การรักษา ของ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ

การรักษาเบื้องต้น

เยื่อหุ้มสมองอักเสบเป็นภาวะที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตและมีอัตราตายสูงหากไม่ได้รับการรักษา[8] การรักษาที่ล่าช้าเป็นผลให้ผลการรักษาออกมาไม่ดี[3] ดังนั้นจึงต้องให้ยาปฏิชีวนะชนิดครอบคลุมโดยไม่ล่าช้าระหว่างที่กำลังทำการตรวจเพื่อการวินิจฉัย[33] หากสงสัยติดเชื้อเมนิงโกคอคคัสตั้งแต่การดูแลผู้ป่วยในระดับปฐมภูมิ มีแนวทางปฏิบัติแนะนำให้ให้ยาเพนิซิลลินจีก่อนส่งผู้ป่วยไปรับการรักษาต่อ[26] หากมีความดันเลือดต่ำหรือช็อคแนะนำให้ให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ[33] เนื่องจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบสามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงบางอย่างได้ในระยะแรก จึงมีการแนะนำให้ตรวจหาภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้แต่เนิ่น ๆ [33] และให้รับไว้รักษาในหออภิบาลผู้ป่วยหนักหากจำเป็น[3]

หากระดับการรู้สึกตัวต่ำมากหรือมีลักษณะของการหายใจล้มเหลวอาจจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หากมีอาการแสดงของความดันในกะโหลกศีรษะขึ้นสูงอาจต้องมีการตรวจหาระดับความดันในกะโหลกศีรษะเพื่อให้สามารถปรับระดับความดันการกำซาบในสมองด้วยการให้การรักษาเพื่อลดความดันในกะโหลกศีรษะ (เช่น ยาแมนนิทอล)[3] หากชักก็รักษาด้วยยากันชัก[3] หากมีโพรงสมองคั่งน้ำอาจต้องใส่อุปกรณ์ระบายน้ำแบบชั่วคราวหรือถาวร (เช่นการทำทางเชื่อมโพรงสมอง)[3]

เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย

ยาปฏิชีวนะ

โครงสร้างเคมีของยาเซฟไทรแอกโซนซึ่งเป็นยาชนิดหนึ่งในยาปฏิชีวนะกลุ่มเซฟาโลสปอรีนรุ่นที่ 3 ซึ่งมีการแนะนำให้ใช้เป็นการรักษาแรกเริ่มของเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย

ผู้ป่วยควรได้รับยาปฏิชีวนะแบบครอบคลุมเชื้อที่อาจเป็นไปได้ไว้ก่อนทันทีแม้จะยังไม่ทราบผลตรวจน้ำหล่อสมองไขสันหลัง ยาที่จะเลือกใช้นั้นขึ้นอยู่กับชนิดของแบคทีเรียที่ทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบในสถานการณ์นั้น ๆ เช่น ในประเทศอังกฤษ ยาที่แนะนำให้ใช้คือเซฟาโลสปอรีนรุ่นที่ 3 เช่นเซโฟแทกซีมหรือเซฟไทรแอกโซน[31][33] ส่วนในสหรัฐอเมริกาซึ่งเชื้อสเตรปโตคอคคัสมีการดื้อต่อเซฟาโลสปอรีนมากขึ้นมีการแนะนำให้เพิ่มแวนโกมัยซินลงไปในการรักษาขั้นต้นด้วย[8][3][31] นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับข้อมูลทางวิทยาการระบาดอื่น ๆ เช่น อายุ การมีการได้รับการบาดเจ็บที่ศีรษะนำมาก่อน การได้รับการผ่าตัดสมองหรือไขสันหลังมาก่อน และมีการมีทางเชื่อมโพรงสมอง เป็นต้น[8] ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยที่เป็นเด็ก หรืออายุมากกว่า 50 ปี หรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ควรได้รับแอมพิซิลลินเพิ่มด้วยเพื่อให้ครอบคลุมเชื้อ Listeria monocytogenes[8][31] หลังจากนั้นเมื่อทราบผลการย้อมสีกรัมทำให้ทราบกลุ่มของแบคทีเรียก่อโรคคร่าว ๆ แล้วอาจเปลี่ยนยาปฏิชีวนะเป็นชนิดที่เหมาะกับเชื้อที่สงสัยมากที่สุด[8]

ผลการเพาะเชื้อจากน้ำหล่อสมองไขสันหลังนั้นส่วนใหญ่ใช้เวลานานประมาณ 24-48 ชั่วโมง เมื่อได้ผลมาแล้วจะทำให้ทราบชนิดของเชื้อและการตอบสนองต่อยาของเชื้อนั้น ๆ จึงอาจทำให้สามารถเปลี่ยนยาปฏิชีวนะให้มีความจำเพาะต่อเชื้อที่ทำให้เกิดโรค[8] การที่ยาปฏิชีวนะจะใช้รักษาเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้นอกจากจะต้องมีผลต่อเชื้อที่ทำให้เกิดโรคแล้วยังจะต้องสามารถผ่านเข้าไปถึงเยื่อหุ้มสมองได้ในปริมาณที่มากพอจะมีทำลายเชื้อ ยาบางชนิดไม่สามารถผ่านเข้าไปถึงเยื่อหุ้มสมองในปริมาณที่เพียงพอต่อการทำลายเชื้อได้ ยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการรักษาเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียส่วนใหญ่นั้นยังไม่มีการวิจัยเชิงทดลองทางคลินิกในมนุษย์ แต่ข้อมูลส่วนใหญ่ได้มาจากการทดลองในกระต่าย[8]

เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากวัณโรคจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเป็นเวลานาน โดยปกติแล้ววัณโรคปอดใช้เวลาในการรักษาประมาณหกเดือน แต่เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากวัณโรคใช้เวลาในการรักษาประมาณหนึ่งปีหรือมากกว่า[17] โดยในกรณีเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากวัณโรคนั้นมีหลักฐานยืนยันชัดเจนถึงประโยชน์ของการใช้สเตียรอยด์ในการรักษา แม้ข้อมูลจะยังจำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยเอดส์ก็ตาม[47]

สเตียรอยด์

มีการวิจัยที่ทำในกลุ่มประเทศที่ประชากรมีรายได้สูงและมีการติดเชื้อเอชไอวีน้อยอยู่จำนวนหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าการให้คอร์ติโคสเตียรอยด์ (ส่วนใหญ่ใช้เดกซาเมทาโซน) เป็นการรักษาร่วมในการรักษาเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากแบคทีเรียนั้นช่วยลดอัตราตาย ลดการเกิดการสูญเสียการได้ยิน และลดอันตรายทางระบบประสาทได้[48] เชื่อว่าเป็นผลจากการยับยั้งกระบวนการอักเสบที่มีมากเกินไป[49] ดังนั้นจึงมีแนวทางปฏิบัติแนะนำให้มีการให้เดกซาเมทาโซนหรือคอร์ติโคสเตียรอยด์อื่นที่คล้ายคลึงกันก่อนให้ยาปฏิชีวนะครั้งแรก และให้ต่อเนื่องสี่วัน[31][33] ทั้งนี้มีการพบว่าผลดีส่วนใหญ่จะเกิดกับผู้ป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัส แนวทางปฏิบัติของบางที่จึงแนะนำให้หยุดเดกซาเมทาโซนเมื่อพบว่าเยื่อหุ้มสมองอักเสบนั้นเกิดจากสาเหตุอื่น[8][31]

บทบาทของการใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์เป็นการรักษาร่วมในเด็กนั้นแตกต่างจากในผู้ใหญ่ ซึ่งถึงแม้ประโยชน์ของการใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์ในผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่และผู้ป่วยเด็กในประเทศที่มีเศรษฐฐานะดี แต่กับการใช้ในผู้ป่วยเด็กในประเทศที่มีเศรษฐฐานะต่ำนั้นยังไม่มีหลักฐานสนับสนุน โดยยังไม่พบเหตุผลที่ทำให้มีความแตกต่างเช่นนี้[50] แม้ในประเทศที่มีเศรษฐฐานะดีก็ตามประโยชน์ของคอร์ติโคสเตียรอยด์ก็ยังพบเฉพาะเมื่อได้ให้ยานี้ก่อนการให้ยาปฏิชีวนะครั้งแรกเท่านั้น ยังและยังได้ผลดีที่สุดเฉพาะในผู้ป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อ H. influenzae[8][51] ซึ่งเป็นโรคที่มีคนเป็นน้อยลงหลังจากมีการนำวัคซีนต่อเชื้อนี้มาใช้ ดังนั้นปัจจุบันจึงมีคำแนะนำให้ใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์ในการรักษาเยื่อหุ้มสมองอักเสบในเด็กเฉพาะกรณีที่เกิดจากเชื้อ H. influenzae เท่านั้น และสำหรับการให้ก่อนให้ยาปฏิชีวนะครั้งแรกเท่านั้น โดยการใช้ในรูปแบบอื่นยังคงเป็นที่ถกเถียงอยู่[8]

การวิเคราะห์งานวิจัยครั้งหนึ่งทำเมื่อ พ.ศ. 2553 พบว่าประโยชน์จากการใช้สเตียรอยด์อาจไม่ได้มีนัยสำคัญมากเท่าที่เคยเข้าใจ โดยพบว่าอาจมีประโยชน์อย่างมีนัยสำคัญเฉพาะการลดการสูญเสียการได้ยิน[52]และลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเท่านั้น[53]

เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อไวรัส

การรักษาเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อไวรัสส่วนใหญ่เป็นการรักษาประคับประคองเท่านั้น เนื่องจากไวรัสส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบยังไม่มียาที่ใช้รักษาเฉพาะ นอกจากนี้ส่วนใหญ่ตัวโรคยังมีความรุนแรงน้อยกว่าเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัสเฮอร์ปีส์ซิมเพล็กซ์หรือวาริเซลลาซอสเตอร์อาจตอบสนองด้วยยาต้านไวรัสเช่นอะไซโคลเวียร์แต่ยังไม่มีการวิจัยเชิงทดลองทางคลินิกชิ้นใดที่ศึกษาเจาะจงผลการรักษาด้วยยานี้[19] ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากไวรัสสามารถรักษาได้ที่บ้านด้วยการรักษาเชิงอนุรักษ์เช่นการกินน้ำมาก ๆ พักผ่อน และใช้ยาแก้ปวด[54]

เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อรา

เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อราเช่นคริปโตคอคคัสนั้นรักษาด้วยการให้ยาต้านเชื้อราขนาดสูงเช่นแอมโพเทอริซินบีและฟลูซัยโตซีนเป็นเวลานาน[35][55] ส่วนใหญ่จะมีความดันในกะโหลกศีรษะขึ้นสูงมากและมีการแนะนำให้ต้องได้รับการเจาะระบายน้ำหล่อสมองไขสันหลังบ่อยครั้ง (ทุกวันหากเป็นไปได้) เพื่อลดความดัน[35] หรือการทำทางระบายจากช่องไขสันหลังระดับเอว[36]

ใกล้เคียง

เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เยื่อบุผิวรับกลิ่น เยื่อหุ้มเซลล์ เยื่อหุ้มสมอง เยื่อเมือก เยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ เยื่อกั้นหูชั้นใน เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ เยื่อคลุม เยื่อพรหมจารี

แหล่งที่มา

WikiPedia: เยื่อหุ้มสมองอักเสบ http://adc.bmj.com/cgi/content/full/76/2/134 http://jnnp.bmj.com/cgi/content/full/68/3/289 http://jnnp.bmj.com/cgi/content/full/75/suppl_1/i1... http://books.google.com/?id=UaSaRzw8gYEC&pg=PP1 http://mrw.interscience.wiley.com/cochrane/clsysre... http://mrw.interscience.wiley.com/cochrane/clsysre... http://mrw.interscience.wiley.com/cochrane/clsysre... http://www3.interscience.wiley.com/cgi-bin/fulltex... http://onlinelibrary.wiley.com/o/cochrane/clsysrev... http://www.journals.uchicago.edu/doi/full/10.1086/...