อาณาจักรอยุธยา ของ ประวัติศาสตร์ไทย

ดูบทความหลักที่: อาณาจักรอยุธยา
วัดพระศรีสรรเพชญ์ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

ประมาณกลางคริสต์ศตวรรษที่ 14 อาณาจักรอยุธยาเป็นอาณาจักรของคนไทขนาดใหญ่ เช่นเดียวกับล้านนาและสุโขทัย ท่ามกลางแว่นแคว้นจำนวนมากในภาคกลางของประเทศไทยปัจจุบัน นับเป็นครั้งแรกที่กษัตริย์ไทมีความทะเยอทะยานก่อตั้งมากกว่าชุมชนเมืองเล็ก ๆ[5]:89 ศูนย์กลางของอาณาจักรอยุธยาเป็นแคว้นลพบุรีในจักรวรรดิเขมรเดิม แคว้นลพบุรีรอดพ้นจากการพิชิตดินแดนของสุโขทัย โดยยังรักษาอิทธิพลเหนือที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก[5]:92–3 ในช่วงเวลานั้นแคว้นสุพรรณบุรีควบคุมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ชัยนาททางเหนือจนถึงชุมพรทางใต้[5]:94–5

พระเจ้าอู่ทอง (ครองราชย์ 1893–1912) ทรงก่อตั้งอาณาจักรอยุธยาในปี 1893 พระองค์ทรงยกทัพไปตีนครธม เมืองหลวงของจักรวรรดิเขมร จนสามารถปกครองเมืองได้ช่วงสั้น ๆ[5]:102 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ครองราชย์ 1913–31) ทรงหันไปสนพระทัยกับหัวเมืองเหนือ และทำสงครามกับสุโขทัยตลอดรัชกาล จนบังคับให้สุโขทัยยอมรับอำนาจเหนือของอยุธยาได้[5]:102 มีวิกฤตการสืบราชสมบัติอยู่เนือง ๆ ระหว่างราชวงศ์สุพรรณบุรีและลพบุรีอยู่หลายชั่วคน จนราชวงศ์สุพรรณบุรีชนะในปี 1952[8]:15 ในรัชกาลสมเด็จพระอินทราชา (ครองราชย์ 1952–67) กรุงศรีอยุธยาเข้าไปแทรกแซงการเมืองภายในสุโขทัย เริ่มจากลดฐานะเจ้าผู้ครองเป็นเจ้าสวามิภักดิ์ เข้าไปตัดสินปัญหาการสืบราชสมบัติ จนผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกรุงศรีอยุธยาในปี 1987[5]:104 ในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (ครองราชย์ 1967–91) นครธมถูกกองทัพอยุธยาตีแตก จนปกครองนครธมในฐานะหัวเมืองประเทศราชช่วงสั้น ๆ ก่อนถูกปล่อยให้ทิ้งร้าง[5]:105–6 สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (ครองราชย์ 1991–2031) ทรงรับช่วงการสงครามกับล้านนาต่อ พระองค์ยังทรงสร้างระบบควบคุมกำลังคนทำให้กรุงศรีอยุธยาได้เปรียบเหนือดินแดนเพื่อนบ้าน โดยมีระบบการควบคุมไพร่ปีละหกเดือนให้สังกัดขุนนางท้องถิ่น[5]:107 ระบบราชการเริ่มใช้ตามรูปแบบของจักรวรรดิเขมร คือ สร้างความห่างเหินระหว่างกษัตริย์กับราษฎร และควบคุมขุนนางด้วยเอกสารลายลักษณ์อักษรแทนการสวามิภักดิ์[5]:108–9 พระองค์ยังทรงออกกฎหมายจัดลำดับชั้นและแบ่งแยกหน้าที่ในสังคมที่ซับซ้อน ทรงตั้งจตุสดมภ์และเพิ่มตำแหน่งกลาโหมและมหาดไทย[8]:30

ประมาณปี 2000–2010 ราชอาณาจักรอยุธยาควบคุมคาบสมุทรมลายูและฝั่งทะเลเบงกอล คือ ทวายและตะนาวศรี ทำให้สามารถควบคุมการค้านานาชาติ ทำให้เรือสินค้าไม่ต้องอ้อมแหลมมะละกา[5]:129–30 การยึดครองมะละกาของโปรตุเกสในปี 2054 ทำให้อยุธยาเริ่มการติดต่อกับชาติตะวันตก โปรตุเกสส่งทูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับทั้งจัดหาปืนและอาวุธให้[5]:132 ในช่วงนี้เองกรุงศรีอยุธยาเริ่มพัฒนาวัฒนธรรมของตนเองโดยมีรูปแบบการแสดงออกทางภาษา วรรณคดีและพิธีกรรม และมีภูมิหลังจากมอญ เขมรและไท-ไตผสมกัน ซึ่งนับเป็นเอกลักษณ์นิยามความเป็น "สยาม" ต่างจากไทยวนล้านนาและลาวล้านช้าง[5]:134 ครั้นพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ (ครองราชย์ 2074–93) แห่งตองอูพิชิตอาณาจักรมอญโบราณที่หงสาวดีและตีเมืองเชียงกรานซึ่งเป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระไชยราชาธิราช (ครองราชย์ 2077–90) ทรงยกทัพไปชิงเมืองคืน[5]:137 สมเด็จพระไชยราชาธิราชยังทรงกังวลกับล้านนาด้วยจึงยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่สองครั้งแต่ไม่สามารถยึดเมืองหลวงได้[5]:137–8 หลังสิ้นรัชกาลเกิดการชิงราชสมบัติกัน ท้าวศรีสุดาจันทร์ยกขุนวรวงศาธิราชชู้รักของพระนางให้เป็นพระมหากษัตริย์ แต่ทรงราชย์ได้หกสัปดาห์ ก็ถูกบรรดาขุนนางสมคบกันลอบปลงพระชนม์และยกสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (ครองราชย์ 2091–2108 และ 2110–1) ให้สืบราชสมบัติ พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทรงยกกองทัพเรือนแสนมาล้อมกรุงศรีอยุธยาในปี 2092 แต่ไม่สำเร็จ[5]:139 พระเจ้าบุเรงนอง (ครองราชย์ 2094–2124) ทรงยกทัพมาตีอาณาจักรอยุธยาอีกครั้ง หลังสามารถควบคุมอาณาจักรล้านนาทั้งหมดไว้ได้[5]:141–3 ครั้งนี้พระมหาธรรมราชาเป็นผู้สนับสนุนพม่า และสุดท้ายสมเด็จพระมหาจักรพรรดิต้องยอมตามข้อเรียกร้องของพม่าและส่งพระราเมศวร พระราชโอรส เป็นองค์ประกัน[5]:142 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิพยายามอภิเษกสมรสทางการเมืองกับล้านช้าง แต่พระมหาธรรมราชาส่งข่าวให้พม่าชิงตัวเจ้าหญิงอภิเษก สมเด็จพระมหาจักรพรรดิส่งกองทัพไปตีพิษณุโลกเพื่อตอบโต้ แต่ถูกอุบายทำให้ถอนทัพกลับไป[5]:144 ในปี 2111–2 พระเจ้าบุเรงนองส่งกองทัพขนาดใหญ่มาตีกรุงศรีอยุธยาอีก กรุงศรีอยุธยารับศึกได้หนึ่งปีแต่สุดท้ายเสียกรุงให้แก่พม่าในวันที่ 8 สิงหาคม 2112[5]:145–7

ภาพยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรกับพระมหาอุปราชาของพม่าในปี 2135 ณ วัดสุวรรณดาราราม

พม่าให้สมเด็จพระมหาธรรมราชา (ครองราชย์ 2112–33) ปกครองกรุงศรีอยุธยาในฐานะเจ้าประเทศราช อาณาจักรอ่อนแอลงจนถูกกัมพูชาถือโอกาสบุกเข้ามากวาดต้อนผู้คนถึง 6 ครั้งในรอบสองทศวรรษ[5]:156 พระนเรศวรทรงแสดงพระปรีชาสามารถทางทหารในการต่อสู้กับกัมพูชา และเสด็จไปร่วมปราบรัฐฉานกับกองทัพพม่า[5]:157–8 หลังจากนั้น พระนเรศวรถูกลอบปองร้ายจากราชสำนักพม่าจึงยกทัพกลับบ้านเกิด ทรงรบป้องกันบ้านเมืองจากพม่าและกัมพูชาสามครั้งในช่วงปี 2128–30[5]:158 ในปี 2135 พระมหาอุปราชาของพม่ายกทัพมาทางกาญจนบุรี สมเด็จพระนเรศวร (ครองราชย์ 2133–48) ยกทัพไปรับศึกที่หนองสาหร่ายและชนช้างชนะพระมหาอุปราชา ผลของศึกทำให้กรุงศรีอยุธยาเป็นอิสระมั่นคง[5]:158–9 หลังจากสมเด็จพระนเรศวรยึดหัวเมืองชายทะเลของพม่าและกัมพูชา และได้ล้านนามาอยู่ในอำนาจแล้ว พระองค์ทรงทำสงครามลึกเข้าไปในแผ่นดินพม่าอีกตลอดรัชกาล และสวรรคตขณะทรงยกทัพไปตีรัฐฉานเพื่อชิงตัดหน้าการรวบรวมอำนาจของพม่าใหม่[5]:163

โกษาปาน ณ ราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส

หลังจากนั้น การค้าต่างประเทศของกรุงศรีอยุธยาเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ สาเหตุเพราะมีความสัมพันธ์อันดีกับโปรตุเกส ฟิลิปปินส์ (ในการปกครองของสเปน) จีน ญี่ปุ่นและรีวกีว และควบคุมเมืองตะนาวศรีและทวายฝั่งอ่าวเบงกอล[5]:163–4 สมเด็จพระเอกาทศรถ (ครองราชย์ 2148–53) ทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างชาติ ทรงส่งทูตไปฮอลันดาเป็นคณะแรกในปี 2151 และไปเมืองกัวของโปรตุเกสในอินเดียในปี 2149[5]:171 สมเด็จพระนารายณ์ (ครองราชย์ 2199–2231) ทรงขึ้นครองราชย์ได้ด้วยความช่วยเหลือของคนต่างด้าว[5]:175 ในรัชกาลของพระองค์ทรงอนุญาตให้เผยแผ่ศาสนาคริสต์ และมีคณะเยซูอิตมาช่วยเหลือราชสำนักอยุธยาในด้านการช่าง ทรงส่งทูตไปยังราชสำนักของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสในปี 2223[5]:179 และคอนสแตนติน ฟอลคอนซึ่งมีพื้นเพเป็นนักแสวงโชคชาวกรีก ค่อย ๆ ไต่เต้าตำแหน่งราชการในพระคลัง จนสุดท้ายเป็นสมุหนายกซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของขุนนางฝ่ายพลเรือน[5]:177,180 ในปี 2231 เกิดการปฏิวัติเนื่องจากอิทธิพลของฟอลคอนในราชสำนักและความประพฤติเสื่อมเสียของคนต่างด้าวที่มีอยู่นานแล้ว สุดท้ายสมเด็จพระเพทราชา (ครองราชย์ 2231–48) เถลิงราชสมบัติแทน[5]:185–6 ผลทำให้บาทหลวงคริสต์ถูกจำคุก และชาวคริสต์ถูกปฏิบัติอย่างโหดร้าย แต่ชาติอื่นที่มิใช่ฝรั่งเศสยังอยู่กันปกติ และไม่นานบาทหลวงฝรั่งเศสก็มีอิสระในการเผยแผ่ศาสนาอีกครั้ง[5]:186

ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ (ครองราชย์ 2251–75) ชาวจีนเริ่มมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองเพิ่มขึ้น[5]:196–7 หลังสิ้นรัชกาล เกิดการแก่งแย่งราชสมบัติซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (ครองราชย์ 2275–2301) ได้ครองราชบัลลังก์ ทรงพยายามแก้ไขปัญหาดุลอำนาจระหว่างพระมหากษัตริย์กับเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ กล่าวคือ เพิ่มตำแหน่งเจ้าทรงกรมเพื่อให้มีไพร่ที่บังคับน้อยลง ผลทำให้การควบคุมคนเกิดความแตกแยก[5]:198–9 คนรุ่นหลังยกให้รัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเป็นยุคทอง เพราะทรงทำนุบำรุงศาสนาพุทธ และส่งสมณทูตไปลังกาหลายคณะ[5]:200 และทรงทำให้กรุงศรีอยุธยามีบทบาทในระดับนานาชาติอีกครั้ง ทรงแทรกแซงกัมพูชาจนยกเจ้าที่นิยมอยุธยาเป็นพระมหากษัตริย์ได้สำเร็จ และรับผู้อพยพชาวมอญหงสาวดี[5]:201 ในทศวรรษสุดท้าย เกิดการแข่งขันชิงอำนาจกันมโหฬารระหว่างตระกูลขุนนางที่ต้องการขยายอำนาจในกิจการการค้าระหว่างประเทศและกำลังคน[5]:204–5 ในปี 2300 ราชวงศ์โก้นบองของพม่าฟื้นฟูอำนาจหลังตองอูถูกมอญพิชิตไปก่อนหน้านี้ พระเจ้าอลองพญา (ครองราชย์ 2295–2303) ทรงยกทัพมาตีอาณาจักรอยุธยาแต่ล้มเหลวเพราะสวรรคตกลางคัน[5]:208–9 สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (ทรงราชย์ 2301–10) ทรงสนองต่อการขอความช่วยเหลือจากเชียงใหม่ด้วยการส่งกำลังเล็ก ๆ ไปช่วยเหลือแต่ไปไม่ทัน[5]:211 ในปี 2308 พระเจ้ามังระ (ครองราชย์ 2306–19) ทรงส่งกองทัพใหญ่มาตีกรุงศรีอยุธยาเป็นสองทาง สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ทรงใช้ยุทธศาสตร์ตั้งรับในกรุงและรอฤดูน้ำหลากเป็นหลัก แต่พม่าสามารถเตรียมการรับมือได้จึงไม่ได้ล่าถอยไป หลังการล้อมกรุงนานปีกว่า สุดท้ายกรุงศรีอยุธยาจึงเสียเป็นครั้งที่สองเมื่อปี 2310[5]:210–2

ความรุ่งเรืองและเสื่อมของอาณาจักรล้านนา และล้านนาในฐานะประเทศราช

ในคริสต์ศตวรรษที่ 14 และ 15 อาณาจักรล้านนามีความขัดแย้งกับดินแดนเพื่อนบ้านหลายแห่ง และอยู่ในภาวะสงครามภายในบ่อยครั้ง[5]:112–3 ล้านนาใช้ระบบส่งผู้แทนส่วนกลางไปควบคุมเขตกึ่งเอกเทศหลายร้อยเขต ซึ่งเจ้าล้านนาประสบความสำเร็จมากน้อยไม่เท่ากันในการสร้างเอกภาพในอาณาจักร[5]:114 พญากือนา (ครองราชย์ 1910–28) ทรงตั้งศาสนาพุทธนิกายลังกาวงศ์และตั้งวัดสวนดอก ซึ่งจะเป็นพลังชี้นำทางปัญญาและวัฒนธรรมในอาณาจักร รวมทั้งพัฒนาความสำนึกเรื่องอัตลักษณ์ของชาวไทยวน[5]:115–6 ในรัชกาลพญาแสนเมืองมา (ครองราชย์ 1928–44) และพญาสามฝั่งแกน (ครองราชย์ 1944–53) เกิดการแก่งแย่งบัลลังก์กัน และมีการชักศึกภายนอก คือ สุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา[5]:116–7 ในปี 1947–8 ล้านนาสามารถต้านทานกองทัพขนาดใหญ่จากยูนนานได้สำเร็จ[5]:117 พระเจ้าติโลกราช (ครองราชย์ 1985–2030) ทรงได้รับยกย่องว่าเป็นพระมหากษัตริย์ล้านนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ทรงใช้เวลาทศวรรษแรกปราบปรามผู้ชิงบัลลังก์ทั้งหลาย[5]:117–8 ในปี 1992 พระองค์ยังทรงครองอำนาจเหนือนครน่านหลังเอาใจออกห่างโดยร่วมมือกับแพร่และหลวงพระบาง[5]:118 ระหว่างปี 1985 ถึง 2029 ทรงผลัดกันเป็นฝ่ายบุกและตั้งรับในสงครามกับกรุงศรีอยุธยาโดยต่างฝ่ายต่างไม่อาจเอาชนะอีกฝ่ายได้[5]:118–21 หลังรัชกาลพญาเกศเชษฐราช (ครองราชย์ 2069–81 และ 2086–8) อาณาจักรล้านนาเข้าสู่ยุคเสื่อมเพราะการสืบราชสมบัติที่ไม่ราบรื่นและขุนนางมีอำนาจเหนือพระมหากษัตริย์[5]:125–6 หลังจากนั้นมีการแทรกแซงทางการเมืองจากทั้งกรุงศรีอยุธยาและล้านช้าง ขุนนางบางส่วนยกให้สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ล้านช้างขึ้นครองราชย์ช่วงสั้น ๆ[5]:126–7

ราชวงศ์มังรายสิ้นสุดลงเมื่อเชียงใหม่ตกเป็นของพม่าในปี 2101 พม่าเป็นผู้แต่งตั้งเจ้าผู้ครองล้านนาในฐานะประเทศราช และมีการเกณฑ์ทหารและเสบียงเพื่อทำสงครามกับกรุงศรีอยุธยา[5]:187 หลังพม่าขาดเอกภาพหลังพระเจ้านันทบุเรงเสด็จสวรรคตในปี 2142 เจ้าเชียงใหม่ถูกตัดขาดจากความช่วยเหลือในศึกกับล้านช้าง จึงทรงยอมอยู่ภายใต้อำนาจของกรุงศรีอยุธยาในช่วงสั้น ๆ[5]:188 พระเจ้าอะเนาะเพะลูนทรงส่งทัพไปยึดหัวเมืองเหนืออีกครั้งในปี 2156 แต่ปล่อยให้ล้านนาแตกออกเป็นเมืองเล็กน้อย[5]:188–9 หลังเจ้าพลศึกศรีสองเมือง (ครองราชย์ 2158–74) ประกาศอิสรภาพต่อพม่าไม่สำเร็จ พม่าเริ่มเปลี่ยนมาตั้งเจ้าเมืองเชียงใหม่ขึ้นปกครองโดยตรง[5]:189 ในปี 2204 สมเด็จพระนารายณ์ยกทัพมาตีเชียงใหม่และลำปางได้ แต่ไม่สามารถยึดครองเมืองไว้ได้[5]:190 หลังจากนั้น พม่าส่งเจ้ามาปกครองเป็นอุปราชเหมือนก่อน บ้านเมืองยากจนและประชากรน้อยลงเพราะถูกขูดรีดภาษีและเกณฑ์คนไปมาก และตกเป็นเหยื่อของดินแดนใกล้เคียง[5]:190–1 ระหว่างปี 2270 ถึง 2306 แม้ว่าพม่าจะยังควบคุมดินแดนส่วนใหญ่ของล้านนาไว้ได้ แต่กลุ่มผู้นำในเมืองเชียงใหม่แข็งเมืองต่อพม่า[5]:191–2, 209

ใกล้เคียง

ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสนาพุทธ ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์จีน ประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์สหรัฐ ประวัติศาสตร์สเปน ประวัติศาสตร์เยอรมนี ประวัติศาสตร์อินเดีย