บทบาท ของ พระคเณศ

เหรัมภคเณศาและพระชายา ศตวรรษที่ 18, เนปาล

ผู้ขจัดอุปสรรค

พระนาม พระพิฆเนศวร (Vighneshvara) หรือ วิฆนราช (Vighnaraja, ภาษามราฐี – วิฆนหารตะ (Vighnaharta)) แปลว่า "จ้าวแห่งอุปสรรค" (the Lord of Obstacles) ทั้งในมุมทางโลกและทางวิญญาณ[91] พระองค์เป็นที่บูชาทั่วไปในฐานผู้ปัดเป่าอุปสรรค แม้เดิมว่าพระองค์ยังเป็นผู้สร้างอุปสรรคต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นในเส้นทางของผู้ที่จำต้องทดสอบ ดังนั้นพระองค์จึงเป็นที่เคารพบูชาเป็นเริ่มก่อนการเริ่มสิ่งใหม่[92] พอล คอร์ทไรธ์ (Paul Courtright) ระบุว่า “ธรรมะ” และเหตุผลสำคัญของพระคเณศคือการสร้างและกำจัดอุปสรรค[93]

นักวิชาการ กริษัน (Krishan) ชี้ให้เห็นว่าบางพระนามของพระคเณศสะท้อนบทบาทอันหลากหลายของพระองค์ที่มีพัฒนาการตามเวลา[29] ธวลิกร (Dhavalikar) ยกตัวอย่างการขึ้นเป็นเทพเจ้าอย่างรวดเร็วของพระคเณศในบรรดาเทพเจ้าฮินดู การเกิดขึ้นของคณปัตยะ (Ganapatyas) และการเปลี่ยนจากการเน้นพระนามว่า วิฆนกรรตา (vighnakartā, ผู้สร้างอุปสรรค) เป็น วิฆนหรรตา (vighnahartā, ผู้กำจัดอุปสรรค)[94] อย่างไรก็ตามทั้งสองบทบาทยังสำคัญต่อพระลักษณะของพระองค์[95]

พุทธิ (ปัญญา)

พระคเณศได้รับการยกย่องว่าเป็นจ้าวแห่งตัวอักษรและการศึกษา[96] ในภาษาสันสกฤต คำว่า พุทธิ (buddhi) เป็นนามที่มีความหมายหลากหลาย ทั้งปัญญา (intelligence), ภูมิปัญญา (wisdom), ผู้ทรงปัญญา (intellect)[97] มโนทัศน์พุทธินั้นเกี่ยวข้องสัมพันธ์อย่างมากกับบุคลิกภาพของพระคเณศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปุราณะ ซึ่งนิยายต่าง ๆ เน้นย้ำความฉลาดเฉลียวและความรักในความรู้ของพระองค์ พระนามหนึ่งของพระองค์ที่ปรากฏใน คเณศปุราณะ และใน 21 พระนามของ คเณศสหัสรนาม (Ganesha Sahasranama) คือ พุทธิปรียา (Buddhipriya, ผู้รักในพุทธิ)[98][99] คำว่า "ปรียา" (priya) แปลว่า ความรัก, ความหลง (fondness) และในบริบทการสมรสยังหมายถึง "คนรัก" หรือ "สวามี" ก็ได้[100] ดังนั้นพระนามนี้อาจหมายถึง "ผู้รักในความรู้" หรือ "คู่ครองของพระนางพุทธิ" ก็ได้[101]

โอม

พระคเณศ ศิลปะโจฬะ ต้นศตวรรษที่ 13

พระคเณศนั้นได้รับการระบุด้วยมนตร์ฮินดู "โอม" ดังในประโยค โอมการสวรูป (Oṃkārasvarūpa) อันแปลว่า โอมเป็นรูปของพระองค์ (Om is his form) เมื่อใช้สื่อถึงพระคเณศ หมายความถึงรูปบุคลาธิษฐานของเสียง "โอม"[102] ในคณปติอรรถวศีรษะ ยืนยันข้อเท็จจริงนี้ จินมยานันทะ (Chinmayananda) แปลข้อความที่เกี่ยวข้องในคณปติอรรถวศีรษะไว้ดังนี้[103]

(โอ พระคณปติ!) พระองค์ทรงเป็น (ตรีมูรติ) พระพรหม, พระวิษณุ และพระมเหสะ พระองค์ทรงเป็นพระอินทร์ พระองค์ทรงเป็นไฟ [พระอัคนี] และอากาศ [พระวายุ] พระองค์ทรงเป็นดวงอาทิตย์ [พระสุรยะ] และดวงจันทร์ [พระจันทร์] พระองค์ทรงเป็นพรหมัน พระองค์ทรงเป็น (สามโลก) ภูโลก [โลกมนุษย์], อันตรฤกษโลก [อวกาศ] และสวรรคโลก [สวรรค์] พระองค์ทรงเป็นโอม (อันหมายความว่า พระองค์ทรงเป็นทุกสิ่งที่ว่ามานี้)

ผู้ศรัทธาในพระคเณศบางคนมองเห็นความคล้ายคลึงกันระหว่างรูปของพระคเณศและสัญลักษณ์ของโอมในอักษรเทวนาครีกับอักษรทมิฬ[104]

ปฐมจักร

กุนทลินีโยคะ (Kundalini yoga) ระบุว่าพระคเณศทรงอาศัยในจักรแรก ที่เรียกว่า มูลาธาระ (mūlādhāra) มูลาธาระจักรเป็นหลักสำคัญของการสำแดงหรือการขยายออกของกองทัพสวรรค์ยุคแรกเริ่ม[105] ในคณปติอรรถวศีรษะได้ระบุไว้เช่นกัน ในฉบับแปลของคอร์ทไรธ์ (Courtright) แปลข้อความนี้ว่า "พระองค์ทรงอาศัยอย่างต่อเนื่องภายในช่องท้องศักดิ์สิทธิ์ (sacral plexus) อันเป็นฐานของหลักสำคัญ [มูลาธารจักร]"[106] ดังนั้น พระคเณศจึงทรงมีพระวิมานภายในมูลาธารของสิ่งมีชีวิตทั้งปวงในมูลาธาระ[107] พระคเณศทรงถือ รองรับ และนำพาจักรทั้งปวง ดังนั้นจึงเป็นการ "ควบคุมพลังทั้งปวงที่มีผลต่อวงจักรของชีวิต"[105]