เหตุการณ์ ของ สงครามหกวัน

หลังวิกฤตการณ์คลองสุเอซในปี ค.ศ. 1956 ประเทศอียิปต์เห็นชอบให้กองกำลังฉุกเฉินแห่งสหประชาชาติ (UNEF) ตั้งฐานปฏิบัติการในคาบสมุทรไซนายเพื่อรับประกันว่าทุกฝ่ายจะปฏิบัติตามข้อตกลงหยุดยิง ค.ศ. 1949[5] ในปีต่อ ๆ มาเกิดการปะทะเล็กน้อยตามแนวชายแดนอิสราเอล–ชาติอาหรับโดยเฉพาะชายแดนด้านซีเรียอยู่เรื่อย ๆ และในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1966 รัฐบาลซีเรียได้ลงนามในข้อตกลงป้องกันประเทศร่วมกับอียิปต์[6] ไม่นานหลังจากการลงนามนี้ อิสราเอลเริ่มตอบโต้การรบแบบกองโจรขององค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO)[7][8] โดยการเข้าโจมตีหมู่บ้านอัสซามูในเขตเวสต์แบงก์ซึ่งอยู่ในบังคับของประเทศจอร์แดน กองทัพจอร์แดนส่งทหารเข้าสกัดกั้นแต่ก็แพ้กลับมาอย่างรวดเร็ว[9] สมเด็จพระราชาธิบดีฮุสเซนแห่งจอร์แดนทรงต่อว่าประธานาธิบดีอียิปต์ญะมาล อับดุนนาศิร ที่ไม่ส่งกองหนุนมาช่วยเหลือจอร์แดนตามข้อตกลง และยังทรงกล่าวว่าอียิปต์เอาแต่ "หลบอยู่ใต้กระโปรงกองกำลังฉุกเฉินยูเอ็น"[10][11][12]

เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1967 ประธานาธิบดีอับดุนนาศิรได้รับการข่าวผิดพลาดจากสหภาพโซเวียตว่าอิสราเอลกำลังยกทัพเข้าชายแดนซีเรีย อับดุนนาศิรมีคำสั่งให้กองทัพอียิปต์จัดแนวรับไว้สองแห่ง คือบริเวณคาบสมุทรไซนายฝั่งชายแดนอิสราเอล และมีคำสั่งให้ UNEF ถอนกำลังจากฉนวนกาซาและไซนาย (19 พฤษภาคม) และส่งกองทัพอียิปต์เข้าประจำตำแหน่งแทน UNEF ที่เมืองท่าตากอากาศชาร์เมลเชคเพื่อเฝ้าระวังช่องแคบติราน รัฐบาลอิสราเอลออกแถลงการณ์ย้ำคำประกาศใน ค.ศ. 1957 ว่าการกระทำใด ๆ ที่ปิดช่องแคบอาจถือเป็นเหตุแห่งสงครามหรือการก่อสงครามโดยชอบธรรม แต่ประธานาธิบดีอียิปต์ก็ยังคงปิดช่องแคบติรานไม่ให้เรือสัญชาติอิสราเอลใช้[13]

ในวันที่ 30 พฤษภาคม ประเทศจอร์แดนและอียิปต์ลงนามในกติกาสัญญาร่วมป้องกันประเทศ หนึ่งวันต่อมา กองทัพอิรักยกกำลังพลและหน่วยยานเกราะเข้าสู่จอร์แดนตามคำเชิญของจอร์แดน[14] และภายหลังยังมีกองทัพอียิปต์ส่งเข้ามาสมทบ ในวันที่ 1 มิถุนายน อิสราเอลสามารถจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติจากทุกพรรคการเมือง รัฐบาลแห่งชาติอิสราเอลได้มีมติในวันที่ 4 มิถุนายนให้ทำสงคราม เช้าวันต่อมา กองทัพอิสราเอลเปิดฉากโจมตีด้วยปฏิบัติการโฟกัส ซึ่งเป็นปฏิบัติการโจมตีทางอากาศขนานใหญ่แบบไม่ทันตั้งตัว ถือเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามหกวัน

ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลสามารถทำลายกองทัพอากาศอียิปต์กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้อิสราเอลครองอากาศเหนืออียิปต์ ซีเรียและจอร์แดน[15] ขณะเดียวกัน กองทัพอิสราเอลโจมตีฉนวนกาซาและคาบสมุทรไซนายทางภาคพื้นดิน ทำให้อียิปต์ที่ถูกโจมตีทั้งทางอากาศและพื้นดินเสียขวัญอย่างมาก ภายในสามวันหลังจากนั้น อิสราเอลสามารถตีโต้กองทัพจอร์แดนและซีเรียที่เข้าช่วยเหลืออียิปต์ และยึดครองเขตเวสต์แบงก์และที่ราบสูงโกลันไว้ได้[16] วันที่ 7 มิถุนายน คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเรียกร้องให้มีการหยุดยิง อียิปต์และจอร์แดนตกลงหยุดยิงในวันต่อมา อิสราเอลและซีเรียตกลงหยุดยิงในวันที่ 10 มิถุนายน เป็นอันสิ้นสุดสงครามหกวัน[17]

หลังสงคราม อิสราเอลสูญเสียกำลังพลน้อยกว่า 1,000 นาย ขณะที่อียิปต์และจอร์แดนสูญเสียกำลังพลกว่า 20,000 นาย นอกจากนี้อิสราเอลยังยึดครองฉนวนกาซา คาบสมุทรไซนาย เวสต์แบงก์และที่ราบสูงโกลัน ถึงแม้จะมีการตกลงหยุดยิง แต่ความล้มเหลวในการเจรจาสันติภาพระหว่างอิสราเอลและชาติอาหรับนำไปสู่สงครามครั้งใหม่อย่างสงครามการบั่นทอนกำลัง และสงครามยมคิปปูร์

ใกล้เคียง

สงครามโลกครั้งที่สอง สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามเวียดนาม สงครามกลางเมืองอเมริกา สงครามอ่าว สงครามเกาหลี สงครามเย็น สงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง สงครามแปซิฟิก สงครามครูเสด

แหล่งที่มา

WikiPedia: สงครามหกวัน http://web.archive.org/20000115233148/www.geocitie... http://www.opinion-maker.org/2012/08/pakistani-pil... http://www.webcitation.org/6GYjCNSx0 http://news.bbc.co.uk/onthisday/hi/dates/stories/j... https://www.britannica.com/event/Six-Day-War https://books.google.com/books?id=3kbU4BIAcrQC&pg=... https://books.google.com/books?id=4u-ZheMnqf8C&pg=... https://www.history.com/topics/middle-east/six-day... https://web.archive.org/web/20160101175251/https:/... https://web.archive.org/web/20160101175251/https:/...