บรรดาศักดิ์ขุนนางสมัยพระราชอาณาจักรลาว ของ อาญาสี่

  • เจ้าพระยาหลวง เทียบชั้นสมเด็จเจ้าพระยา
  • เจ้าพระยา เทียบชั้นเจ้าพระยา
  • พระยา เทียบชั้นพระยา
  • เพีย เทียบชั้นพระ
  • ท้าว เทียบชั้นหลวง
  • แสน เทียบชั้นขุน

ที่มาของบรรดาศักดิ์ชั้น "เพีย"

บรรดาศักดิ์กรมการเมืองชั้น เพีย นี้ ในเอกสารราชการโบราณนิยมเขียนว่า เพีย บ้างก็เขียนว่า เพี้ย หรือ เพียร์ อย่างไรก็ดีหากเขียน เพีย เป็น เพี้ย นี้ นายเติม วิภาคพจนกิจ บุตรพระวิภาคย์พจนกิจ (เล็ก สิงหัษฐิต) ซึ่งเป็นผู้สืบเชื้อสายมาแต่เจ้านายในราชวงศ์เมืองอุบลราชธานี เมืองหนองบัวลุ่มภู และจำปาศักดิ์ ได้มีวินิจฉัยว่า ไม่เห็นควรใช้คำว่า เพีย เป็นคำว่า เพี้ย เพราะคำว่า เพี้ย นี้ หมายถึงมูลอ่อนของสัตว์จำพวกวัวควาย ที่ชาวลาวอีสาน ไทยวนเมืองเหนือ นิยมนำไปประกอบอาหารจำพวกน้ำจิ้ม และคำว่า เพี้ย นี้ ชาวอีสานและชาวลาวมักมีการนำมาใช้เป็นสำนวนในเชิงดูถูกดูแคลน เช่น ขี้เพี้ย แปลว่า คนกระจอกงอกง่อย ด้อยความสามารถ คนที่ไม่มีประโยชน์หาสาระมิได้ เป็นต้น ที่มาของบรรดาศักดิ์ชั้นเพียมีหลายแนวคิดดังนี้

๑. เพีย อาจมาจากสำเนียงของคำลาวโบราณ ตรงกับคำว่า พญา หรือ พระยา เมื่อชาวลาวออกเสีย ญา หรือ ยา ขึ้นนาสิก จะออกเสียงรวดเร็วว่า เพีย แต่ในสมัยพระราชอาณาจักรนั้น เพีย เป็นบรรดาศักดิ์ที่ต่ำกว่าพระยา ส่วนสมัยล้านช้างฝั่งขวาตกอยู่ใต้การปกครองของสยามนั้น เพียเป็นบรรดาศักดิ์ของขุนนางและบุตรหลานของเจ้านาย โดยไม่สามารถนำมาเป็นบรรดาศักดิ์หรือชั้นยศของเจ้าเมืองได้ เว้นแต่หัวเมืองลาวฝั่งซ้ายและหัวเมืองลาวสมัยก่อนตกเป็นของสยาม

๒. เพีย อาจมาจากภาษาบาลีว่า เพียร หรือ พีระ หรือ วิริยะ หมายถึงผู้ที่ได้บรรดาศักดิ์ชั้นนี้มักเป็นผู้มีความสามารถพากเพียรในราชการ

๓. เพีย อาจเป็นคำดั้งเดิมในบรรดาศักดิ์ของชาวลาวและอาจไม่ได้มาจากคำว่า พระยา หรือ เพียร แต่อย่างใด

ที่มาของราชทินนามที่ใช้คำว่า "ซา" นำหน้า

คำว่าซา ตรงกับคำว่าชา มาจากคำว่า ฮาซา หรือ ราชา เป็นการเรียกโดยตัดคำว่า รา ออกไปให้สั้นลง ผู้มีราชทินนามคำว่า ซา นำหน้า มักเป็นกรมการเมืองที่รับใช้ใกล้ชิดกับพระฮาซาหรือพระราชาคือเจ้าเมือง คอยรับใช้ภายในท้องพระโรงบ้าง ห้องพระบรรทมบ้าง ภายในหอโฮงหลวงหรือภายในรั้วหอโฮงหลวงนั่นเอง บรรดาศักดิ์ที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า ซา มีดังนี้

  • ซานนท์ (ชานนท์หรือราชานน) มาจากคำว่า ราชานนท์
  • ซามนตรี (ซามุนตรีหรือชามุนติ) มาจากคำว่า ราชมนตรี
  • ซาโนชิต (ชาโนชิต มหาโนชิด มหาโนซิตหรือมหาโบชิต) มาจากคำว่า ราชาโนชิต
  • ซามะฮด (ซามกดหรือชามาตุ) มาจากคำว่า ราชามะฮด
  • ซาเนด (ซาเนตรหรือชาเนตร) มาจากคำว่า ราชาเนตร
  • ซาทิพรต (ซาทิพฮด ซาทิพฮต หรือชาทิพรส) มาจากคำว่า ราชาทิพรต
  • ซากำนัน (ชากำนัน) มาจากคำว่า ราชากำนัน
  • ซาบรรทม มาจากคำว่า ราชาบรรทม
  • ซามะราช (ซามะรัตหรือซามะฮาช) มาจากคำว่า ราชามะราช
  • ซาภักดี มาจากคำว่า ราชาภักดี
  • ซาหลาบคำ มาจากคำว่า ราชาหลาบคำ
  • ซาพิรม (ซาภิรมย์) มาจากคำว่า ราชาภิรมย์
  • ซาบูฮม มาจากคำว่า ราชาบรม
  • ซามาต (ซามาตย์อาซาไนย) มาจากคำว่า ราชามาตย์

ราชทินนามที่มาจากชื่อของเมือง

  • เมืองจัน (เมืองจันทน์) มาจากชื่อเมืองนครเวียงจันทน์
  • เมืองแสน มาจากชื่อเมืองแสน ในกลุ่มเมืองหัวพันห้าทั้งหก แขวงหัวพัน
  • เมืองซ้าย มาจากชื่อเมืองซ้าย หรือเมืองด่านซ้าย จังหวัดเลย
  • เมืองขวา มาจากชื่อเมืองขวา
  • เมืองฮาม มาจากชื่อเมืองรามราช หรือเมืองลามมะลาด
  • เมืองปาก มาจากชื่อเมืองปากห้วยหลวง ริมปากน้ำห้วยหลวง จังหวัดหนองคาย
  • เมืองปาว มาจากชื่อเมืองภูวานปาว เมืองแฝดกับเมืองภูวานเถ้า เรียกรวมกันว่า ภูวานเถ้าภูวานปาว
  • เมืองคุก มาจากชื่อเมืองเวียงคุก หรือเมืองห้วยคุก ริมปากน้ำห้วยคุก จังหวัดหนองคาย
  • เมืองแพน มาจากชื่อเมืองแพน
  • เมืองซอง มาจากชื่อเมืองซอง
  • เมืองสูง มาจากชื่อเมืองซุง เมืองแฝดกับเมืองโสก รวมเรียกว่าเมืองโสกเมืองซุง แขวงอัตตะปือ
  • เวียงแก (เมืองแก) มาจากชื่อเมืองเวียงแก
  • เวียงคำ มาจากชื่อเมืองเวียงคุคำ หรือเวียงคุกคำ เดิมเรียกว่าเมืองไผ่หนาม เมืองฝาแฝดของเมืองนครเวียงจันทน์ จังหวัดหนองคาย
  • เชียงสา (พลเชียงสา) มาจากชื่อเมืองเวียงเชียงสา เรียกรวมกันกับเมืองเวียงคำว่า เมืองพระน้ำรุ่งเชียงสา
  • น้ำฮุ่ง (นามฮุงศรี) มาจากชื่อเมืองพระน้ำรุ่ง เรียกรวมกันกับเมืองเชียงสาว่า เมืองพระน้ำรุ่งเชียงสา
  • พระชุม (พะชุม) มาจากชื่อเมืองประชุมพนาลัย หรือเมืองประชุม