การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ของ จอร์จ_วอชิงตัน

วาดโดย จิลเบิร์ต สตูอาร์ต, ค.ศ. 1795

ในปี ค.ศ. 1789 คณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) มีมติเอกฉันท์เลือกวอชิงตันเป็นประธานาธิบดี และเลือกอีกครั้งในการเลือกตั้งปี ค.ศ. 1792 เขายังคงได้รับคะแนนอิเล็กโทรรัล โหวต 100% เหมือนเดิม[42] จอห์น แอดัมส์ถูกเลือกให้เป็นรองประธานาธิบดี วอชิงตันทำพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1789 ภายในอาคาร เฟดเดอรัลฮอล นิวยอร์กซิตี้ ถึงแม้ว่าในตอนแรกเขาไม่ต้องการที่จะรับตำแหน่งนี้[43]

สภาคองเกรสที่ 1 ได้ออกเสียงอนุมัติเงินเดือนของวอชิงตันที่ปีละ 25,000 ดอลลาร์ ซึ่งจัดว่ามีมูลค่ามากในขณะนั้น แต่เนื่องด้วยวอชิงตันได้เป็นผู้มีฐานะอยู่แล้ว จึงปฏิเสธที่จะรับเงินเดือนเพราะเขาเห็นว่าการเข้ารับตำแหน่งเป็นการทำงานรับใช้ประเทศอย่างไม่เห็นแก่ตน แต่ด้วยการหว่านล้อมของสภาฯ เขาจึงได้ยอมรับเงินเดือนนั้น ซึ่งเรื่องนี้ได้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ เพราะเขาและบรรดา “บิดาผู้ก่อตั้งประเทศ” (Founding fathers) ต้องการให้ตำแหน่งประธานาธิบดีในอนาคตสามารถมาจากคนที่กว้างขวาง โดยไม่ถูกจำกัดด้วยสถานะทางเศรษฐกิจของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี

วอชิงตันได้เข้ารับหน้าที่อย่างระมัดระวัง เขาต้องการให้มั่นใจได้ว่าระบบของสาธารณรัฐจะไม่ทำให้ตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นเหมือนกษัตริย์แห่งราชสำนักในยุโรป เขาชอบที่จะให้คนเรียกเขาว่า “ท่านประธานาธิบดี” (Mr. President) มากกว่าที่จะเรียกเป็นอื่นๆในลักษณะที่เรียกกษัตริย์

วอชิงตันได้พิสูจน์ว่าเขาเป็นนักบริหารที่มีความสามารถ เป็นคนรู้จักกระจายอำนาจและสามารถตัดสินใจได้อย่างชาญฉลาด เขาจะประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นประจำ ก่อนที่จะมีการตัดสินใจในท้ายสุด เขาเป็นคนทำงานอย่างมีกิจวัตร เป็นระบบ มีระเบียบ มีพลัง และถามหาความคิดเห็นจากคนอื่นๆในการตัดสินใจ โดยมีการมองที่เป้าหมายปลายทาง และคิดถึงการกระทำที่จะต้องตามมา[44]

หลังจากการรับตำแหน่งในวาระแรก เขาลังเลที่จะรับตำแหน่งต่อในวาระที่สอง และเขาปฏิเสธที่จะดำรงตำแหน่งต่อในวาระที่สาม และนั่นจึงเป็นประเพณีสืบต่อมาที่จะไม่มีใครรับตำแหน่งประธานาธิบดีเกิน 2 สมัย จนกระทั่งในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งที่ 22 ช่วงหลังสงครามโลกรั้งที่สองแล้ว จึงได้มีการตราเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญว่าประธานาธิบดีจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 สมัย[45]

ภายในประเทศ

วอชิงตันไม่ได้เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองใดๆ และคาดหมายไว้ว่าจะไม่จัดตั้งพรรคการเมือง ด้วยเกรงจะทำให้เกิดความขัดแย้งที่จะมีผลกระทบต่อรัฐบาล อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีของเขาเองได้แบ่งออกเป็นสองฝ่าย โดยกลุ่มรัฐมตรีว่าการกระทรวงการคลัง (Secretary of Treasury) คือ อเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน ต้องการให้รัฐบาลกลางมีแผนที่หนักแน่น สามารถมีเครดิตของชาติ และทำให้ประเทศมีอำนาจทางการเงิน กลุ่มนี้ได้ตั้งเป็นพรรคสหพันธรัฐนิยม ในอีกด้านหนึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คือ โธมัส เจฟเฟอร์สันได้ก่อตั้ง “พรรคสาธารณรัฐ” (Jeffersonian Republicans) ซึ่งต่อต้านแนวคิดของแฮมิลตัน และได้คัดค้านการเสนอวาระต่างๆในหลายกรณี แต่วอชิงตันในฐานะเป็นนักปฏิบัติค่อนข้างเอนเอียงไปทางแฮมิลตันมากกว่าเจฟเฟอร์สัน[46][47]

ในปี ค.ศ. 1791 สภาฯได้กำหนดให้มีภาษีจัดเก็บจากเหล้า ซึ่งได้มีการประท้วงจากเขตชายแดน โดยเฉพาะจากเพนซิลเวเนีย ในปี ค.ศ. 1794 หลังจากที่วอชิงตันออกคำสั่งและนำผู้ประท้วงขึ้นศาล ทำให้การประท้วงได้ขยายวงรุนแรงมากขึ้นที่เรียกว่า “กบฏเหล้า” (Whiskey Rebellion) รัฐบาลกลางมีกำลังทหารไม่มากพอ จึงใช้รัฐบัญญัติทหารกองหนุน ค.ศ. 1792 เรียกทหารกองหนุน จากรัฐเพนซิลเวเนีย, เวอร์จิเนีย, และรัฐอื่นๆ อีกหลายรัฐ บรรดาผู้ว่าการรัฐต่างๆ จึงส่งกำลังทหารตามคำสั่งของวอชิงตันและเดินทัพไปยังบริเวณที่เกิดกบฏ ในครั้งนี้ประธานาธิบดีนำทัพไปด้วย ซึ่งเป็นเพียงไม่กี่ครั้งในประวัติศาสตร์อเมริกันที่ผู้นำประเทศเป็นผู้นำทัพในลักษณะดังกล่าว และนับเป็นครั้งแรกที่รัฐธรรมนูญใหม่ได้กำหนดให้รัฐบาลกลางใช้มาตรการทางทหารมีอำนาจเหนือรัฐและประชาชน[48]

การต่างประเทศ

รูปปั้นของจอร์จ วอชิงตัน ในปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ในปี ค.ศ. 1793 รัฐบาลปฏิวัติของฝรั่งเศสได้ส่งทูต เอ็ดมุนด์ ชาร์ลส์ จีเน็ต ซึ่งได้เรียกว่า "ซิติเซน จีเน็ต" มายังสหรัฐอเมริกา เพื่อยื่นจดหมายการยอมรับความต่างศาสนา (letters of marque and reprisal) เพื่อให้เรือของสหรัฐจับกุมและควบคุมเรือของอังกฤษ จีเน็ตพยายามสร้างกระแสต่อประชาชนในเมืองใหญ่ๆ ในสหรัฐให้เข้าร่วมกับฝรั่งเศสที่ได้เป็นพันธมิตรกับสหรัฐ และเป็นสังคมสาธารณรัฐประชาธิปไตยร่วมกัน วอชิงตันเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการเข้าแทรกแซงกิจการภายในของสหรัฐ และได้ยื่นหนังสือให้รัฐบาลฝรั่งเศสเรียก จีเน็ตกลับและไม่ยอมรับการทำงานของเขา

ลายเอียดในจดหมาย letters of marque and reprisal นั้นให้เตือนและให้อำนาจแก่ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลฝรั่งเศสที่จะ ตรวจค้น ยึด หรือทำลายทรัพย์สิน หรือสิ่งที่เป็นเจ้าของโดยต่างชาติที่ได้ทำตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลของฝรั่งเศส วอชิงตันไม่ต้องการเข้าร่วมในสงครามที่เป็นปฏิปักษ์กันระหว่างฝรั่งเศสกับอังกฤษ

เพื่อเป็นการรักษาความสัมพันธ์ทางการค้าปกติกับอังกฤษ จึงถอนกำลังทหารออกจากป้อมด้านตะวันตก และจ่ายหนี้สงครามที่เกิดจากการปฏิวัติ แฮมิลตันและวอชิงตันได้กำหนดสนธิสัญญากับอังกฤษ คือ สนธิสัญญาเจย์ ซึ่งเป็นการเจรจาโดย จอห์น เจย์ ซึ่งได้ลงนามเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 1794 ฝ่ายเจฟเฟอร์สัน และผู้สนับสนุนมีความโน้มเอียงไปทางฝรั่งเศส และต่อต้านสนธิสัญญาฉบับนี้ แต่วอชิงตันและแฮมิลตันได้รณรงค์ในรัฐสภาและให้ผ่านร่างของ เจย์ อังกฤษได้ตกลงที่จะถอนกำลังทหารออกจากป้อมรอบๆบริเวณ เกรท เลกส์ มีการปรับปรุงเขตแดนระหว่างสหรัฐอเมริกากับแคนาดาให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น การยกเลิกหนี้และการยึดสินค้าของสหรัฐฯ อีกหลายประการ และทางอังกฤษได้เปิดดินแดนด้าน เวสต์ อินดี้ เพื่อทำการค้ากับทางสหรัฐฯ สิ่งสำคัญคือสหรัฐฯ ได้เลี่ยงสงครามกับอังกฤษ และได้นำความมั่งคั่งมาสู่ประเทศด้วยการคบค้ากับอังกฤษ แต่ได้สร้างความบาดหมางกับฝรั่งเศสและเป็นประเด็นทางการเมืองในเวลาต่อมา

แถลงการณ์ลาออก

คำกล่าวอำลาตำแหน่งของวอชิงตันในปี ค.ศ. 1796 เป็นคำกล่าวที่มีอิทธิพลมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองตอนหนึ่ง[49] ที่เขียนโดยวอชิงตัน ถูกตรวจทานและช่วยปรับปรุงเพิ่มเติมโดย แฮมิลตัน เป็นการให้คำแนะนำอันจำเป็นแก่ประเทศ ให้เห็นความสำคัญของการที่หลายๆ รัฐได้มารวมกันเป็นประเทศ ต้องให้ความสำคัญของรัฐธรรมนูญและต้องเคารพกฎหมาย ข้อเสียจากการมีระบบพรรคการเมือง และการให้ยึดในคุณค่าความเป็นระบบสาธารณรัฐ[50] แต่เขาปฏิเสธที่จะใส่ส่วนที่เกี่ยวข้องกับศาสนาที่อาจสร้างความขัดแย้ง แต่ให้เน้นความสำคัญของการศึกษา และเห็นว่าศีลธรรมของชาติจำเป็นต้องมีหลักการแห่งศาสนา[51]

วอชิงตันกล่าวเตือนถึงอิทธิพลจากยุโรป ที่จะมาแทรกแซงการเมืองภายในของสหรัฐฯ เขากล่าวเตือนว่าการเมืองภายในจะไม่เอนเอียงเข้ากับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เขาเรียกร้องให้อเมริกาเป็นอิสระจากการผูกพันกับต่างประเทศ แต่เป็นมิตรกับทุกประเทศ และเตือนไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสงครามในยุโรป หรือไปเป็นพันธมิตรที่ซับซ้อนพัวพัน (Entangling alliances)[52] คำกล่าวของเขาได้กลายเป็นค่านิยมของอเมริกันทางด้านศาสนาและด้านการต่างประเทศในยุคต่อมา

แหล่งที่มา

WikiPedia: จอร์จ_วอชิงตัน http://books.google.ca/books?id=_xISAAAAYAAJ&pg=PA... http://marriage.about.com/od/presidentialmarriages... http://www.american-presidents.com/george-washingt... http://www.earlyamerica.com/review/2005_winter_spr... http://www.freemasons-freemasonry.com/tabbert1.htm... http://books.google.com/books http://books.google.com/books?id=5Q81AAAAIAAJ&prin... http://books.google.com/books?id=5Q81AAAAIAAJ&prin... http://books.google.com/books?id=RXgg4cbWhsUC&pg=P... http://books.google.com/books?id=dBQOAAAAIAAJ&pg=R...