ยุคก่อนประวัติศาสตร์และรัฐโบราณในประเทศไทย ของ ประวัติศาสตร์ไทย

ดูบทความหลักที่: ประวัติศาสตร์ไทยช่วงต้น

หลักฐานยุคก่อนประวัติศาสตร์

เครื่องปั้นดินเผาวัฒนธรรมบ้านเชียง 1200-800 ปีก่อน ค.ศ.

นักโบราณคดีชาวฮอลันดา ดร. เอช. อาร์. แวน ฮิงเกอเรน ได้ขุดค้นพบเครื่องมือหินเทาะซึ่งทำขึ้นโดยมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ บริเวณใกล้สถานีบ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีข้อสันนิษฐานว่ามนุษย์เหล่านี้อาจเป็น มนุษย์ชวาและมนุษย์ปักกิ่ง[4] ซึ่งอยู่อาศัยเมื่อประมาณ 5 แสนปีมาแล้ว อันเป็นหลักฐานในยุคหินเก่า

เดวิด วัยอาจ (David Wyatt) เขียนว่า มีมนุษย์อยู่อาศัยในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปัจจุบันตั้งแต่ 40,000 ปีมาแล้ว โดยเริ่มจากการเก็บของป่าล่าสัตว์[5]:5 จนเริ่มมีการกสิกรรมเมื่อ 10,000–20,000 ปีก่อน พบว่ากลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าวอยู่กันกระจัดกระจายตั้งแต่ที่ราบจีนตอนกลางลงไปถึงคาบสมุทรอินโดนีเซีย มีเทคโนโลยีการปลูกข้าวและประดิษฐ์เรือมีกราบกันโคลงทำให้แล่นไปได้ถึงญี่ปุ่นและแอฟริกาตะวันออก มีการหล่อขวานสำริดอายุ 5,000 ปี เหล็กหล่ออายุ 3,000 ปีรวมทั้งเครื่องปั้นดินเผา[5]:5–6 ทั้งนี้ เชื่อว่าแหล่งโบราณคดีในบ้านเชียงและที่ราบสูงโคราชเป็นหลักฐานการปลูกข้าวและหล่อสำริดที่อาจมีอายุเก่าแก่ที่สุดในทวีปเอเชีย[6]:5

รัฐโบราณ

อาณาจักรฟูนานเป็นอาณาจักรแรกสุดและทรงอำนาจที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เจริญขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล โดยมีอาณาเขตครอบคลุมภาคกลางของประเทศไทยและทั้งประเทศกัมพูชาปัจจุบัน โดยมีเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับการค้าทางทะเลและเกษตรกรรม มีการติดต่อการค้าอย่างใกล้ชิดกับอินเดียและเป็นฐานสำหรับนักเผยแผ่ศาสนาฮินดู[6]:5

แผนที่อินโดจีนใน ค.ศ. 900 แสดงจักรวรรดิเขมร (สีแดง) ที่ครอบคลุมดินแดนส่วนใหญ่ของประเทศไทยปัจจุบัน; สีเขียวแก่คือหริภุญไชย และสีเขียวอ่อนคืออาณาจักรศรีวิชัย

ต่อมา ชาวมอญอาศัยช่วงที่ฟูนานเสื่อมลงตั้งอาณาจักรของตนในคริสต์ศตวรรษที่ 6 อาณาจักรทวารวดีตั้งอยู่ในพื้นที่ตอนกลางและตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยปัจจุบัน แต่รายละเอียดต่าง ๆ ยังไม่ค่อยทราบกันดีนัก[5]:30 โดยตั้งขึ้นเพื่อการค้าขายทางบกระหว่างอ่าวเมาะตะมะและอ่าวไทยผ่านด่านเจดีย์สามองค์ แต่มีการแผ่ขยายทางทิศตะวันออกไปถึงกัมพูชา ทางเหนือไปถึงเชียงใหม่และทางเหนือของประเทศลาว พอทราบว่ามีกลุ่มเมืองหนึ่งอยู่แถบนครปฐมและสุพรรณบุรี กลุ่มหนึ่งตั้งอยู่ที่ลพบุรี และอีกกลุ่มหนึ่งแถบที่ราบสูงโคราช[5]:32–3 ซึ่งคนไทในสมัยนั้นก็อาศัยอยู่ตามชายขอบของทวารวดี[5]:35 ประมาณต้นคริสต์ศตวรรษที่ 9 ชาวมอญตั้งอาณาจักรหริภุญไชยที่ลำพูน ซึ่งต่อมาเป็นศูนย์กลางทางศาสนาพุทธและวัฒนธรรม ส่วนชาวเขมรตั้งอาณาจักรใหญ่มีศูนย์กลางอยู่ที่อังกอร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 9[6]:7 ในคริสต์ศตวรรษที่ 8 รัฐมอญรับศาสนาพุทธผ่านผู้เผยแผ่ศาสนาจากเกาะลังกา และเผยแผ่ต่อให้จักวรรดิเขมร แม้มอญครอบงำทางวัฒนธรรมในภูมิภาค แต่มักตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าและเขมรอยู่เนือง ๆ ผลทำให้ในคริสต์ศตวรรษที่ 9 จักรวรรดิเขมรครอบงำลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาปัจจุบันทั้งหมด[6]:7 จักรวรรดิเขมรมีการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่จำนวนมากเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ แต่การหมกมุ่นกับการก่อสร้างมากเกินไปทำให้เศรษฐกิจของรัฐเสื่อมลง[6]:7

อาณาจักรตามพรลิงค์เป็นรัฐมลายูที่ควบคุมการค้าผ่านช่องแคบมะละกาที่ทรงอำนาจที่สุด เจริญขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 10 ตามพรลิงค์รวมเข้ากับอาณาจักรศรีวิชัยซึ่งเป็นสมาพันธรัฐทางทะเลที่มีอยู่ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 7 ถึง 13 ตามพรลิงค์รับศาสนาพุทธ แต่อาณาจักรมลายูที่อยู่ใต้ลงไปรับศาสนาอิสลาม ทำให้เกิดพรมแดนศาสนาระหว่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แผ่นดินใหญ่กับคาบสมุทรมลายู[6]:5

การเข้ามาตั้งถิ่นฐานของคนไท

แผนที่แสดงการกระจายทางภูมิศาสตร์ของผู้พูดภาษาตระกูลขร้า-ไท จะเห็นรูปแบบทั่วไปของการย้ายถิ่นของเผ่าที่พูดภาษาไทตามแม่น้ำและช่องเขาต่าง ๆ[7]:27

เดวิด วัยอาจเขียนว่า บรรพชนของคนไท-ไตที่อาศัยอยู่ในอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ พม่า ยูนนานใต้ ไทยและลาวปัจจุบัน คือ กลุ่มไท-ไตที่อยู่แถบเดียนเบียนฟูในคริสต์ศตวรรษที่ 5 ถึง 8[5]:9 โดยเชื่อว่าเป็นกลุ่มไท-ไตที่เดิมอาศัยอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำแดงที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้สุดของจีน และถูกจีนและเวียดนามแผ่แรงกดดันทางทหารและการปกครองเข้ามาจนประชากรกลุ่มหนึ่งเคลื่อนลงมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้[5]:9–10 พบว่าอาณาจักรน่านเจ้าที่อยู่ทางเหนือของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แผ่นดินใหญ่ ไม่ใช่อาณาจักรของคนไท-ไต แต่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์กลุ่มไท-ไตในแง่ที่ช่วยกั้นอิทธิพลของจีนจากทิศเหนือ และรับศาสนาพุทธและวัฒนธรรมอินเดียทางทิศตะวันตก[5]:20–1 และช่วยส่งเสริมการขยายตัวของกลุ่มไท-ไต[6]:9

มีการกล่าวถึงชาวไทยสยามครั้งแรกในนครวัดในคริสต์ศตวรรษที่ 12 โดยเรียกว่า "เสียม" หรือคนผิวน้ำตาล[6]:3 พบว่าคนไท-ไตในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 11–12 อาศัยอยู่แถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและตอนกลางของแม่น้ำโขงในลาว[5]:40 ลพบุรีซึ่งเป็นเมืองมอญถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิเขมรในคริสต์ศตวรรษที่ 11[5]:41 ลพบุรีเป็นศูนย์กลางของเสียม (สยำ) หรือเป็นเมืองที่รับผิดชอบการบริหารจัดการชาวเสียม[5]:42

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 11–12 ชาวไท-ไตตั้งรัฐใหม่ ๆ ทางเหนือของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แผ่นดินใหญ่ มีคำกล้าวอ้างว่าชาวไท-ไตปล้นสะดมและจับเชลยของเจ้านายไท-ไตหลายพระองค์ ผู้ปกครองที่พ่ายต่อชาวไท-ไตต่างเกรงกลัวยอมส่งเครื่องราชบรรณาการและให้เชื้อพระวงศ์อภิเษกสมรสด้วย ย่างเข้าคริสต์ศตวรรษที่ 13 ชาวไท-ไตต่าง ๆ ยังอยู่กันเป็นแว่นแคว้นไม่มีการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ในช่วงนี้เมืองของชาวไท-ไตมีขนาดพอ ๆ กันไม่มีเมืองใดใหญ่กว่าเมืองอื่น และตั้งอยู่รอบจักรวรรดิเขมรและอาณาจักรพุกาม ไปจนถึงตอนเหนือของลาว[5]:48–9

เมื่อจักรวรรดิเขมรและอาณาจักรพุกามเสื่อมอำนาจเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13 ทำให้เกิดรัฐใหม่ขึ้นเป็นจำนวนมากในเวลาไล่เลี่ยกัน อาณาจักรของชาวไทกินอาณาบริเวณตั้งแต่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดียปัจจุบันจนถึงทิศเหนือของลาว และลงไปถึงคาบสมุทรมลายู[5]:38–9 ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 13 มีประชากรชาวไทอาศัยอยู่มั่นคงในอดีตดินแดนแกนกลางของอาณาจักรทวารวดีและอาณาจักรลพบุรี จนถึงดินแดนนครศรีธรรมราช แต่ไม่มีบันทึกรายละเอียดการเข้ามาของชาวไท[5]:50–1

ใกล้เคียง

ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสนาพุทธ ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์จีน ประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์สหรัฐ ประวัติศาสตร์สเปน ประวัติศาสตร์เยอรมนี ประวัติศาสตร์อินเดีย