การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ของ ไลนิโซลิด

โดยส่วนใหญ่แล้ว ไลนิโซลิดมักจะถูกนำมาใช้รักษาในกรณีที่เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่มีอาการของโรครุนแรงและมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียกรัมบวกที่ดื้อยาปฏิชีวะชนิดอื่นๆ แต่ไม่ควรใช้ไลนิโซลิดในการรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่มีสาเหตุมาจากเชื้อที่ยังคงมีความไวต่อยาปฏิชีวนะกลุ่มขอบเขตการรักษาแคบ (Narrow spectrum) อย่างยากลุ่มเพนิซิลลิน และกลุ่มเซฟาโลสปอริน ทั้งในสื่อสิ่งพิมพ์และเอกสารทางวิทยาศาสตร์ต่างก็ล้วนยกให้ไลนิโซลิดเป็น "ยาปฏิชีวนะที่ถูกสงวนไว้" (reserve antibiotic) กล่าวคือ ยาดังกล่าวจะถูกนำมาใช้ในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น โดยจะจัดเป็น “ยาที่ถูกเลือกใช้เป็นอันดับสุดท้าย” (Drug of last resort) เพื่อใช้ในกรณีที่ภาวะติดเชื้อนั้นไม่สามารถบำบัดรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะชนิดอื่น หรือเฉพาะโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะหลายขนาน[14][15]

ในประเทศสหรัฐอเมริกา ยาไลนิโซลิดได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Drug Administration; FDA) เพื่อให้ใช้ในการบำบัดรักษาโรคติดเชื้อที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเอนเทอโรคอคคัส ฟีเซียม ที่ดื้อต่อยาแวนโคมัยซิน (Vancomycin-resistant Enterococcus faecium) ทั้งในกรณีที่มีการแพร่กระจายและไม่มีการแพร่กระจายของเชื้อดังกล่าวไปสู่กระแสเลือด, โรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อในโรงพยาบาล (Nosocomial pneumonia หรือ hospital-acquired pneumonia) ที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) และสเตรปโตคอคคัส นิวโมเนียอี (Staphylococcus pneumoniae), การติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังและโครงสร้างผิวหนังอย่างรุนแรง (Complicated skin and skin structure infections; cSSSI) ที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ยังไวต่อไลนิโซลิด ซึ่งรวมไปถึงแผลติดเชื้อที่เท้าของโรคเบาหวาน (diabetic foot infection) ยกเว้นการติดเชื้อที่กระดูกและไขกระดูก (osteomyelitis) ที่รุนแรง, และการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังและโครงสร้างผิวหนังที่ไม่รุนแรง ซึ่งมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตค็อกคัส ไพโอจีนัส (Streptococcus pyogenes) และสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (S. aureua)[3] ทั้งนี้ บริษัทผู้ผลิตไม่แนะนำให้ใช้ยาดังกล่าวสำหรับการรักษาภาวะปอดอักเสบชุมชน (Community-acquired pneumonia; CAP) หรือการติดเชื้อที่กระดูกหรือเนื้อเยื่ออ่อนที่ไม่รุนแรง (Uncomplicated skin and soft tissue infections; cSSIIs) ถึงแม้ว่าจะมีเชื้อ MRSA เป็นเชื้อสาเหตุก็ตาม[3] แต่สำหรับในสหราชอาณาจักรนั้น มีเพียงภาวะปอดอักเสบและการติดเชื้อที่กระดูกหรือเนื้อเยื่ออ่อนที่ไม่รุนแรงเท่านั้นที่ถือเป็นข้อบ่งใช้ถูกกำหนดให้ระบุไว้บนเอกสารกำกับยาของไลนิโซลิด[16]

ทั้งนี้ การใช้ไลนิโซลิดในเด็กและทารกนั้นมีความปลอดภัยในระดับเดียวกันกับการใช้ยาดังกล่าวในผู้ใหญ่[17]

การติดเชื้อในกระดูกและเนื้อเยื่ออ่อน

การศึกษาโดยการวิเคราะห์อภิมาน (Meta-analysis) จากข้อมูลต่างๆที่ได้จากการศึกษาทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (Randomized controlled trials; RCTs) หลายการศึกษา พบว่า ไลนิโซลิดมีประสิทธิภาพมากกว่ายาปฏิชีวนะกลุ่มไกลโคเปปไทด์ (Glycopeptide antibiotics) อย่างแวนโคมัยซินและไทโคพลานิน รวมไปถึงยาปฏิชีวนะกลุ่มเบต้า-แลคแตม (β-lactam antibiotics) ในการรักษาการติดเชื้อในกระดูกและเนื้อเยื่ออ่อนที่มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียกรัมบวก[18] และมีการศึกษาขนาดเล็กหลายการศึกษาที่ให้ผลการศึกษายืนยันถึงประสิทธิภาพของไลเนโซลิตในการรักษาภาวะติดเชื้อแบคทีเรียกรัมบวกที่รุนแรงทุกชนิดที่เหนือกว่าไทโคพลานิน[19]

ในการรักษาแผลติดเชื้อที่เท้าจากโรคเบาหวาน (diabetic foot infections) นั้น การใช้ไลนิโซลิดจะมีราคาต้นทุนน้อยกว่าแต่กลับมีประสิทธิภาพในการรักษามากกว่าแวนโคมัยซิน[20] ในปี ค.ศ. 2004 ผลการศึกษาของการศึกษาแบบเปิด (Open-label study) พบว่า ไลนิโซลิดมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับแอมพิซิลลิน/ซัลแบคแตม (Ampicillin/sulbactam) และอะม็อกซีซิลลิน/กรดคลาวูลานิค (Amoxicillin/clavulanic acid) และมีประสิทธิภาพการรักษาเหนือกกว่าเป็นอย่างมากในการรักษาผู้ป่วยแผลติดเชื้อที่เท้าจากโรคเบาหวานที่ไม่มีกระดูกอักเสบติดเชื้อ (Osteomyelitis) ร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม การใช้ไลนิโซลิดนั้นมีอัตราการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาได้มากกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ[21][22] อย่างไรก็ตาม การศึกษาแบบการวิเคราะห์อภิมานในปี ค.ศ. 2008 ซึ่งใช้ผลลัพธ์ที่ได้จากการศึกษาทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมจำนวน 18 การศึกษามาวิเคราะห์ พบว่า การใช้ไลนิโซลิดสำหรับข้อบ่งใช้นี้นั้นเกิดความล้มเหลวในการรักษาได้ไม่แตกต่างไปจากยาปฏิชีวนะชนิดอื่น ไม่ว่าผู้ป่วยจะมีภาวะกระดูกอักเสบติดเชื้อร่วมด้วยหรือไม่ก็ตาม[23]

ทั้งนี้ นักวิจัยบางท่านได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า ควรใช้ยาปฏิชีวนะชนิดอื่นที่มีราคาถูกกว่าและมีต้นทุนประสิทธิผลสูง 2 ชนิดร่วมกันก่อน เช่น ไตรเมโธพริม/ซัลฟาเมธอกซาโซล (Trimethoprim/sulfamethoxazole) กับไรแฟมพิซิน หรือคลินดามัยซิน อย่างใดอย่างหนึ่ง ก่อนที่จะมีการใช้ไลนิโซลิดในการรักษาการติดเชื้อในกระดูกและเนื้อเยื่ออ่อน โดยอิงตามผลการทดสอบความไวของเชื้อสาเหตุต่อยาปฏิชีวนะชนิดต่างๆ[22][24]

ภาวะปอดอักเสบ

ผลการศึกษาทางคลินิกในปี ค.ศ. 2008 พบว่า ความสำเร็จในการรักษาภาวะปอดอักเสบด้วยไลนิโซลิดกับยาปฏิชีวนะอื่น ได้แก่ ยาปฏิชีวนะกลุ่มไกลโคเปปไทด์และยาปฏิชีวนะกลุ่มเบต้า-แลคแตม ไม่มีความแตกต่างกันจนถึงระดับที่มีนัยสำคัญทางสถิติ[18] แนวทางการรักษาโรคปอดอักเสบชุมชนของสมาคมโรคทรวงอกแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (American Thoracic Society; ATS) และสมาคมโรคติดเชื้อแห่งสหรัฐอเมริกา. (Infectious Diseases Society of America; IDSA) ได้ให้คำแนะนำว่า ควรสงวนไลนิโซลิดไว้ใช้ในกรณีที่มีผลกาตรวจเพาะเชื้อยืนยันแล้วว่าเชื้อสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคนั้น คือ MRSA หรืออาการแสดงทางคลินิกที่อาจเข้าได้กับการติดเชื้อ MRSA [25] ทั้งนี้ แนวทางการรักษาของสมาคมโรคทรวงอกแห่งสหราชอาณาจักร (British Thoracic Society; BTS) ไม่แนะนำให้ใช้ไลนิโซลิดเป็นทางเลือกแรกในการรักษา ถึงแม้ว่าเชื้อสาเหตุจะเป็นเชื้อ MRSA ก็ตาม โดยแนะนำให้ใช้ไลนิโซลิดเป็นทางเลือกรองรองจากแวนโคมัยซินเท่านั้น[26] อย่างไรก็ตาม ไลนิโซลิดสามารถใช้ในการรักษาโรคปอดอักเสบชุมชนได้ในกรณีที่เชื้อสาเหตุมีการดื้อต่อยากลุ่มเพนนิซิลลิน[25]

แนวทางการรักษาของประเทศสหรัฐอเมริกานั้นสามารถใช้ได้ทั้งไลเนโวลิดและแวนโคมัยซินอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นการรักษาทางเลือกแรกในการรักษาโรคปอดออักเสบในโรงพยาบาลที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ MRSA (Hospital-acquired MRSA pneumonia)[27] อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาทางคลินิกบางการศึกษาพบว่า ไลนิโซลิดนั้นมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคปอดออักเสบในโรงพยาบาลดังข้างต้นได้ดีกว่าแวนโคมัยซิน

อื่นๆ

ภาพสแกนหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง แสดงถึงก้อนเลือดเล็กที่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย (vegetations) บริเวณลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างระหว่างหัวใจห้องบนขวาและหัวใจห้องล่างขวา (tricuspid valve) (ลูกศรสีขาว) ซึ่งมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อที่เยื่อบุหัวใจ (infective endocarditis) โดยผู้ป่วยรายนี้ได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะแอมพิซิลลิน, อิมมิพีเนม และ กลูโคคอร์ติคอยด์ และหายเป็นปรกติหลังจากได้รับการผ่าตัด[28]

เป็นที่เชื่อกันโดยทั่วไปว่าการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดที่เรียกกันว่า การติดเชื้อแบคทีเรียที่ชั้นลึก (deep infections) เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียที่กระดูกและไขกระดูก (osteomyelitis), การติดเชื้อที่เยื่อบุหัวใจ ควรได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (Bacteriocidal antibiotics) และไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะชนิดที่ออกฤทธิ์เฉพาะยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อเท่านั้น (Bacteriostatic antibiotics) ถึงกระนั้น การศึกษาในขั้นก่อนการทดสอบในมนุษย์ (preclinical study) หลายการศึกษาได้ทำการประเมินถึงประสิทธิภาพของไลนิโซลิดต่อการรักษาภาวะการติดเชื้อแบคทีเรียดังข้างต้น[29] ในท้ายที่สุดพบว่ายาดังกล่าวสามารถรักษาภาวะการติดเชื้อข้างต้นได้ในมนุษย์ ทั้งนี้ ดูเหมือนว่าไลนิโซลิดจะเป็นตัวเลือกในการรักษาที่สมเหตุสมผลในภาวะการติดเชื้อที่เยื่อบุหัวใจที่มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียกรัมบวกที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะหลายชนิด แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์คุณภาพสูงมาสนับสนุนการใช้ยานี้สำหรับข้อบ่งใช้ดังกล่าว[30][31] ทำให้การรักษาการติดเชื้อที่เยื่อบุหัวใจที่มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียกลุ่มเอนเทอโรคอคคัส (enterococcal endocarditis) มีความหลากหลายเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ซึ่งในบางกรณีอาจประสบผลสำเร็จในการรักษา ในทางตรงกันข้าม บางกรณีกลับไม่ตอบสนองต่อการรักษา[32][33][34][35][36][37] หลักฐานเชิงประจักษ์ทางการแพทย์คุณภาพต่ำถึงปานกลางหลายการศึกษาได้มีการใช้ยาไลนิโซลิดในการรักษาการติดเชื้อที่กระดูกและข้อเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึง การติดเชื้อแบคทีเรียที่กระดูกและไขกระดูกเรื้อรัง (chronic osteomyelitis) ถึงแม้ว่าจะมีความกังวลเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์จากยาดังกล่าวเมื่อมีการใช้ในการรักษาระยะยาวก็ตาม[38][39][40][41][42][43]

สำหรับการใช้ไลนิโซลิดร่วมกับยาปฏิชีวนะชนิดอื่นในการรักษาโณคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียนั้น มีการใช้ไลนิโซลิดร่วมกับยาอื่นในการรักษาวัณโรค[44] อย่างไรก็ตาม ขนาดยาที่เหมาะสมของไลเนโวลิดในการรักษาภาวะดังกล่าวนั้นยังไม่มีการกำหนดให้เป็นที่แน่ชัด โดยทั่วไปแล้ว ในกรณีผู้ใหญ่ การใช้ยาดังกล่าวแบบให้วันละ 1 หรือ 2 ครั้งนั้นให้ผลการรักษาที่ดี แต่เนื่องจากการรักษาวัณโรคนั้นต้องใช้ระยะเวลานานหลายเดือน การเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ไลนิโซลิดถึงอาจเกิดได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อใช้ยาดังกล่าวในขนาดสูง[45][46] อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ทางการแพทย์น่าเชื่อถือมากพอที่สนับสนุนถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการใช้ยานี้สำหรับข้อบ่งใช้ดังกล่าวเป็นประจำทุกวัน[17]

นอกจากนี้ยังมีการใช้ไลนิโซลิดเป็นทางเลือกทดแทนแวนโคมัยซินในการรักษาภาวะไข้ที่มีภาวะเม็ดเลือดขาวนิวโตรฟิลต่ำ (febrile neutropenia) ในผู้ป่วยมะเร็งที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียกรัมบวก[47] ยิ่งไปกว่านั้น ไลนิโซลิดยังเป็นยาปฏิชีวนะอีกชนิดหนึ่งที่มาสารถแพร่ผ่านเข้าไปยังของเหลวภายในตาที่เรียกว่าวิเทรียสฮิวเมอร์ (vitreous humor) ได้ ซึ่งมียาปฏิชีวนะไม่กี่ชนิดเท่านั้นที่แพร่ผ่านเข้าไปบริเวณนั้นได้ ดังนั้น ไลนิโซลิดจึงอาจเป็นประโยชน์และมีประสิทธิภาพในการรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียภายในลูกตา (Endophthalmitis) ที่มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียที่ไวต่อยานี้ได้ แต่มีหลักฐานเชิงประจักษ์จำนวนเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่ให้ผลสนับสนุนการใช้ยานี้สำหรับข้อบ่งใช้ดังกล่าว เนื่องจากการรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียภายในลูกตาในปัจจุบันมีการใช้แวนโคมัยซินในการรักษากันอย่างแพร่หลายและให้ประสิทธิผลในการรักษาเป็นที่น่าพึงพอใจอยู่แล้ว[22]

การติดเชื้อแบคทีเรียในระบบประสาทส่วนกลาง

การศึกษาในสัตว์ทดลองที่มีภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) จากเชื้อแบคทีเรียเสตร็ปโทโคคัส นิวโมเนีย (Streptococcus pneumoniae) พบว่าไลนิโซลิดสามารถแทรกซึมเข้าไปยังน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง (cerebrospinal fluid) ได้ และมีประสิทธิมากกว่ายาปฏิชีวนะชนิดอื่นที่เข้าไปในบริเซณดังกล่าวได้[48][49] อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์คุณภาพสูงที่สนับสนุนการใช้ไลนิโซลิดเป็นประจำในการรักษาภาวะการติดเชื้อดังกล่าว ถึงกระนั้น มีผู้ป่วยหลายรายที่ประสบผลสำเร็จในการรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งรวมไปถึง ภาวะเยื้อหุ้มสมองงอักเสบ ด้วยไลนิโซลิด ดังนั้น จึงอาจพอสรุปได้ว่าการใช้ไลนิโซลิดในการรักษาภาวะดังกล่าวนั้นเป็นทางเลือกที่สมเหตุสมผลเมื่อการรักษาหรือยาปฏิชีวนะอื่นไม่ได้ผลการรักษาเป็นที่น่าพึงพอใจ[50][51] แนวทางการรักษาของสมาคมโรคติดเชื้อแห่งสหรัฐอเมริกา (Infectious Diseases Society of America) ได้แนะนำให้ไลนิโซลิดเป็นการรักษาทางเลือกแรกของภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียกลุ่มแอนเทอโรคอคคัสที่ดื้อต่อยาแวนโคมัยซิน (Vancomycin Resistant Enterococcus; VRE) และเป็นทางเลือกรองต่อจากแวนโคมัยซินในการรักษาภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียสที่ดื้อยาต่อยาเมทิซิลลิน (methicillin-resistant Staphylococcus aureus ;MRSA)[52] นอกจากนี้ยังพบว่าไลนิโซลิดมีประสิทธิภาพเหนือกว่าแวนโคมัยซินในการรักษาภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่มีสาเหตุมากจากการติดเชื้อแบคทีเรียสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียสที่ดื้อยาต่อยาเมทิซิลลิน จากนอกโรงพยาบาล (community-acquired MRSA) อย่างไรก็ตาม การตีพิมพ์ในวารสารที่เกี่ยวกับผู้ป่วยภาวะดังกล่าวที่ได้รับการรักษาด้วยไลนิโซลิดนั้นยังมีอยู่น้อยมาก (ข้อมูลเมื่อ 2009[update]).[53]

การติดเชื้อแบคทีเรียที่สัมพันธ์กับการใส่สายสวน

ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2007 องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริการะบุว่าได้มีการศึกษาแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมและเป็นแบบเปิด ขั้นที่ 3 ซึ่งทำการศึกษาในอาสาสมัคร (phase III clinical trial) เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพของไลนิโซลิดกับแวนโคมัยซินในการรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือดที่มีความสัมพันธ์กับการใส่สายสวน (catheter-related bloodstream infections) ซึ่งผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยแวนโคมัยซินจะได้รับการรักษาเปลี่ยนเป็นออกซาซิลลิน หรือไดคลอกซาซิลลิน ถ้าพบว่าเชื้อสาเหตุนั้นไวต่อยาข้างต้น และผู้ปวยทั้งสองกลุ่ม (กลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยไลนิโซลิดและกลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยแวนโคมัยซิน) จะได้รับยาปฏิชีวนะสำหรับต้านเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ หากมีข้อบ่งชี้ที่จำเป็น[54] ต่อมาผลการศึกษาดังกล่าวได้ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2009[55]

จากผลการศึกษาในการศึกษาดังข้างต้นพบว่า การใช้ไลนิโซลิดมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าการใช้แวนโคมัยซินอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยเมื่อทำการรวบรมข้อมูลทั้งหมดแล้วพบว่า ร้อยละ 21.5 ของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยไลนิโซลิดเสียชีวิต ขณะที่อีกหลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้รับการรักษาด้วยไลนิโซลิดเสียชีวิตเพียงร้อยละ 16 โดยความแตกต่างของอัตราการเสียชีวิตนี้เป็นผลมาจากเชื้อสาเหตุที่ต่างกลุ่มกัน โดยเมื่อจำแนกกลุ่มผู้ป่วยออกเป็นกลุ่มที่มีเชื้อสาเหตุเป็นเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกกับกลุ่มที่มีเชื้อสาเหตุเป็นทั้งแบคทีเรียแกรมบวกและแกรมลบ พบว่าในผู้ป่วยที่มีเชื้อสาเหตุเป็นเชื้อแบคทีเรียกรัมบวกอย่างเดียวนั้นพบว่าไลนิโซลิดมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยเทียบเท่ากับแวนโคมัยซิน[54][55] จากผลการศึกษาในครั้งนี้ทำให้องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาออกคำเตือนถึงบุคลากรทางการแพทย์ว่ายังไม่มีการรับรองให้ใช้ไลนิโซลิดในการรักษาโรคติดเชื้อที่สัมพันธ์กับการใส่สายสวนหรือโรคติดเชื้ออื่นใดที่มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก และถึงแม้ว่าจะมีการตรวจพบเชื้อแบคทีเรียแกรมลบว่าเป็นเชื้อสาเหตุหรือสงสัยว่าอาจเป็นเชื้อสาเหตุก็ควรเลือกใช้ยาปฏิชีวนะชนิดอื่นที่เหมาะสมเป็นทางเลือกแรกก่อน[54]

การใช้ยาในกลุ่มประชากรพิเศษ

การใช้ยาไลนิโซลิดในผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุมากกว่า 12 นั้นจะบริหารยาให้ทุกๆ 12 ชั่วโมง ทั้งในรูปแบบยารับประทานและยาชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ[48][56] ส่วนในเด็กและทารกนั้น จะได้รับการบริหารยาให้ทุก 8 ชั่วโมง[57] ส่วนในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีภาวะตับวายระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง และผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตผิดปกติ ไม่จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนขนาดและความถี่ในการบริหารยา[58] สำหรับผู้ป่วยที่ต้องมีการชำระเลือดผ่านเยื่อ (hemodialysis) ควรมีการบริหารยาไลนิโซลิดให้อย่างระมัดระวังหลังการทำหัตถการดังกล่าว เนื่องจากการชำระเลือดผ่านเยื่อจะทำให้ยาไลนิโซลิดในร่างกายถูกกำจัดออกไปประมาณร้อยละ 30 – 40 ส่วนผู้ป่วยที่ทำการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (hemofiltration) นั้นไม่จำเป็นต้องได้รับการบริหารยาดังกล่าวให้เพิ่มเติมภายหลัง[58] ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางกลุ่มอาจจำเป็นต้องได้รับการบริหารยาไลนิโซลิดถี่ขึ้น[17] เช่นในการศึกษาหนึ่งซึ่งพบว่า ผู้ป่วยที่มีแผลไหม้มากกว่าร้อยละ 20 ของพื้นที่ผิวร่างกายทั้งหมดอาจจำเป็นต้องได้รับการบริหารยาไลนิโซลิดที่ถี่กว่าปกติเนื่องจากมีการขับยาดังกล่าวออกช่องทางอื่นที่ไม่ใช่ทางไต (nonrenal clearance) เพิ่มมากขึ้น[59]

สำหรับหญิงตั้งครรภ์นั้น ดัชนีความปลอดภัยการใช้ยาไลนิโซลิดในหญิงตั้งครรภ์ถูกจัดให้อยู่ในระดับ C เนื่องจากยังไม่มีการศึกษามากพอถึงความปลอดภัยของการใช้ยาดังงกล่าวในหญิงตั้งครรภ์ ถึงแม้จะมีการศึกษาหลายการศึกษาในสัตว์ทดลองที่ตั้งครรภ์แล้วพบว่าเกิดความเป็นพิษต่อตัวอ่อนในครรภ์ในระดับต่ำ และประโยชน์ที่ได้จากยาดังกล่าวจะมากกว่าอันตรายที่อาจเกิดก็ตาม[3] นอกจากนี้ ไลนิโซลิดยังสามารถถูกกำจัดออกทางน้ำนมได้ ส่วนระดับความมีนัยสำคัญทางคลินิกนั้นยังไม่มีข้อมูลแน่ชัด[60]

ขอบข่ายการออกฤทธิ์

ภาพจากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนที่แสดงถึงเชื้อแบคทีเรียกลุ่มเอนเทอโรคอคคัสที่ดื้อต่อยาแวนโคมัยซิน (vancomycin-resistant Enterococcus; VRE) (บน) และเชื้อแบคทีเรียสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียสที่ดื้อยาต่อยาเมทิซิลลิน (methicillin-resistant Staphylococcus aureus; MRSA) (ล่าง)

ในทางคลินิก ไลนิโซลิดมีฤทธิ์ต่อเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกทุกชนิด ซึ่งเชื้อแบคทีเรียกลุ่มดังกล่าวจะมีผนังเซลล์ที่ประกอบไปด้วยชั้นเปปติโดกลัยแคนหนา และไม่มีเยื่อเลือกผ่านชั้นนอก เช่น เอ็นเทอโรค็อคคัส ฟีเชียม (Enterococcus faecium) และ เอนเทอโรคอคคัส ฟีคาลิส (Enterococcus faecalis – รวมไปถึงสกุลเอนเทอโรคอคคัสที่ดื้อต่อยาแวนโคมัยซิน; VRE), สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus – รวมถึงสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียสที่ดื้อต่อยาเมธิซิลลิน; MRSA), สเตรปโตคอกคัส อะกาแลกเตีย (Streptococcus agalactiae), สเตรปโตค็อกคัส นิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae), สเตรปโตค็อกคัส ไพโอจีนัส (Streptococcus pyogenes), กลุ่มไวริแดนส์ของสเตร็ปโตคอกไค (viridans group streptococci) , ลิสทิเรีย โมโนไซโตจิเนส (Listeria monocytogenes) และสกุลสกุลโครีนีแบคทีเรียม (Corynebacterium) (โดยเชื้อมีความไวต่อยาไลนีโซลิดโดยมีค่าความเข้มข้นที่ต่ำที่สุดที่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อโดยให้เป็นปกติที่ต่ำกว่า 0.5 mg/L)[3][48][61] ไลนิโซลิดมีฤทธิ์อย่างมากต่อเชื้อสกุลไมโคแบคทีเรียม (Mycobacterium) ในการทดลองนอกกายมนุษย์ (in vitro)[48] และมีประสิทธิภาพอย่างมากต่อเชื้อสกุลโนคาร์เดีย (Nocardia) แต่มีราคาที่สูงและมีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นได้มาก จึงควรใช้ไลนิโซลิดร่วมกับยาปฏิชีวนะขนานอื่นๆ หรือใช้ในเฉพาะผู้ป่วยที่ล้มเหลวจากการักษาด้วยยาแบบดั้งเดิม[62]

ทั้งนี้ ไลนิโซลิดเป็ยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์ยับยั้งการสืบพันธุ์หรือการเติบโตต่อแบคทีเรียเป็นส่วนใหญ่ โดยไม่ได้ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียโดยตรง (bacteristatic antibiotic) อย่างไรก็ตาม ยาดังกล่าวจะมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียโดยตรง (bactericidal) ต่อเชื้อแบคทีเรียสกุลสเตรปโตคอกคัส[3][63] การศึกษาบางการศึกษาพบว่า แม้ว่าไลนีโซลิดจะมีฤทธิ์ยับยั้งการเติบโตและการสิบพันธุ์ในการทดลองนอกกายมนุษย์นั้น (in vitro) แต่ไลนีโซลิดกลับมีพฤติกรรมในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียโดยตรงในการทดลองในกายมนุษย์ (in vivo) ด้วยการยับยั้งการผลิตสารพิษบางชนิดของเชื้อแบคทีเรียสกุลสแตฟฟิโลคอคคัส และสกุลสเตรปโตคอกคัส (streptococcus)[29] นอกจากนี้ ไลนิโซลิดยังมีผลหลังการใช้ยาปฏิชีวนะ (post-antibiotic effect) 1 – 4 ชั่วโมงในแบคทีเรียส่วนใหญ่ ซึ่งหมายความว่าการเติบโตของแบคทีเรียได้รับการกดไว้ชั่วคราวแม้จะหยุดใช้ยาดังกล่าวแล้วก็ตาม[17]

เชื้อแบคทีเรียแกรมลบ

ส่วนใหญ่แล้วไลนิโซลิดไม่มีผลทางคลินิกต่อแบคทีเรียแกรมลบ เช่น เชื้อแบคทีเรียสกุลสกุลซูโดโมแนส (Pseudomonas) และวงศ์เอนเทอร์โรแบคทีเรียซีอี (Enterobacteriaceae)[63] แต่ในการทดลองนอกร่างกายมนุษย์ (In vitro) พบว่าไลนิโซลิดมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียพาสเจอเรลลา มัลโตซิดา (Pasteurella multocida), [3][64] สกุลฟูโซแบคทีเรียม (Fusobacterium), มอแรกเซลลา คาทาร์ราลิส (Moraxella catarrhalis), สกุลลีจิโอเนลลา (Legionella), สกุลบอร์เดเทลลา (Bordetella), และ เอลิซาเบธคิงเจีย เมนิงโกเซฟติกา (Elizabethkingia meningoseptica) ได้ดี และมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อฮีโมฟิลัส อินฟลูเอ็นซาอี (Haemophilus influenzae) ได้ค่อนข้างดี (มีความเข้มข้นของยาในระดับต่ำสุดที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียได้ร้อยละ 90 ประมาณ 8 มิลลิกรัม/ลิตร)[60][63] นอกจากนี้ยังมีการใช้ไลนิโซลิดเป็นทางเลือกรองในการรักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสกุลแคพโนไซโตฟากา (Capnocytophaga) อีกด้วย[50][65]

การเปรียบเทียบกับยาปฏิชีวนะอื่น

ขอตเขตการออกฤทธิ์ต่อเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกของไลนิโซลิดนั้นมีความคล้ายคลึงกันกับยาปฏิชีวนะกลุ่มไกลโคเปปไทด์ เช่น แวนโคมัยซิน ซึ่งถูกใช้เป็นมาตรฐานสำหรับรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียสที่ดื้อยาต่อยาเมทิซิลลิน มาอย่างยาวนาน และยาปฏิชีวนะทั้งสองชนิดนี้มักถูกนำมาเปรียบเทียบกันบ่อยครั้งทั้งในการศึกษาทดลองและการใช้จริงทางคลินิก[1][17] ยาอื่นที่มีการนำมาเปรียบเทียบประสิทธิภาพกับไลนิโซลิด ได้แก่ ไทโคพลานิน (ชื่อการค้า Targocid, เป็นยากลุ่มไกลโคเปปไทด์เช่นเดียวกันกับแวนโคมัยซิน), ควินูปริสติน/ดาลโฟปริสติน (quinupristin/dalfopristin – ชื่อการค้า คือ Synercid เป็นยาสูตรผสมของยาปฏิชีวนะสองชนิดในกลุ่มสเตรปโตกรามิน แต่ไม่มีฤทธิ์ต่อเชื้อ E. faecalis),[66] และเดปโตมัยซิน (daptomycin – ชื่อการค้าคือ Cubicin เป็นยาปฏิชีวนะในกลุ่มไลโปเปปไทด์), และยาปฏิชีวนะอื่นอีกหลายชนิดที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัย เช่น เซฟโตบิโพรล (ceftobiprole), ดาลบาวานซิน (dalbavancin), และเทลาวานซิน (telavancin) โดยในยาที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดนี้ มีเพียงไลนิโซลิดเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่สามารถบริหารยาโดยการรับประทานได้[17] นอกเหนือจากไลนิโซลิดแล้ว ในอนาคต โอริวานซิน (oritavancin) และอิคลาปริม (iclaprim) ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนแรกของการศึกษาพัฒนาทางคลินิก อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถบริหารยาโดยการรับประทานได้[17]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ไลนิโซลิด http://www.kup.at/kup/pdf/10376.pdf http://www.theage.com.au/articles/2002/02/27/10147... http://www.anvisa.gov.br/legis/resol/2000/474_00re... http://www.rbfarma.org.br/images/edicoes-em-pdf/20... http://www.imm.ac.cn/journal/ccl/1703/170306-302-b... http://www.biomedcentral.com/content/pdf/1471-2369... http://jnnp.bmj.com/cgi/pmidlookup?view=long&pmid=... http://www.chemspider.com/Chemical-Structure.39013... http://acs.confex.com/acs/green08/techprogram/P520... http://www.docguide.com/news/content.nsf/news/9179...