ภูมิหลัง ของ สงครามกัมพูชา–เวียดนาม

ประวัติศาสตร์กัมพูชา-เวียดนาม

เวียดนามเข้ามามีอิทธิพลในกัมพูชาหลังยุคพระนครตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18 อิทธิพลทั้งโดยตรงและโดยอ้อมได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนสามารถครอบงำกัมพูชาได้ในพุทธศตวรรษที่ 24 ใน พ.ศ. 2356 นักองจัน กษัตริย์กัมพูชาได้หันไปขอความช่วยเหลือจากเวียดนาม ทำให้ตลอดรัชกาลของพระองค์กัมพูชาอยู่ภายใต้การอารักขาของเวียดนาม ใน พ.ศ. 2377 หลังจากนักองจันสิ้นพระชนม์ เวียดนามได้เข้ามาปกครองกัมพูชา ในฐานะจังหวัดหนึ่งของเวียดนาม และได้พยายามทำลายวัฒนธรรมเขมร อิทธิพลของเวียดนามยังคงอยู่ในช่วงที่เป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส และกัมพูชาต้องเสียดินแดนที่ปัจจุบันนี้คือไซ่ง่อน ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงและเมืองไตนิญให้แก่เวียดนาม เขมรแดงเมื่อครองอำนาจได้ต่อต้านเวียดนามและพยายามที่จะฟื้นฟูประเทศไปสู่สมัยก่อนที่เวียดนามจะเข้ามามีอิทธิพล

การขึ้นมามีอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์

ขบวนการนิยมคอมมิวนิสต์ในเวียดนามและกัมพูชาเริมขึ้นก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็นชาวเวียดนาม เริ่มต้นด้วยการต่อต้านฝรั่งเศส เจ้าอาณานิคมในอินโดจีน ใน พ.ศ. 2484 โฮจิมินห์ได้ก่อตั้งเวียดมิญเมื่อญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เวียดมิญได้สู้รบกับฝรั่งเศสในสงครามอินโดจีนครั้งที่หนึ่ง เพื่อเรียกร้องเอกราช ในระหว่างนี้ เวียดมิญได้ใช้แผ่นดินกัมพูชาในการขนส่งอาวุธและความช่วยเหลือต่าง ๆ ในสงครามเวียดนาม กัมพูชายังเป็นทางผ่านสำคัญในการโจมตีเวียดนามใต้ ใน พ.ศ. 2494 เวียดนามได้สนับสนุนให้จัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ในกัมพูชา เพื่อร่วมมือกับกลุ่มชาตินิยมคือเขมรอิสระในการเรียกร้องเอกราช หลังการลงนามในสนธิสัญญาเจนีวา เมื่อ พ.ศ. 2497 ทำให้การปกครองของฝรั่งเศสสิ้นสุดลง กลุ่มเวียดมิญในพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชากลับไปเวียดนามเหนือ ทำให้กลุ่มปัญญาชนปารีสที่นิยมคอมมิวนิสต์เข้ามามีอิทธิพลในพรรค ได้แก่ พล พต เอียง ซารี และเขียว สัมพัน กลุ่มนี้มีแนวคิดนิยมลัทธิเหมา และเป็นหัวหน้าของกลุ่มที่ต่อมาเรียกว่าเขมรแดง

กัมพูชาประชาธิปไตยและเขมรแดง

เมื่อเขมรแดงได้ครองอำนาจและสถาปนากัมพูชาประชาธิปไตย และใช้คำว่าอังการ์หรือองค์กรเป็นคำแทนกลุ่มของตน จนถึง พ.ศ. 2520 เขียว สัมพันมีฐานะเป็นประมุขรัฐแต่ผู้มีอำนาจจริง ๆ คือ พล พต และเอียง ซารี เป้าหมายของเขมรแดงคือต้องการล้มล้างระบอบศักดินาออกไปจากกัมพูชา และสร้างสังคมอุดมคติสำหรับผู้ใช้แรงงาน ซึ่งทำให้เกิดการสังหารหมู่ตามมา

ในระหว่างสงครามกลางเมืองกัมพูชา พ.ศ. 2513 – 2518 เขมรแดงได้รับความช่วยเหลือทั้งจากจีนและเวียดนามเหนือ แต่หลังจากสงครามเวียดนามสิ้นสุดลง ความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามกับเขมรแดงเลวร้ายลง การปะทะกันครั้งแรกสุด เกิดขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 2517 หลังจากที่พลพตสถาปนาความสัมพันธ์ฉันมิตรกับจีน[4]

ใกล้เคียง

สงครามโลกครั้งที่สอง สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามเวียดนาม สงครามกลางเมืองอเมริกา สงครามแปซิฟิก สงครามเกาหลี สงครามอ่าว สงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง สงครามครูเสด สงครามกัมพูชา–เวียดนาม