การพบ ของ พระราชพงศาวดารกรุงเก่า_ฉบับหลวงประเสริฐ

กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเขียนใน ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 1 (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2457) ว่า ได้ต้นฉบับพงศาวดารนี้มาเมื่อ พ.ศ. 2450[14] และทรงเล่ารายละเอียดไว้ใน นิทานโบราณคดี เรื่องที่ 9 หนังสือหอหลวง (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2487) ว่า หลวงประเสริฐอักษรนิติ์ (แพ ตาละลักษมณ์) พบหญิงชราผู้หนึ่งกำลังรวบรวมสมุดไทยดำใส่กระชุอยู่ที่บ้านแห่งหนึ่ง หญิงนั้นบอกว่า จะเอาสมุดเหล่านี้ไปเผาไฟทำเป็นสมุกไว้ใช้ลงรัก หลวงประเสริฐอักษรนิติ์ขอดู พบสมุดต้นฉบับพงศาวดารนี้อยู่ในบรรดาสมุดที่จะเอาไปเผา จึงออกปากว่า อยากได้ หญิงชราก็ยกให้ไม่หวงแหน หลวงประเสริฐอักษรนิติ์นำสมุดนั้นมาให้หอพระสมุดวชิรญาณ กรรมการหอพระสมุดตรวจดูแล้วเห็นเป็นพงศาวดารเก่าแก่ ศักราชแม่นยำกว่าฉบับอื่น จึงตั้งชื่อว่า "ฉบับหลวงประเสริฐ" ให้เป็นเกียรติแก่หลวงประเสริฐอักษรนิติ์[9]

เกี่ยวกับสถานที่พบสมุดนั้น กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเขียนใน นิทานโบราณคดี ว่า "หลวงประเสริฐอักษรนิติไปเห็นยายแก่กำลังเอาสมุดดำรวมใส่กระชุที่บ้านแห่งหนึ่ง"[15] และทรงเขียนใน ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 1 ว่า "หลวงประเสริฐอักษรนิติไปพบต้นฉบับที่บ้านราษฎรแห่ง 1"[8] ส่วนนิธิ เอียวศรีวงศ์ ให้ข้อมูลในการแสดงปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2521 ว่า หลวงประเสริฐอักษรนิติ์พบสมุดนี้ที่เมืองเพชรบุรี[16] และนาฏวิภา ชลิตานนท์ ก็เขียนใน ประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2524) ว่า "หลวงประเสริฐอักษรนิติ์...ได้ต้นฉบับมาจากราษฎรคนหนึ่งในจังหวัดเพชรบุรี"[17]

กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเขียนใน ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 1 ว่า หลวงประเสริฐอักษรนิติ์นำสมุดมามอบให้หอพระสมุดวชิรญาณเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2450[8] แต่ทะเบียนของหอสมุดแห่งชาติระบุว่า เป็นวันที่ "19/3/2450" (19 มีนาคม พ.ศ. 2450)[18]

สมุดที่ได้มามีเล่มเดียว ลายมืออยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เนื้อหาค้างอยู่ที่ จ.ศ. 966 (พ.ศ. 2147) ในรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แต่บานแผนกของสมุดระบุว่า ให้เขียนถึงปัจจุบัน คือ จ.ศ. 1042 (พ.ศ. 2223) กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงทรงเชื่อว่า น่าจะมีอีกเล่มเป็นเล่มสอง ซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเพียรสืบหาเรื่อยมา แต่ก็ไม่พบ กระทั่งใน พ.ศ. 2456 ทรงได้สมุดพงศาวดารเนื้อความอย่างเดียวกันมาอีกชุด มีสองเล่มต่อกัน เขียนขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ก็ดีพระทัย แต่เมื่อทรงตรวจดู ปรากฏว่า เนื้อหามาค้างที่ จ.ศ. 966 เหมือนกันแบบคำต่อคำ จึงเข้าพระทัยว่า เป็นฉบับคัดลอกจากฉบับที่หลวงประเสริฐอักษรนิติ์ไปพบนั้นเอง เนื้อหาที่เหลือคงสูญหายมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีแล้ว และตรัสว่า "สิ้นหวังที่จะหาเรื่องได้อีกต่อไป"[8]

ต่อมาใน พ.ศ. 2511 คุณหญิงปทุมราชพินิจจัย (ปทุม บุรณศิริ) มอบสมุดพงศาวดารชุดหนึ่งให้หอสมุดแห่งชาติ[18] เนื้อหาอย่างเดียวกับสมุดที่ได้มาก่อนหน้าทั้งสองชุด ค้างอยู่ที่ จ.ศ. 966 เช่นกัน โดยอาลักษณ์หมายเหตุไว้ว่า "สิ้นฉบับแล้ว หาต่อไปเถิด"[19] อาลักษณ์ยังระบุว่า สมุดชุดนี้เขียนเสร็จใน จ.ศ. 1149 (พ.ศ. 2330) ตรงกับรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช[18]

ใกล้เคียง

พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท) พระราชสันตติวงศ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสันตติวงศ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระราชวังต้องห้าม พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 พระราชวังบวรสถานมงคล พระราชวังดุสิต พระราชวังสนามจันทร์