การแต่ง ของ พระราชพงศาวดารกรุงเก่า_ฉบับหลวงประเสริฐ

บานแผนกของสมุดเองระบุว่า

"ศุภมัสดุ 1042 ศก วอกนักษัตร ณ วัน 4 12ฯ 5 ค่ำ ทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า ให้เอากฎหมายเหตุของพระโหรเขียนไว้แต่ก่อน แลกฎหมายเหตุซึ่งหาได้แต่หอหนังสือ แลเหตุซึ่งมีในพระราชพงษาวดารนั้นให้คัดเข้าด้วยกันเป็นแห่งเดียว ให้ระดับศักราชกันมาคุงเท่าบัดนี้"[1]

แสดงว่า พงศาวดารนี้เกิดจากรับสั่งที่ให้นำเอกสารสองประเภท คือ "กฎหมายเหตุของพระโหร" และ "กฎหมายเหตุซึ่งหาได้แต่หอหนังสือ" ออกมา แล้วคัดเหตุการณ์เนื่องในพระราชพงศาวดารที่มีอยู่ในเอกสารเหล่านั้นเข้าเป็นฉบับเดียวกัน โดยเรียงลำดับตามปีเรื่อยมาจนปัจจุบัน[21] แต่กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงตีความว่า รับสั่งดังกล่าวให้นำข้อความจากเอกสารสามประเภท คือ "กฎหมายเหตุของพระโหร", "กฎหมายเหตุซึ่งหาได้แต่หอหนังสือ", และ "เหตุซึ่งมีในพระราชพงษาวดาร" มาคัดเข้าเป็นฉบับเดียวกัน โดยทรงเห็นว่า "เหตุซึ่งมีในพระราชพงษาวดาร" นี้หมายถึง จดหมายเหตุที่เก็บไว้ในหอศาสตราคม และทรงระบุว่า เป็นธรรมเนียมเก่าที่มหาดเล็กสองตำแหน่ง คือ นายเสน่ห์และนายสุจินดาหุ้มแพร จะบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ เก็บไว้ในหอนี้[22] ส่วนนิธิ เอียวศรีวงศ์ ก็เห็นว่า พงศาวดารนี้มาจากเอกสารสามประเภทเช่นกัน โดยประเภทที่สาม "เหตุซึ่งมีในพระราชพงษาวดาร" นั้น เขาเห็นว่า หมายถึง เรื่องราวในพระราชพงศาวดารฉบับอื่น ๆ ที่มีอยู่ก่อนจะเขียนฉบับนี้ เช่น พระราชพงศาวดาร ฉบับปลีก[7]

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ตั้งข้อสังเกตว่า พงศาวดารฉบับนี้อาจนำแหล่งข้อมูลชั้นต้นจากราชสำนักพิษณุโลกมาใช้ด้วย เพราะไม่สับสนเหตุการณ์ช่วงที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงย้ายราชสำนักขึ้นไปพิษณุโลก ในขณะที่พงศาวดารสมัยหลังล้วนสับสนเหตุการณ์ตอนนี้ อนึ่ง พงศาวดารฉบับนี้ยังระบุเหตุการณ์ช่วงนี้คล้ายกับที่ปรากฏในจารึกวัดจุฬามณีพิษณุโลก[23]

ตามบานแผนกข้างต้น การจัดทำพงศาวดารฉบับนี้เป็นไปตามรับสั่งที่มีขึ้นเมื่อวัน 4 12ฯ 5 ค่ำ (วันพุธ ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 5) ปีวอก จ.ศ. 1042 ซึ่งตรงกับวันพุธที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2223[1] บานแผนกมิได้ระบุว่า รับสั่งเป็นของใคร แต่วันเวลาดังกล่าวตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงทรงสรุปว่า "พระราชพงษาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐ เปนหนังสือเรื่องพงษาวดารกรุงเก่า ซึ่งสมเด็จพระนารายน์มหาราชมีรับสั่งให้เรียบเรียงขึ้นเมื่อปีวอก โทศก จุลศักราช 1042 พ.ศ. 2223"[4] ข้อสรุปนี้ดูจะเป็นที่ยอมรับ เช่น นาฏวิภา ชลิตานนท์ เขียนว่า "บานแผนกแจ้งไว้ว่า เขียนขึ้นโดยพระบรมราชโองการของสมเด็จพระนารายณ์เมื่อ พ.ศ. 2223"[5] สุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนว่า "สมเด็จพระนารายณ์ฯ มีรับสั่งให้เรียบเรียงพระราชพงศาวดารขึ้น ทุกวันนี้รู้จักกันในชื่อ พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ"[6] และนิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนว่า "รับสั่งของสมเด็จพระนารายณ์ในบานแผนก...ให้รวบรวมเรื่องราวในหลักฐานต่าง ๆ และในพระราชพงศาวดาร 'คัดเข้าด้วยกันเป็นแห่งเดียว'"[7]

แม้ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่งเลยในตัวพงศาวดารเองหรือในที่อื่น แต่นักประวัติศาสตร์ชาวตะวันตกบางคนเชื่อว่า พงศาวดารนี้เป็นผลงานของโหรหลวงที่มีบรรดาศักดิ์ว่า "โหราธิบดี" เช่น เดวิด เค. วัยอาจ (David K. Wyatt) เขียนว่า พงศาวดารนี้ "เชื่อกันว่า เขียนขึ้นโดยอาลักษณ์หรือโหรหลวงชื่อ หลวงโหราธิบดี ในราว ค.ศ. 1680"[2] และเอียน ฮอดส์ (Ian Hodges) เขียนว่า "พงศาวดารหลวงประเสริฐ (พลป.) ดังที่รู้จักกันในสมัยนี้ เขียนขึ้นเมื่อ 226 ปีก่อน ใน ค.ศ. 1681 โดยหัวหน้าโหรหลวงของสยาม (พระโหราธิบดี) ตามรับสั่งของพระนารายณ์ (ครองราชย์ ค.ศ. 1656–1688)"[3]

ใกล้เคียง

พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท) พระราชสันตติวงศ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสันตติวงศ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระราชวังต้องห้าม พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 พระราชวังบวรสถานมงคล พระราชวังดุสิต พระราชวังสนามจันทร์