป็นกองทัพที่อะแซหวุ่นกี้แบ่งมาเพื่อกวาดต้อนผู้คนเสบียง รวมไปถึงหยั่งเชิงดูการป้องกันของฝ่ายกรุงธนบุรีในเส้นทางนี้ และสร้างความสับสนในเส้นทางการบุก ส่วนอะแซหวุ่นกี้นำทัพใหญ่ 30,000 นายยังรั้งรออยู่ไม่มีความเคลื่อนไหว

สงครามปกป้องเชียงใหม่ (บุกเป็นทัพแรก)

แผนการขั้นต่อไปของอะแซหวุ่นกี้คือส่งเนเมียวสีหบดี แม่ทัพใหญ่ฝ่ายเหนือเมื่อคราวมาตี กรุงศรีอยุธยา ซึ่งได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็น โปสุพลา และโปมะยุง่วน นำทัพจากเมืองเชียงแสนยกมาตีเมืองเชียงใหม่ ทางด้านพระเจ้ากรุงธนบุรีเมื่อทราบข่าวจึงได้ส่งเจ้าพระยาจักรี รวมถึงเจ้าพระยาสุรสีห์ที่ยกกองทัพจากหัวเมืองเหนือขึ้นไปช่วยเชียงใหม่ก่อนแล้ว ครั้นไปถึงกองทัพพม่ากลับไม่สู้ โดยแสร้งตั้งทัพดูเชิง พอทัพไทยจะสู้ก็ถอย ทำอย่างนี้อยู่หลายครั้งจากนั้นจึงถอนกำลังกลับไปยังเมืองเชียงแสน เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์จึงเตรียมทัพเพื่อหมายจะพิชิตเมืองเชียงแสน ในระหว่างที่กำลังเตรียมทัพมุ่งไปยึดเชียงแสนนั้นเองสงครามตีเมืองพิษณุโลกก็เกิดขึ้นพร้อมๆกัน โดยอะแซหวุ่นกี้นำทัพใหญ่ 30,000 นายเข้าทางด่านแม่ละเมาไปเมืองตาก มุ่งต่อไปยังเมืองสุโขทัยแล้วให้กองทัพหน้าลงมาตั้งที่บ้านกงธานี ส่วนทัพหลวงตั้งพักที่เมืองสุโขทัย เมื่อเจ้าพระยาจักรี และเจ้าพระยาสุรสีห์ทราบข่าว ก็รู้ในทันทีว่าเป็นแผนของอะแซหวุ่นกี้ที่ดึงกองทัพของฝ่ายกรุงธนบุรีเอาไว้แถวเชียงใหม่ แล้วมุ่งไปยึดเมืองพิษณุโลกในขณะที่การป้องกันอ่อนแอที่สุด เจ้าพระยาจักรี และเจ้าพระยาสุรสีห์ จึงเร่งนำกองทัพที่จะไปตีเชียงแสน มุ่งหน้าสู่พิษณุโลกในทันที เพราะหากเสียเมืองพิษณุโลกอันเป็นหัวเมืองใหญ่แห่งสุดท้ายไปนั้น กองทัพมหาศาลของพม่าจะไหล่บ่าลงมาได้พร้อมๆกัน ซึ่งกรุงธนบุรีไม่มีกำแพงเมืองและปราการธรรมชาติที่เหมาะแก่การตั้งรับเท่ากรุงศรีอยุธยา [1][2]

สงครามตีพิษณุโลก (บุกเป็นทัพที่ 2)

ในเดือน ตุลาคม พ.ศ. 2318 พระเจ้ามังระ ได้มีบัญชาให้อะแซหวุ่นกี้เป็นแม่ทัพใหญ่ยกลงมาตีกรุงธนบุรี ซึ่งทางอะแซ่หวุ่นกี้ได้ใช้เส้นทางด้านด่านแม่ละเมา แขวงเมืองตาก ซึ่งเป็นเส้นทางเดียวกับที่ พระเจ้าบุเรงนอง เคยใช้เข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา ถึง 2 ครั้งเข้าตีกรุงธนบุรีโดยมี เนเมียวสีหบดี แม่ทัพใหญ่ที่เคยเข้าตีกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. 2310 เป็นรองแม่ทัพซึ่งอะแซหวุ่นกี้ได้ให้เนเมียวสีหบดีคุมกองทัพอีกด้านอยู่แถวเมืองเชียงแสน โดยมีจุดประสงค์เพื่อเบี่ยงเบนกองทัพของเจ้าพระยาจักรี แต่เจ้าพระยาจักรีทราบในทันทีว่าเป็นแผนลวงจึงนำทัพกลับมาป้องกันเมืองพิษณุโลกในทันที ส่วนกองทัพของอะแซหวุ่นกี้พยายามบุกเข้ายึด เมืองพิษณุโลกเพื่อใช้เป็นฐานที่มั่น แต่เจ้าพระยาจักรีซึ่งต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และเจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช เจ้าเมืองพิษณุโลกที่ต่อมาคือ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เร่งนำกองทัพลงมาป้องกันเมืองพิษณุโลกได้ทันเวลา . [3]

รูปแบบการรบ

ในการรบป้องกันเมืองพิษณุโลกในครั้งนี้ เป็นการต่อสู้แถวค่ายรอบเมืองเสียเป็นส่วนใหญ่ มีการโอบล้อมและต่างฝ่ายต่างหาทางตัดเสบียงกันเป็นหลัก ทางฝ่ายเจ้าพระยาจักรีที่แม้จะมีทหารน้อยกว่าแต่ก็สามารถต่อสู้กับแม่ทัพเฒ่าอย่างอะแซหวุ่นกี้ได้อย่างสูสี แต่ด้วยประสบการณ์ของแม่ทัพอะแซหวุ่นกี้จึงเปลี่ยนแผนการรบ กล่าวคือเมื่อการรบไม่อาจหักเอาได้ด้วยกำลังอะแซหวุ่นกี้ก็ได้ใช้แผนเมื่อครั้งสยบกองทัพต้าชิง นั้นคือหลีกเลี่ยงการปะทะกับกองทัพที่แข็งแกร่ง ทำเพียงตรึงเอาไว้และหาทางตัดเสบียงอาหาร กล่าวคือเมื่อเจอกองทัพของเจ้าพระยาจักรี ก็ไม่ส่งทัพใหญ่เข้าปะทะด้วยตรงๆ แต่ให้ทหารเข้าปะทะเพื่อตรึงไว้เท่านั้น จากนั้นก็แต่งทัพย่อยคอยดักปล้นเสบียงอาหารและตัดกำลังเสริมที่จะเข้ามาช่วยพิษณุโลก ซึ่งในขณะนั้นพระเจ้ากรุงธนบุรีเมื่อทรงทราบว่าเจ้าพระยาทั้งสองถูกกองทัพพม่าล้อมเอาไว้ จึงทรงคุมกองทัพหนุนขึ้นไปช่วยแต่ก็ถูกตีสกัดเอาไว้หลายครั้ง ถึงอย่างนั้นกองทัพพม่าก็ไม่อาจเอาชนะกองทัพหนุนของพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ ทำให้อะแซหวุ่นกี้ถูกตรึงไว้แถวพิษณุโลก

พม่าบุกทางใต้ยึดเมืองกุย เมืองปราณ (บุกเป็นทัพที่ 3)

ในขณะที่ทัพหลวงของพระเจ้ากรุงธนบุรี และเจ้าพระยาทั้ง2นั้นทุ่มกำลังขึ้นไปรับศึกอยู่แถวเมืองพิษณุโลก พระเจ้ามังระก็ได้ส่งกองทัพที่3 บุกเข้ามาทางด่านสิงขรในขณะที่การป้องกันทางใต้อ่อนแอที่สุด เนื่องจากติดศึกทางด้านเหนือสามารถตีเมืองกุย เมืองปราณจนแตก กรมขุนอนุรักษ์สงครามซึ่งรักษาเมืองเพชรบุรีอยู่ในขณะนั้น แต่งกองทหารมาตั้งรับอยู่แถบช่องแคบในแขวงเมืองเพชรบุรี ขัดตาทัพรอกำลังเสริม

เมื่อม้าเร็วแจ้งข่าวนี้ไปถึงพระเจ้ากรุงธนบุรี พระองค์ทรงไม่ไว้พระทัยเกรงพม่าจะยกทัพใหญ่เพื่อเข้าตีกรุงธนบุรีอีกทางหนึ่ง จึงดำรัสสั่งให้เจ้าประทุมไพจิตรคุมกองทัพหน่วยหนึ่งเร่งกลับลงมารักษาพระนคร และกองทัพหลวงจึงค่อยๆถอยลงมาทางบางข้าวตอก นั้นเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เส้นทางเสบียงของเมืองพิษณุโลกถูกตัดขาด [4]

ใกล้เคียง

สงครามโลกครั้งที่สอง สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามเวียดนาม สงครามกลางเมืองอเมริกา สงครามเกาหลี สงครามรัสเซีย–ญี่ปุ่น สงครามเย็น สงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง สงครามแปซิฟิก สงครามอ่าว