เหตุการณ์หลังอยุธยายอมอ่อนน้อม ของ พระเจ้าฟ้างุ้ม

ประกอบพิธีปฐมกรรมกลุ่มเจ้าเมืองลาวฝั่งขวาและแก้ปุจฉาธรรมด้วยพระสติปัญญา

หลังเอาชัยเหนืออยุธยาโดยไม่เสียเลือดเนื้อพระยาทั้งหลายที่ผูกไว้เป็นต้นว่าพระยากูบางหาง พระยาฮ้อยประตู โปรดฯ ให้ประหารทั้งหมด ฝ่ายมหาเถรเจ้าตนหนึ่งพาพลเข้ามาหาพระองค์ชั่ว ๕ วาทรงทอดพระเนตรเห็นจึงตรัสถามว่า "...ภันเตข้าไหว้เจ้ากู ๆ มีประโยชน์ด้วยอันใดจิงมาฮอดมาเถิงผู้ข้าในกาลบัดนี้จะ..." มหาเถรเจ้าตอบว่า "...เฮาจักมาถามปัญหานำพระยาแลเฮานี้ก็หากเป็นพ่อครูมหาปาสมันตนอันเลี้ยงพระยาใหญ่มานั้นดาย..." พระยาฟ้างุ้มเห็นดังนั้นก็ปูอาสนะแล้วอาราธนานั่งตรัสว่า "...เจ้ากูจักถามปัญหาดอมผู้ข้าสิ่งใดก็ถามไปข้อยทอน..." มหาเถรเจ้าถามว่า "...อันแข้วพระยาออกมาแต่ท้องแม่สามสิบสามเหล่มนั้นยังสู่เหล่มเบานั้นจา..." ทรงตอบว่า "...หล่อนเสียหมดแล้ว..." มหาเถรเจ้าถามว่า "...อันใหม่ยังออกมาแทนท่อเก่าเบาจา..." ทรงตอบว่า "...ยังออกมาทั้งสามสิบสามเหล่มดังเก่าก็ข้าแล..." มหาเถรเจ้าถามว่า "...แข้วอันออกแต่ท้องมาแล้วนั้นยังเป็นคุณสิ่งใดเล่ายังเป็นโทษสิ่งใดแก่มหาราชนั้นจา..." ทรงตอบว่า "...อันยังเป็นคุณนั้นข้าว่าได้เคี้ยวกินจิงใหญ่อันนั้นข้าว่าเป็นคุณแล อนึ่งโทษนั้นคือว่าแข้วออกมาแต่ท้องคนทั้งหลายว่าเป็นขวงข้อยว่าเป็นโทษเพื่อสิ่งนั้นแล..." มหาเถรเจ้าถามว่า "...แข้วอันเก่าหล่อนเสียแล้วอันใหม่ออกมาแทนยังเป็นคุณสิ่งใดเล่ายังเป็นโทษสิ่งใด..." ทรงตอบว่า "...อันเป็นคุณมีแวนหลายเพื่อข้อยได้เคี้ยวได้กิน อันเป็นโทษนั้นได้ขบลิ้นขบสบมันเจ็บมันปวดอันนั้นข้อยว่าเป็นโทษเพื่อสิ่งนั้นก็ข้าแล..." มหาเถรเจ้ากล่าวชมว่า "...มหาราชเจ้านี้ได้สร้างโพธิสมภารมากนักแลจิงแก้ปัญหาเฮาได้สิ่งนี้หั้นแล..." จากนั้นมหาเถรเจ้าจึงสั่งสอนพระยาเสนาอำมาตย์มนตรีแล้วขอชีวิตท้าวพระยาที่จองจำทั้งหมด พระยาฟ้างุ้มทรงเมตตาปล่อยกลับไปบ้านเมืองของตน มหาเถรสั่งอำลาแล้วออกไปทางป่องเอี้ยมด้วยอากาศกางหาว (เหาะออกทางหน้าต่าง)[48]

ประกอบพระราชพิธีไชยาภิเษกที่นครหลวงเวียงจันทน์และแต่งตั้งขุนนาง

หลังโปรดฯ ไว้ชีวิตเจ้าเมืองฝั่งขวาทรงยกพลมาตามดาวหาง (ดาวควัน) ถึงเวียงจันทน์ ประทับตกแต่งราชการบ้านเมืองให้เหล่าเสนาอำมาตย์เป็นต้นว่าปู่เลี้ยงซึ่งเป็นแสนเมือง (เทียบเจ้ามหาอุปราช) และหมื่นกระบองเป็นใหญ่กว่าเจ้าหัวเสิกทั้ง ๕ หมื่นหลวง เจ้าขวา เจ้าซ้าย พูนเหนือ (พูมเหนือ) พูนใต้ (พูมใต้) ๕ ขุนให้เป็นเจ้าหัวเสิกทั้ง ๕ มีหมื่นหลวงเป็นใหญ่ หมื่นหน้าและหมื่นแพนเป็นขุนราชวัตรก้ำหน้า หมื่นนาเหนือและหมื่นนาใต้เป็นราชวัตรก้ำหลัง นายหลวงเหนือรักษาคุ้มในก้ำหน้าหาถ้อยความเจ้าพูมเหนือ นายหลวงใต้รักษาคุ้มก้ำหลังหาถ้อยความเจ้าพูมใต้ ขุนทั้งหลายจะไปทำศึกให้มาไหว้สาเจ้าแผ่นดินทุกคน ตั้งหมื่นจันทร์เป็นขุนเจ้าเมืองใหญ่ ให้เจ้าเวียงคำ เจ้าเวียงแก หมื่นพระน้ำฮุง เจ้าปากห้วยหลวง เจ้าเมืองเชียงสา ๕ เมืองเป็นขุนใหญ่เชื่อนเมือง (เขื่อนเมือง) เจ้าเมืองแก่นท้าว เจ้าเมืองหนองบัว เจ้าเมืองซายขวา (ซายขาว) ด่านสามหมื่นเป็นขุนใหญ่ขอบเมืองรักษาขอบเมืองล้านช้าง ท้าวพระยาทั้งหลายมีหมื่นจันทร์ หมื่นกระบอง หมื่นหลวงจึงไหว้พระองค์ว่า "...เจ้ากูไปผาบบ้านเมืองได้สู่แห่งสู่ที่แล้วบัดนี้ผู้ข้าทั้งหลายขอกระทำไชยาภิเษกแก่เจ้ากูให้มั่นให้ยืน..." หมื่นหลวงทูลดังนั้นพระองค์เห็นชอบโปรดฯ ให้หาสถานที่มงคลตั้งวัดประสักแล้วสร้างหอสรงทูลพระองค์เสด็จสรงน้ำกระทำไชยาภิเษก เลี้ยงไพร่พล ๗ วัน ๗ คืน ฆ่าช้างกิน ๑๐ ตัว วัว ๑,๐๐๐ ควาย ๒,๐๐๐ รวมสังเวยสัตว์ ๓,๐๑๐ ที่ตั้งพิธีไชยาภิเษกคือวัดประสักเวียงจันทน์ในปัจจุบัน[49]

พระราโชวาทสำคัญหลังพระราชพิธีไชยาภิเษก

หลังฉลองไชยาภิเษกถึง ๗ วัน ๗ คืนแล้วทรงพระราชทานพระราโชวาทสั่งสอนขุนนางตามธรรมเนียมกษัตริย์โดยละเอียดดังนี้

...เจ้าทั้งหลายฮักษาบ้านเมืองอย่าให้มีข้าลักคนโจร อนึ่งอย่าให้ฆ่าฟันกัน แหม่นว่าข่อยตนผิดก็ดี เมียตนผิดก็ดี เสนาแลลูกค้ามาผิดก็ดี ตนอย่าหลอนฆ่าฟันเสีย ให้ผู้อื่นพิจารณาดูก่อน เป็นโทษอันหนักจิงตามเหตุ มันโทษบ่อหนักอย่าได้ฆ่า ท่อว่าให้ใส่คอกขังไว้ สมโทษแล้วให้ป่อยเสียหาเวียกหาการสมบัติอันจักเกิดมาในแผ่นดินนี้ คั้นบ่มีคุณสมบัติก็จิงมี คั้นบ่มีคุณสมบัติเข้าของก็หาบได้แล เหตุเฮาบ่ให้ฆ่าคนเพื่อดังนั้นแล อนึ่งเจ้าทั้งหลายก็อย่าผิดอย่าข้องกัน ให้พร้อมกันดูขอบบ้านขอบเมืองทั้งมวล อนึ่งต่างบ้านต่างเมืองทั้งมวลเขาจักกระทำเบียดเบียฬบ้านเมืองเฮาสิ่งใดก็ให้ฮู้ให้เห็นแจ้ง อนึ่งสองเดือนให้ใซ้เมือไหว้สาหาเฮาสู่บ้านสู่เมืองให้เฮาฮู้อันฮ้ายอันดี สามปีจิงให้ตัวเจ้าทั้งหลายขึ้นเมือไหว้เฮาเมื่อฮอดเซียงดงเซียงทองพุ้นแล้ว เฮาจักได้บูซาแถนฟ้าขื่น ทั้งแถนคม แถนแต่ง แถนซั่ง แถนเถือก ทั้งเถ้าเยอ เถ้าไล แม่ย่างาม แม่มด บนทั้งเทวดาอันฮักษาผาติ่ง แลสบอู ทั้งสบเชือง แลแสนเขาคำ ทั้งสบคาน สบโฮบ สบดง ผากับแก้ ตังนาย ทั้งหลักมั่นท้ายขัน ทั้งนาไฮ่เดียว ภูเขากล้า อ้ายมาท้าวคองอยู่หนองหล่มภูเขากล้าหั้น ทั้งผาหลวง ขวางกอน ฟานเยี่ยม ทั้งก้อนฟ้าอันหมายไว้ที่เซียงดงเซียงทองนั้นเป็นควาย ๓๖ ตัว คั้นเมือฮอดแล้วเฮาจักได้บูซาผีฟ้าผีแถนทั้งหลายฝูงนี้ และคั้นเถิงเดือนเจียงให้ขึ้นสู่บ้านสู่เมือง เดือนสามให้ฮอดเมืองซะวา คั้นผู้ใดบ่ขึ้นเฮาว่าบ่ซื่อต่อเฮาแล อันว่าให้เลี้ยงฟ้าเลี้ยงแถนปู่เจ้าฟ้าหลวงโงมหากได้สั่งเฮาไว้ให้ฮู้จักหัวใจเจ้าขุนทั้งมวลอันอยู่แผ่นดินเมืองล้านซ้างผู้ซื่อแลผู้คดจากเจ้าแผ่นดินหั้นแล ปู่เฮาเจ้าฟ้าหลวงโงมสั่งไว้สืบ ๆ มาดังนี้แล อนึ่งเจ้าทั้งหลายอย่าเอาไพร่เมือเป็นข้อย ไพร่ผิดกันเป็นอันหนักเป็นต้นว่ามีซู้สู่เมียท่านให้ไหมเอาแต่ห้าบาท เขาหากฆ่ากันตายเอาตัวมันแทนผู้หนึ่งอันตายนั้น อนึ่งไปเสิกอย่าเอาค่าหัวไพร่แต่บาทหนึ่งถึงสองบาทต่อเท่าเถิงฮ้อยก็ว่าเป็นค่าหัวแล้ว เจ้าขุนอย่าไหมไพร่กายฮ้อยขึ้นไปเทิง ผู้ใดยังไหมจักเสียหน้า ตัวมันจักเอามาใส่ต่างไพร่...[50]

จากนั้นเจ้าขุนทั้งหลายก็ออกไปกินบ้านกินเมืองของตนฝ่ายพระองค์ยกพลออกทางบกฮวดเสด็จถึงเชียงดงเชียงทองเดือน ๔ ขึ้น ๓ ค่ำ วันอังคาร มื้อกาบซะง่า นางแก้วฟ้าผู้สำเร็จราชการแทนพร้อมชาวบ้านชาวเมืองประกอบพระราชพิธีบายสีหลวง (สู่เข้าเล่าขวัญ) กระทำราชพิธีอุสาภิเษก (บรมราชาภิเษก) ให้ ๒ พระองค์เป็นมหากษัตริย์และพระอัครมเหสีในเชียงดงเชียงทอง ให้มีพระชนม์มั่นยืนมีพระราชโอรสธิดาสืบสายราชสมบัติไปไม่ขาดสาย[51]

เหตุแห่งการสร้างและเหตุแห่งการอัญเชิญพระบางสู่ล้านช้าง

เมื่อพระยาฟ้างุ้มปราบบ้านเมืองทั้ง ๑๐ ทิศแล้วเสด็จประทับนครเชียงดงเชียงทอง ประชาชนล้านช้างยังนับถือศาสนาเดิมคือศาสนาผีฟ้าผีแถนผีพ่อผีแม่ (ผีบรรพบุรุษ) เป็นที่พึ่ง ไม่รู้คุณพระรัตนตรัยใจหยาบกร้านหาญกล้าชอบใช้หอกดาบ นางแก้วฟ้าพระราชธิดาพระยานครหลวงตรัสกับพระราชสวามีว่า "..เมืองอันใดบ่อมีศาสนาพระเจ้าดังนี้ข้าก็อยู่บ่เป็น ข้าจักคืนเมือหาพ่อข้าชื่อเมืองพระนครหลวงพุ้นแล..." พระองค์เห็นดังนั้นตรัสว่า "...เฮาพาไปไหว้พระนครหลวงขอเอาศาสนาพระพุทธเจ้ามาเทอญ..." ทรงแต่งนายคนใช้นำคำ ๓๐,๐๐๐ เงิน ๓๐๐,๐๐๐ แก้วน้ำดง แก้วภูก่อ และแก้วจอมเพ็ชรเป็นราชบรรณาการถวายกษัตริย์พระนครหลวง พระยานครหลวงรำพันถึงพระราชธิดาว่าอยากให้พระพุทธศาสนาแผ่ทั่วชมพูทวีป จึงโปรดฯ พระมหาเถรปาสมันเจ้าตนพี่กับพระมหาเถรเจ้าเทพลังกาพร้อมศิษย์พระ ๒๐ รูปไปอัญเชิญพระบางเจ้า พระบางเป็นพระพุทธรูปที่ชาวลังการวมเงินคำตั้งที่พระเจดีย์หลวงแล้วบอกพระมหาจุลนาคเถรเจ้าว่าอยากหล่อรูปพระพุทธเจ้าไว้โปรดสัตว์ เรื่องราวตำนานพระบางเจ้าเต็มด้วยปาฏิหาริย์เช่นพระแก้วมรกตซึ่งเป็นจารีตการประพันธ์วรรณกรรมคัมภีร์ทางศาสนาที่นิยมสร้างศรัทธาด้วยการผูกเรื่องกับปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ คือหลังพระมหาจุลนาคเถรเจ้าทราบความปรารถนาชาวลังกาจึงเข้าสมาบัติทะยานสู่ป่าหิมพานต์ไปถึงก้อนหินเสลาบาทซึ่งมีมาแต่ปฐมกัลป์ก้อนหนึ่ง มหาเถรเจ้าพบเจ้ารัสสี (ฤษี) ๒๐ ตนมีรัสสีทองและรัสสีซาวเป็นประธานจึงกล่าวว่าชาวลังกาอยากหล่อรูปพระพุทธเจ้า เรื่องนี้ร้อนถึงบันฑุกัมพลศิลาอาสน์พระยาอินทร์ พระยาอินทร์พร้อมวิสุกรรมเทวบุตรเทวดาทั้งหลายบนชั้นฟ้าดุสิดา ยามา ตาวติงสา จาตุม (จตุมหาราชิกา) แผ่นดิน และจักรวาฬ มีพระยาอินทร์และพระมหาจุลนาคเถรเจ้าเป็นประธานพร้อมกันให้รัสสี ๒ ตนนำเงินคำชาวลังกาจากพระยาลังกามารวมกันเข้ามีขนาดเท่าเม็ดข้าวฝ้างและเม็ดงา[52]

พระยาลังกานำคำ ๑๐๐ นิกขะร่วมถวายเจ้ารัสสีหล่อเข้าด้วยกันแล้วอธิษฐานว่า "..คำข้านี้ให้เป็นตีนทั้งสองให้เป็นมือทั้งสองให้เป็นหัวใจพระพุทธเจ้าเทอญ..." แล้วสั่งเจ้ารัสสีทั้ง ๒ ว่า "...เมื่อใดหล่อพระเจ้าแล้วเจ้ากูจงให้มหานาคเถรเจ้ามาหาผู้ข้าแด่ จักมุทธาภิเสกในเมืองลังกาพี้ให้ลือชาปรากฏทั่วทีปทั้งมวล..." เจ้ารัสสีจึงไปหาพระมหาจุลนาคเถรเจ้า มหาเถรเจ้าเป็นประธานพร้อมพระอินทร์และเทวดาทั้งหลายรวมเงินคำและทองของตนมอบแก่วิสุกรรมเทวบุตรหล่อพระบางเจ้าในเดือน ๔ เพ็ง (เพ็ญ) วันอาทิตย์ ยามใกล้รุ่ง เสร็จแล้วพระมหาเถรเจ้าพร้อมพระยาอินทร์และเทวดาทั้งหลายนำไปตั้งไว้ ณ ข่วงหลวงกลางเมืองลังกาให้คนไปเฝ้าพระยาลังกา พระยาลังกาจึงนำราชสมบัติทั้งมวลมาบูชาธาตุพระพุทธเจ้า ๕ องค์ ประดิษฐานธาตุเหนือไตคำ (ถาดทองคำ) ตั้งไว้หน้าพระบางเจ้าถวายราชสมบัติทั้งมวลบูชาแล้วอธิษฐานว่า "...ผิว่าพระพุทธเจ้าองค์นี้จักตั้งอยู่โผดสัตว์ทั้งหลายในลังกาทีปแลชมภูทีปให้แล้วคำมักคำปรารถนาแห่งคนทั้งหลายดังนั้น จงให้ธาตุพระพุทธเจ้าทั้งห้าพระองค์นี้เสด็จเข้าในตนตัวพระพุทธเจ้าณบัดนี้เทอญ..." ธาตุพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าในพระนลาฏ ต่อมคอ กลางอุระ ฝ่าพระหัตถ์ขวา ฝ่าพระหัตถ์ซ้ายอย่างละองค์ทั้ง ๕ แห่งต่อหน้าพระมหาเถรเจ้า พระยาลังกา และเสนาอำมาตย์ เทวดาหมื่นโลกจักรวาฬถึงชั้นฟ้าดุสสิดาพากันสาธุการโปรยข้าวตอกดอกไม้บูชาประทูปประทีปจำนวนมาก พระยาลังกาประทับที่นั้น ๗ วัน ๗ คืนแล้วสร้างวิหาร ณ ข่วงหลวงเพื่อประดิษฐานพระบางพร้อมถือนิมิต ๓ ประการเรียกนามพระบางดังนี้[53]

๑. ข้างข่วงวิหารมีสระใหญ่ชื่อสระบางพุทธาคนทั้งหลายจึงเรียกนามพระพุทธรูปว่าพระบางเจ้า

๒. ถือนิมิตครั้งนำเงินคำจากพระยาลังกามาหล่อพระบาง เหล่าเสนาชาวเมืองลังกาทั้งหลายพากันกล่าวโวหารว่า "...เอาของขาใส่บ้าง ๆ..."

๓. ผู้ใดได้ไหว้บูชาพระบางแล้วความโกรธกิเลสตัณหาพยาธิในตัวก็ "...ลวดน้อยลวดบางหายเสีย..."[54] ซึ่งนิมิตข้อนี้สอดคล้องกับปรัชญาธรรมในพระพุทธศาสนามากที่สุด

พระบางเจ้าโปรดสัตว์และคนทั้งหลายในลังกา ๗ ชั่วพระยาต่อมาพระมหาพุทธโฆษาจารย์เจ้าไปจารหนังสือที่ลังกา กลับถึงนครหลวงจึงเล่าถวายพระยานครหลวงว่า "...ยังมีพระบาท (พระบาง) เจ้าตนหนึ่งอยู่เมืองลังกาวิเศษนัก ย่อมให้แล้วคำมักคำปรารถนาแห่งคนทั้งหลาย องค์พระเจ้านั้นหนักสี่หมื่นสี่พันห้าฮ้อยเป็นปัญจโลหะคำทั้งเงินทั้งทองหล่อกับดอมกัน อนึ่งหากเป็นแต่ตำนานแต่ลังกามากับพระบางเจ้าแล..." พระยานครหลวงใช้ทูตเจริญสัมพันธไมตรีทำมิตรสหายกับพระยาลังกาแล้วขอธรรมไตรปิฏกทั้ง ๓ กับพระบางเจ้ามาบูชาโปรดสัตว์ในนครหลวง พระยาลังกาพระราชทานธรรมไตรปิฏกทั้ง ๓ มาก่อนส่วนพระบางเจ้าอัญเชิญภายหลังในเดือน ๔ เพ็ง พระบางประดิษฐานโปรดสัตว์เมืองนครหลวง ๗ ชั่วพระยาจึงมาอยู่เมืองล้านช้าง[55]

การอัญเชิญพระบางและไพร่พลศิลปวิทยาการกัมพูชาหลั่งไหลสู่ล้านช้าง

หลังพระยาฟ้างุ้มและนางแก้วเก่งกัญญาทูลอัญเชิญพระบางจากพระยานครหลวง พระมหาปาสมันเจ้ากับพระเทพมหาลังกาเจ้าเป็นประธานได้ขึ้นมาพร้อมชาวเจ้า (พระสงฆ์) ๒๐ ตน โปรดฯ ตกแต่งคนเป็นผู้ค้ำคง (ดูแล) รักษาพระบางเจ้า ไตรปิฎกทั้ง ๓ และพระสังฆเจ้าทั้งหลายจำนวนมากขึ้นมาด้วย ได้แก่ นรสิงห์ นรเดช นรสาด ๓ ท่านนี้ประกอบด้วยศาสตร์เพททั้งมวลมีโหราศาสตร์เป็นต้น นอกจากนี้มีช่างศิลป์จำนวนมากคือ ช่างสัก (สลัก) ช่างพระ ช่างเหล็ก ช่างทอง ช่างคำ และเครื่องหลิ้น (เครื่องเล่นศิลปะการแสดง) ทั้งมวล เช่น หนังรามเกียรติ์ ฆ้อง เม็ง คนคุมเครื่องเล่น คนคุมเครื่องเสพ[56] รวมชาวนครหลวงขึ้นมากับมหาเถรเจ้าทั้ง ๒ ได้ ๔ บ้าน ๑,๐๐๐ คน คนติดตามนรสิงห์ ๑,๐๐๐ นรเดช ๑,๐๐๐ นรสาด ๑,๐๐๐ แม่นมนางเก่งกัญญา ๑,๐๐๐ รวมหญิงชายน้อยใหญ่ ๔,๐๐๐ โปรดฯ ให้เมืองสายเป็นเมืองโอมนาง (สนองราชเสาวนีย์นางแก้วเก่งกัญญา) ครั้นเดินทางถึงเมืองแกแม่นมป่วยเป็นพยาธิเดินทางต่อไม่ได้จึงตั้งอยู่โคบไผ่เมืองแก เถ้าเมืองแกกับเจ้าหมื่นแกวัดเขตดินโคบไผ่ให้แม่นมกว้าง ๒,๐๐๐ วา ยาว ๒,๐๐๐ วา ให้คนติดตามแม่นมตั้งเป็นบ้านขวงเรียกว่าบ้านไผ่แม่นมสืบมา[57]

สืบหาร่องรอยพระพุทธศาสนายุคเก่าก่อนประดิษฐานพระพุทธศาสนาใหม่

ต่อมา ๒ เดือนขบวนพระบางเจ้ามาถึงเมืองแกพระยาฟ้างุ้มและนางแก้วเก่งกัญญาจึงแต่งรับ เจ้าหมื่นจันทร์และประชาชนอาราธนาพระสงฆ์พักที่ดอนจันทร์ (นครหลวงเวียงจันทน์) จากนั้นท้าวพระยาประชาชนไปไหว้พระบางและมหาเถรเจ้าทั้ง ๒ พระมหาปาสมันเจ้าถามท้าวพระยาถึงสถานที่สำคัญของภูมิสถานบ้านเมืองเวียงจันทน์ว่าที่ใดคือปากบางไซ ปากปาสัก โพนสบก หนองจันทร์ หนองกระแด และพังหมอ (พังหม้อ) เจ้าเมืองเชียงมุงถามเถ้าเมืองเวียงจันทร์และเถ้าเมืองเชียงมุงได้ความแล้วเล่าถวายพระมหาปาสมันเจ้า มหาเถรเจ้านำตำนานล้านช้างจากเมืองนครหลวงมาตรวจอ่านดูก็ตรงตามคำเล่าจึงกล่าวว่า "...อันที่ปากปาสักหั้นเจ้ารัสสีทั้งหลายหมายหลักไม้จันทร์ไว้ในที่นี้แล อันที่สระโพนสูงเบื้องตะวันออกเล่าข้างหนองกระแดมาก้ำตะวันตกเจ้ารัสสียังเอาหลักหินอันหนึ่งเป็นสี่เหลี่ยมหมายไว้แต่ธาตุพระเจ้าทั้งสี่ตนพู้น เป็นต้นว่าพระกุกกุสันโท พระโกนาคม พระกัสสปเจ้ามาใส่สิงคำตัวหนึ่งอธิษฐานจิงเอาหลักหินหมายไว้ อันนี้เป็นธาตุพระพุทธเจ้าทั้งสี่พระองค์ดีหลีแล ธาตุอันมาตกที่ในเมืองสุวรรณภูมิที่หลักหินเป็นเค้าแล เมื่อพระยาศรีธรรมอโศกราชให้อรหันตาเจ้าทั้งหลายเอาธาตุมาตกในเมืองอันนี้ ที่หนึ่งว่ากู่พระหางที่นี้เป็นเค้า ที่หนึ่งพระนาราย ที่หนึ่งพระสาด ที่หนึ่งพระเขียน ที่หนึ่งพระนาเทียนสองที่นี้อยู่ในเมืองขวางโลกบาน ที่หนึ่งว่าพระนม ที่หนึ่งว่าโพนผิงแดด อันที่ปากปาสักก้ำใต้อันเจ้ารัสสีใส่ธาตุอูปไม้จันทน์ไว้นั้น ธาตุพระเจ้าทั้งสี่ใส่อูปแก้วทั้งสี่ลูกจิงอธิษฐานไว้หั้นแล อันนี้เป็นธาตุพระพุทธเจ้าทั้งสี่ตนนี้แล อันว่าเมืองชะวาอันเฮาจักเมืออยู่นั้นอันนั้นตนพระโคดมเจ้าได้มาโผดสัตว์ทั้งหลายตามดังพระพุทธเจ้าทั้งหลายแต่ก่อนพุ้นดีหลีแล ที่หนึ่งว่าผาบูนฟากน้ำของก้ำเหนือเมือวันตกเหนือคกท่อนหั้น ที่หนึ่งว่าง่อนสบโฮบเบื้องเหนือ ที่หนึ่งว่าภูเขาก้า ที่หนึ่งหลุ่มภูเขาก้าก้ำมาน้ำของเขาว่าก้อนหินหมอโล้น ที่หนึ่งหลุ่มภูเขาก้าก้ำมาวันออกไต่สบห้วยช้างย่านเท็งฝั่งน้ำคานหัวนาเข้าจ้าว อรหันตาเจ้ายังไว้ฮอยตีนสี่อันท่อว่านิ้วตีนบ่สำแดงที่ภูเขาก้าก้ำเมือน้ำคานหั้นแล ศาสนาพระพุทธเจ้าอันมาตั้งอยู่ที่เมืองชะวายังจักเป็นไปเท่าห้าพันวัสสาพุ้นดีหลีดาย..."[58] เนื้อความดังกล่าวจึงชี้ว่าพระพุทธศาสนาได้ประดิษฐานในล้านช้างก่อนสถาปนาอาณาจักรมาตั้งแต่สมัยศรีโคตรบูรแล้ว

พระบางไม่ยอมเสด็จเพราะอ้างความประพฤติของพระเจ้าฟ้างุ้ม

พระมหาปาสมันเจ้ากล่าวว่าตำนานที่อ่านให้ท้าวพระยาทั้งหลายฟังมีมาแต่ปฐมกัลป์อินทร์พรหมทั้งหลายเขียนไว้ในแผ่นหินเมืองอินทปถนคร มหาเถรเจ้าอยู่เวียงจันทน์ ๓ วัน ๓ คืนผู้ติดตามรักษาบางคนจึงกลับคืนพระนครหลวงโดยทางน้ำ มหาเถรเจ้าทั้ง ๒ อัญเชิญพระบางเจ้ามาเวียงคำːเมืองแฝดของเวียงจันทน์[59] พระยาเวียงคำอาราธนาไว้บูชาพระบางจึงทำปาฏิหาริย์ตลอดราตรี ครั้นรุ่งเช้าจึงใช้ ๘ คนหามอัญเชิญไปเมืองชวาก็หามไม่ขึ้น ใช้ ๘ คนหามทุกวันก็ยกไม่ได้ด้วยหนักมาก ใช้ ๑๖ คนหรือ ๒๔ คนก็ยกไม่ได้อีก มหาเถรเจ้าทั้ง ๒ และนายรักษาทั้ง ๓ ซึ่งมาแต่นครหลวงจิงถอดสาก (จับฉลาก) ทายดูปรากฏพระบางชอบอยู่เวียงคำก่อนเพราะเล็งเห็นพระยาฟ้างุ้มประพฤติไม่อยู่ในธรรม ข่มเอาค่าไร่นาลูกหญิงลูกสาวผู้อื่น ข่มเอาภรรยาผู้อื่นมาอยู่มานอนด้วย ข่มเอาบ้านเอาเมืองผู้อื่นพร้อมฆ่าเจ้าบ้านเจ้าเมืองซึ่งจะเป็นเหตุให้ประชาชนขับพระองค์หนีจากล้านช้าง ฝ่ายนางแก้วเก่งกัญญาก็มีอายุไม่มั่นยืน พระบางเห็นเหตุเหล่านี้จึงไม่เสด็จโปรดสัตว์เมืองชวา หากอนาคตลูกหลานของพระองค์ได้เสวยราชย์เป็นกษัตริย์เชียงดงเชียงทองประพฤติตามทำนองคลองธรรม ผู้มีบุญสมภารมาสร้างเจดีย์ใหญ่ในเชียงดงเชียงทองภายหน้าพระบางจึงจะเสด็จไป[60]

ล้านช้างคือสุวรรณภูมิ

ต่อมามหาเถรเจ้าทั้ง ๒ ไว้พระบางที่เวียงคำแล้วนำผู้ติดตามพร้อมนายรักษาพระบางเจ้าทั้ง ๓ ขึ้นไปเมืองชวา เล่าเรื่องพระบางไม่ยอมเสด็จถวายพระยาฟ้างุ้มกับเสนาอำมาตย์แล้วนำตำนานที่มาแต่นครหลวงซึ่งกล่าวถึงสถานที่พระพุทธเจ้ามีพุทธทำนายอ่านให้ทุกคนฟังโดยประโยคสำคัญว่า "...อันว่าเมืองล้านช้างชื่อว่าสุวรรณภูมินี้ก็หากมีในตำนานพระยาอินทร์เขียนไว้ที่ก้อนหินในเมืองอินทปถนครพุ้นแล..." แล้วจึงก่อเจดีย์วิหารตามสถานที่พระพุทธเจ้ามาโปรดสัตว์ไว้บาทพระลักษณ์ก้ำซ้าย (รอยพระพุทธบาทข้างซ้าย) ซึ่งไม่ปรากฏนิ้วพระบาทตามตำนานนั้น[61]

ใกล้เคียง

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ