การสงคราม ของ พระเจ้าฟ้างุ้ม

รบได้หัวเมืองแอ่งโคราช

ระหว่างเสด็จยกพลเพื่อชิงนครเชียงดงเชียงทองได้มาถึงเมืองพรหมทัต (อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา) พระยาพรหมทัตชนช้างแพ้ทรงฆ่าพระยาพรหมทัตกับคอช้างแล้วแบ่งเมืองออกหลายส่วนโดยตั้งพระยาปางกบ (ปากกบ) พระยากุญชร พระยาคำแหง พระยาดอนแดง พระยาโสก พระยาฆ้องทอง พระยาจันทอม และพระยาอ้ายให้เสวยเมืองที่แบ่งออกพร้อมตั้งพระยาองค์หนึ่งเป็นพระยาพรหมทัตเสวยเมืองพรหมทัต ให้เมืองเหล่านี้เป็นเมืองส่วยช้าง ส่วยคำ และส่วยข้อยรวม ๙ เมือง[18]

รบได้อาณาจักรศรีโคตรบูรในอีสานเหนือ

จากนั้นยกโยธาขึ้นรบพระยาแปดบ่อเจ้าเมืองกระบอง (ศรีโคตรบูรหรือศรีโคตรบอง เมืองริมโขงในจังหวัดนครพนม และเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน ประเทศลาว) ในอีสานเหนือและลาวกลาง พระยาแปดบ่อขี่ช้างชนไม่ทันถึงพระยาฟ้างุ้มช้างเตลิดเสีย กองทัพพระยาฟ้างุ้มยกตามจับได้แล้วประหารโดยจมน้ำที่ปากทอก พระยาแปดบ่อองค์นี้เป็นบรรพบุรุษพระยาแปดบ่อองค์ที่ ๗ ซึ่งพระราชธิดากระโดดน้ำสิ้นพระชนม์แล้วนำกว้าน (แห) ดึงร่างขึ้นมาจึงได้พระหินหรือพระแปดบ่อขึ้นมาด้วย จากนั้นทรงตั้งพระราชอนุชาพระยากระบองคือพระยานันทเสนเป็นเจ้าเมืองแทน[19] โปรดฯ ให้ส่งส่วยช้าง ๑๐๐ ข้อย ๑๐๐ ข้อยกับช้าง ๒๐๐ ส่วยคำ ๒,๐๐๐ ส่วยลั่วส่วยแพรลา ๒๐๐ ฮำ (ม้วน) และส่วยข้อยหญิงข้อยชาย ๒๐๐[20][21]

รบได้หัวเมืองลาวใต้และอาณาจักรจามปาในเวียดนามใต้

ต่อมายกพลรบพระยาจำปาธิราชจนได้ชัยฆ่าตายกับคอช้างแล้วตั้งพระยาจำปาธิราชใหม่แทน (แขวงจำปาศักดิ์ ประเทศลาว) นอกจากนี้ยังตั้งพระยาจำปานคร พระยาจิม พระยาจาม พระยาดอนชัคแค (ดอนซะแค) พระยาสนัง (ข่าชะนัง)[22] พระยาชุง พระยาโสก (เมืองโสกเมืองซุงในแขวงอัตตะปือ ประเทศลาว) รวม ๗ เมือง โปรดฯ ให้เป็นเมืองส่วยสูด (วิสูตร) ส่วยม่าน ส่วยด้าย ส่วยไหม ส่วยคำ ส่วยช้าง ส่วยจำหงาย ส่วยข้อยทุกเมือง[23]

รบได้หัวเมืองลาวกลางฝั่งซ้าย

จากนั้นเสด็จกลับยกพลมาอาณาจักรศรีโคตรบูรที่น้ำหินบูน (เมืองหินบูน แขวงคำม่วน ประเทศลาว และอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม) พระยาเวียงออกมารบเห็นพลมากจึงพ่ายหนี ฝ่ายบากิมไล่ฆ่าได้จึงให้ราชอนุชาพระยาเวียงเป็นพระยาเจ็ดเจียงแทน จากนั้นตั้งพระยากว้างเสียม พระยากว้างทง (กวางท่ง) พระยาเมืองหลวง พระยาเมืองมวน (คำม่วน) พระยาวัง (เมืองวัง แขวงสุวรรณเขต ประเทศลาว) พระยากระตาก (ข่ากะตาก) พระยาชุมพร (เมืองจำพอนแก้งกอก แขวงสุวรรณเขต ประเทศลาว) พระยาชะโปน (ตะโปน) รวม ๙ เมือง โปรดฯ ให้ส่งส่วยด้าย ส่วยไหม ส่วยผ้ากั้ง ผ้าพีดาน (เพดาน) และส่วยข้อยทุกปีในเดือน ๑๒ และเดือน ๓[24]

รบได้หัวเมืองลาวกลางฝั่งซ้ายและอีสานเหนืออีกครั้ง

จากนั้นยกพลถึงปากชะดิง (ปากกะดิง เมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ ประเทศลาว และจังหวัดบึงกาฬ) พระยาสามค้อมเจ้าเมืองพระน้ำรุ่งดาพล ๔ หมื่น ช้าง ๕๐๐ มารบ โปรดฯ ให้บาจีแข้รบชนะไล่พระยาสามค้อมมาจมน้ำที่ปากบางบาท แล้วพระยาฟ้างุ้มจึงยกพลตั้งอยู่เมืองพระน้ำรุ่งตั้งพระยาพระน้ำรุ่งแทนพระยาสามค้อม[25]

อาณาจักรเชียงขวางยอมอ่อนน้อม

ชัยชนะของพระยาฟ้างุ้มลือถึงพระยาเจ็ดเจียงเจ้าเมืองพวกเชียงขวาง (พวนเซียงขวาง) พระยาจึงแต่งหมื่นหลวงพวนและหมื่นคำมาไหว้พระองค์ที่พระน้ำรุ่งความว่า "...ผู้ข้านี้หากเป็นหลานเป็นเหลนเชื้อแนวขุนบรมราชาธิราชเจ้าทั้งขุนลอแต่บุราณมาดีหลีดาย ในที่นี้แลพระยาฟ้าเจ้าแลจักผาบบ้านผาบเมืองที่ใดก็ดีข้าจักแต่งรี้พลไปส่อยไปเติมสู่แห่งสู่ที่แล..."[26] พระยาฟ้าตรัสว่า "...พี่น้องเฮายังคิดเถิงเฮาดังนั้นก็ชอบดีแล บ้านเมืองอันหลานเฮากับน้องเฮาแต่ก่อนที่ใดก็ดีให้ไว้แก่น้องเฮาเทอญ เครื่องเสิกเครื่องเวียกเครื่องเหล็กอันใดก็ดีเฮาหากจักให้มาเอาดอม อนึ่งบ้านเมืองแต่เฮาผาบได้แต่เมืองชาเมืองมวนก็ให้มาไหว้มานบแก่น้องเฮา..."[27] ชัยชนะต่ออาณาจักรพวนจึงไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ แต่ตำนานขุนบรมบางฉบับระบุว่าทรงนำทัพสะบูหลวง (ปืนใหญ่) เข้ารบเจ้าเมืองพวนนามพระยายี่หีน (ยี่หิน) ทำให้เชื่อว่าลาวรู้จักสร้างปืนใหญ่ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๓๕๒ (พ.ศ. ๑๘๙๕) ก่อนชาติยุโรปใน ค.ศ. ๑๕๑๐ (พ.ศ. ๒๐๕๓) หลังสงครามพระยายี่หิน ๑๕๘ ปี[28]

อาณาจักรไดเวียตยอมอ่อนน้อมและปักปันเขตแดนล้านช้างทิศบูรพา

เมื่อกษัตริย์พวนยอมอ่อนน้อมโดยอ้างความเป็นญาติพระยาฟ้างุ้มจึงนำพลไล่ตีเมืองพระยามีฮ้านกว้านมีเสา (เมืองของกษัตริย์ที่สร้างบ้านเรือนยกถุนสูงและมีชาน) พร้อมไล่เอาเมืองพระยาอ่างสิง (อานสิง) พระยาอ่างหนามรวม ๓ เมืองมอบแก่เจ้าบัวหลวงแห่งอาณาจักรไดเวียด (แกว) ซึ่งพระชนม์น้อยกว่า เจ้าบัวหลวงตรัสถามเชื้อสายของพระองค์ทราบว่าเป็นเชื้อขุนบรมราชาธิราชสืบหลายชั่วกษัตริย์จึงเกรงเดชานุภาพยอมอ่อนน้อมแบ่งแดนเมืองแก่พระยาฟ้างุ้มว่า "...ผิว่าแหม่นเชื้อแหม่นแนวเจ้าขุนบรมขุนลอแท้ให้แต่เมืองมีฮ้านกว้านมีเสาแต่หินสามเส้าน้ำเต้าแก้ว บ้านเมืองดินดอนที่ใดก็ดีฟ้าแถนหากแต่งไว้ฝนตกน้ำใหลเมือเมืองลาวให้ไว้เขตต์แดนเมืองลาว ฝนตกน้ำไหลเมือเมืองบัวแต่ใดให้ไว้เป็นเมืองบัว..." แล้วแต่งคำสามหมื่น เงินสามแสน ไม้กำพัก (กลัมพัก) ไม้เกสสนา (กฤษณา) ลั่วแฮแพจีนจำนวนมากพระราชทานนายใช้ของพระยาฟ้างุ้มที่นำเมืองทั้ง ๓ มามอบไปถวายพระยาฟ้างุ้มที่แดนเมือง จากนั้นพระยาฟ้างุ้มโปรดฯ ให้เหล่าพระยาเมืองมีฮ้านกว้านมีเสาถวายส่วยคำและส่วยลั่วแฮแพด้ายไหม[29] อาณาจักรของเจ้าบัวหลวงเดิมคืออาณาจักรตงแกงมีศูนย์กลางที่เกาจี๋หรือหยาวจี๋ (Giao-chi) อีเหมาซิน (อ้ายเมืองซัว) พระราชโอรสขุนลอ (โกะล้อฝูงหรือโก๊ะล่อฝง) ยกทัพตีได้ ๒ ครั้งใน ค.ศ. ๘๕๘ (พ.ศ. ๑๔๐๑) และ ค.ศ. ๘๖๓ (พ.ศ. ๑๔๐๖) ราว ๔๐๐ กว่าปีตกเป็นของลาวอีกครั้งสมัยพระยาฟ้างุ้ม[30]

อาณาจักรสิบสองจุไทยอมอ่อนน้อม

ต่อมาทรงยกพลตั้งที่นาน้อยอ้อยหนูหรือเมืองแถนสถานที่ขุนบรมและขุนลอราชบรรพบุรุษของพระองค์ทรงประสูติ เหตุที่เรียกเมืองแถนเพราะแถนฟ้าขื่นเป็นผู้สร้างเมืองสืบมาถึงสมัยพระองค์ เมืองนี้มีบ่อเงิน บ่อคำ บ่อแก้ว บ่อทอง บ่อเหล็กทุกประการ ทรงแต่งตั้งพระยาฟ้าใสเป็นพระยาเมืองแถนนาน้อยอ้อยหนู ตั้งพระยาเมืองไชย พระยาเมืองไล (ไล่) พระยาเมืองกว้าง พระยาสามสิบพองเมืองโฮมมา พระยากางล้าน พระยาสิงหาว (สิงห้าว) พระยาเมืองหุม พระยาเมืองวาด พระยาเมืองกว้างทง (กว้างท่ง) ขึ้นเป็นเจ้าเมือง เมืองเหล่านี้ตั้งอยู่ฟากน้ำแท้ซึ่งเจ้าบัวหลวงยกแก่พระยาฟ้างุ้มพระองค์จึงมีอำนาจแต่งตั้งเป็นท้าวพระยาได้ พร้อมให้เจ้าเมืองเหล่านี้ส่งส่วยคำ ส่วยเงิน ส่วยข้อย ส่วยผ้ากั้ง ส่วยผ้าไหม ผ้าพีดาน เครื่องศึก ส่วยม้า อานเงิน อานคำ ลั่วแล หอกแพน แล้วใช้คนไปเล่าแก่เจ้าบัวหลวง เจ้าบัวหลวงตรัสว่า "...ให้พี่เฮาคืนเมืออยู่เชียงดงเชียงทองพุ้นเทอญ..."[31]

อาณาจักรเชียงรุ่งยอมอ่อนน้อมถวายพระราชธิดาและปักปันเขตแดนทิศอีสาน

จากนั้นพระองค์นำพลข้ามน้ำอูไปเมืองบูนใต้บูนเหนือ พระยาบูนใต้พระยาบูนเหนือนำพลออกรบจนแพ้และถูกฆ่า ทรงใช้คนไปหาพระยาเชียงฮุง (เชียงรุ่ง) ว่าจะรบชนด้วยหรือไม่พระยาเชียงฮุงตรัสว่า "...เฮานี้ก็หากเป็นเชื้อเป็นแนวอันเดียวดายเฮาบ่รบบ่เลวพระยาเจ้าแล ให้พระยาเจ้าเอาเขตต์บ้านแดนเมืองแต่บ้านป่งลวงขวงเท่าเมือบูนใต้บูนเหนือพุ้นเป็นเขตต์ของเมืองล้านช้างเทอญ เฮาก็จักให้บัว (บั่วหรือปั่วคือผู้รับใช้) ให้นางแก่เจ้าฟ้าแล บัดนี้ลูกเฮายังน้อยภายหน้าจิงเอาเมือปัดเสื่อปูหมอนแก่เจ้าฟ้าเทอญ..." เจ้าเชียงฮุงแต่งราชบรรณาการเป็นเงินแสน ม้า ๑๐๐ อานเงิน อานคำ ฮำแฮแพจีนจำนวนมากมาถวาย จากนั้นพระยาฟ้างุ้มโปรดฯ แต่งตั้งบากิมเป็นเจ้าขวาซึ่งคนเรียกขวากิม[32]

ใกล้เคียง

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ