อาญาสี่

อาญาสี่ คือระบบการปกครองของราชอาณาจักรล้านช้างในสมัยโบราณ ที่พัฒนาขึ้นมาหลังการสถาปนาราชอาณาจักรล้านช้างในสมัยสมเด็จพระเจ้าฟ้างุ้ม และเป็นระบบการปกครองดั้งเดิมที่ถูกจารึกอยู่ใน คัมภีร์พระธรรมศาสตร์หลวง หรือคัมภีร์กฎหมายโบราณของลาวในสมัยสมเด็จพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชแห่งเวียงจันทน์ ตลอดจนกฎหมายท้าวพระยาโบราณของลาวและอีสานอีกหลายฉบับ ในวรรณกรรมโบราณเรียกระบบอาญาสี่ว่า เจ้าขันคำทั้งสี่ เมืองส่วนใหญ่ในราชอาณาจักรล้านช้างไม่ว่าจะเป็นนครหลวง เมืองเอกราช เมืองประเทศราชหรือเมืองสะทุดสะลาด เมืองหัวเศิก เมืองนครขอบด่าน เมืองกัลปนาหรือเมืองศาสนานคร ตลอดจนหัวบ้านหัวเมืองใหญ่น้อยและเมืองห้อยเมืองแขวนทั้งหลาย เช่น เมืองชั้นเอก เมืองชั้นโท เมืองชั้นตรี และเมืองชั้นจัตวา ต่างนิยมใช้ระบบการปกครองแบบอาญาสี่ทั้งสิ้น หลังจากประกาศสถาปนาพระราชอาณาจักรลาวได้มีการยกย่องพระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตให้อยู่เหนืออาญาทั้ง ๓ ตำแหน่ง แล้วเพิ่มอาญาตำแหน่งอื่นเข้าไปอีก ๒ ตำแหน่ง รวมเป็น ๕ ตำแหน่งเรียกว่า เจ้าย่ำขม่อมทั้งห้า หรือ เจ้ายั้งกระหม่อมทั้งห้าระบบอาญาสี่แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ได้แก่ ประเภทที่เป็นการปกครองของลาวโดยตรง ประกอบด้วย ๔ ตำแหน่ง คือ เจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร และประเภทที่สองเป็นการปกครองของลาวที่ได้รับอิทธิพลจากเขมร แบ่งออกเป็น ๔ ตำแหน่งเช่นกัน ได้แก่ เจ้าเมือง ปลัดเมือง ยกกระบัตรเมือง และกรมการเมืองหรือกรรมการเมือง แต่ในความเข้าใจโดยทั่วไปแล้วอาญาสี่มักหมายถึงถึงระบบการปกครองประเภทแรกมากกว่าประเภทที่สอง ส่วนเจ้านายในราชวงศ์ที่มีตำแหน่งต่ำกว่าอาญาสี่นั้นกษัตริย์หรือเจ้าเมืองมักโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีสำคัญอีก ๒ ประเภท ได้แก่ เสนาบดีจตุสดมภ์ และเสนาบดีอัตถสดมภ์