ผลต่อความผิดปกติทางประสาท ของ ผลทางประสาทชีวภาพของการออกกำลังกาย

การติด

หลักฐานทางคลินิกและพรีคลินิกแสดงว่า การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะที่ต้องอึดสู้ (เช่น การวิ่งมาราธอน) จริง ๆ สามารถป้องกันการติดยา และเป็นการรักษาเสริมที่มีประสิทธิผล โดยเฉพาะการติดยากระตุ้นจิต (เช่น แอมเฟตามีน)[23][24][25][26]การออกกำลังกายแบบแอโรบิกให้สม่ำเสมอสามารถลดความเสี่ยงการติดยาขึ้นอยู่กับว่าออกหนักเท่าไร (คือ โดยระยะเวลาและความหนักเบา) ซึ่งปรากฏโดยเป็นการฟื้นสภาพทางสมองจากการติดยา[23][24]งานทบทวนวรรณกรรมหนึ่งให้ข้อสังเกตว่า การออกกำลังกายอาจป้องกันการติดยาโดยเปลี่ยนการทำงานของ ΔFosB และ c-Fos (วัดโดย immunoreactivity) ของสมองส่วน striatum และส่วนอื่นของระบบรางวัล เพราะทั้ง ΔFosB และ c-Fos มีส่วนปรับสภาพสมองเมื่อเกิดการติด[26]

นอกจากนั้นแล้ว การออกกำลังกายแบบแอโรบิกยังลดการใช้ยากระตุ้นจิตเอง ลดการกลับมาใช้ยาอีกหรือการหายา และฟื้นสภาพของ striatal dopamine receptor D2 (DRD2) signaling คือคืนความหนาแน่นของ DRD2 ที่ลดลงเพราะใช้ยา[23][24]ดังนั้น การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอโดยเป็นการรักษาเสริมอาจให้ได้ผลการรักษาที่ดีกว่าสำหรับการติดยา[23][25] โดยเดือนกรกฎาคม 2558 ยังต้องมีงานวิจัยทางคลินิกอีกเพื่อจะเข้าใจถึงกลไกการทำงานและยืนยันประสิทธิผลของการออกกำลังกายในการรักษาและป้องกันการติดยา[26]

โรคสมาธิสั้น

การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะแบบแอโรบิก เป็นการรักษาเสริมที่มีประสิทธิผลในเด็กและผู้ใหญ่ที่มีโรคสมาธิสั้น (ADHD) โดยเฉพาะเมื่อใช้ร่วมกับยากระตุ้น (เช่น แอมเฟตามีน หรือ methylphenidate) แม้ความหนักเบาและรูปแแบบของการออกกำลังกายที่ได้ผลดีที่สุดยังไม่ชัดเจน[21][22][85]โดยเฉพาะก็คือ ผลระยะยาวของการออกกำลังกายแบบแอโรบิกอย่างสม่ำเสมอในคนไข้ ADHD รวมทั้งพฤติกรรมที่ดีกว่า สมรรถภาพการเคลื่อนไหวที่ดีกว่า executive functions ที่ดีกว่า (รวมทั้งการใส่ใจ การหยุดพฤติกรรมอัตโนมัติ และการวางแผน ในบรรดากิจทางการรู้คิดทั้งหลาย) การประมวลข้อมูลได้เร็วกว่า และความจำที่ดีกว่า[21][22][85]

การให้คะแนนจากผู้ปกครอง-ครู ทางพฤติกรรมและทางสังคม-อารมณ์ ที่เป็นผลของการออกกำลังกายแบบแอโรบิกเป็นประจำรวมทั้งความดีขึ้นทั่วไป การลดอาการ ADHD ความภูมิใจในตนที่ดีกว่า การลดระดับความวิตกกังวลและความซึมเศร้า การบ่นเรื่องอาการทางกายอื่น ๆ ที่น้อยลง การเรียนที่ดีกว่า ความประพฤติที่ดีกว่าในห้องเรียน และพฤติกรรมทางสังคมที่ดีกว่า[21]การออกกำลังกายเมื่อกำลังทานยากระตุ้นเพิ่มผลของยาต่อ executive functions[21]เชื่อว่า ผลระยะสั้นของการออกกำลังกายเช่นนี้อำนวยโดยการเพิ่มขึ้นของโดพามีนและนอร์เอพิเนฟรินที่ไซแนปส์ของเซลล์ประสาทในสมอง[21]

โรคซึมเศร้า

งานทบทวนวรรณกรรมทางการแพทย์จำนวนหนึ่งชี้ว่า การออกกำลังกายมีผลแก้ซึมเศร้าที่ชัดเจนและคงยืนในมนุษย์[5][15][16][19][86][87]ซึ่งเชื่อว่าอำนวยผ่านกระบวนการ BDNF signaling ที่ดีขึ้นในสมอง[8][19]งานปริทัศน์เป็นระบบหลายงานได้วิเคราะห์โอกาสที่การออกกำลังกายจะช่วยรักษาโรคซึมเศร้า (MDD) งานทบทวนวรรณกรรมแบบคอเครนปี 2556 ให้ข้อสังเกตว่า แม้จะมีหลักฐานจำกัด แต่การออกกำลังกายมีผลดีกว่าการแทรกแซงรักษาที่ใช้ในกลุ่มควบคุม และอาจมีผลเทียบกับจิตบำบัดหรือยาแก้ซึมเศร้าได้[86]

งานปริทัศน์เป็นระบบปี 2557 อีก 3 งาน ซึ่งวิเคราะห์งานทบทวนแบบคอเครนด้วย สรุปโดยคล้าย ๆ กัน งานหนึ่งชี้ว่า การออกกำลังกายมีประสิทธิผลเท่ากับการรักษาเสริม (adjunct treatment) แบบอื่น ๆ ที่ใช้ร่วมกับยาแก้ซึมเศร้า[19]ส่วนงานอีก 2 งานชี้ว่า การออกกำลังกายมีผลแก้ความซึมเศร้าอย่างชัดเจน และแนะนำให้รวมการออกกำลังกายเป็นการรักษาเสริมสำหรับโรคซึมเศร้าระดับปานกลาง-รุนแรง และสำหรับความเจ็บป่วยทางจิตใจอื่นโดยทั่วไป[15][16]

งานปริทัศน์อีกงานหนึ่งให้ข้อสังเกตว่า โยคะอาจมีประสิทธิผลบรรเทาอาการโรคซึมเศร้าก่อนคลอดบุตร (prenatal depression) ของหญิงมีครรภ์[88]ส่วนงานทบทวนอีกงานหนึ่งแสดงว่า หลักฐานจากการทดลองทางคลินิกสนับสนุนว่า การออกกำลังกายมีผลดีต่อการรักษาโรคซึมเศร้าที่ช่วง 2-4 เดือน[5]แต่งานทบทวนหลักฐานทางคลินิกปี 2558 และแนวทางทางการแพทย์สำหรับรักษาโรคซึมเศร้าด้วยการออกกำลังกายให้ข้อสังเกตว่า แม้หลักฐานเกี่ยวกับประสิทธิผลของการออกกำลังกายจะมีข้อจำกัด[20]แต่ก็ชัดเจนว่าช่วยลดอาการของโรค[20]แล้วให้ข้อสังเกตด้วยว่า ลักษณะคนไข้ รูปแบบความซึมเศร้า และลักษณะโปรแกรมการออกกำลังกายล้วนมีผลต่อการแก้ความซึมเศร้า[20]

งานวิเคราะห์อภิมานเดือนกรกฎาคม 2559 สรุปว่า การออกกำลังกายเพิ่มคุณภาพชีวิตโดยทั่วไปในคนไข้โรคซึมเศร้าเทียบกับกลุ่มควบคุม[11]

โรคประสาทเสื่อม

โรคอัลไซเมอร์

โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคประสาทเสื่อมในเขตเปลือกสมอง และเป็นรูปแบบภาวะสมองเสื่อมที่สามัญที่สุด คือที่ 65%ซึ่งกำหนดโดยการรู้คิดที่พิการ ความผิดปกติทางพฤติกรรม และสมรรถภาพการใช้ชีวิตประจำวันที่ลดลง[27][28]งานปริทัศน์เป็นระบบ 2 งานทบทวนการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (RCT) ที่มีระยะ 3-12 เดือน และตรวจสอบผลของการออกกำลังกายต่อลักษณะต่าง ๆ ที่ว่าของโรค[27][28]แล้วพบประโยชน์ต่อการรู้คิด อัตราการเสื่อมการรู้คิด และการใช้ชีวิตประจำวันของบุคคลที่เป็นโรค[27][28]งานหนึ่งเสนอว่า โดยอาศัยแบบจำลองหนูที่ตัดต่อยีนข้ามพันธุ์ (transgenic) ผลต่อการรู้คิดของการออกกำลังกายในโรคอัลไซเมอร์ อาจมีเหตุมาจากการลดปริมาณ amyloid plaque ซึ่งเชื่อว่าอาจเป็นเหตุของโรค[27][89]

งานศึกษาหนึ่ง (Caerphilly Prospective study) ติดตามชาย 2,375 คนตลอด 30 ปีและตรวจดูความสัมพันธ์ระหว่างวิถีชีวิตที่ถูกสุขภาพกับภาวะสมองเสื่อม ในบรรดาปัจจัยที่ตามดูทั้งหมด[90]การวิเคราะห์ข้อมูลของงานศึกษาแสดงว่า การออกกำลังกายสัมพันธ์กับการเกิดภาวะสมองเสื่อมที่ต่ำลง และการลดความเสื่อมในการรู้คิด[90][91]งานปริทัศน์เป็นระบบต่อมางานหนึ่งทบทวนงานศึกษาตามยาวต่าง ๆ ก็พบระดับการออกกำลังกายที่สูงขึ้นว่าสัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมและความเสื่อมในการรู้คิดเช่นกัน[33]งานนี้ยังแจ้งอีกด้วยวว่า การออกกำลังกายที่เพิ่มขึ้นดูจะเป็นเหตุของความเสี่ยงที่ลดลงเหล่านั้น[33]

โรคพาร์คินสัน

โรคพาร์คินสัน (PD) เป็นความผิดปกติทางการเคลื่อนไหวที่มีอาการคล้ายกับอาการเคลื่อนไหวช้า (hypokinesia) ตัวแข็ง ตัวสั่น และท่าเดินที่เสียไป[92]

งานทบทวนวรรณกรรมปี 2549 พบว่า มีระบบสารสื่อประสาทบางอย่างที่ได้ประโยชน์จากการออกกำลังกาย[93]มีงาน 2-3 งานที่รายงานว่าสุขภาพสมองและการรู้คิดดีขึ้นเพราะการออกกำลังกาย[93]งานหนึ่งโดยเฉพาะในปี 2542 พบว่า การออกกำลังกายแบบแอโรบิกปรับปรุงกระบวนการ executive control สนับสนุนโดยเขตด้านหน้าและเขต prefrontal ของสมอง[94]เขตเหล่านี้เป็นเหตุของความบกพร่องทางการรู้คิดของคนไข้โรคพาร์คินสัน แต่ก็คาดว่า ความแตกต่างของสิ่งแวดล้อมทางเคมีประสาทในสมองกลีบหน้าของคนไข้อาจจะห้ามประโยชน์จากการออกกำลังกาย[95]งานปี 2553 ศึกษาทฤษฎีนี้ที่ทดสอบผู้ร่วมการทดลองที่เป็นคนไข้ระยะต้นหรือกลางและกลุ่มควบคุมทางการรู้คิด/ภาษา ร่วมกับการออกกำลังกายซึ่งคนไข้จะออกกำลังแบบแอโรบิก 20 นาทีอาทิตย์ละ 3 ครั้งเป็นเวลา 8 อาทิตย์โดยปั่นจักรยานอยู่กับที่แล้วพบว่า การออกกำลังกายช่วยให้ได้คะแนนการรู้คิดที่ดีขึ้น[95]โดยเป็นหลักฐานว่า โปรแกรมการออกกำลังกายอาจมีประโยชน์กับคนไข้ PD

แหล่งที่มา

WikiPedia: ผลทางประสาทชีวภาพของการออกกำลังกาย http://www.icd9data.com/2015/Volume3/87-99/93/defa... http://emedicine.medscape.com/article/324583-overv... http://link.springer.com/article/10.1007%2Fs00702-... http://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/apa.126... //www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC1724404 //www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2040025 //www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2817271 //www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3041121 //www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3139704 //www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3567313