หัวหน้าชุมชน ของ อาญาสี่

  • นายกอง ทำหน้าที่ผู้ปกครองเมืองพิเศษ หรือปกครองหมู่บ้านขนาดใหญ่พิเศษ ตลอดจนปกครองชุมชนพิเศษต่าง ๆ มีอำนาจคล้ายเจ้าเมือง อำนาจนั้นมาจากการแต่งตั้งของเจ้าเมืองหรือพระมหากษัตริย์ เพียงแต่ไม่มีคณะอาญาสี่คอยช่วยเหลือราชการ
  • ปลัดกอง ทำหน้าที่เป็นรองนายกอง มีอำนาจคอยช่วยราชกาลกองต่างๆ แก่นายกองในยามหาตัวนายกองไม่ได้ และมีกองขึ้นของตนเอง
  • พ่อเมือง ทำหน้าที่เสมอหนึ่งเจ้าเมืองปกครองเมืองขนาดเล็กมาก แต่ไม่เรียกว่าเจ้าเมือง เนื่องจากมิได้มีเชื้อสายเป็นเจ้าหรือเป็นท้าวมาก่อน ถูกแต่งตั้งจากสามัญชน ถือศักดินา ๖๐๐ ไร่ สูงกว่ากำนันบรรดาศักดิ์ปกครองตำบลซึ่งถือศักดินา ๔๐๐ ไร่
  • ท้าวฝ่าย (ท้าวฝ้าย) ทำหน้าที่กำกับดูแลไพร่พลของหลาย ๆ แขวง (ตำบล) รวมกัน ซึ่งอาจคล้ายนายอำเภอในปัจจุบัน
  • ตาแสง (นายแขวง) ทำหน้าที่ดูแลไพร่พลในหมู่บ้านต่าง ๆ รวมกัน เทียบได้กับกำนันในปัจจุบัน
  • กวนเมือง (กวานเมือง) ทำหน้าที่เจ้าเมืองที่ปกครองเมืองขนาดเล็ก หรือปกครองในเขตเวียงต่าง ๆ ซึ่งขึ้นกับเมืองใหญ่อีกทอดหนึ่ง
  • กวนบ้าน (กวานบ้าน) ทำหน้าที่นายบ้านดูแลไพร่พลในหมู่บ้าน เทียบได้กับผู้ใหญ่บ้านในปัจจุบัน
  • จ่าบ้าน เทียบได้กับ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หรือสารวัตรกำนัน
  • แก่บ้าน (แก่เมือง) คือผู้ใหญ่ของหมู่บ้านหรือตำบลที่มีอำนาจว่ากล่าวพิจารณาความผิดตัดสินโทษในยามหาตัวผู้ปกครองไม่ได้ บางครั้งผู้คนอาจฟังแก่บ้านแก่เมืองมากกว่าผู้ปกครอง
  • เจ้าโคตร (เจ้าเหง้า) คือผู้ใหญ่ของวงศ์ตระกูลหรือสายตระกูลที่มีอาวุโสสูงสุด มีอำนาจพิจารณาตัดสินโทษในยามหาตัวผู้ปกครองไม่ได้ บางครั้งผู้คนอาจฟังเจ้าโคตรมากกว่าผู้ปกครอง