คุณค่า ของ พระราชพงศาวดารกรุงเก่า_ฉบับหลวงประเสริฐ

กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเห็นว่า พงศาวดารฉบับนี้น่าเชื่อถือกว่าฉบับอื่น ๆ[10] ทั้งเนื้อหาก็ตรงกับเอกสารต่างประเทศ[12] สอดคล้องกับที่กรมศิลปากรระบุว่า พงศาวดารฉบับนี้ "ได้รับความเชื่อถือว่า แม่นยำ ทั้งในเชิงเนื้อหาและศักราช"[4] และพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ว่า "สาระโดยทั่วไปของหนังสือพงศาวดารเล่มนี้จึงได้รับการเชื่อถือมากที่สุด"[11] ในขณะที่พงศาวดารฉบับอื่น ๆ ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยหลัง คือ สมัยรัตนโกสินทร์นั้น ลงวันเวลาไว้คลาดเคลื่อนไปราว 4–20 ปี[25][26] และเพราะสับสนวันเวลา พงศาวดารสมัยรัตนโกสินทร์จึงลงเหตุการณ์ไว้สับสนตามไปด้วย เช่น ระบุว่า สมเด็จพระราเมศวรขึ้นครองราชย์แล้วทรงยกทัพไปล้อมเชียงใหม่ เอาปืนใหญ่ถล่มกำแพงเมือง ซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงตั้งข้อสงสัย เพราะปืนใหญ่เพิ่งมีใช้ในยุโรปราวเก้าปีก่อนเหตุการณ์นั้น[27] และศานติ ภักดีคำ เห็นว่า เป็นการนำเหตุการณ์ของพระราเมศวรอีกพระองค์ คือ สมเด็จพระเอกาทศรถ มาลงไว้ที่พระราเมศวรพระองค์นี้[28]

พงศาวดารฉบับนี้ยังให้ข้อมูลซึ่งไม่ปรากฏในพงศาวดารสมัยรัตนโกสินทร์[10] เช่น กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงตั้งข้อสังเกตว่า พงศาวดารสมัยรัตนโกสินทร์ระบุว่า พระมหากษัตริย์พม่าที่ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาสองครั้งในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ คือ "พระเจ้าลิ้นดำ" (พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้) พระองค์เดียว แต่พงศาวดารฉบับนี้ระบุชัดเจนว่า เป็นพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ กับพระเจ้าบุเรงนอง ซึ่งสอดคล้องกับเอกสารพม่า[29] หรือกรณีที่พงศาวดารสมัยรัตนโกสินทร์ระบุว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสวยราชย์ที่กรุงศรีอยุธยาแล้วทรงสร้างวัดจุฬามณี ทำให้เชื่อกันมาแต่เดิมว่า วัดนี้อยู่ที่อยุธยา ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยพากันตามหาวัดนี้ที่อยุธยาก็ไม่พบ กระทั่งมาได้พงศาวดารฉบับนี้ที่ระบุว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงย้ายขึ้นไปครองราชย์ที่พิษณุโลกแล้วทรงสร้างวัดจุฬามณี จึงรู้ว่า เป็นวัดจุฬามณีที่พิษณุโลก[30][31]

พงศาวดารสมัยรัตนโกสินทร์ยังให้ข้อมูลขัดแย้งกันเอง เช่น บางฉบับว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสวรรคต พระราชโอรส คือ พระบรมราชา ครองราชย์ต่อเป็นสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 และบางฉบับว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสวรรคต พระราชโอรส คือ พระอินทราชา จึงครองราชย์ต่อจนสวรรคต แล้วพระราชโอรสของพระอินทราชาครองราชย์ต่อเป็นสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2[32] มาได้ความกระจ่างในพงศาวดารฉบับนี้ ดังที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเขียนว่า "เนื้อความที่มัวมนสนเท่ห์ในตอนแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้ความแจ่มแจ้งชัดเจนใน พระราชพงศาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐ สามารถจะตัดสินได้ว่า เรื่องจริงเป็นอย่างไร"[33]

นอกจากนี้ พงศาวดารสมัยรัตนโกสินทร์ยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เรื่องความน่าเชื่อถือ เพราะผ่านการชำระตามพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์ เพื่อวัตถุประสงค์หรือผลประโยชน์ใด ๆ ก็ตาม ซึ่งทำให้เนื้อหาไม่บริสุทธิ์แท้ ตามความเห็นของนาฏวิภา ชลิตานนท์[34] และนิธิ เอียวศรีวงศ์ ตั้งข้อสังเกตว่า พงศาวดารที่เขียนขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์เกิดจากแรงผลักดันของชนชั้นนำที่เพิ่งผ่านเหตุการณ์อันน่าตระหนก คือ ความล่มสลายของกรุงศรีอยุธยา และเหลียวกลับไปมองอดีตเพื่อหาสาเหตุของเหตุการณ์นั้น พงศาวดารยุครัตนโกสินทร์จึงแฝงอคติ[35] เช่น มีการใส่เนื้อหาโจมตีราชวงศ์บ้านพลูหลวง ราชวงศ์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา และตัดเนื้อหายกย่องราชวงศ์นี้ออกไป[36] ในขณะที่พงศาวดารฉบับนี้เขียนขึ้นแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา และกรมพระราชดำรงราชานุภาพทรงเห็นว่า "ทั้งลายมือที่เขียนและโวหารที่แต่ง เห็นว่า เป็นหนังสือเก่า ไม่มีเหตุอย่างใดจะควรสงสัยว่า ได้มีผู้แก้ไขแทรกแซงให้วิปลาศในชั้นหลังนี้"[29] ส่วนพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ เห็นว่า "มีการใช้ศิลปะทางภาษาน้อยที่สุด จึงหลีกเลี่ยงการเพิ่มเติมอารมณ์ความรู้สึกหรือความคิดเห็นของผู้เรียบเรียงไปได้เป็นส่วนมาก"[11]

อย่างไรก็ดี นักประวัติศาสตร์มองว่า ความที่พงศาวดารนี้มีเนื้อหาย่อ ๆ เป็นปัญหาต่อการใช้งาน เช่น พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ วิจารณ์ว่า "มีข้อจำกัดที่มีการย่อให้สั้น บางครั้งอาจทำความเข้าใจความหมายได้ไม่ถูกต้อง และมีขอบเขตในการนำมาใช้เป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ได้ค่อนข้างน้อย"[11] และเอียน ฮอดส์ วิจารณ์ว่า เนื้อหาที่ไม่ได้เขียนพรรณานาให้ต่อเนื่องกัน ทำให้พงศาวดารนี้มีคุณค่าน้อยในการใช้งานสำหรับนักประวัติศาสตร์ที่พยายามจะกำหนดภาพในอดีตของไทย[13]

ใกล้เคียง

พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท) พระราชสันตติวงศ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสันตติวงศ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระราชวังต้องห้าม พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 พระราชวังบวรสถานมงคล พระราชวังดุสิต พระราชวังสนามจันทร์