อำนาจหน้าที่และระดับชั้น ของ อาญาสี่

เจ้าเมือง

เจ้าเมือง แปลว่า ผู้เป็นใหญ่สุดแห่งเมือง มีอำนาจหน้าที่สิทธิ์ขาดในการบังคับบัญชาเหนืออาญาสี่และกรมการเมือง ตลอดจนข้าราชการทั้งปวงในเขตเมืองนั้น หากแต่จะไม่มีสิทธิ์ในบางเรื่อง เช่น ตัดสินประหารชีวิต หรือแต่งตั้งถอดถอนกรมการเมืองผู้ใหญ่ซึ่งได้แก่ อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร ได้เองโดยลำพัง เว้นแต่จะได้รับราชานุญาตจากเจ้ามหาชีวิต อย่างไรก็ตาม เจ้ามหาชีวิตเองก็ถือว่าเป็นเจ้าในระบบอาญาสี่ของกรุงเอกราช บางครั้งในแต่ละยุคสมัยต่างออกนามไม่เหมือนกัน เช่น พระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิต พระเจ้ามหาชีวิต เจ้าชีวิต อาชญาหลวง อาชญาใหญ่ พระยาเมือง เจ้าพระยา พระยา (พญา, พระญา) ขุนใหญ่ ขุนเมือง เจ้าวังหลวงหรือเจ้าโฮงหลวง ในสมัยขุนบรมราชาธิราชจนถึงสมัยเจ้าฟ้างุ้มนิยมออกนามเจ้าเมืองเอกราชได้ ๘ คำ ซึ่งปรากฏในพงศาวดารล้านช้างดังต่อไปนี้

  • ขุน (ก่อนรัชกาลพระเจ้าฟ้างุ้ม)
  • ท้าว (ก่อนรัชกาลพระเจ้าฟ้างุ้ม)
  • เจ้าฟ้า
  • ท้าวฟ้า
  • พระยาฟ้า
  • ฟ้า
  • ญา
  • พระยา (พญาหรือพระญา)

ในสมัยก่อนการสถาปนาอาณาจักรล้านช้างหรือก่อนพระเจ้าฟ้างุ้มรวมเอกราชนั้น ระบบการปกครองเดิมได้แบ่งเจ้าเมืองออกเป็น ๔ ชั้น ดังนี้

  • เจ้าฟ้า (ท้าวฟ้า) กษัตริย์หรือพระราชา
  • หมื่นเฮือน (หมื่นเรือน) เจ้าเมืองชั้นเอก
  • พันเฮือน (พันเรือน) เจ้าเมืองชั้นโท
  • ฮ้อยเฮือน (ร้อยเรือน) เจ้าเมืองชั้นตรี

ในสมัยต่อได้แบ่งชั้นเจ้าเมืองออกเป็น ๕ ชั้น ดังนี้

  • เจ้าฟ้า (เจ้าเมือง)
  • เจ้าหัวเศิก (หัวศึก)
  • เจ้าหัวหมื่น (หัวหมื่น)
  • เจ้าหัวพัน (หัวพัน)
  • เจ้าหัวฮ้อย (หัวร้อย)

ในพระธรรมศาสตร์บทห้องมิสสาจาน ได้แสดงขันค่าคอ ขันไหม และขันแปลงของเจ้าในราชสกุลและเจ้าเมืองตลอดจนเจ้านายขุนนางในสมัยพระเจ้าสุริยวงศามหาธรรมิกราชไว้ ๔ ชั้น ดังนี้

  • ราชสกุลและหัวเศิก ขันค่าคอ ๑๖๐๐ เงิน ขันไหม ๘๐๐ เงิน ขันแปลง ๔๐๐ เงิน
  • เจ้าหัวแสนท้าวพระยาหัวหมื่น ขันค่าคอ ๑๒๐๐ เงิน ขันไหม ๖๐๐ เงิน ขันแปลง ๓๐๐ เงิน
  • เจ้าขุนหัวพันหัวร้อย ขันค่าคอ ๘๐๐ เงิน ขันไหม ๔๐๐ เงิน ขันแปลง ๒๐๐ เงิน
  • ขุนกว้านท้าวเพีย ขันค่าคอ ๖๐๐ เงิน ขันไหม ๓๐๐ เงิน ขันแปลง ๑๐๐ ถ่อง

สมัยนี้มีการออกคำนำหน้าพระนามพระมหากษัตริย์ต่างกันออกไปดังนี้

  • พระบาทสมเด็จบูรมนาถบูรมบุพิตร (พระบาทสมเด็จบรมนาถบรมบพิตร)
  • พระบาทสมเด็จบูรมบุบพิตร (พระบาทสมเด็จบรมบุพิตร)
  • สมเด็จพระบูรมบุพิตร
  • สมเด็จพระมหานคร
  • สมเด็จพระเปนเจ้า (สมเด็จพระเป็นเจ้า)
  • สมเด็จพระมหาธรรมิกราช
  • สมเด็จพระบูรมบุพิตร
  • สมเด็จบูรมบุพิตร
  • พระราชสมภารเจ้าย่ำกระหม่อม
  • พระราชบพิตร
  • พระราชอาชญา
  • พระมหาธรรมิกราชาธิราชเจ้า
  • พระอยู่หัว

บรรดาศักดิ์และพระยศของกษัตริย์และเจ้าเมือง ส่วนมากมักมาจากการแต่งตั้งของกษัตริย์ลาวและกษัตริย์สยาม ตลอดจนมาจากการสถาปนากันขึ้นเองของกลุ่มหัวเมืองต่างๆ สามารถแบ่งประเภทชั้นยศของผู้ปกครองเมืองได้ดังต่อไปนี้

  • พระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิต (เจ้ามหาชีวิตหรือพระมหากษัตริย์ในยุคสถาปนาพระราชอาณาจักรลาว)
  • สมเด็จพระเจ้า (กษัตริย์ของราชอาณาจักรลาวทั้งสาม)
  • พระเจ้า (เจ้าองค์ครองนครประเทศราช)
  • เจ้า (เจ้าองค์ครองนครประเทศราช)
  • เจ้าพระยาหลวง
  • เจ้าพระยา
  • พระยา
  • พระ
  • เพีย (เจ้าเมืองขนาดเล็กบางเมือง)
  • ท้าว (เจ้าเมืองขนาดเล็กบางเมือง)
  • หลวง (เจ้าเมืองขนาดเล็กบางเมือง)
  • ขุน (เจ้าเมืองขนาดเล็กบางเมือง)
  • หมื่น (เจ้าเมืองขนาดเล็กบางเมือง)

อุปฮาต

อุปฮาด แปลว่า เจ้าเมืองผู้น้อย คือผู้ที่จะขึ้นเป็นเจ้าเมืองในอนาคต เป็นตำแหน่งรองเจ้าเมือง ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาราชการของเจ้าเมือง ปฏิบัติหน้าที่แทนเจ้าเมือง ตลอดจนรับผิดชอบเกี่ยวกับบัญชีส่วยสาอากร การคลัง และการกะเกณฑ์กำลังพลในยามมีราชการสงคราม ตำแหน่งนี้บางครั้งเรียกว่า เจ้าอุปยุวราช เจ้าฝ่ายหน้า เจ้าวังหน้า เจ้าหอหน้า เจ้าหอกาง เจ้าเฮือนกางหรือเจ้าโฮงกาง เป็นตำแหน่งเทียบเท่ากับพระมหาอุปราช อุปราช สมเด็จพระอุปยุวราช สมเด็จพระยุพราช มกุฏราชกุมาร หรือสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในสมัยโบราณนิยมออกนามเจ้าอุปราชว่า เจ้าแสนหลวง พระยาแสนหลวง หรือเจ้าแสนเมือง หากเจ้าแสนหลวงได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินจะออกนามว่า แสนหลวงเชียงลอ อุปฮาตสามารถแบ่งระดับชั้นยศได้ ดังต่อไปนี้

  • สมเด็จเจ้ามหาอุปฮาต (เจ้ามหาอุปฮาต) คืออุปฮาตของราชอาณาจักรหรือประเทศเอกราช ปรากฏเฉพาะภายหลังตั้งราชอาณาจักรลาวซึ่งเริ่มในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา
  • เจ้าอุปฮาต คืออุปฮาตของกรุงเอกราชและนครประเทศราช
  • พระอุปฮาต คืออุปฮาตหัวเมืองใหญ่ที่ได้รับการแต่งตั้งให้มีบรรดาศักดิ์เป็นชั้นพระ อย่างไรก็ตาม หัวเมืองบางเมืองที่อุปฮาตสืบเชื้อสายจากราชวงศ์เวียงจันทน์นั้น แม้มิได้มีบรรดาศักดิ์ชั้นพระ แต่ก็มักออกคำลำลองว่าพระอุปฮาตได้เช่นกัน
  • หลวงอุปฮาต คืออุปฮาตหัวเมืองเล็กที่ได้รับแต่งตั้งให้มีบรรดาศักดิ์เป็นชั้นหลวง
  • อุปฮาต คืออุปฮาตทั่วไปทั้งหัวเมืองใหญ่และหัวเมืองเล็กที่ได้รับแต่งตั้งและมียศโดยกำเนิดเป็นท้าว บางครั้งออกนามโดยลำลองว่า ท้าวอุปฮาต

ในเอกสารโบราณเขียนคำว่า อุปฮาด แตกต่างกันออกไป ได้แก่ อุปฮาด อุปฮาต อุปฮาช อุปราช อุปหาต อุปหาด อุปฮาชา อุปฮาซา

ราชวงศ์

ราชวงศ์ แปลว่า ผู้สืบเชื้อสายจากเจ้าเมือง เป็นผู้แทนของอุปฮาด รับผิดชอบเรื่องอรรถคดีและการตัดสินถ้อยความข้อพิพาททั้งปวง ตำแหน่งนี้บางครั้งเรียกว่า เจ้าโฮงเหนือ หรือเจ้าเฮือนเหนือ เป็นตำแหน่งเทียบเท่ากับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระราชวังบวรสถานภิมุข หรือวังหลัง ราชวงศ์สามารถแบ่งระดับชั้นยศได้ ดังต่อไปนี้

  • เจ้าราชวงศ์ คือราชวงศ์ของนครเอกราชและนครประเทศราช
  • พระราชวงศ์ คือราชวงศ์หัวเมืองใหญ่ที่ได้รับการแต่งตั้งให้มีบรรดาศักดิ์เป็นชั้นพระ
  • ราชวงศ์ คือราชวงศ์ทั่วไปทั้งหัวเมืองใหญ่และหัวเมืองเล็กที่ได้รับแต่งตั้งและมียศโดยกำเนิดเป็นท้าว บางครั้งออกนามโดยลำลองว่า ท้าวราชวงศ์

ในเอกสารโบราณเขียนคำว่า ราชวงศ์ แตกต่างกันออกไป ได้แก่ ราชวงศ์ ราชวงษ์ ราชวง ราชวงษ

ราชบุตร

ราชบุตร แปลว่าโอรสของเจ้าเมือง โดยมากมักเป็นบุตรของเจ้าเมืองเอง หรืออาจมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องทางสายเลือดกับเจ้าเมืองก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคำสั่งจากเมืองหลวง ราชบุตรหน้าที่ช่วยราชการตามที่เจ้าเมืองมอบหมาย ตลอดจนการปฏิบัติกิจการด้านศาสนา เรือกสวนไร่นา ถนนหนทาง และการเก็บภาษีอากรต่าง ๆ ตำแหน่งนี้บางครั้งเรียกว่า เจ้าโฮงใต้ หรือเจ้าเฮือนใต้ เป็นตำแหน่งเทียบเท่ากับพระราชโอรสของกษัตริย์หรือเจ้าเมือง ราชบุตรสามารถแบ่งระดับชั้นยศได้ ดังต่อไปนี้

  • เจ้าราชบุตร คือราชบุตรของนครเอกราชและนครประเทศราช
  • ราชบุตร คือราชบุตรทั่วไปทั้งหัวเมืองใหญ่และหัวเมืองเล็กที่ได้รับแต่งตั้งและมียศโดยกำเนิดเป็นท้าว

ในเอกสารโบราณเขียนคำว่า ราชบุตร แตกต่างกันออกไป ได้แก่ ราชบุตร ราชบุตร์