สาเหตุ ของ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ

เยื่อหุ้มสมองอักเสบส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ โดยเฉพาะเชื้อไวรัส[13] แบคทีเรีย เชื้อรา และปรสิต ตามลำดับ[4] และยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่การติดเชื้อได้ด้วย[4]

แบคทีเรีย

แบคทีเรียที่ทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบนั้นแตกต่างออกไปตามช่วงอายุ ในทารกแรกเกิดจนถึงอายุ 3 ปี เชื้อส่วนใหญ่เป็น สเตร็ปโตคอคคัส กลุ่ม B (ชนิดย่อยที่ 3 ซึ่งปกติอาศัยอยู่ในช่องคลอด) และเชื้อในทางเดินอาหาร เช่น เอสเคอริเชีย โคไล (ชนิดที่มีแอนติเจน K1) ลิสทีเรีย โมโนซัยโตจีเนส (ซีโรทัยป์ IVb) ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคในทารกแรกเกิดและเกิดการระบาดได้ เด็กโตขึ้นมาส่วนใหญ่ติดเชื้อ ไนซีเรีย เมนิงไจไทดิส (เมนิงโกคอคคัส), สเตรปโตคอคคัส นิวโมนิอี (ซีโรทัยป์ 6, 9, 14, 18 และ 23) และฮีโมฟิลุส อินฟลูเอนเซ ชนิด B ในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีที่ไม่ได้รับวัคซีน[2][8] ส่วนในผู้ใหญ่นั้น เชื้อ N. meningitidis และ S. pneumoniae เป็นสาเหตุของเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากแบคทีเรียรวมกัน 80% โดยผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นกับ L. monocytogenes[8][3] อัตราการเกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัสเริ่มน้อยลงทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เนื่องจากมีการนำวัคซีนนิวโมคอคคัสเข้ามาใช้[14]

การบาดเจ็บของกะโหลกศีรษะทำให้มีโอกาสที่แบคทีเรียในโพรงจมูกจะเข้าไปถึงชั้นเยื่อหุ้มสมองได้ เช่นเดียวกับผู้ที่เคยทำทางเชื่อมเนื้อสมองหรือสิ่งอื่นที่ใกล้เคียงจะมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อผ่านเครื่องมือเหล่านี้ ในกรณีเช่นนี้เชื้อส่วนใหญ่จะเป็นเชื้อสแตฟฟิลโลคอคคัสรวมถึงซูโดโมแนสและแบคทีเรียกรัมลบชนิดแท่งอื่น ๆ [8] เชื้อกลุ่มเดียวกันนี้พบบ่อยเช่นกันในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง[2] ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อบริเวณศีรษะและคอเช่นหูชั้นกลางอักเสบหรือปุ่มกระดูกกกหูอักเสบอาจมีเยื่อหุ้มสมองอักเสบตามมาได้แม้ไม่มากนัก[8] ผู้ป่วยที่เคยรับการผ่าตัดฝังประสาทหูชั้นในเทียมเพื่อรักษาภาวะสูญเสียการได้ยินมีความเสี่ยงที่จะเกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัส[15]

เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากวัณโรคเกิดจากการติดเชื้อ มัยโคแบคทีเรียม ทิวเบอร์คูโลซิส พบได้บ่อยในประเทศที่มีการระบาดของวัณโรคเช่นประเทศไทย[16] โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่นผู้ป่วยเอดส์[17]

การเกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากแบคทีเรียซ้ำ ๆ อาจเป็นผลจากการมีความผิดปกติของโครงสร้างไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่กำเนิดหรือเป็นภายหลัง หรือเป็นผลจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน[18] ความผิดปกติของโครงสร้างทำให้เกิดมีทางเชื่อมต่อระหว่างสิ่งแวดล้อมภายนอกกับระบบประสาท สาเหตุส่วนใหญ่ของการเกิดเยื่อหุ้มสมองเป็นซ้ำคือการมีกะโหลกศีรษะแตก[18] โดยเฉพาะตำแหน่งฐานกะโหลกศีรษะหรือการมีรอยแตกเชื่อมต่อกับโพรงอากาศหรือพีทรัสปิรามิด[18] บททบทวนวรรณกรรมรายงานกรณีผู้ป่วย 363 รายที่เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบเป็นซ้ำพบว่า 59% มาจากความผิดปกติของโครงสร้าง 36% มาจากภูมิคุ้มกันบกพร่อง (เช่นภาวะพร่องคอมพลีเมนท์ ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อเยื่อหุ้มสมองอักเสบซ้ำจากเชื้อเมนิงโกคอคคัสเป็นพิเศษ) และ 5% เกิดจากการมีการติดเชื้อบริเวณข้างเคียงเยื่อหุ้มสมองที่ยังคงเป็นอยู่ต่อเนื่อง[18]

ไร้เชื้อ

เยื่อหุ้มสมองอักเสบไร้เชื้อนั้นโดยคร่าว ๆ หมายถึงเยื่อหุ้มสมองอักเสบทุกชนิดที่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอาจเกิดจากไวรัส หรืออาจเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่ได้รับการรักษาไปบางส่วนแล้วก็ได้ ทำให้เชื้อแบคทีเรียหายไปจากเยื่อหุ้มสมอง หรือการติดเชื้อเกิดขึ้นที่บริเวณข้างเคียงเยื่อหุ้มสมอง เช่น โพรงอากาศอักเสบ หรืออาจเกิดจากเยื่อหุหัวใจอักเสบ ทำให้มีการติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจแล้วแพร่กระจายไปทางระบบเลือด หรืออาจเป็นผลจากการติดเชื้อแบคทีเรียรูปเกลียวสไปโรชีท เช่น เทรโปนีมา พาลลิดุม ซึ่งก่อโรคซิฟิลิส หรือบอร์เรเลีย เบิร์กโดร์เฟอไร ซึ่งก่อโรคไลม์ บางครั้งอาจพบเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้ในมาลาเรียสมอง หรืออาจเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่เกิดจากเชื้อรา เช่น คริปโตคอคคัส นีโอฟอร์แมนส์ซึ่งมักพบในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่นเอดส์ นอกจากนี้ยังมีเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้ออะมีบา เช่น นีกลีเรีย ฟาวเลอไร ซึ่งติดจากแหล่งน้ำจืด เป็นต้น[4]

ไวรัส

ไวรัสที่ทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้ เช่น เอนเทอโรไวรัส เฮอร์ปีส์ซิมเพลกซ์ไวรัสชนิดที่ 2 (ชนิดที่ 1 ก็พบได้แต่น้อย) วาริเซลลาซอสเตอร์ไวรัส (ทำให้เกิดอีสุกอีใสและงูสวัด) ไวรัสคางทูม เอชไอวี และแอลซีเอ็มวี[19]

ปรสิต

ส่วนใหญ่จะนึกถึงการติดเชื้อปรสิตก็ต่อเมื่อมีการตรวจพบอีโอซิโนฟิลในน้ำหล่อสมองไขสันหลัง ส่วนใหญ่เป็นเชื้อแองจิโอสตรองไจลัส แคนโตเนนซิส (พยาธิหอยโข่ง) หรือนาโทสโตมา สปินิเจอรัม (พยาธิตัวจี๊ด) สาเหตุของเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่มีอีโอซิโนฟิลสูงสาเหตุอื่นๆ ที่พบน้อยแต่อาจต้องนึกถึงได้แก่วัณโรค ซิฟิลิส โรคติดเชื้อราคริปโตค็อกคัส โรคติดเชื้อราค็อกซิดิออยด์[20][21][22]

ไม่ติดเชื้อ

เยื่อหุ้มสมองอักเสบอาจเกิดจากสาเหตุที่ไม่ใช่การติดเชื้อได้หลายอย่าง เช่น การแพร่กระจายของมะเร็งมายังเยื่อหุ้มสมอง (เยื่อหุ้มสมองอักเสบเหตุเนื้องอก)[23] และยาบางชนิด ส่วนใหญ่เป็นยาในกลุ่มยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตรอยด์ ยาปฏิชีวนะ และอิมมูโนกลอบูลินแบบให้ทางหลอดเลือดดำ[24] หรืออาจเกิดจากภาวะการอักเสบอื่นๆ ได้หลายอย่าง เช่น ซาร์คอยโดซิส (ซึ่งในกรณีนี้จะเรียกว่าซาร์คอยโดซิสที่ระบบประสาท) โรคของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เช่น ลูปัส อีริทีมาโตซัส ทั่วร่าง หรือหลอดเลือดอักเสบบางชนิด เช่น โรคเบเซท[4] ถุงน้ำของหนังกำพร้าและเดอร์มอยด์ซีสต์อาจหลั่งสารที่ทำให้เกิดการระคายเคืองเข้าช่องใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลางทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้[4][18] เยื่อหุ้มสมองอักเสบแบบมอลลาเร็ตเป็นกลุมอาการอย่างหนึ่งที่ทำให้มีเยื่อหุ้มสมองอักเสบไร้เชื้อเป็นซ้ำๆ ปัจจุบันเชื่อว่าเกิดจากการติดเชื้อเฮอร์ปีส์ซิมเพล็กซ์ไวรัสชนิดที่ 2 นอกจากนี้ไมเกรนยังอาจเป็นสาเหตุของเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้แต่พบน้อยมาก ส่วนใหญ่จะให้การวินิจฉัยก็ต่อเมื่อตรวจหาสาเหตุอื่นๆ แล้วยังไม่พบ[4]

ใกล้เคียง

เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เยื่อบุผิวรับกลิ่น เยื่อหุ้มเซลล์ เยื่อหุ้มสมอง เยื่อเมือก เยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ เยื่อกั้นหูชั้นใน เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ เยื่อคลุม เยื่อพรหมจารี

แหล่งที่มา

WikiPedia: เยื่อหุ้มสมองอักเสบ http://adc.bmj.com/cgi/content/full/76/2/134 http://jnnp.bmj.com/cgi/content/full/68/3/289 http://jnnp.bmj.com/cgi/content/full/75/suppl_1/i1... http://books.google.com/?id=UaSaRzw8gYEC&pg=PP1 http://mrw.interscience.wiley.com/cochrane/clsysre... http://mrw.interscience.wiley.com/cochrane/clsysre... http://mrw.interscience.wiley.com/cochrane/clsysre... http://www3.interscience.wiley.com/cgi-bin/fulltex... http://onlinelibrary.wiley.com/o/cochrane/clsysrev... http://www.journals.uchicago.edu/doi/full/10.1086/...