นอกอินเดียและศาสนาฮินดู ของ พระคเณศ

คันกิเต็ง ศิลปะญี่ปุ่น ราวปลายศตวรรษที่ 19-ต้นศตวรรษที่ 19 โดยโชโรคุอัง เอคิโช (Shorokuan Ekicho)
สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหัวข้อนี้ โปรดดู พระพิฆเนศในศาสนาอื่น

ทั้งการติดต่อทางการค้าและทางวัฒนธรรมได้มีส่วนช่วยขยายอิทธิพลของอินเดียต่อเอเชียตะวันตกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และพระคเณศก็เป็นหนึ่งในเทพเจ้าที่มีการขยายความเชื่อไปยังส่วนต่าง ๆ ของโลก ตามอิทธิพลของชาวอินเดียเช่นกัน[211]

พระคเณศมักพบบูชาโดยพ่อค้าผู้เดินทางออกจากอินเดียเพื่อแสวงหาการค้า[212] นับตั้งแต่ราวศตวรรษที่ 10 เป็นต้นมา เครือข่ายการแลกเปลี่ยนสินค้านั้นได้สร้างเม็ดเงินมหาศาล ถือเป็นช่วงเวลาที่พระคเณศได้รับการบูชาและเกี่ยวเนื่องกับการค้า[213] จารึกที่เก่าแก่ที่สุดที่พบการขานพระนามพระคเณศเป็นพระนามแรกก่อนเทพเจ้าองค์อื่น ๆ นั้น พบในจารึกของชุมชนพ่อค้า[214]

ชาวฮินดูอพยพไปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนภาคพื้นสมุทร พร้อมนำเอาวัฒนธรรมและพระคเณศติดตัวมาด้วย[215] เทวรูปของพระคเณศสามารถพบทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นสมุทร โดยมากมักพบกับเทวสถานของพระศิวะ รูปแบบต่างของพระคเณศของชาวฮินดูพื้นถิ่นในฟิลิปปินส์, ชวา, บาหลี และบอร์เนียว แสดงให้เห็นอิทธิพลพื้นถิ่นที่มีต่อคติบูชาพระคเณศ[216] ในขณะที่การเข้ามาของวัฒนธรรมฮินดูในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นดิน นำมาสู่การบูชาพระคเณศในปางที่มีการดัดแปลง พบในพม่า กัมพูชา และประเทศไทย ในคาบสมุทรอินโดจีนนี้มีการนับถือศาสนาพุทธควบคู่ไปกับศาสนาฮินดู ซึ่งล้วนมีอิทธิพลต่อความเชื่อเรื่องพระคเณศในภูมิภาคนี้[217] ในอินโดจีนมีการนับถือพระคเณศในฐานะผู้ขจัดอุปสรรคเป็นหลัก[218] รวมถึงในศาสนาพุทธของประเทศไทยในปัจจุบัน มีการนับถือพระคเณศในฐานะผู้ปัดเป่าอุปสรรคและเทพเจ้าแห่งความสำเร็จ[218]

พระพิฆเนศในประเทศไทยได้รับการเคารพบูชาในฐานะเทพเจ้าแห่งศิลปะโดยเฉพาะ คตินี้เกิดความความเชื่อส่วนพระองค์ในรัชกาลที่ 6 ซึ่งพระองค์มีศรัทธาในพระคเณศเป็นอย่างมาก ทรงสร้าง "เทวาลัยคเณศร์" ขึ้นในพระราชวังสนามจันทร์ อันเป็นที่ประทับทรงงานด้านหนังสือและการละครมากที่สุด และเมื่อทรงตั้งวรรณคดีสโมสร ก็ทรงอัญเชิญพระคเณศเป็นตราสัญลักษณ์ จนกระทั่งการเกิดขึ้นของกรมศิลปากรและสืบทอดตราพระคเณศของวรรณคดีสโมสรมาเป็นตรา จึงทำให้พระคเณศได้รับการเคารพในประเทศไทยในฐานะของเทพเจ้าแห่งศิลปะและการศึกษาในประเทศไทยตราบจนปัจจุบัน[219]

ก่อนการเข้ามาของศาสนาอิสลาม อัฟกานิสถานมีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมอย่างใกล้ชิดกับอินเดีย และพบหลักฐานการบูชาทั้งในศาสนาฮินดูและพุทธ มีการพบหลักฐานเป็นเทวรูปจากศตวรรษที่ 5 ไปจนถึงศตวรรษที่ 7 จึงสามารถสรุปได้ว่ามีการบูชาพระคเณศอย่างแพร่หลายในดินแดนแถบนั้นในช่วงหนึ่งเช่นกัน[220]

ในศาสนาพุทธมหายาน มีการบูชาพระคเณศ ไม่เพียงแต่ในรูปของเทพเจ้าพุทธนามว่า พระวินายก แต่ยังในรูปปิศาจฮินดูพระนามเดียวกัน[221] ปรากฏรูปของพระองค์ในคัมภีร์ของพุทธยุคปลายคุปตะ[222] พระวินายกมักพบในรูปกำลังเต้นรำ การบูชารูป Nṛtta Ganapati, นี้มีพบทั่วไปในอินเดีย เนปาลและทิเบตเช่นกัน[223] ในเนปาล ปางหนึ่งของพระคเณศนามว่าพระเหรัมภะได้รับความนิยมบูชาในศาสนาฮินดูแบบเนปาลมาก โดยทรงมีห้าพักตร์และประทับบนสิงโต[224] รูปแสดงพระคเณศแบบทิเบตมีทัศนะกำกวมเกี่ยวกับพระองค์[225] พระคเณศในคติของทิเบตมีพระนามว่า ชอกส์บดัฆ (tshogs bdag)[226] ในปางทิเบตปางหนึ่ง แสดงรูปพระองค์ทรงถูก Mahākāla ย่ำ ซึ่งเป็นเทพเจ้าทิเบตที่ได้รับความนิยม รูปอื่นแสดงภาพพระองค์เป็นผู้ขจัดอุปสรรค และบ้างกำลังเต้นรำด้วย[227] ส่วนในจีนและญี่ปุ่นพบพระคเณศในรูปที่มีลักษณะเฉพาะพื้นที่มากขึ้น ในจีนตอนเหนือ พบเทวรูปหินของพระคเณศเก่าแก่สุดวัดอายุได้ราวปี 531[228] ในญี่ปุ่นพบพระคเณศพระนามว่า คันกิเต็ง (Kangiten) ลัทธิบูชาพระคเณศนี้พบครั้งแรกในปี 806[229]

ในคัมภีร์กติกาสงฆ์ของศาสนาเชนไม่ได้ระบุการบูชาพระคเณศ[230] อย่างไรก็ตาม ศาสนิกเชนส่วนใหญ่บูชาพระองค์ในฐานะของเทพเจ้าแห่งการปัดเป่าอุปสรรค และดูเหมือนเป็นเทพเจ้าแห่งความมั่งคงแทนท้าวกุเวรด้วย[231] ความสัมพันธ์กับชุมชนการค้าเป็นเหตุผลสนับสนุนความคิดว่าศาสนาเชนรับเอาการบูชาพระคเณศจากความเชื่อมโยงเชิงพาณิชย์[232] รูปปั้นพระคเณศแบบเชนเก่าแก่ที่สุดวัดอายุได้ราวศตวรรษที่ 9[233] คัมภีร์ศาสนาเชนสมัยศตวรรษที่ 15 แสดงรายการขั้นตอนสำหรับติดตั้งรูปเคารพ รูปพระคเณศปรากฏในไชนมนเทียรในราชสถานและคุชราตเช่นกัน[234]