การปฏิรูปของเวียดนามและการถอนตัว ของ สงครามกัมพูชา–เวียดนาม

เทือกเขาตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาทางเหนือของถนนระหว่างศรีโสภณและอรัญประเทศ นี่เป็นที่ซ่อนของทหารเขมรแดงระหว่างการโจมตีตามแผนK5ค่ายผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดนของกัมพูชาระหว่าง พ.ศ. 2522 - 2527

ใน พ.ศ. 2521 เมื่อเวียดนามตัดสินใจรุกรานกัมพูชา พวกเขาไม่ได้คาดว่าจะถูกต่อต้านในระดับนานาชาติ อย่างไรก็ตาม เวียดนามและสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชามีบทบาทในการฟื้นฟูประเทศ นโยบายของนานาชาติเกี่ยวกับกัมพูชาส่งผลต่อเศรษฐกิจของเวียดนาม สหรัฐประกาศคว่ำบาตรเวียดนาม และมีหลายประเทศในสหประชาชาติไม่รับรองเวียดนามและสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา และปฏิเสธสมาชิกภาพขององค์กรระดับนานาชาติ เช่น ธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชีย และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ใน พ.ศ. 2522 ญี่ปุ่นได้กดดันโดยลดความช่วยเหลือต่อเวียดนามความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียต และปัญหามนุษย์เรือ ทำให้สวีเดนที่เคยสนับสนุนเวียดนามถอนการรับรอง

นอกจากนั้นยังเกิดการกดดันภายในประเทศเวียดนามเพราะไม่สามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้ การใช้ระบบการวางแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลางตามอย่างสหภาพโซเวียต เวียดนามพยายามเน้นอุตสาหกรรมหนัก และไม่สามารถพัฒนาเวียดนามใต้หลังรวมประเทศได้ รัฐบาลเวียดนามใช้งบประมาณส่วนใหญ่ในทางการทหาร รวมทั้งใช้ในการปฏิวัติกัมพูชา เวียดนามเริ่มถอนทหารออกจากกัมพูชาตั้งแต่ พ.ศ. 2525 แต่กระบวนการถอนทหารของเวียดนามไม่มีการรับรองจากนานาชาติ ผู้สังเกตการณ์ต่างชาติมองว่าเป็นเพียงการหมุนเวียนทหาร ใน พ.ศ. 2527 เวียดนามใช้แผน K5 ในการโจมตีกัมพูชาตะวันตกจนถึงชายแดนไทย ทหารเวียดนามยังคงอยู่ตามจังหวัดใหญ่ ๆ เพื่อฝึกฝนทหารกัมพูชา

ใน พ.ศ. 2528 การโดดเดี่ยวในระดับนานาชาติและปัญหาทางเศรษฐกิจทำให้เวียดนามต้องพึ่งสหภาพโซเวียตมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงที่ทำสงครามกับจีนใน พ.ศ. 2522 สหภาพโซเวียตให้ความช่วยเหลือเวียดนาม 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และสูงที่สุดใน พ.ศ. 2524 – 2528 ใน พ.ศ. 2529 สหภาพโซเวียตประกาศลดความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจต่อเวียดนามลง 20% และลดความช่วยเหลือทางทหารลง 1 ใน 3 เพื่อที่จะกลับเข้าร่วมในประชาคมระดับนานาชาติอีกครั้งและเพื่อเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจดังที่สหภาพโซเวียตและยุโรปตะวันออกต้องเผชิญ ผู้นำเวียดนามตัดสินใจปฏิรูป ในการประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคครั้งที่ 6 ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2529 เลขาธิการทั่วไปของพรรคคือเหงียน วัน ลิญ ได้นำเสนอการปฏิรูปที่สำคัญคือ นโยบายโด่ยเม้ย ซึ่งในภาษาเวียดนามหมายถึงการปรับใหม่ เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจของเวียดนาม ผู้นำเวียดนามเห็นว่าปัญหาเศรษฐกิจของเวียดนามเกิดจากการถูกโดดเดี่ยวในระดับนานาชาติหลังการรุกรานกัมพูชาใน พ.ศ. 2521 และนโยบายนี้จะประสบความสำเร็จได้เมื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการทหารและต่างประเทศ ต่อมา ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2530 คณะกรรมการโปลิตบูโรของเวียดนามได้ปรับนโยบายทางการทหารและให้มีการถอนทหารออกจากกัมพูชาโดยสมบูรณ์และลดจำนวนทหารลง

ต่อมา ในวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 คณะกรรมการโปลิตบูโรได้ปรับนโยบายการต่างประเทศโดยจะเปิดประเทศรับการลงทุนและความช่วยเหลือจากต่างชาติ เวียดนามยุติการประณามสหรัฐอเมิกา จีน อาเซียนและเริ่มมีการถอนทหารออกจากกัมพูชาโดยลำดับ แต่ก็มีกลุ่มต่อต้านเวียดนามออกมากล่าวว่ายังมีทหารเวียดนามอยู่ในกัมพูชาหลังเดือนกันยายน พ.ศ. 2532 โดยกลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์รายงานว่าได้ปะทะกับกองกำลังพิเศษของเวียดนามที่ตมาร์ปวกใกล้ช่อง 69 หลังการประกาศถอนทหารในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2534 มีรายงานว่าทหารเวียดนามกลับเข้าไปในจังหวัดกำปอตเพื่อต่อต้านการรุกรานของเขมรแดง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเวียดนามได้ลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพเมื่อ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2534 เพื่อฟื้นฟูสันติภาพในกัมพูชา

ใกล้เคียง

สงครามโลกครั้งที่สอง สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามเวียดนาม สงครามกลางเมืองอเมริกา สงครามแปซิฟิก สงครามเกาหลี สงครามอ่าว สงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง สงครามครูเสด สงครามกัมพูชา–เวียดนาม