การพิมพ์ ของ พระราชพงศาวดารกรุงเก่า_ฉบับหลวงประเสริฐ

หอพระสมุดวชิรญาณให้พิมพ์พงศาวดารนี้เผยแพร่เป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2450 อันเป็นปีที่ได้รับสมุดไทยชุดแรก (ชุดอยุธยา) มานั้นเอง[14] แต่เนื้อหาบกพร่อง เพราะอักษรในสมุดลบเลือน เมื่อได้สมุดชุดที่สอง (ชุดธนบุรี) มาใน พ.ศ. 2456 จึงตรวจสอบจุดที่บกพร่องกับสมุดชุดนี้ แล้วพิมพ์ใหม่เป็นส่วนหนึ่งของ ประชุมพงศาวดาร ภาค 1 เมื่อ พ.ศ. 2457[37] หลังจากนั้น พงศาวดารนี้ก็ได้รับการพิมพ์อีกหลายครั้ง ทั้งพิมพ์รวมกับเอกสารอื่น และพิมพ์ต่างหาก นับตั้งแต่ครั้งแรกจนถึง พ.ศ. 2542 แล้ว พิมพ์ทั้งหมด 17 ครั้ง ถือเป็นพงศาวดารที่พิมพ์บ่อยที่สุด ตามข้อมูลของกรมศิลปากร[4]

ในการพิมพ์เป็นส่วนหนึ่งของ ประชุมพงศาวดาร ฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 1 เมื่อ พ.ศ. 2542 กรมศิลปากรนำฉบับพิมพ์ พ.ศ. 2457 มาตรวจสอบใหม่กับสมุดชุดอยุธยา สมุดชุดนี้ลบเลือนที่ใด ก็ตรวจกับสมุดชุดที่สาม (ชุดรัชกาลที่ 1) แทน เพราะสมุดชุดที่สองหาไม่พบ แล้วจึงจัดพิมพ์ แต่แก้ไขการสะกดคำให้เป็นแบบปัจจุบัน ยกเว้นวิสามานยนามที่ยังคงไว้ตามเดิม นอกจากนี้ ยังคำนวณวันเดือนปีแบบจันทรคติให้เป็นสุริยคติแล้วใส่ไว้ในเชิงอรรถ[18] การคำนวณดังกล่าวใช้วิธีของรอเฌ บียาร์ (Roger Billard) แต่เป็นไปได้ที่โหรวางอธิกวารหรืออธิกมาสไม่ตรงกัน ซึ่งอาจทำให้คำนวณคลาดเคลื่อน การคำนวณอธิกวารและอธิกมาสจึงใช้วิธีของทองเจือ อ่างแก้ว โดยมีประเสริฐ ณ นคร คอยตรวจแก้[38]

การพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2450 ลงชื่อเรื่องไว้ว่า พระราชพงษาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ การพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2457 ใช้ชื่อเรื่องว่า พระราชพงษาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ โดยมีคำชี้แจงของกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า หอพระสมุดวชิรญาณตั้งชื่อว่า พระราชพงษาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐ เพื่อเป็นเกียรติแก่หลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ทั้งขึ้นหัวเรื่องว่า พระราชพงษาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ การพิมพ์ของกรมศิลปากรเมื่อ พ.ศ. 2542 จึงใช้ชื่อตามฉบับ พ.ศ. 2457 โดยปริวรรตคำว่า "พงษาวดาร" เป็น "พงศาวดาร"[14]

ใกล้เคียง

พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท) พระราชสันตติวงศ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสันตติวงศ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระราชวังต้องห้าม พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 พระราชวังบวรสถานมงคล พระราชวังดุสิต พระราชวังสนามจันทร์