การรุกคืบของเวียดนามเหนือ ของ การยึดกรุงไซ่ง่อน

การที่ฐานที่ตั้งของเวียดนามใต้ถูกทำลายติดต่อกันอย่างรวดเร็วใน พ.ศ. 2518 ทำให้ผู้สังเกตการณ์ชาวอเมริกันและเวียดนามใต้ประหลาดใจเป็นอย่างยิ่ง และแม้แต่ฝ่ายเวียดนามเหนือและแนวร่วมเองก็ยังประหลาดใจ จากบันทึกข้อความที่เขียนโดยหน่วยสืบราชการลับกลางแห่งสหรัฐอเมริกา (CIA) กับหน่วยข่าวกรองของกองทัพบกที่ตีพิมพ์ในวันที่ 5 มีนาคมแจ้งว่าเวียดนามใต้จะยังสามารถรักษาอธิปไตยไว้ได้ไปตลอดฤดูแล้งฝน คือจนถึงอย่างน้อย พ.ศ. 2519 [2] การคาดการณ์นี้ผิดพลาดไปมาก เพราะในขณะที่บันทึกข้อความถูกปล่อยออกมา พลเอกจุ๋งก็กำลังเตรียมการรุกครั้งใหญ่ตรงบริเวณภูมิภาคที่ราบสูงภาคกลางของเวียดนามอยู่แล้ว ซึ่งการรุกครั้งนี้เริ่มขึ้นในวันที่ 10 มีนาคม และนำไปสู่การยึดเมืองบานเมทวด ทำให้กองทัพสาธารณรัฐเวียดนาม (ARVN) หรือกองทัพเวียดนามใต้ต้องล่าถอยไปอย่างวุ่นวายและได้รับความเสียหายมาก โดยตั้งใจที่จะวางกำลังใหม่ที่ทางตอนใต้สุดของเวียดนาม ซึ่งอาจเป็นดินแดนเวียดนามที่เหลือที่อยู่ทางใต้ของเส้นแวงที่ 13[3]

ด้วยการสนับสนุนจากปืนใหญ่และยานเกราะ ฝ่ายเวียดนามเหนือจึงสามารถเคลื่อนทัพรุกคืบมายังไซ่ง่อน โดยทำการยึดเอาหัวเมืองหลักๆ ของเวียดนามใต้ทางตอนเหนือไว้ได้ในช่วงสิ้นเดือนมีนาคม โดยสามารถยึดเมืองเว้ได้ในวันที่ 25 และเมืองดานังได้ในวันที่ 28 การรุกคืบหน้าทำให้ฝ่ายเวียดนามใต้ทัพแตกและทำให้เกิดคลื่นผู้อพยพ ซึ่งที่หนีมาจากดานังเมืองเดียวก็มีมากกว่า 300,000 คนแล้ว[4] โอกาสที่จะพลิกโอกาสตีโต้ของเวียดนามใต้จึงลดถอยลงไปทุกวัน และเมื่อหลังจากการเสียเมืองดานังแล้ว โอกาสเหล่านั้นก็แทบจะไม่เหลือเลย ซึ่งเจ้าหน้าที่ CIA ในเวียดนามก็เห็นเป็นเช่นนั้น และคิดว่าคงไม่มีอะไรนอกจากการใช้เครื่องบิน B-52 ทิ้งระเบิดใส่กรุงฮานอย ที่จะทำให้การบุกของเวียดนามเหนือชะงักลงได้[5]

ในวันที่ 8 เมษายน คณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเวียดนามเหนือ ที่แนะนำให้จุ๋งใช้ความระมัดระวังในเดือนมีนาคม ได้ส่งโทรเลขไปหาเขาเพื่อขอให้เขา "ทำการโจมตีอย่างไม่หยุดยั้งจนกว่าจะถึงใจกลางของไซ่ง่อน" [6] ในวันที่ 14 เมษายน ฝ่ายเวียดนามเหนือก็เปลี่ยนชื่อการทัพเป็น "การทัพโฮจิมินห์" ตามชื่อของผู้นำการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ โฮจิมินห์ โดยตั้งใจว่าจะบรรลุเป้าหมายก่อนวันเกิดของโฮจิมินห์ในวันที่ 19 พฤษภาคม[7] ขณะเดียวกัน เวียดนามใต้ก็ล้มเหลวในการหาการสนับสนุนเพิ่มเติมทางทหารจากสหรัฐฯ ในระดับที่มีความสำคัญ ดับความหวังของประธานาธิบดีเหวียน วัน เตี่ยวที่จะได้รับการสนับสนุนอีกครั้งจากอเมริกา

ในวันที่ 9 เมษายน กองทัพเวียดนามเหนือก็มาถึงเขตซวนลค แนวป้องกันสุดท้ายก่อนจะถึงไซ่ง่อน ที่ๆ กองพลเวียดนามใต้ที่ 18 ยืนหยัดต่อสู้ทหารเวียดนามเหนืออย่างดุเดือดในยุทธการซวนลค อยู่หลายวันจนกระทั่งกองทัพเวียดนามเหนือสามารถใช้กำลังที่มีอยู่มหาศาล ยึดซวนลคได้สำเร็จในวันที่ 20 เมษายน และในวันที่ 21 เมษายน ประธานาธิบดีเตี่ยวแถลงการณ์ลาออกทางโทรทัศน์ทั้งน้ำตา พร้อมกับตำหนิสหรัฐฯ ที่ไม่ยอมมาช่วยเหลือเวียดนามใต้[8] แนวหน้าของฝ่ายเวียดนามเหนือในตอนนี้อยู่ห่างใจกลางกรุงไซ่ง่อนไปเพียง 42 กิโลเมตร[9] และชัยชนะที่ซวนลค ทำให้ทหารเวียดนามใต้เป็นจำนวนมากถอนกำลังออกไปจากพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง[9] เปิดทางให้กองทัพเวียดนามเหนือปิดล้อมกรุงไซ่ง่อน และในเวลาไม่นานพวกเขาก็ทำเช่นนั้น ด้วยการเคลื่อนกำลังพล 100,000 นายไปยังตำแหน่งรอบๆ เมืองในวันที่ 27 เมษายน ในเมื่อกองทัพเวียดนามใต้เองเหลือผู้ป้องกันเมืองหลวงเพียงเล็กน้อย อนาคตที่อยู่ข้างหน้าเมืองนี้ก็ชัดเจน

ใกล้เคียง

การยึดกรุงไซ่ง่อน การยึดครองญี่ปุ่น การยึดครองเซอร์เบียของออสเตรีย-ฮังการี การยึดครองเยอรมนีของสยาม การยึดครองกลุ่มรัฐบอลติก การยึดกรุงคาบูล (พ.ศ. 2564) การยึดครองโรมาเนียของโซเวียต การยึดครองพม่าของญี่ปุ่น การยึดครองกัมพูชาของญี่ปุ่น การยึดครองเมืองซารันจ์