ประติมานวิทยา ของ พระคเณศ

เทวรูปพระพิฆเนศ ศตวรรษที่ 13 ศิลปะโหยสละ พบที่รัฐกรณาฏกะ

พระคเณศถือว่าได้รับความนิยมมากในศิลปะอินเดีย[39] และมีพระลักษณะที่หลากหลายไปตามเวลา ต่างจากในเทพฮินดูส่วนใหญ่[40] มีพระลักษณะทรงยืน ร่ายรำ ทรงเอาชนะอสูรร้าย ประทับกับพระบิดาและมารดาในลักษณะพลคณปติ (พระคเณศวัยเยาว์) หรือประทับบนบัลลังก์ รายล้อมด้วยพระชายา

รูปเคารพของพระคเณศเริ่มพบทั่วไปในหลายส่วนของประเทศอินเดียในศตวรรษที่ 6[41] รูปปั้นจากช่วงศตวรรษที่ 13 เป็นรูปแบบของรูปปั้นพระพิฆเนศที่สร้างในช่วงปี 900–1200 หลังจากที่พระพิฆเนศได้รับการยอมรับเป็นเทพเจ้าเอกเทศอย่างมั่นคงและมีนิกายของพระองค์ (คาณปตยะ) พระลักษณะที่พบในระยะนี้เริ่มเป็นลักษณะทางประติมานวิทยาที่พบทั่วไปของพระคเณศบางประการ และมีรูปปั้นที่ลักษณะคล้ายกันมากที่ปอล มาร์ติน-ดูบอสต์ (Paul Martin-Dubost) ประมาณอายุไว้ที่ราวปี 973–1200[42] นอกจากนี้ยังพบรูปปั้นคล้ายกันซึ่งประทปติยะ ปาล (Pratapaditya Pal) ระบุอายุว่ามาจากศตวรรษที่ 12[43] พระคเณศทรงมีพระเศียรเป็นช้าง และทรงมีพระอุทร (ท้อง) โต ทรงมีสี่กร และทรงงาที่หักในหัตถ์ขวา อีกหัตถ์หนึ่งทรงชามขนม รูปแบบที่ซึ่งพระคเณศทรงหันงวงอย่างชัดเจนไปทางหัตถ์ซ้ายที่ทรงขนม เป็นพระลักษณะหนึ่งที่ถือว่าเก่าแก่พอควร[44] ส่วนรูปสลักที่เก่าแก่กว่านี้ที่พบในถ้ำเอลโลราแห่งหนึ่งในลักษณะเดียวกันนี้วัดอายุได้ประมาณศตวรรษที่ 7[45] รายละเอียดของหัตถ์อีกข้างของพระองค์นั้นยากที่จะคาดคะเนได้ว่าทรงสิ่งใด ในรูปแบบมาตรฐานนั้น พระคเณศมักทรงขวานปราศุหรือประดักช้างในพระหัตถ์บน และทรงบ่วงบาศ ในอีกพระหัตถ์บนส่วนรูปที่พระองค์ทรงถือศีรษะมนุษย์นั้นพบน้อยมาก[46]

อิทธิพลของการจัดเรียงองค์ประกอบทางประติมานวิทยาดั้งเดิมนี้ยังพบได้ในรูปพระคเณศแบบร่วมสมัย ในปางสมัยใหม่ปางหนึ่งเปลี่ยนเพียงหัตถ์ล่างจากทรงบาศหรือทรงงาที่หักเป็นทรงทำอภัยมุทรา[47] นอกจากนี้ยังพบลักษณะการจัดเรียงในสี่หัตถ์นี้ในรูปแบบที่พระคเณศทรงร่ายรำเช่นกัน ลักษณะทรงร่ายรำนี้ถือว่าได้รับความนิยมสูงเช่นเดียวกัน[48]

พระลักษณะทั่วไป

ลักษณะทั่วไปของพระคเณศ ทรงมีสี่กร ในภาพคือภาพเขียนศิลปะนูรปุระ (ปี 1810)[49]

พระลักษณะของพระคเณศที่มีพระเศียรเป็นช้างนั้นพบมาตั้งแต่ในศิลปะอินเดียยุคแรก ๆ[50] ปกรณัมในปุราณะเล่าคำอธิบายมากมายถึงที่มาของพระเศียรที่ทรงเป็นช้าง[51] นอกจากนี้ยังพบพระลักษณะ "พระเหรัมภะ" คือปางห้าเศียร และปางอื่น ๆ ที่มีจำนวนพระเศียรหลากหลายเช่นกัน[52] คัมภีร์บางส่วนระบุว่าพระองค์ประสูติมาพร้อมกับพระเศียรที่เป็นช้าง แต่ส่วนใหญ่ระบุว่าทรงได้รับพระเศียรนี้ในภายหลัง[53] ความเชื่อหนึ่งที่นิยมแพร่หลายมากที่สุดคือ พระปารวตีเป็นผู้สร้างพระคเณศจากดินเหนียวเพื่อปกป้องพระองค์เอง แล้วพระศิวะก็ทรงตัดพระเศียรของพระคเณศออกเมื่อพระองค์เข้าแทรกระหว่างพระศิวะและพระปารวตี และประทานพระเศียรช้างให้แทนพระเศียรเดิม[54] ส่วนรายละเอียดการยุทธ์ต่าง ๆ และว่าพระเศียรช้างที่นำมาแทนนั้นมาจากที่ใดนั้นแตกต่างกันไปตามเอกสารต่าง ๆ[55][56] อีกความเชื่อหนึ่งระบุว่าพระคเณศประสูติจากเสียงพระสรวลของพระศิวะ แต่ด้วยพระลักษณะของพระคเณศที่ประสูติออกมานั้นเป็นที่ล่อตาล่อใจเกินไป จึงทรงประทานพระเศียรใหม่ที่เป็นช้าง และพระอุทร (ท้อง) อ้วนพลุ้ย[57]

พระนามที่เกิดขึ้นในภายหลังที่สุดคือ "เอกทันต์" หรือ "เอกทนต์" (งาเดียว) มาจากพระลักษณะที่ทรงมีงาเพียงข้างเดียว อีกข้างนั้นแตกหัก[58] บางพระรูปที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นปรากฏทรงถืองาที่หัก[59] ความสำคัญของลักษณะ "เอกทันต์" สะท้อนออกมาในมุทกลปุราณะ ซึ่งระบุว่าการจุติครั้งที่สองของพระองค์มีพระนามว่า "เอกทันต์"[60] ส่วนพระลักษณะของพระอุทรพลุ้ยนั้นถือเป็นลักษณะที่โดดเด่นและพบปรากฏตั้งแต่ในศิลปะยุคคุปตะ (ศตวรรษที่ 4 ถึง 6)[61] พระลักษณะนี้มีความสำคัญมากจนในมุทกลปุราณะระบุพระนามที่ทรงกลับชาติมาเกิดตามพระลักษณะนี้ถึงสองพระนาม คือ "ลัมโภทร" (ท้องห้อยเหมือนหม้อ), "มโหทร" (ท้องใหญ่)[62] พระนามทั้งสองมาจากคำภาษาสันสกฤต "อุทร" ที่แปลว่าท้อง[63] ใน "พรหมันทปุราณะ" ระบุว่าพระนาม "ลัมโภทร" มาจากการที่จักรวาลทั้งปวง อดีต ปัจจุบัน และอนาคต (ไข่จักรวาล หรือ "พรหมาณทัส") สถิตอยู่ในพระองค์[64] พบ 2 ถึง 16 พระกร[65] พระรูปส่วนใหญ่ของพระองค์มีสี่พระกร ซึ่งพบระบุทั่วไปในปุราณะต่าง ๆ[66] พระรูปในยุคแรก ๆ ปรากฏสองพระกร[67] ส่วนปางที่ทรงมี 14 และ 20 พระกรพบในอินเดียกลางช่วงศตวรรษที่ 9 และ 10[68] นอกจากนั้นยังพบพญานาคประกอบอยู่กับเทวรูปโดยทั่วไป มีหลากหลายรูปแบบ[69] ซึ่งในคเณศปุราณะระบุว่าพระองค์ทรงพันวาสุกิรอบพระศอ[70] บางครั้งมีการแสดงภาพของงูหรือนาคในลักษณะของด้ายศักดิ์สิทธิ์ (วัชณโยปวีตะ; yajñyopavīta)[71] คล้องรอบพระอุทร, ทรงถือในพระหัตถ์, ขดอยู่ที่เข่า หรือประทับเป็นบัลลังก์นาค ในบางงานศิลป์ปรากฏพระเนตรที่สามบนพระนลาฏ (หน้าผาก) บ้างปรากฏรอยขีดเจิม (ติลัก) สามเส้นในแนวนอน[72] ในคเณศปุราณะมีกำหนดทั้งติลักและจันทร์เสี้ยวบนพระนลาฏ [73] ลักษณะนี้ปรากฏในปาง "พาลจันทร์" (Bhalachandra - ดวงจันทร์บนหน้าผาก)[74] มักบรรยายว่าสีพระวรกายพระองค์เป็นสีแดง[75] สีพระวรกายมีความสัมพันธ์กับบางปาง[76] ปางทำสมาธิตรงกับสีพระวรกายต่าง ๆ มีหลายตัวอย่างใน "ศรีตัตตวนิธิ" ตำราประติมานวิทยาฮินดู เช่น สีขาวสื่อถึงปาง "เหรัมภะ คณปติ" และ "รินะ โมจนะ คณปติ" (Rina-Mochana-Ganapati; พระคณปติผู้ทรงหลุดพ้นจากโซ่ตรวนที่ตรึงไว้)[77] ส่วน "เอกทันตคณปติ" จะมีสีพระวรกายน้ำเงินเมื่อทรงทำสมาธิ[78]

พาหนะ

พระคเณศทรงร่ายรำ เทวรูปพบที่เบงกอลเหนือ ศตวรรษที่ 11, พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชียเบอร์ลิน (ดาห์เลม)

รูปพระคเณศยุคแรก ๆ ยังไม่ปรากฏว่าทรงวาหนะ (พาหนะของเทพเจ้า)[79] มุทคลปุราณะระบุว่าในพระชาติที่เสวยแปดพระชาติ พระองค์ทรงใช้หนูในห้าพระชาติ ส่วนอีกสามพระชาติทรงใช้วกรตุนทะ (สิงโต), วิตกะ (นกยูง) และเศศะ (นาคราช)[80] ส่วนในคเณศปุราณะระบุว่าในสี่พระชาติ พระชาติ โมโหตกล ทรงใช้สิงโต, พระชาติ มยูเรศวร ทรงใช้นกยูง, พระชาติ ธุมรเกตุ ทรงใช้ม้า และ พระชาติคชนณะ ทรงใช้หนู ในศาสนาไชนะมีปรากฏพระพาหนะเป็นทั้งหนู ช้าง เต่า แกะ และนกยูง[81]

พระคเณศมักแสดงในลักษณะทรงหรือห้อมล้อมด้วยหนู[82] มาร์ติน-ดูบอสต์ (Martin-Dubost) ระบุว่าหนูเริ่มปรากฏเป็นวาหนะหลักของพระคเณศในรูปปั้นที่พบแถบอินเดียกลางและอินเดียตะวันตกตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 ที่เริ่มพบหนูประดับอยู่เคียงพระบาทของพระคเณศ[83] หนูในฐานะพาหนะของพระคเณศปรากฏในงานเขียนครั้งแรกใน มัตสยปุราณะ และต่อมาพบในพรหมานันทะปุราณะละคเณศปุราณะ ซึ่งระบุว่าพระคเณศมีหนูเป็นวาหนะในการจุติในชาติสุดท้ายของพระองค์[84] ในคณปติอรรถวศีรษะไดัระบุถึงบทสวดที่ระบุว่าพระคเณศทรงมีหนูอยู่บนธงของพระคเณศ[85] พระนามทั้งมูษกสาหนะ (Mūṣakavāhana; มีหนูเป็นพาหนะ) และอาขุเกตน (Ākhuketana; ธงหนู) ปรากฏในคเณศสหัสรนาม[86]

มีการตีความหนูไว้หลายแบบ ไกรมส์ (Grimes) ระบุว่า "ส่วนใหญ่ (ถ้าไม่ใช่ทั้งหมด) มักตีความหนูของพระคณปติไปในทางลบ ว่าเป็น ตโมคุณ (tamoguṇa) เช่นเดียวกับเป็นความปรารถนา"[87] ตามแนวคิดนี้ไมเคิล วิลค็อกสัน (Michael Wilcockson) ระบุว่าหนูเป็นสัญลักษณ์ของผู้ประสงค์เอาชนะความปรารถนาและลดความเห็นแก่ตัว[88] ส่วนกริษัน (Krishan) ชี้ให้เห็นว่าหนูเป็นสัตว์ชอบทำลาย และเป็นภัยต่อผลผลิตทางการเกษตร คำสันสกฤตว่า มูษกะ (mūṣaka) ที่แปลว่าหนูนั้นมาจากรากคือ มูษ (mūṣ) ที่แปลว่าการลักขโมย จึงสำคัญต้องปราบหนูที่เป็นสัตว์รังควานจอมทำลาย หรือเรียกว่าเป็น วิฆน (มาร) ที่ต้องเอาชนะ ทฤษฎีนี้ระบุว่าการแสดงพระคเณศว่าทรงเป็นจ้าวของหนูแสดงว่าพระองค์ทรงเป็น วิฆเนศวร (จ้าวแห่งอุปสรรค) และเป็นหลักฐานสำหรับความเป็นไปได้ของบทบาทเป็นครามเทวดา (เทพเจ้าหมู่บ้าน) ของชาวบ้านซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักมากขึ้น[89] มาร์ติน-ดูบอสต์ชี้ให้เห็นว่าหนูยังเป็นสัญลักษณ์ที่เสนอว่าพระคเณศแทรกซึมไปอยู่ในทุกที่แม้ในที่ลับที่สุดได้ดุจหนู[90]