ความหมาย ของ อาญาสี่

อาญา มาจากคำว่า อาชญา หรืออาดยา คำว่า ญา ลาวนิยมออกเสียง ญ ขึ้นนาสิกตามแบบแผนบาลีและตามแบบการออกเสียง ย ดั้งเดิมของลาว คำว่า อาญา หมายถึง เจ้านาย เจ้าชีวิต เจ้าผู้เป็นใหญ่เหนือกฎหมายเหนือชีวิต สามารถสั่งเป็นสั่งตายไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ มีอำนาจสิทธิ์ขาดสูงสุดในการปกครองแผ่นดิน เช่นเดียวกับการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชของสยาม อาญาสี่จึงหมายถึง เจ้าผู้เป็นใหญ่ทั้ง ๔ ตำแหน่งหลักของระบบการปกครองล้านช้าง แต่ละตำแหน่งสามารถถือเอาข้าเลกสักเป็นกองขึ้นของตนได้ สามารถเรียกเก็บส่วยจากไพร่เลกที่สังกัดกองขึ้นของตนได้ นอกจากนี้ คำว่า อาญา ยังนิยมใช้เป็นคำหน้านามของเจ้านายในคณะอาญาสี่และนำหน้านามทายาทบุตรหลานตลอดจนใช้นำหน้านามชายา ภริยา หม่อมห้าม และกรมการเมืองที่สืบเชื้อสายจากคณะอาญาสี่ด้วย ตัวอย่างเช่น อาญาเจ้า อาญาหลวง อาญาท้าว อาญานาง อาญาพ่อ อาญาแม่ อาญาน้อย เป็นต้น อย่างไรก็ตามชาวบ้านทั่วไปนิยมออกนามคำว่าอาญาโดยตัดเสียง อา ออกให้เหลือเพียงคำว่า ญา คำเดียว เช่น ญาเจ้า ญาหลวง ญาท้าว ญานาง ญาพ่อ ญาแม่ ญาน้อย เป็นต้น สำหรับราชวงศ์จำปาศักดิ์นั้นใช้คำว่าอาชญาหรืออาญาเป็นบรรดาศักดิ์ของราชนิกูลที่สืบเชื้อสายจากบรรพบุรุษที่เป็นเจ้า ส่วนราชวงศ์หลวงพระบางนั้นไม่นิยมใช้คำว่าอาชญานำหน้านามเจ้านายในราชวงศ์ แต่นิยมใช้คำว่า สาทุบาทเจ้า หรือ สาทุเจ้า แทน เช่น ทุเจ้า (ตุ๊เจ้า) ทุพ่อ (ตุ๊พ่อ) ทุแม่ (ตุ๊แม่) เป็นต้น

ภายหลังเมื่อดินแดนของอาณาจักรล้านช้างบางส่วนตกเป็นประเทศราชของสยามในปี พุทธศักราช ๒๓๒๒ แล้ว ทางรัฐบาลส่วนกลางของสยามก็ยังคงปล่อยให้ดินแดนลาวทั้งหมดและดินแดนภาคอีสานเกือบทั้งหมดใช้การปกครองด้วยระบบอาญาสี่ต่อไป หัวเมืองลาวฝั่งขวาได้ยกเลิกระบบอาญาสี่หลังปฏิรูปการปกครองพุทธศักราช ๒๔๔๔ ส่วนกรณีหัวเมืองลาวฝั่งซ้ายนั้นได้ใช้เรื่อยมาจนถึงยุคสถาปนาราชอาณาจักรลาวในสมัยสมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวงศ์ จากนั้นมีการแต่งตั้งพระราชอิสริยยศสมเด็จเจ้าฟ้าองค์มกุฎราชกุมารขึ้น เพื่อสืบทอดรัชทายาทจากฝ่ายวังหลวงตามอิทธิพลที่ได้รับจากศักดินาฝรั่งเศส ตำแหน่งอุปฮาตจึงลดความสำคัญลง และระบบอาญาสี่ได้ถูกยกเลิกไปโดยปริยายหลังการประกาศสละราชบัลลังก์ของสมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวัฒนาเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๘ ระบบอาญาสี่แบ่งชั้นการปกครองออกเป็น ๔ ระดับ คือ

  • เจ้าเมือง หรือ อาชญาหลวง (พระบาทสมเด็จบูรมนาถบูรมบุพิตร)
  • อุปฮาต หรือ อุปฺปหาส (เจ้าพระยาอุปราชาหอหน้า)
  • ราชวงศ์ หรือ ราสชวง (เจ้าพระยาราชวงสา)
  • ราชบุตร หรือ ราสบุด (เจ้าย่ำกระหม่อมสมเด็จพระเปนเจ้าราชบุตอุตตมโอรสส พระราชวังบวรสถานมงคลหอคำฝ่ายหลัง)