ประวัติศาสตร์ ของ มนุษย์

วิวัฒนาการ

ดูบทความหลักที่: วิวัฒนาการของมนุษย์

การศึกษาวิวัฒนาการของมนุษย์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ศึกษาพัฒนาการของสกุล Homo การปะติดปะต่อวิวัฒนาการเบนออกของเชื้อสายมนุษย์จากโฮมินิน (บรรพบุรุษร่วมระหว่างมนุษย์กับชิมแปนซี) โฮมินิด (ลิงไม่มีหางขนาดใหญ่) และไพรเมตอื่น ๆ "มนุษย์สมัยใหม่" นิยามว่าอยู่ในสปีชีส์ Homo sapiens และโดยเจาะจงว่าอยู่ในสปีชีส์ย่อย Homo sapiens sapiens เพียงหนึ่งเดียวที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบัน

หลักฐานจากชีววิทยาโมเลกุล

แผนภูมิแสดงโฮมินอยด์ที่ยังมีอยู่: มนุษย์ (สกุล Homo), ชิมแปนซีและโบโนโบ (สกุล Pan), กอริลลา (สกุล Gorilla), อุรังอุตัง (สกุล Pongo), และชะนี (สี่สกุลในวงศ์ Hylobatidae: Hylobates, Hoolock, Nomascus และ Symphalangus) ทั้งหมดยกเว้นชะนีเป็นโฮมินอยด์

สิ่งมีชีวิตที่ใกล้เคียงมนุษย์มากที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่ คือ กอริลลาและชิมแปนซี ด้วยการเรียงลำดับของจีโนมมนุษย์และชิมแปนซี การประเมินความพ้องระหว่างลำดับดีเอ็นเอของมนุษย์กับชิมแปนซีในปัจจุบันมีพิสัยระหว่าง 95% ถึง 99%[10][11][12][13] โดยการใช้เทคนิคที่เรียกว่า นาฬิกาโมเลกุล ซึ่งประเมินเวลาที่จำนวนการกลายเบนออกต้องการสะสมระหว่างเชื้อสายทั้งสอง ซึ่งจะทำให้ช่วงเวลาโดยประมาณที่เกิดการแยกเชื้อสายสามารถคำนวณได้ ชะนี (hylobatidae) และอุรังอุตัง (สกุล Pongo) เป็นกลุ่มแรก ๆ ที่แยกออกจากสายที่นำไปสู่มนุษย์ จากนั้นเป็นกอริลลา (สกุล Gorilla) ตามมาด้วยชิมแปนซีและลิงโบโนโบ (สกุล Pan) เชื้อสายมนุษย์และชิมแปนซีแยกจากกันระหว่าง 8-4 ล้านปีที่แล้ว ในปลายสมัยไมโอซีน[14][13][15]

หลักฐานจากบันทึกซากดึกดำบรรพ์

มีหลักฐานซากดึกดำบรรพ์เพียงเล็กน้อยที่อธิบายการเบนออกของเชื้อสายกอริลลา ชิมแปนซี และโฮมินิน ซากดึกดำบรรพ์เก่าแก่ที่สุดที่ถูกเสนอเป็นสมาชิกของเชื้อสายโฮมินิน คือ Sahelanthropus tchadensis ซึ่งมีอายุราว 7 ล้านปี, Orrorin tugenensis ซึ่งมีอายุราว 5.7 ล้านปี และ Ardipithecus kadabba ซึ่งมีอายุราว 5.6 ล้านปี แต่ละสปีชีส์ดังกล่าวมีการโต้แย้งว่าเป็นบรรพบุรุษสองเท้าของโฮมินินในสมัยหลัง แต่ข้ออ้างในแต่ละกรณีได้ถูกคัดค้าน เป็นไปได้ว่า สปีชีส์หนึ่งข้างต้นเป็นบรรพบุรุษของลิงไม่มีหางแอฟริกาอีกสาขาหนึ่ง หรือพวกมันอาจเป็นบรรพบุรุษร่วมของโฮมินินกับลิงไม่มีหางอื่น ๆ คำถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวอย่างซากดึกดำบรรพ์ยุคต้นเหล่านี้กับเชื้อสายโฮมินินยังต้องหาคำตอบต่อไป จากสปีชีส์ยุคแรกเริ่มเหล่านี้ ออสตราโลพิเธซีน (Australopithecines) ถือกำเนิดขึ้นเมื่อ 4 ล้านปีที่แล้ว และเบนออกเป็นสาขา Robust (หรือเรียกว่า Paranthropus) และ Gracile ซึ่งหนึ่งในนั้น (อาจเป็น A. garhi) ต่อมาเป็นบรรพบุรุษของสกุล Homo

สมาชิกเก่าแก่ที่สุดของสกุล Homo คือ Homo habilis ซึ่งวิวัฒนาการเมื่อราว 2.3 ล้านปีที่ผ่านมา Homo habilis เป็นสปีชีส์แรกซึ่งมีหลักฐานการใช้เครื่องมือหิน สมองของโฮมินินยุคเริ่มแรกนี้ยังมีขนาดเท่ากับสมองชิมแปนซี และการปรับตัวหลักของพวกมัน คือ การเดินสองเท้า ซึ่งเป็นการปรับตัวเพื่ออยู่อาศัยบนดิน อีกหนึ่งล้านปีต่อมา ขบวนการรวมอวัยวะสำคัญไว้ที่หัว (encephalization) เริ่มขึ้น และด้วยการมาถึงของ Homo erectus ในบันทึกซากดึกดำบรรพ์ ความจุกะโหลกได้เพิ่มเป็นสองเท่า Homo erectus เป็นโฮมินินชนิดแรกที่อพยพจากแอฟริกา และสปีชีส์นี้แพร่กระจายไปทั่วแอฟริกา เอเชียและยุโรประหว่าง 1.8 ถึง 1.3 ล้านปีที่แล้ว ประชากรหนึ่งของ H. erectus หรือที่บางครั้งจัดเป็นอีกสปีชีส์ต่างหาก ชื่อ Homo ergaster ยังคงอาศัยอยู่ในแอฟริกาและวิวัฒนาการเป็น Homo sapiens เชื่อกันว่าสปีชีส์เหล่านี้เป็นพวกแรกที่ใช้ไฟและเครื่องมือที่ซับซ้อน ซากดึกดำบรรพ์ตัวเชื่อมที่เก่าแก่ที่สุดระหว่าง H. ergaster/erectus และ H. sapiens โบราณมาจากแอฟริกา เช่น Homo rhodesiensis แต่ดูเหมือนว่า รูปแบบตัวเชื่อมจะยังพบที่ดมานีซี (Dmanisi) ประเทศจอร์เจีย สิ่งมีชีวิตสืบเชื้อสายของ H. erectus แอฟริกานี้แพร่กระจายทั่วยูเรเซียจากประมาณ 500,000 ปีที่แล้ว วิวัฒนาการเป็น H. antecessor, H. heidelbergensis และ H. neanderthalensis ซากดึกดำบรรพ์เก่าแก่ที่สุดของมนุษย์สมัยใหม่ทางกายวิภาคศาสตร์อยู่ในยุคหินเก่าตอนกลาง ราว 200,000 ปีที่แล้ว เช่น ซากโอโม (Omo remains) แห่งเอธิโอเปีย ฟอสซิลในสมัยหลังจาก Skhul ในอิสราเอล และยุโรปใต้ เริ่มตั้งแต่ราว 90,000 ปีที่แล้ว ต่อมาในปี พ.ศ. 2560 การค้นพบซากฟอสซิลกระดูกมนุษย์โฮโม เซเปียนส์ ที่ถ้ำเซเบล อีร์ฮูด ในประเทศโมร็อกโก อายุระหว่าง 300,000 - 350,000 ปี ซึ่งบ่งชี้ว่ามนุษย์ไม่ได้มีวิวัฒนาการอย่างรวดเร็วจากแหล่งเดียวที่เอธิโอเปียตามที่เข้าใจกันแต่เป็นการค่อย ๆวิวัฒนาการปรับสภาพทางกายภาพร่วมกันจากหลาย ๆ แหล่งในแอฟริกาแบบที่ละเล็กทีละน้อยผ่านเวลายาวนานจนเป็นลักษณะในปัจจุบันนี้[16]

การปรับตัวทางกายวิภาคศาสตร์

วิวัฒนาการของมนุษย์มีคุณลักษณะพิเศษโดยการเปลี่ยนแปลงทางกายสัณฐานวิทยา พัฒนาการ สรีรวิทยาและพฤติกรรมจำนวนหนึ่ง ซึ่งได้เกิดขึ้นนับแต่การแยกออกระหว่างบรรพบุรุษร่วมสุดท้ายของมนุษย์กับชิมแปนซี การปรับตัวทางกายวิภาคศาสตร์ที่สำคัญที่สุด ได้แก่ 1. ทวิบทหรือการเดินสองเท้า 2. ขนาดสมองที่ใหญ่ขึ้น 3. การพัฒนาเจริญเติบโตที่นานขึ้น (การตั้งครรภ์และวัยทารก) 4. ภาวะทวิสัณฐานทางเพศที่ลดลง ความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดเหล่านี้ยังเป็นหัวข้อถกเถียงกันอยู่[17] การเปลี่ยนแปลงทางการสัณฐานวิทยาที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ได้แก่ วิวัฒนาการของการหยิบจับที่มีพลังและแม่นยำด้วยนิ้วหัวแม่มือ ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกใน H. erectus[18]

ทวิบท (Bipedalism) เป็นการปรับตัวพื้นฐานของสายโฮมินิน และถูกมองว่าเป็นสาเหตุหลักเบื้องหลังชุดการเปลี่ยนแปลงของโครงกระดูกที่เกิดในโฮมินินทวิบทร่วมกัน โฮมินินทวิบทที่เก่าแก่ที่สุดถูกมองว่า อาจเป็น Sahelanthropus[19] หรือ Orrorin โดย Ardipithecus ซึ่งเป็นทวิบทอย่างเต็มตัว มาทีหลัง พวกที่เดินด้วยข้อนิ้วมือ อย่างกอริลลาและชิมแปนซี เบนออกในเวลาใกล้เคียงกัน และ Sahelanthropus หรือ Orrorin สปีชีส์ใดสปีชีส์หนึ่งอาจเป็นบรรพบุรุษร่วมสุดท้ายรหว่างมนุษย์กับลิงทั้งสอง สัตว์สองเท้าช่วงต้น ๆ สุดท้ายวิวัฒนาการไปเป็นออสตราโลพิเธซีน และสกุล Homo ต่อมา มีหลายทฤษฎีที่อธิบายคุณค่าของการปรับตัวเป็นทวิบท เป็นไปได้ว่าเหตุที่ทวิบทได้รับการสนับสนุนเพราะทำให้สัตว์มีมือว่างที่จะเอื้อมถึงและถืออาหาร เพราะมันช่วยรักษาพลังงานระหว่างการเคลื่อนไหว เพราะทำให้สามารถวิ่งและล่าระยะไกลได้ หรือเป็นยุทธศาสตร์หลีกเลี่ยงภาวะไข้สูงโดยลดพื้นผิวที่จะสัมผัสกับแสงอาทิตย์โดยตรง

สปีชีส์มนุษย์พัฒนาสมองใหญ่กว่าสมองของไพรเมตอื่นมาก โดยทั่วไป สมองมนุษย์สมัยใหม่มีปริมาตร 1,330 ซม.3 กว่าสองเท่าของขนาดสมองชิมแปนซีหรือกอริลลา[20] รูปแบบของการรวมอวัยวะสำคัญที่หัวเริ่มต้นด้วย Homo habilis ซึ่งมีขนาดสมองประมาณ 600 ซม.3 ใหญ่กว่าชินแปนซีเล็กน้อย ตามมาด้วย Homo erectus (800-1,100 ซม.3) และถึงขีดสุดในนีแอนเดอร์ทาล โดยมีขนาดโดยเฉลี่ย 1,200-1,900 ซม.3 ซึ่งใหญ่กว่า Homo sapiens เสียอีก รูปแบบของการเจริญเติบโตของสมองหลังคลอดของมนุษย์แตกต่างไปจากลิงไม่มีหางอื่น และทำให้มีระยะการเรียนรู้ทางสังคมและการพัฒนาทักษะภาษายาวนานขึ้นในมนุษย์วัยเยาว์ อย่างไรก็ดี ข้อแตกต่างระหว่างโครงสร้างสมองมนุษย์กับสมองลิงไม่มีหางอื่นอาจสำคัญมากกว่าข้อแตกต่างในด้านขนาด[21][22][23][24] การเพิ่มปริมาตรขึ้นตามเวลาได้กระทบต่อพื้นที่ต่าง ๆ ในสมองไม่เท่ากัน สมองกลีบขมับ ซึ่งบรรจุศูนย์กลางการประมวลผลภาษาได้เพิ่มขึ้นอย่างไม่ได้สัดส่วน เช่นเดียวกับที่สมองส่วนหน้าซึ่งเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจที่ซับซ้อนและการประสานพฤติกรรมทางสังคม[20] การรวมอวัยวะสำคัญไว้ที่หัวมีความสัมพันธ์กับการที่มนุษย์เน้นกินเนื้อสัตว์เป็นอาหารเพิ่มขึ้น[25][26] หรือกับพัฒนาการของการทำอาหาร[27] และมีการเสนอว่า เชาวน์ปัญญาเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นการสนองต่อความจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาสังคมที่เพิ่มขึ้น เมื่อสังคมมนุษย์ซับซ้อนขึ้น

ระดับทวิสัณฐานทางเพศที่ลดลงสังเกตได้ชัดเจนที่สุดจากการลดลงของฟันเขี้ยวในชายเมื่อเทียบกับสปีชีส์ลิงไม่มีหางอื่น (ยกเว้นชะนี) การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาที่สำคัญอีกประการหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับเพศสภาพในมนุษย์ คือ วิวัฒนาการของการเป็นสัดแฝงเร้น (hidden estrus) มนุษย์เป็นลิงไม่มีหางขนาดใหญ่ชนิดเดียวซึ่งหญิงสามารถสืบพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี และไม่มีสัญญาณแสดงภาวะเจริญพันธุ์ที่ร่างกายสร้างขึ้นเป็นพิเศษ (เช่น อวัยวะสืบพันธุ์บวมระหว่างการเป็นสัด) แม้กระนั้น มนุษย์ยังมีภาวะทวิสัณฐานทางเพศระดับหนึ่งในการกระจายขนของร่างกายและไขมันใต้หนัง และในขนาดโดยรวม ชายใหญ่กว่าหญิงราว 25% เพราะวัยทารกของลูกยาวนาน มนุษย์จึงเน้นการจับคู่เพิ่มขึ้นเพื่อเป็นทางออกที่เป็นไปได้ต่อความต้องการการลงทุนของพ่อแม่ (parental investment) ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาต่าง ๆ ข้างต้นนั้นถูกตีความว่าเป็นผลมาจากการเน้นการจับคู่ที่เพิ่มขึ้นนี้เอง

ยุคหินเก่า

การแพร่กระจายทั่วโลกของมนุษย์

มนุษย์สมัยใหม่ทางกายวิภาควิวัฒนาการจาก โฮโม เซเปียนส์ ดั้งเดิมในแอฟริกาในยุคหินเก่าตอนกลาง ราว 200,000 ปีที่แล้ว จนถึงการเริ่มต้นของสมัยหินเก่าตอนปลาย (50,000 ปีที่แล้ว) ได้มีการพัฒนาความนำสมัยทางพฤติกรรมเต็มตัว รวมทั้งภาษา ดนตรีและสิ่งสากลทางวัฒนธรรมอื่นขึ้น

การอพยพออกนอกทวีปแอฟริกาประเมินว่าเกิดขึ้นราว 70,000 ปีที่แล้ว มนุษย์สมัยใหม่ภายหลังแพร่กระจายไปทั่วโลก แทนที่โฮมินิดอื่นก่อนหน้า มนุษย์อาศัยอยู่ในยูเรเชียและโอเชียเนียก่อน 40,000 ปีที่แล้ว และทวีปอเมริกาเมื่ออย่างน้อย 14,500 ปีที่แล้ว[28] ทฤษฎีที่นิยมแพร่หลายหนึ่งว่า มนุษย์แทนที่ Homo neanderthalensis และสปีชีส์อื่นซึ่งสืบเชื้อสายมาจาก Homo erectus[29] (ผู้อยู่อาศัยในยูเรเชียเนิ่นตั้งแต่ 2 ล้านปีที่แล้ว) ผ่านการสืบพันธุ์และการแก่งแย่งชิงทรัพยากรที่ประสบความสำเร็จกว่า[30] รูปแบบหรือขอบเขตที่แน่ชัดของการอยู่ร่วมกันและปฏิสัมพันธ์ของสปีชีส์ทั้งสองนั้นไม่ทราบและยังคงเป็นหัวข้อโต้แย้งกันต่อไป[31]

หลักฐานจากพันธุศาสตร์โบราณคดีซึ่งสะสมมาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1990 ได้ให้การสนับสนุนที่น่าเชื่อถือต่อสมมุติฐานลำดับเหตุการณ์ "ออกจากแอฟริกา" และได้เบียดข้อสันนิษฐานหลายภูมิภาคคู่แข่งตกไป ซึ่งได้เสนอว่า มนุษย์สมัยใหม่วิวัฒนาการมา อย่างน้อยบางส่วน จากประชากรโฮมินิดที่แยกกัน[32]

นักพันธุศาสตร์ ลินน์ จอร์จและเฮนรี อาร์เพนดิงแห่งมหาวิทยาลัยยูทาห์ เสนอว่า ความหลากหลายในดีเอ็นเอมนุษย์นั้นเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับความหลากหลายในสปีชีส์อื่น[33] พวกเขายังเสนอว่า ระหว่างสมัยไพลสโตซีนตอนปลาย ประชากรมนุษย์ลดลงเหลือเพียงคู่พ่อแม่พันธุ์จำนวนน้อยเท่านั้น คือ ไม่มากกว่า 10,000 คน และอาจเหลือน้อยเพียง 1,000 คน ส่งผลให้ยีนพูลตกค้างมีขนาดเล็กมาก[34] หลายเหตุผลสำหรับข้อสมมุติปรากฏการณ์คอขวดประชากรนี้ เหตุผลหนึ่ง คือ ทฤษฎีมหันตภัยโตบา (Toba catastrophe theory) [35]

การเปลี่ยนผ่านสู่อารยธรรม

ดูเพิ่มเติมที่: ประวัติศาสตร์โลก
การรู้จักทำการเกษตร และนำสัตว์ป่ามาเลี้ยงของมนุษย์ นำไปสู่การตั้งถิ่นฐานมนุษย์ที่เสถียร

มนุษย์ส่วนมากมีวิถีชีวิตด้วยการล่าสัตว์และเก็บหาของป่า กระทั่งเมื่อประมาณ 10,000 ปีที่แล้ว พวกเขามักอยู่อาศัยกันเป็นกลุ่มเร่รอนขนาดเล็ก เรียกว่า สังคมกลุ่มคน (band society) การเริ่มทำการเกษตรกระตุ้นให้เกิดการปฏิวัติยุคหินใหม่ เมื่อมนุษย์มีอาหารส่วนเกินจนนำไปสู่การตั้งถิ่นฐานมนุษย์อย่างถาวร มีการนำสัตว์มาเลี้ยงและการใช้เครื่องมือโลหะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เกษตรกรรมยังเกื้อหนุนการค้าและความร่วมมือ และได้นำไปสู่สังคมที่มีความซับซ้อน

ราว 6,000 ปีที่แล้ว มนุษย์ได้พัฒนา "ว่าที่รัฐ" แห่งแรกขึ้นในดินแดนเมโสโปเตเมีย, ลุ่มแม่น้ำไนล์ของอียิปต์ และลุ่มแม่น้ำสินธุ ทั้งมีการจัดกำลังทางทหารเพื่อการป้องกัน และระบบราชการเพื่อการบริหารปกครอง รัฐต่าง ๆ มีการร่วมมือกันและแข่งขันกันเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากร ซึ่งในบางกรณีก็ถึงขั้นทำสงครามกัน ประมาณ 2,000-3,000 ปีที่แล้ว บางรัฐเช่น เปอร์เซีย, อินเดีย, จีน, โรม, และกรีซ เป็นรัฐแรก ๆ ที่พัฒนาจากการขยายดินแดนจนกลายเป็นจักรวรรดิ กรีซโบราณเป็นอารยธรรมต้นแบบซึ่งได้วางรากฐานของวัฒนธรรมตะวันตก เป็นบ่อเกิดของปรัชญาตะวันตก ประชาธิปไตย ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ที่สำคัญ กีฬาโอลิมปิก วรรณกรรมและประวัติศาสตร์นิพนธ์ตะวันตก รวมทั้งนาฏกรรมตะวันตก รวมทั้งโศกนาฏกรรมและสุขนาฏกรรม[36] ศาสนาซึ่งมีอิทธิพล เช่น ศาสนายูดาย กำเนิดขึ้นในเอเชียตะวันตก และศาสนาฮินดู ซึ่งกำเนิดขึ้นในเอเชียใต้ ยังปรากฏชัดในช่วงเวลานี้เช่นกัน

ยุคกลางตอนกลายได้เกิดการปฏิวัติทางความคิดและเทคโนโลยี สังคมเมืองที่ก้าวหน้าในประเทศจีนได้เป็นปัจจัยที่ช่วยให้เกิดนวัตกรรมและความรู้ใหม่ ๆ เช่นการหว่านเมล็ดพืชและการพิมพ์ ในอินเดีย ความก้าวหน้าที่สำคัญมีในด้านคณิตศาสตร์ ปรัชญา ศาสนาและโลหะวิทยา ยุคทองของอิสลามมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญในจักรวรรดิมุสลิม การกลับมาค้นพบความรู้ในยุคคลาสสิกของยุโรปและการประดิษฐ์แท่นพิมพ์นำไปสู่การฟื้นฟูศิลปะวิทยาในศตวรรษที่ 14 และ 15 ในระยะเวลา 500 ปีต่อมาเป็นยุคแห่งการสำรวจและล่าอาณานิคม กระทั่งดินแดนส่วนใหญ่ในทวีปอเมริกา เอเซีย และแอฟริกาอยู่ภายใต้การควบคุมของยุโรป นำไปสู่การดิ้นรนเพื่อเอกราชในภายหลัง การปฏิวัติวิทยาศาสตร์ในศตวรรษที่ 17 และการปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 18-19 ก่อให้เกิดนวัตกรรมรูปแบบการขนส่งสำคัญ เช่น ทางรถไฟและรถยนต์ การพัฒนาทางพลังงาน เช่น ไฟฟ้าและถ่านหิน และมีการพัฒนารูปแบบการปกครองเช่น ประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนและคอมมิวนิสต์

จากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การพัฒนาทางเทคโนโลยีในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 เป็นการเริ่มต้นของยุคสารสนเทศ มนุษย์สมัยใหม่มีชีวิตในโลกที่ทุกสถานที่สามารถรับรู้ข่าวสารความเคลื่อนไหวของทั่วทุกที่ในโลกไปพร้อม ๆ กัน และทุกที่เชื่อมต่อถึงกันโดยมีเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นปัจจัยหลัก มีการประมาณไว้ว่าใน ค.ศ. 2010 มนุษย์กว่า 2 พันล้านคนสื่อสารกันได้ผ่านทางอินเทอร์เน็ต[37] และ 3.3 พันล้านคนสื่อสารกันด้วยโทรศัพท์เคลื่อนที่[38]

ถึงแม้ว่าการเชื่อมต่อถึงกันระหว่างมนุษย์ช่วยให้เกิดการเติบโตทางวิทยาศาสตร์ ศิลปะ การสนทนา และเทคโนโลยี แต่ก็เกิดการปะทะกันของวัฒนธรรม เกิดการพัฒนาและการใช้อาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง อารยธรรมมนุษย์ได้นำไปสู่การทำลายสิ่งแวดล้อมและก่อให้เกิดมลภาวะ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญต่อการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสิ่งมีชีวิตอื่น เรียกว่า เหตุการณ์สูญพันธุ์โฮโลซีน (holocene extinction event) [39] ซึ่งอาจเร่งให้เกิดเร็วขึ้นโดยปรากฏการณ์โลกร้อนในอนาคต[40]

ใกล้เคียง

มนุษย์ มนุษย์ที่มีกายวิภาคปัจจุบัน มนุษย์เลื่อยยนต์ มนุษย์หมาป่า มนุษย์พรุพีต มนุษย์หินฟลิ้นท์สโตนส์ มนุษย์โบราณ มนุษย์ตัวเขียวจอมพลัง มนุษย์มดมหากาฬ มนุษย์ฟลอริดา

แหล่งที่มา

WikiPedia: มนุษย์ http://www.answers.com/topic/pygmy http://www.archaeologyinfo.com/homosapiens.htm http://www.bbc.com/thai/international-40202638?STh... http://www.breitbart.com/article.php?id=0708241216... http://books.google.com/books?id=9WemAAAAIAAJ&pg=P... http://books.google.com/books?id=ITp_RnsPfzQC&pg=P... http://books.google.com/books?id=Rbq0j5ZjhGgC&pg=P... http://books.google.com/books?id=vafgWfgxUK8C&pg=P... http://books.google.com/books?id=yP6TrXRpPdMC&pg=P... http://books.google.com/books?id=zvbV4M0-YdEC&pg=P...