ประวัติศาสตร์ทางการเมือง ของ การเมืองสเปน

นายพลฟรันซิสโก ฟรังโก พบกับดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ในมาดริดเมื่อ ค.ศ. 1960

การสิ้นสุดของสงครามกลางเมืองสเปน นำไปสู่การสิ้นสุดของสาธารณรัฐสเปนที่ 2 (ค.ศ. 1931–1939) ซึ่งทำให้ระบอบเผด็จการได้รับการสถาปนาขึ้นมา ภายใต้การนำของ จอมพล ฟรันซิสโก ฟรังโก ใน ค.ศ. 1947 เขาได้ออกกฤษฎีกาเป็นกฎพื้นฐานของระบอบการปกครอง หนึ่งในแปดนั้นอ้างถึง กฎการสืบราชสันตติวงศ์ของประมุขแห่งรัฐ ว่าสเปนมีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ราชบัลลังก์ว่าง โดยฟรังโกเป็นประมุขแห่งรัฐ ในฐานะนายพล และผู้นำประเทศสเปน และเมื่อเห็นว่าเหมาะสมเขาจะแต่งตั้งผู้สืบทอดตำแหน่ง ซึ่งจะดำรงตำแหน่งเป็นพระมหากษัตริย์ หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งสเปน แม้ว่าเคานต์แห่งบาร์เซโลนา ผู้สืบทอดราชสันตติวงศ์โดยชอบธรรม จะต่อต้านกฎหมายนี้ แต่ฟรังโกได้ไปพบเขาใน ค.ศ. 1948 ฟรังโกตกลงว่าโอรสของเขา คือฆวน การ์โลส ซึ่งในขณะนั้นมีอายุ 10 ขวบ จะสำเร็จการศึกษาในประเทศสเปน ซึ่งขณะนั้นพำนักอยู่ในโรมตามคำสั่งของฟรังโก ในที่สุดใน ค.ศ. 1969 ฟรังโกได้แต่งตั้งฆวน การ์โลส เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งของเขา ในฐานะเจ้าชายแห่งสเปน

ฟรังโก เสียชีวิตในวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1975 ฆวน การ์โลส ได้รับการสถาปนาเป็นพระมหากษัตริย์แห่งสเปน โดยรัฐสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งดำเนินงานตามระบอบของฟรังโก แม้ว่าฆวน การ์โลส ได้สาบานตนว่าจะจงรักภักดีต่อ "ขบวนการแห่งชาติ" พรรคการเมืองที่ถูกกฎหมายเพียงพรรคเดียวตามระบอบของฟรังโก แต่พระองค์ก็ได้แสดงออกการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองในประเทศทันทีที่รับตำแหน่ง แต่ความพยายามดังกล่าวไม่ได้เป็นเรื่องง่าย เพราะต้องแน่ใจว่าไม่มีใครที่มียศศักดิ์ในระบอบการปกครองเดิมจะกลายเป็นพวกหัวรุนแรง และกองทัพจะไม่แข็งขืนเข้าไปแทรกแซงการฟื้นฟู "ขบวนการแห่งชาติ"

อาโดลโฟ ซัวเรซ นายกรัฐมนตรีคนแรกของราชอาณาจักรสเปน

ใน ค.ศ. 1976 เขาแต่งตั้งอาโดลโฟ ซัวเรซ เป็นนายกรัฐมนตรี ในนาม "ประธานรัฐบาล" ซึ่งมีภาระที่ต้องโน้มน้าวให้รัฐบาลเดิมถอดถอนตัวเอง และเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ เขาทำสำเร็จทั้งสองประการ ทำให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญ ใน ค.ศ. 1977 ซึ่งเป็นฉบับแรกที่ร่างจากบุคคลซึ่งได้รับการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย นับตั้งแต่สาธารณรัฐสเปนที่ 2 โดยรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยฉบับใหม่ได้รับความเห็นชอบผ่านการทำประชามติ ใน ค.ศ. 1978 จึงได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ โดยรัฐธรรมนูญประกาศว่าสเปนปกครองในระบอบประชาธิปไตย ระบบรัฐสภา ที่มีพระมหากษัตริย์ โดยสมเด็จพระราชาธิบดีฆวน การ์โลสที่ 1 เป็นประมุขแห่งรัฐ การเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการสู่สู่ประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่ประสบความสำเร็จนี้ ได้กลายเป็นความสำเร็จที่โดดเด่น และเป็นแบบอย่างให้กับประเทศอื่น ๆ ที่กำลังเปลี่ยนผ่านการปกครองที่คล้ายคลึงกัน[16]

อาโดลโฟ ซัวเรซ เป็นนายกรัฐมนตรีของสเปน ตั้งแต่ ค.ศ. 1977 ถึง 1982 ในฐานะหัวหน้าพรรคสหภาพศูนย์ประชาธิปไตย เขาลาออกในวันที่ 29 มกราคม ค.ศ. 1981 ในวันที่ 23 มกราคม ค.ศ. 1981 ในวันที่สภาผู้แทนราษฎร มีวาระการประชุมพิจารณาบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ได้มีกองกำลังกบฏในหน่วยพิทักษ์พลเรือน (Guardia Civil) ได้พยายามก่อรัฐประหาร โดยนำกำลังเข้ายึดอาคารรัฐสภา แต่การรัฐประหารล้มเหลวลงในวันรุ่งขึ้น เนื่องจากกองกำลังทหารส่วนใหญ่ยังคงจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งพระองค์ได้ทรงใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญของพระองค์ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งกองทัพสเปน เพื่อยับยั้งความพยายามนี้ และเรียกร้องให้รักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ ผ่านการกระแสพระราชดำรัสทางสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ[9]

ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1982 พรรคแรงงานสังคมนิยมสเปน ซึ่งนำโดยเฟลิเป กอนซาเลซ ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา โดยได้รับเสียงข้างมากเกินกว่ากึ่งหนึ่งในทั้งสองสภา เขาได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรียาว 13 ปี นับตั้งแต่วันเลือกตั้งดังกล่าว ซึ่งเป็นช่วงที่สเปนเข้าร่วมเนโทและประชาคมยุโรป

เฟลิเป กอนซาเลซ นายกรัฐมนตรีของสเปนตั้งแต่ปี 1982 ถึง 1996

รัฐบาลได้สร้างกฎหมายสังคมขึ้นมาใหม่ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ พัฒนาระบบการศึกษา แม้เดิมเขาจะเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานทั่วไป (UGT) ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานที่สำคัญแห่งหนึ่งของสเปน แต่เขาได้สร้างรัฐสวัสดิการแก่ประชาชนทุกคน เพื่อพยายามฟื้นความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ เพื่อเตรียมตัวที่จะเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจยุโรป ตลอดจนการบูรณาการทางเศรษฐกิจร่วมกับชาติสมาชิกต่อไป พรรคแรงงานสังคมนิยมสเปนจึงได้ถอยห่างจากสหภาพแรงงานทั่วไป[17] ตามนโยบายการค้าเสรี ภายใต้รัฐบาลของกอนซาเลซ ได้ปิดบริษัทสถาบันอุตสาหกรรมแห่งชาติ (INI) ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งของรัฐดำเนินการควบคุมระบบสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ และลดขนาดอุตสาหกรรมถ่านหิน เหล็ก และเหล็กกล้า โดยพรรคแรงงานสังคมนิยมสเปน ได้ดำเนินนโยบายตลาดเดียวตามกฎหมายยุโรปตลาดเดียว และนโยบายภายในประเทศ สอดคล้องกันกับเกณฑ์ของสหภาพเศรษฐกิจและการเงินของสหภาพยุโรป ตามสนธิสัญญามาสทริชท์[17] ประเทศได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัย และพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างมากในช่วงเวลานี้ โดยปิดช่องความแตกต่างกับชาติสมาชิกประชาคมยุโรปอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่สำคัญ นำไปสู่สังคมเปิดร่วมสมัย

โฆเซ มาริอา อัซนาร์ นายกรัฐมนตรีสเปนระหว่าง ค.ศ. 1996 ถึง 2004

ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1996 โฆเซ มาริอา อัซนาร์ จากพรรคประชาชน ได้รับเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎร อัซนาร์ได้เปิดเสรีทางเศรษฐกิจ ด้วยโครงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างเต็มรูปแบบ ปฏิรูปตลาดแรงงาน และนโยบายอื่น ๆ ที่ออกแบบมาเพื่อเพิ่มการแข่งขันในตลาด เขายังได้เปิดเสรีในภาคพลังงาน โทรคมนาคมแห่งชาติ และเครือข่ายกระจายเสียงโทรทัศน์[17] รัฐบาลได้จัดตั้งศาลป้องกันการแข่งขัน (สเปน: Tribunal de Defensa de la Competencia) เพื่อรับรองผลสำเร็จของการเปิดเสรีดังกล่าว โดยเป็นหน่วยงานกำกับการต่อต้านการผูกขาด และจำกัดการผูกขาด[17] นอกจากนี้ รัฐบาลของอัซนาร์ ยังได้นำสเปนเข้าสู่สหภาพเศรษฐกิจและการเงินของสหภาพยุโรป และยกเลิกการใช้สกุลเงินเปเซตาสเปน โดยเปลี่ยนมาใช้ยูโรทั้งหมดใน ค.ศ. 2002 สเปน ยังได้ร่วมมือกับสหรัฐ และพันธมิตรเนโทอื่น ๆ ในการปฏิบัติการทางทหารในยูโกสลาเวีย ซึ่งกองทัพ และเจ้าหน้าที่ตำรวจของสเปนได้รวมอยู่ในกองกำลังรักษาสันติภาพระหว่างประเทศในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาและคอซอวอ โฆเซ มาริอา อัซนาร์ ได้รับคะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งในสภาผู้แทนราษฎร ในการเลือกตั้งใน ค.ศ. 2000 ทำให้เขาได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปจนถึง ค.ศ. 2004 อัซนาร์ สนับสนุนความสัมพันธ์ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกกับสหรัฐ และร่วมมือกันในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย และการบุกรุกอิรัก ใน ค.ศ. 2004 เขาตัดสินใจไม่รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคประชาชนต่อไป โดยให้มาเรียโน ราฆอย ซึ่งเป็นรัฐมนตรีภายใต้รัฐบาลของเขา เป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อแทน

โฆเซ ลุยส์ โรดริเกซ ซาปาเตโร นายกรัฐมนตรีสเปน ระหว่าง ค.ศ. 1996 ถึง 2004

หลังจากเหตุระเบิดรถไฟในกรุงมาดริด ซึ่งเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งเพียงสามวัน พรรคแรงงานสังคมนิยมสเปน ชนะการเลือกตั้งอย่างน่าประหลาดใจ ภายใต้การนำของโฆเซ ลุยส์ โรดริเกซ ซาปาเตโร ซึ่งในคณะรัฐมนตรีของเขาเป็นครั้งแรกของสเปนที่มีจำนวนชาย และหญิงเท่ากัน ด้วยนโยบายความเท่าเทียมทางเพศ ภายใต้รัฐบาลของเขา เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องอย่างรวดเร็ว รัฐบาลบริหารงานโดยมีงบประมาณเกินดุล รัฐบาลของเขานำการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเสรีนิยมมาสู่สเปน ทั้งการส่งเสริมสิทธิสตรี เปลี่ยนแปลงกฎหมายการทำแท้ง และการให้สมรสเพศเดียวกันถูกต้องตามกฎหมาย และพยายามทำให้รัฐมีความเป็นโลกิยนิยมมากขึ้น[18] หลังจากที่พรรคชนะการเลือกตั้งอีกครั้งในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2008 ทำให้เขาได้ดำรงตำแหน่งในสมัยที่สอง วิกฤตการณ์การเงิน พ.ศ. 2550–2551 ทำให้เศรษฐกิจของสเปนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ซึ่งต้องพึ่งพาการก่อสร้างเป็นอย่างมากนับตั้งแต่ช่วงรุ่งเรืองในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1990 และต้นคริสต์ทศวรรษ 2000 เมื่อเกิดวิกฤติการเงินระหว่างประเทศ อุตสาหกรรมการก่อสร้างพังทลายลงไปพร้อมกับมูลค่าทรัพย์สิน และธนาคารหลายแห่ง รวมถึง ธนาคารออมทรัพย์ (สเปน: Cajas) ต้องการการช่วยเหลือ หรือการควบรวมกิจการ[18] การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างมาก และอัตราการว่างงานพุ่งถึงกว่า 20%[18]

มาเรียโน ราฆอย นายกรัฐมนตรีสเปน ระหว่าง ค.ศ. 2011 ถึง 2018

นับตั้งแต่ช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1990 ได้มีการนำนโยบายต่อต้านวัฏจักรเศรษฐกิจ มาใช้ในช่วงเริ่มต้นของวิกฤต ซึ่งส่งผลให้รายได้ของรัฐลดลงตามมา การจัดหางบประมาณของรัฐตกอยู่ในภาวะขาดดุล ในช่วงระยะเวลา 18 เดือนตั้งแต่ ค.ศ. 2010 ถึง 2011 รัฐบาลใช้มาตรการเข้มงวดในการลดการใช้จ่าย และเลิกจ้างคนงาน[18]

ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2011 ซาปาเตโร ได้ตัดสินใจจะไม่เป็นหัวหน้าพรรคพรรคแรงงานสังคมนิยมสเปนต่อไป โดย อัลเฟรโด เปเรซ รูบัลกาบา ซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีคนที่หนึ่ง ในรัฐบาลของซาปาเตโร จะเป็นผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคแรงงานสังคมนิยมสเปนแทน ในขณะที่ พรรคประชาชน นำโดย มาเรียโน ราฆอย ซึ่งได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่สาม เป็นผู้ที่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งในวันที่ 20 พฤศจิกายน โดยได้รับคะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของทั้งสองสภา[18] ในขณะที่ ซาปาเตโร ได้รับเลือกเป็นเลขาธิการพรรคใน ค.ศ. 2012 และเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

เปโดร ซันเชซ นายกรัฐมนตรีสเปน ตั้งแต่ ค.ศ. 2018 จนถึงปัจจุบัน

หลังจากสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปีของราฆอย การเลือกตั้งเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 2015 โดยพรรคประชาชนยังคงเป็นพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้ พรรคแรงงานสังคมนิยมสเปน ยังคงได้รับคะแนนเสียงมากเป็นอันดับที่สอง แต่พรรคโปเดโมส และพรรคซิวดาดาโนส ก็ได้รับคะแนนเสียงจำนวนมากเช่นกัน การเจรจาต่อรองในการจัดตั้งรัฐบาลได้ยืดเยื้อออกไป[19] แต่ล้มเหลวในที่สุด นำไปสู่การเลือกตั้งอีกครั้งในวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 2016 ซึ่งพรรคประชาชน ได้รับคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นในสภาผู้แทนราษฎร แต่ยังไม่ถึงกึ่งหนึ่ง[20] ในท้ายที่สุด ในวันที่ 29 ตุลาคม ราฆอย ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากที่สมาชิกพรรคแรงงานสังคมนิยมสเปน ส่วนใหญ่งดออกเสียงในการลงมติเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีแทนที่จะคัดค้านเขา[21]

ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2018 ได้มีญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ มาเรียโน ราฆอย ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ ผู้ที่ยื่นคำร้องคือพรรคแรงงานสังคมนิยมสเปน ต้องเสนอชื่อผู้ที่สมควรได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงเสนอ เปโดร ซันเชซ หัวหน้าของพรรค ซึ่งไม่ใช่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน โดยผลปรากฎว่า ราฆอย ไม่ได้รับความไว้วางใจในการลงมติ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 2018 ทำให้ ซันเชซ ได้รับการพิจารณาโดยอัตโนมัติว่าได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี[22]

ใกล้เคียง

การเมืองไทย การเมือง การเมืองกัมพูชา การเมืองเบลเยียม การเมืองสเปน การเมืองฝ่ายขวา การเมืองเนเธอร์แลนด์ การเมืองฝ่ายซ้าย–ฝ่ายขวา การเมืองลิทัวเนีย การเมาเหตุเคลื่อนไหว

แหล่งที่มา

WikiPedia: การเมืองสเปน https://www.catalannews.com/politics/item/spain-do... https://researchonline.ljmu.ac.uk/id/eprint/15880 https://doi.org/10.1007%2F978-3-030-53590-2_9 https://doi.org/10.1080%2F03003939408433710 https://books.google.com/books?id=BtjODwAAQBAJ https://rm.coe.int/168071969f http://www.oecd.org/dataoecd/61/8/37890628.pdf http://www.britannica.com/EBchecked/topic/557573/S... https://www.boe.es/legislacion/documentos/Constitu... https://www.boe.es/eli/es/l/1985/04/02/7/con