ความเห็นสมัยใหม่ ของ ความคลั่งทิวลิป

ภาพเขียนสีน้ำของทิวลิป “Semper Augustus” โดยจิตรกรนิรนามของคริสต์ศตวรรษที่ 17 ที่เป็นทิวลิปที่ได้ชื่อว่ามีราคาสูงที่สุดที่ขายระหว่างความคลั่งทิวลิป

คำอธิบายของแม็คเคย์ถึงพฤติกรรมอันไม่มีเหตุผลของมวลชนไม่มีผู้ใดค้านและตรวจสอบมาจนกระทั่งถึงคริสต์ทศวรรษ 1980[32] แต่การค้นคว้าเรื่องความคลั่งทิวลิปตั้งแต่นั้นมาโดยเฉพาะจากผู้สนับสนุนสมมติฐานประสิทธิภาพของตลาด[33] ผู้ไม่มีความเชื่อมั่นในทฤษฎีฟองสบู่จากการเก็งกำไรโดยทั่วไปตั้งข้อเสนอว่า เรื่องราวของความคลั่งทิวลิปเป็นเรื่องที่ไม่สมบูรณ์และไม่ถูกต้อง ในการวิจัยทางวิชาการในบทวิจัย “ความคลั่งทิวลิป” โดยแอนน์ โกลด์การ์ ตั้งข้อเสนอว่าเหตุการณ์นี้จำกัดอยู่แต่เฉพาะกับ “กลุ่มคนที่เกี่ยวข้องจริงเพียงจำนวนน้อย” และเรื่องต่าง ๆ ที่ได้รับบันทึกในช่วงนั้นก็เป็นเรื่องที่ “มีพื้นฐานมาจากงานโฆษณาชวนเชื่อร่วมสมัยเพียงชิ้นสองชิ้น และจากเอกสารที่เป็นงานโจรกรรมทางวรรณกรรมเสียเป็นส่วนใหญ่”[7] ปีเตอร์ การ์เบอร์ค้านว่าลูกโป่งระเบิดครั้งนี้ “ไม่มีความหมายมากไปกว่าเกมที่เล่นกันในวงเหล้าระหว่างฤดูหนาวโดยประชาชนที่ต้องประสบกับโรคระบาดที่ใช้ความตื่นตัวของตลาดทิวลิปเป็นเครื่องมือ”[34]

ขณะที่แม็คเคย์อ้างว่าผู้เข้าร่วมในเหตุการณ์มาจากทุกระดับของสังคม แต่งานศึกษาของโกลด์การ์กล่าวว่าแม้กระทั่งในขณะที่ปริมาณการค้าขายทิวลิปถึงจุดสูงสุด ผู้เข้าร่วมในการซื้อขายก็จำกัดอยู่แต่เฉพาะกลุ่มพ่อค้า และช่างฝีมือที่มีฐานะดี โดยไม่มีผู้เข้าร่วมผู้ใดที่มาจากชนระดับขุนนาง[35] เศรษฐกิจที่ล่มหลังจากตลาดทิวลิปหดตัวก็เป็นเพียงจำกัด โกลด์การ์ผู้พบชื่อผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์กล่าวว่ามีก็เพียงบุคคลไม่กี่คนที่ได้รับผลกระทบกระเทือนทางการเงินจากช่วงเวลานี้ และในกรณีของบุคคลเหล่านี้ก็ไม่สามารถบอกได้อย่างแน่นอนว่าเป็นปัญหาทางการเงินที่มาจากการค้าขายทิวลิปหรือไม่[36] ข้อสรุปนี้ก็ไม่เป็นที่น่าประหลาดใจเท่าใดนัก เพราะแม้ว่าราคาทิวลิปจะสูงขึ้นแต่ก็มิได้มีการแลกเปลี่ยนตัวเงินระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายกันจริง ๆ ฉะนั้นกำไรของผู้ขายจึงเป็นกำไรที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง นอกจากว่าผู้ขายจะนำเครดิตไปทำการซื้อต่อเพื่อหวังผลกำไร ราคาที่ทรุดลงจึงมิได้มีผลให้ผู้ใดต้องเสียเงินจริง ๆ[37]

คำอธิบายด้วยเหตุผล

ไม่มีใครโต้แย้งว่าเหตุการณ์การขึ้นและตกของตลาดทิวลิปที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1636 ถึงปี ค.ศ. 1637 นั้นมิได้เกิดจริง แต่ก็มิได้หมายความว่าเหตุการณ์ในครั้งนั้นเป็นเหตุการณ์ที่อยู่ในระดับที่เรียกได้ว่าเป็น ภาวะเศรษฐกิจลูกโป่งแตก หรือการระเบิดของการเก็งกำไร การที่ความคลั่งทิวลิปจะถือว่าเป็นภาวะเศรษฐกิจลูกโป่งแตกได้ก็เมื่อราคาของหัวทิวลิปเกินเลยแยกตัวจากมูลค่าในตัวของหัวทิวลิปเอง นักเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ตั้งข้อเสนอหลายข้อในการพยายามอธิบายถึงราคาที่ขึ้นและตกของหัวทิวลิปที่ไม่ตกอยู่ในภาวะที่เรียกว่าภาวะลูกโป่งแตก[38]

ราคาที่สูงขึ้นในปีคริสต์ทศวรรษ 1630 ประจวบกับช่วงเวลาการชะลอตัวของสงครามสามสิบปี[39] ฉะนั้นก็ดูเหมือนว่าตลาดจะตอบโต้สถานการณ์อย่างมีเหตุผล (อย่างน้อยก็ในระยะแรก) ในการตอบรับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น แต่เมื่อราคาตกอัตราการตกเป็นไปอย่างไม่ได้สัดส่วนกับเมื่อราคาขึ้น ข้อมูลการขายส่วนใหญ่หายไปหลังจากที่ราคาตกในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1637 แต่ข้อมูลที่ยังเหลืออยู่ชี้ให้เห็นว่าราคาของหัวทิวลิปหลังจากเหตุการณ์ความคลั่งทิวลิปก็ยังคงตกลงเรื่อยมาจนอีกหลายสิบปีต่อมา

ความผันผวนของราคาดอกไม้

ทิวลิปตูมทิวลิปที่นิยมปลูกกันในปัจจุบันส่วนใหญ่แล้วจะเป็นทิวลิปสีเดียว จะมีทิวลิปหลายสีบ้างก็เป็นสีผสมที่จำกัด

การ์เบอร์เปรียบเทียบการขึ้นลงของราคาของหัวทิวลิปจากหลักฐานที่ยังมีอยู่กับแนวโน้มของการขึ้นลงของราคาดอกไฮยาซินธ์ เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19—เมื่อไฮยาซินธ์มาแทนที่ทิวลิปในการเป็นดอกไม้ยอดนิยม—ก็พบว่ามีแนวโน้มที่คล้ายคลึงกัน เมื่อไฮยาซินธ์เริ่มเข้ามาใหม่ ๆ นักปลูกต่างก็พยายามแข่งกันหาสายพันธุ์ใหม่ตามความต้องการอันเพิ่มขึ้นของตลาด แต่เมื่อผู้คนเริ่มหายตื่นกับความแปลกใหม่ของไฮยาซินธ์ราคาก็ตกลง ราคาหัวทิวลิปที่แพงที่สุดตกลงไปเหลือเพียง 1–2% ของราคาในช่วงที่มีราคาสูงที่สุดภายในระยะเวลา 30 ปี[40] การ์เบอร์ตั้งข้อสังเกตอีกว่า “เมื่อไม่นานมานี้หัวลิลลี่ตัวอย่างเพียงไม่กี่หัวก็ขายกันในราคาหนึ่งล้านกิลเดอร์ (หรือคิดเป็น 480,000 ดอลลาร์สหรัฐ ตามอัตราแลกเปลี่ยนในปี ค.ศ. 1987)” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแม้แต่ในปัจจุบันการซื้อขายดอกไม้ในราคาที่สูงมากก็ยังมีอยู่[41] นอกจากนั้นเพราะราคาที่ขึ้นเกิดขึ้นหลังจากที่หัวทิวลิปได้รับการปลูกแล้วในปีนั้น ฉะนั้นผู้ปลูกจึงไม่มีโอกาสที่จะเพิ่มจำนวนผลผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดได้[42]

ความเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย

ศาสตราจารย์ทางเศรษฐกิจของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส เอิร์ล เอ. ทอมสัน โต้แย้งในเอกสารการวิจัยในปี ค.ศ. 2007 ว่าคำอธิบายของการ์เบอร์ไม่สนับสนุนการทรุดตัวของราคาอย่างรวดเร็ว ราคาตกต่อปีของทิวลิปคือ 99.999% แทนที่จะเฉลี่ยราว 40% เช่นดอกไม้อื่น[43] ทอมสันให้คำอธิบายใหม่เกี่ยวกับความคลั่งทิวลิปของเนเธอร์แลนด์ว่า ขณะนั้นรัฐบาลเนเธอร์แลนด์อยู่ในระหว่างการพิจารณาออกประกาศ (ที่เดิมสนับสนุนโดยผู้ลงทุนการค้าทิวลิปในเนเธอร์แลนด์ผู้สูญเสียเงินไปเมื่อสถานการณ์ของเยอรมันเสื่อมถอยในสงครามสามสิบปี[44]) ในการเปลี่ยนวิธีการซื้อขายสัญญาหัวทิวลิป:

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1637 สมาคมนักปลูกดอกไม้ดัตช์ในการตัดสินใจที่ต่อมาอนุมัติโดยรัฐสภาดัตช์ประกาศว่า สัญญาการซื้อขายในอนาคตที่ทำหลังจากวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 1636 และก่อนที่จะเปิดตลาดเงินสดขึ้นอีกครั้งในต้นฤดูใบไม้ผลิให้ถือว่าเป็น สัญญาออปชัน พวกเขายกเลิกข้อผูกพันของผู้ซื้อล่วงหน้าที่จะต้องซื้อหัวทิวลิปในอนาคต บังคับให้ผู้ซื้อต้องชดเชยเงินให้แก่ผู้ขายเพียงไม่กี่เปอร์เซนต์ของราคาสัญญาแทน[45]

ก่อนที่รัฐสภาจะออกประกาศ ผู้ซื้อสัญญาทิวลิป—หรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่าสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (futures contract) —ต้องซื้อหัวทิวลิปตามกฎหมาย ประกาศใหม่เปลี่ยนแปลงลักษณะสัญญาที่ถ้าราคาทันที (Spot price) ตกผู้ซื้อก็มีโอกาสที่จะจ่ายเฉพาะค่าปรับและเลิกสัญญาโดยไม่ต้องจ่ายเต็มราคาตามที่ตกลงกันในสัญญา การเปลี่ยนกฎหมายนี้หมายความตามภาษาสมัยใหม่ว่าสัญญาซื้อขายล่วงหน้าถูกเปลี่ยนเป็นสัญญาออปชัน ข้อเสนอนี้เริ่มเป็นที่โต้แย้งกันระหว่างฤดูใบไม้ร่วงของปี ค.ศ. 1636 และถ้าผู้ลงทุนจะสามารถทราบได้ว่าประกาศนี้จะได้รับการอนุมัติและบังคับใช้อย่างแน่นอน ราคาสินค้าก็อาจจะสูงขึ้น[46]

การประกาศของรัฐสภาที่อนุญาตให้ผู้ซื้อสัญญาสามารถเลี่ยงสัญญาได้โดยการเสียค่าปรับเพียง 3.5 เปอร์เซนต์ของราคาสัญญา[47] ก็ยิ่งทำให้นักลงทุนซื้อขายกันด้วยราคาที่สูงหนักยิ่งขึ้นไปอีก นักเก็งกำไรสามารถลงนามในสัญญาซื้อทิวลิปเป็นจำนวน 100 กิลเดอร์ ถ้าราคาขึ้นสูงกว่า 100 กิลเดอร์ นักเก็งกำไรก็จะได้กำไรส่วนที่เกิน แต่ถ้าราคายังคงต่ำนักเก็งกำไรก็สามารถเลี่ยงสัญญาได้โดยเสียค่าปรับเพียง 3.5 กิลเดอร์ ฉะนั้นสัญญามูลค่า 100 กิลเดอร์ สำหรับผู้ลงทุนแล้วก็จะสูญเสียไม่เกิน 3.5 กิลเดอร์ ในเดือนกุมภาพันธ์ราคาสัญญาก็ถึงจุดสุดยอด เจ้าหน้าที่ดัตช์ก็เข้ามาหยุดยั้งการซื้อขายของสัญญาเหล่านี้[48]

ทอมสันกล่าวว่าตลอดช่วงเวลาเดียวกันนี้การซื้อหัวทิวลิปกันจริง ๆ ยังคงอยู่ในระดับปกติ ทอมสันจึงสรุปว่า “ความคลั่ง” เป็นพฤติกรรมที่มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายที่เกี่ยวกับการรักษาสัญญา[49] เมื่อดูจากข้อมูลเกี่ยวกับกรณีการจ่ายของสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และ สัญญาออปชัน ในบางกรณีแล้ว ทอมสันก็โต้ว่าแนวโน้มของราคาสัญญาหัวทิวลิปก็ใกล้เคียงกับแบบจำลองทางเศรษฐกิจที่ตั้งไว้ “ราคาสัญญาซื้อทิวลิปก่อน ระหว่าง และหลังจากการคลั่งทิวลิปดูเหมือนกับว่าจะแสดงลักษณะที่ตรงกันกับลักษณะของ “ความมีประสิทธิภาพของตลาด” (market efficiency) อย่างชัดแจ้ง”[50]

ข้อวิจารณ์

นักเศรษฐศาสตร์ผู้อื่นเชื่อว่าคำอธิบายต่าง ๆ ที่ว่าไม่สามารถอธิบายถึงราคาที่ขึ้นและตกอย่างรวดเร็วของหัวทิวลิปได้[51] ทฤษฎีของการ์เบอร์ก็ยังได้รับการท้าทายต่อไปว่าไม่ได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับราคาที่ขึ้นและตกอย่างรวดเร็วที่คล้ายคลึงกันของหัวทิวลิปแบบธรรมดา[52] นักเศรษฐศาสตร์บางท่านก็ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสภาวะการเก็งกำไรเช่นการขยายตัวของปริมาณเงินหมุนเวียน (money supply) ที่เห็นได้จากจำนวนเงินฝากที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากของธนาคารอัมสเตอร์ดัมระหว่างช่วงที่มีการคลั่งทิวลิป[53]

ใกล้เคียง

ความคิดแทรกซ้อน ความคิดเชิงไสยศาสตร์ ความคลั่งทิวลิป ความคิดเห็นทางศาสนาของไอแซค นิวตัน ความคลาดสี ความคุ้มกันแก่พระมหากษัตริย์ ความคิด ความคิด (เพลงอภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข) ความคลาดทางดาราศาสตร์ ความคุ้มกันทางทูต

แหล่งที่มา

WikiPedia: ความคลั่งทิวลิป http://www.andrewtobias.com/ExPopDel-1.html http://www.ft.com/cms/s/50e2255e-0025-11dc-8c98-00... http://books.google.com/books?id=gViwLbCJ7X0C&prin... http://slate.msn.com/id/2103985/ http://www.thetulipomania.com/ http://www.washingtonpost.com/wp-dyn/content/artic... http://www.econ.ucla.edu/thompson/Document97.pdf http://image.fs.uidaho.edu/vide/descr849.htm http://library.wur.nl/speccol/pamphlet.html http://library.wur.nl/tulip/