เภสัชวิทยา ของ ไลนิโซลิด

เภสัชจลนศาสตร์

สารเมตาบอไลท์หลักของไลนิโซลิด

ไลนิโซลิดเป็นยาที่มีชีวปริมาณออกฤทธิ์สูงเกือบร้อยละ 100 เมื่อบริหารยาโดยการรับประทาน ซึ่งหมายความว่าปริมาณยาทั้งหมดที่รับประทานเข้าไปสามารถเข้าสู่กระแสเลือดได้เกือบทั้งหมด ซึ่งแทบไม่มีความแตกต่างกันกับการบริหารยาโดยการฉีดเข้าหลอดเลือดดำ แสดงว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาโดยการฉีดเข้าหลอดเลือดดำอาจสามารถเปลี่ยนมาใช้ยาในรูปแบบรับประทานได้เลยหากผู้ป่วยทีสภาวะที่เหมาะสมกับการใช้ยาในรูปแบบรับประทาน ในขณะที่ยาปฏิชีวนะชนิดอื่นที่มีข้อบ่งใช้และประสิทธิภาพใกล้เคียงกับไลนิโซลิดอย่างแวนโคมัยซินและ ควินูปริสติน/ดาลโฟปริสตินนั้นสามารถบริหารยาได้เพียงการฉีดเข้าหลอดเลือดดำเท่านั้น[56]การรับประทานไลนิโซลิดร่วมกับอาหารอาจส่งผลให้ตัวยาถูกดูดซึมได้ช้าลง แต่ขนาดยาที่ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดทั้งหมดที่วัดจากพื้นที่ใต้เส้นโค้ง (area under curve; AUC) นั้นไม่มีความแตกต่างกันกับการรับประทานยาในขณะท้องว่าง[17]

ไลนิโซลิดมีสัดส่วนการจับกับโปรตีนในกระแสเลือด (plasma protein binding) ค่อนข้างต่ำ (ประมาณร้อยละ 31 แต่ค่าที่วัดได้ในแต่ละครั้งมีความผันผวนสูง) และมีปริมาตรกระจายตัว (volume of distribution) ที่สภาวะคงตัว (steady state) ประมาณ 40–50 ลิตร.[58] สามารถตรวจวัดความเข้มข้นของยาในเลือดสูงสุด (Peak serum concentrations; Cmax) ได้ที่ประมาณ 1 - 2 ชั่วโมงหลังจากบริหารยา ไลนิโซลิดสามารถกระจายตัวไปยังเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกายได้อย่างรวดเร็ว ยกเว้น เนื้อพื้นของกระดูก (Bone matrix) และเนื้อเยื่อไขมันสีขาว (en)[29] เป็นที่น่าสังเกตว่าความเข้มข้นของไลนิโซลิดในของเหลวภายในเซลล์เยื่อบุของทางเดินหายใจส่วนล่างนั้นอย่างน้อยที่สุดจะเทียบเท่ากับความเข้มข้นของยาดังกล่าวในกระแสเลือดเสมอ และพบว่าโดยส่วนใหญ่แล้วมักมีค่ามากกว่าความเข้มข้นในกระแสเลือดอีก (บางการศึกษาพบว่าความเข้มข้นของยานี้ในของเหลวภายในเซลล์ของหลอดลมนั้นมีค่าสูงกว่าความเข้มข้นในกระแสเลือดมากถึง 4 เท่า) ซึ่งอาจเป็นคำอธิบายได้ว่าเหตุใดไลนิโซลิดถึงมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคปอดบวม อย่างไรก็ตาม เมื่อวัดความเข้มข้นของยานี้ในน้ำหล่อสมองไขสันหลัง พบว่ามีความเข้มข้นของยาสูงสุดที่วัดได้นั้นมีค่าน้อยกว่าความเข้มข้นที่วัดได้จากกระแสเลือด ทั้งนี้อาจเป็นผลมาจากการที่ยาสามารถผ่านตัวกรองกั้นระหว่างเลือดและสมอง (en) ได้ช้า ในทางตรงกันข้าม ความเข้มข้นต่ำสุดของยานี้ในน้ำหล่อสมองไขสันหลังกลับมีค่ามากกว่าที่วัดได้จากในกระแสเลือด ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับตัวกรองกั้นระหว่างเลือดและสมองเช่นกัน[17] ส่วนค่าครึ่งชีวิตของไลนิโซลิดนั้นมีค่าประมาณ 3 ชั่วโมงในเด็ก, 4 ชั่วโมงในวัยรุ่น และ 5 ชั่วโมงในผู้ใหญ่[3]

ในกระบวนการกำจัดไลนิโซลิดออกจากร่างกายนั้น ไลนิโซลิดจะถูกเมแทบอลิซึมที่ตับโดยการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันของวงมอร์โฟลีน (en) โดยกระบวนการการเปลี่ยนแปลงนี้จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบเอนไซม์ไซโทโครม P450 (CYP 450; en) กระบวนการเปลี่ยนแปลงไลนิโซลิดเพื่อขับออกจากร่างกายนี้จะเปลี่ยนไลนิโซลิดให้อยู่ในรูปสารเมตาบอไลท์ที่ไม่ออกฤทธิ์ 2 ชนิดหลัก (คิดเป็นร้อยละ 45 และ 10 ของยาที่ถูกขับออกทั้งหมดที่สภาวะคงตัว), สารเมตาบอไลท์รองอีก 1 ชนิด, และสารเมตาบอไลท์อื่นๆอีกหลายชนิดแต่มีสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 1 ของสารเมตาบอไลท์ทั้งหมด[93] การกำจัดไลเนโวลิดออกจากร่างกายนั้นมีความแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับอายุและเพศ โดยในเด็กจะมีอัตราการกำจัดยาออกที่สูงที่สุด ส่งผลให้ยามีค่าครึ่งชีวิตที่สั้น ส่วนในเพศหญิงจะมีอัตราการกำจัดยาออกช้ากว่าเพศชายประมาณร้อยละ 20[3][93][94] นอกจากนี้ความเร็วในการกำจัดไลนิโซลิดออกจากร่างกายยังมีความสัมพันธ์ทางสถิติแบบแปนผันตรงอย่างยิ่งกับการกำจัดครีเอตินินของไต ซึ่งเป็นมาตรวัดการทำงานของไต โดยเรียกค่าที่วัดได้นี่ว่า ค่าการกำจัดครีเอตินิน (creatinine clearance; CLCR).[95]

กลไกการออกฤทธิ์

แผนภาพอย่างง่ายที่แสดงการแปรรหัสพันธุกรรม (translation) ของเอ็มอาร์เอ็นเอโดยไลนิโซลิดจะเข้าจับกับตำแหน่ง A site (ตรงกลาง) และป้องกันไม่ให้ทีอาร์เอ็นเอมาจับกับตำแหน่งดังกล่าวได้ ทำให้การแปรรหัสพันธุกรรมหงุดชะงักลง

ยากลุ่มออกซาโซลิโดนนั้นจัดเป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์โปรตีน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการยับยั้งการเจริญเติบโตและการขยายพันธุ์ของเชื้อแบคทีเรียโดยการรบกวนการแปรรหัสพันธุกรรม ของเอ็มอาร์เอ็นเอในไรโบโซม อย่างไรก็ตาม กลไกการออกฤทธิ์ทั้งหมดของยากลุ่มนี้ยังไม่สามารถทราบได้แน่ชัด[96] ส่วนกลไกการออกฤทธิ์ของไลนิโซลิดซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะอีกชนิดหนึ่งในกลุ่มออกซาโซลิโดนนั้นดูเหมือนว่าจะออกฤทธิ์ยับยั้งที่ขั้นตอนแรกของการสังเคราะห์โปรตีน ซึ่งก็คือ การขัดขวางการสร้างโปรตีนในขั้นเริ่มต้น (initiation) ซึ่งแตกต่างจากยาปฏิชีวนะกลุ่มที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างโปรตีนชนิดอื่นที่มักยับยั้งที่ขั้นการต่อสาย (elongation) ของการสังเคราะห์โปรตีน[6][56]

นอกจากนี้แล้ว ไลนิโซลิดยังสามารถออกฤทธิ์ยับยั้งการจับกันของหน่วยย่อย 30S และ 50S ของไรโบโซม, ทีอาร์เอ็นเอ, และเอ็มอาร์เอ็นเอได้อีกด้วย โดยไลนิโซลิดจะขเไปจับกับหน่วยย่อย 23S ของ หน่วยย่อย 50S ซึ่งเป็นตำแหน่งที่จำเป็นต่อการรออกฤทธิ์ของเอนไซม์เปปติดิลทรานสเฟอเรส (en)[97] โดยตำแหน่งดังกล่าวนั้นจะอยู่ใกล้กันกับตำแหน่งเป้าหมายของคลอแรมเฟนิคอล, ลินโคมัยซิน, และยาปฏิชีวนะชนิดอื่นๆ เนื่องด้วยกลไกการออกฤทธิ์ที่เป็นเอกลักษณ์ฌฉพาะของไลนิโซลิดนี้ การดื้อยาข้ามชนิดกันระหว่างไลนิโซลิดกับยาปฏิชีวนะชนิดอื่นที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างโปรตีนจึงพบได้น้อยมากหรือแทบจะไม่เกิดขึ้นเลย[17][48]

ในปี ค.ศ. 2008 โครงสร้างผลึกของไลนิโซลิดที่จับอยู่กับ 50S ของไรโบโซม ของอาร์เคีย Haloarcula marismortui ถูกค้นพบโดยทีมนักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเยล และถูกนำไปเก็บรักษาไว้ในธนาคารข้อมูลโปรตีน (en)[98] ส่วนนักวิทยาศาสตร์อีกทีมหนึ่งซึ่งพยายามสร้างแม่แบบจำลองกลไกการออกฤทธิ์ของยากลุ่มออกซาโซลิโดน จากผลึกโครงสร้างของไลนิโซลิดที่จับอบู่กับ หน่วยย่อย 50S ของ Deinococcus radiodurans พบว่า ไลนิโซลิดนั้นจะเข้ากับตำแหน่ง A site ของ 50S รวมไปถึงการออกฤทธิ์เปลี่ยนแปลงรูปร่าง 3 มิติ (en) ซึ่งส่งผลขัดขวางการเข้าจับของทีอาร์เอ็นเอกับบริเวณดังกล่าว และส่งผลให้ทีอาร์เอ็นเอเอาแยกตัวออกจากไรโบโซมไปในที่สุด[99]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ไลนิโซลิด http://www.kup.at/kup/pdf/10376.pdf http://www.theage.com.au/articles/2002/02/27/10147... http://www.anvisa.gov.br/legis/resol/2000/474_00re... http://www.rbfarma.org.br/images/edicoes-em-pdf/20... http://www.imm.ac.cn/journal/ccl/1703/170306-302-b... http://www.biomedcentral.com/content/pdf/1471-2369... http://jnnp.bmj.com/cgi/pmidlookup?view=long&pmid=... http://www.chemspider.com/Chemical-Structure.39013... http://acs.confex.com/acs/green08/techprogram/P520... http://www.docguide.com/news/content.nsf/news/9179...