สถาปนาพระพุทธศาสนาเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์แบบพระนครในล้านช้าง ของ พระเจ้าฟ้างุ้ม

คัมภีร์พื้นพระบาง ฉบับหอสมุดแห่งชาติ นครหลวงเวียงจันทน์ ระบุว่าพระยาฟ้างุ้ม (ฟ้างู่ม) แรกประสูติมีพระทนต์แต่ในครรภ์พระมารดา ๓๓ เล่ม (ซี่) เสนาอำมาตราชมนตรีเห็นเป็นคนเข็ดขวาง (กาลี) จึงใส่แพไหลน้ำไปถึงท่ามหาปาสมันตเจ้า พระมหาปาสมันตเถระเจ้าถามเหตุการณ์แจ้งแล้วจึงนำคณะพระยาฟ้างุ้มมาอยู่ด้วย ต่อมาพระยาอินถปัตนครหลวงทราบข่าวว่ามหาเถระได้พระราชโอรสกษัตริย์เชียงดงเซียงทองมาเลี้ยงจึงให้คนมาขอเป็นพระราชโอรส เมื่อพระราชกุมารเจริญพระชนม์ ๑๖ พรรษาพระยาอินถปัตนครหลวงยกพระราชธิดาพระนามนางแก้วลอดฟ้าให้เป็นพระชายา ต่อมาโปรดฯ ยกพลให้พระยาฟ้างุ้มมาเสวยราชย์เชียงดงเชียงทอง พระยาฟ้างุ้มเฉลิมพระนามพระอัครมเหสีเป็นนางเทพาตนวิชิตมหิทธิปติราชาเทวี ศรีอินทปัตราชบุตรี จากนั้นเสด็จตีบ้านน้อยเมืองใหญ่แล้วกลับมาเสวยราชย์เชียงดงเชียงทองศาสนาในล้านช้างเจริญรุ่งเรืองไปทุกแห่ง ถัดนั้น ๒ พระองค์ส่งคนไปขอพระพุทธศาสนาจากพระราชบิดาที่นครหลวงขึ้นมาประดิษฐานในล้านช้าง พระยาอินถปัตนครหลวงโปรดฯ ให้พระมหาปาสมันต์ ๒ พี่น้องคือพระบางเจ้ากับพระมหาปาสมันตเถระเจ้าผู้เลี้ยงพระยาฟ้างุ้มขึ้นมาด้วย ทั้ง ๒ เป็นเชื้อชาติอินถปัตนครหลวง โปรดฯ ให้พระมหาพลังกาเจ้าตนพี่ พระมหาเทพลังกาเจ้า และพระมหานมปันยาเจ้าขึ้นมาด้วย ทั้ง ๓ เป็นเชื้อชาติลังกา พร้อมจัวเณร ๔ ตน พระราชทานพระไตรปิฎกทั้ง ๓ พระพุทธรูปพระบางเจ้าซึ่งได้มาแต่ลังกา พระมหาเถระเจ้าทั้ง ๔ รู้หลักนักปราชญ์และไตรปิฎกทั้ง ๓ จบศาสตราเภทนอกพระพุทธศาสนาคือดูชะตาและโหราศาสตร์ทั้งมวล โปรดฯ ให้คนจำนวนมากติดตามมหาเถระขึ้นมา ได้แก่ ญาติมหาเถระทั้ง ๕ มีนายสารนครพวก ๑ อาจารย์สุเมธาพวก ๑ นายสุเพพวก ๑ นายราหุนพวก ๑ นายโพทาพวก ๑ รวม ๕๐๐ ครัว นอกจากนี้มีไพร่พลที่โปรดฯ ให้ติดตามมากับนางแก้วลอดฟ้าคือ นรสิงพวก ๑ นรสานพวก ๑ นรนรายพวก ๑ นรเดดพวก ๑ ทั้ง ๔ รู้หลักนักปราชญ์จบเภทศาสตร์ศิลป์ พร้อมโปรดฯ ให้ช่างศิลป์จำนวนมากขึ้นมาด้วยมีช่างควัด (แกะสลัก) ช่างลาย ช่างแต้ม ช่างเขียน ช่างหล่อพระพุทรูปเจ้าองค์ล้าน องค์แสน ช่างเหล่านี้จบเภททั้งมวลและมีญาติพี่น้องตามมาถึง ๑,๐๐๐ คน คนเหล่านี้ตามมากับนรสิง นรสาน นรราย นรเดด และแม่นมนางแก้วลอดฟ้า ล้วนเป็นคนหลวงที่พระยาอินถปัตนครหลวงให้ตามมาโอมนางแก้วลอดฟ้า ครั้นมหาเถระทั้ง ๕ เดินทางถึงเวียงคำนำไพร่พลขึ้นทางบกค้างแรม ๗ วันถึงนครหลวงเวียงจันทน์เวลาค่ำ ส่วนพระบางเจ้าอัญเชิญไม่ได้เพราะยกไม่ขึ้นจึงถอดสากเสี่ยงทายได้ความว่าพระบางเจ้าจะอยู่เวียงคำก่อน ครั้นไหว้ลาพระบางเจ้าแล้วพระมหาปาสมันตเถระเจ้านำไพร่พลขึ้นบกเดินทางถึงภูมิ่งเมือง พระยาฟ้างุ้มกับนางแก้วลอดฟ้าเสด็จต้อนรับนิมนต์ประทับที่นาข้าวเจ้า พระมหาปาสมันตเถระเจ้าจึงนำตำนานจากเมืองอินถปัตนครหลวงอ่านให้พระยาฟ้างุ้มพร้อมมหาเสนาฟ้าและคนทั้งหลายฟังว่า[76]

...เมืองซาวล้านซ้างนี้แต่เจ้ารสีมาขอดหลักสีมาไว้เบื้องเหนือเอาภูซ้างนั้นเป็นนิมิตร ก้ำตาวันออกเอาภูซองเป็นนิมิตร ท่ำกลางเมืองเอาภูเขาก้าเป็นนิมิตร ก้ำทักขิณเอาภูซ้างเป็นนิมิตรจิ่งได้ซื่อว่าเมืองล้านซ้าง อันซื่อว่าเมืองลาวนี้คนทั้งหลายอันมาเป็นเจ้าเมืองแต่ก่อนนั้นออกในหมากน้ำเต้าปูงมาเป็นท้าวเป็นพระยา อันเขาว่าท้าวขุนลอนั้นจิ่งได้ซื่อว่าลาวเมื่อนั้นมา อันว่าลาวนั้นบาซีอะถะแปว่าหมากน้ำเต้าปูงหรืออูเสียพ่อนั้นหากเป็นว่าลาว อันว่าคนทั้งหลายอันเกิดในหมากน้ำเต้าปูงนั้นด้วยอะถะว่า ทะระถัง ละวะติติ ลาภุโย วันนิถะโรโล อันว่าหมากเคือไม้อันใด ละวะติลุนาติ ก็ตั้งเสีย ทะระถัง ยังอันฮ้อน อิติตัสมา ตังวันลิถะลัง อันว่าหมากเคือไม้อันนั้น ลาวุ ยังซาติติ ลาวุ โอโย สัดตะนิกาโย อันว่าหมู่สัดตัวใด จายะติ ก็เกิด ลาวุ ยังในน้ำเต้าปูง อิติตัสมา โส สันนิติกาโย อันว่าสัตว์ตัวนั้น ลาพุโซนามมะ ซื่อว่าได้หมู่คนอันเกิดอยู่ในน้ำเต้าปูงนั้น อันนี้ซื่อว่าเมืองซวานี้เป็นเหตุซาติเมือง อันได้ซื่อว่าสุวัณณะภูมีเพื่อว่าพื้นแผ่นดินเขตแดนเมืองอันนั้นมีคำมีเงินมีแก้วมีเหล็กมีทองมีกั่วมีซืนมีน้ำปลามากหนัก จิ่งได้ซื่อว่าเมืองซวาด้วยอะถะว่า ซายะติ เอถาระ เถติ ซื่อว่า สุวัณณาทิวะถัง อันว่าวัตถุอันมีคำเป็นต้น ซาติยาติ ก็เกิดมี เอตะระเถ ในเมืองที่นี้ อิติตัสมา ตังระถัง อันว่าที่นั้น ซานามมะ ซื่อว่า อะทิคะระ สาดใดเมืองอันนี้ตำนาน...[77]

เสร็จแล้วพระสังฆเจ้าทั้งหลายจึงถามถึงภูมิสถานตั้งพระพุทธศาสนาในล้านช้างว่าพูมมะระ พูนางกางลี กกท่อน และเซียงงามอยู่ที่ใด เหล่าท้าวพระยาผู้รู้คือหมอเซียงแพง หมอเสนาเขาคำ หมอเซียงแก้ว หมอหลวง และหมอน้ำเที่ยง เล่าแก่พระสังฆเจ้าทั้งมวลฟัง พระสังฆเจ้าถามอีกว่าเซียงเหล็ก เซียงทอง เซียงหมอก ผาตัดแก่ ผาตั้งนาย สบน้ำดง สบน้ำโฮบ และง่อนโฮบเบื้องเหนืออยู่ที่ใด พระยาฟ้างุ้มก็ตรัสตอบ พระมหาปาสมันตเถระเจ้ากล่าวว่าพระพุทธเจ้าเคยประทับปาทลักขณะ (รอยพระพุทธบาท) ที่ง่อนสบโฮบเบื้องเหนือ พระอรหันตเจ้า ๔ ตนก็เคยไว้ฮอยตีน (รอยเท้า) ๔ รอยที่หัวภูเขาก้า ล้วนตรงตามตำนานที่มาแต่นครหลวงทุกประการ พระมหาเถระจึงตรัสขออนุญาตตั้งพระพุทธศาสนาแก่พระยาฟ้างุ้ม พระองค์ตรัสพระราชานุญาตว่า

...ขงเขตดงล้านซ้างทั้งมวลที่ใดก็ดีเป็นที่ตั้งศาสนา ให้เจ้ากูตั้งศาสนาในแผ่นดินเมืองล้านซ้างนี้ก็ข้าเทอญ อันหนึ่งไม้จีงไม้ป้องทั้งมวลที่ใดก็ดีเป็นที่ควรให้เจ้ากูเอาเท่าวันเทอญ เท่าเว้นไว้แต่สวนอุทิยานทั้งมวลนั้นและไม้มิ่งบ้านมิ่งเมืองที่ใดก็ดีอย่าได้เอา ล้ำกว่านั้นให้เจ้ากูเอาเทอญ อันหนึ่งคนผู้ใดก็ดี อาถะหยา ผู้ข้าก็ดี ผิดราชเทวีก็ดี ผิดเสนาอามาตย์ก็ดี ผิดราชเทวีก็ดี ควรจักฆ่านั้นเขาส่องมาเกินเขตแก้วทั้งสามในขงเขตเจ้ากู ผู้ข้าขออภัยซีวิตเขาทั้งมวลก็ข้านั้น...[78]

จากนั้นพระมหาปาสมันตเถระเจ้านำเจ้าขุนมูลนายทั้งหลายเป็นต้นว่านรสิง นรสาน นรนราย นรเดด มาตั้งที่ง่อนสบโฮบทิศเหนือที่ต่ำอันประดิษฐานรอยพระพุทธบาทส่วนคนโอมนางแก้วลอดฟ้ามอบให้อยู่กับพระนางทั้งหมด พระมหาเถระไปตั้งอยู่ง่อนสบโฮบ ๖ วัน ในเดือน ๒ ขึ้น ๓ ค่ำ วัน ๗ จ.ศ. ๗๒๕ พระสงฆ์พี่น้องจึงเอาหน่อมหาโพธิ์ลังกา (ลูกมหาโพธิสัตว์เจ้าเซื้อลังกา) ปลูกในที่จะตั้งมหาวิหารเจดีย์ก่อนในเดือน ๔ ขึ้น ๙ ค่ำ วัน ๖ พระยาฟ้างุ้มกับนางราชเทวีเสนาอามาตราชมนตรีเศรษฐีพ่อค้าชาวเมืองอยู่บูชาหน่อพระศรีมหาโพธิ์ ๗ วัน ๗ คืน ครั้นเดือน ๖ ขึ้น ๗ ค่ำ วัน ๑ จ.ศ. ๗๒๖ จึงก่อมหาเจดีย์ใกล้ที่ปลูกไม้มหาโพธิ์พระมหาปาสมันตเถระเจ้านำพระบรมสารีริกธาตุข้อมือเบื้องขวาและแก้วมณีโชติที่พระยาอินถปัตนครหลวงพระราชทานพระยาฟ้างุ้มสถาปนาไว้ในมหาเจดีย์ นาน ๒ ปี ๓ วัน จึงสร้างวัดแก้วเสร็จปีเดียว นางแก้วลอดฟ้านำแก้วมรกตส่วนพระองค์ที่ติดพระองค์มาแต่นครหลวงลูกหนึ่งสถาปนาในพระอุระพระพุทธรูปพระพุทธเจ้าองค์หลวง ถวายทานอุปการะพระรัตนตรัยที่นั้นจำนวนมาก โปรดฯ สละข้อยพระ (ข้าพระ) กับจังหัน ๒๐ คน ทานดินทานบ้านให้ข้าพระ ทานข้อยเสพฆ้องกลอง ๕ ครัว ข้อยแต่งกวาดแผ้ว ข้อยรักษาข้าวบูชาพระพุทธเจ้า ข้อยเผิ้ง ข้อยเทียนบูชาข้าวพระ ๕ ครัวฟ้า โปรดฯ แม่นมที่มาพร้อมพระมหาปาสมันตเถระเจ้ากับข้อยคนแห่งตนที่มาถึงนครเชียงทองให้อยู่เมืองแก้วหรือโคบไพ่ แดนเมืองนั้นเจ้าหมื่นแก่ได้ถวายดินแก่แม่นมนางแก้วลอดฟ้ากว้าง ๑,๐๐๐ วา ยาว ๒,๐๐๐ พันวา ให้ทำนากินและมาไหว้พระยาฟ้างุ้มกับนางแก้วลอดฟ้า พระยาฟ้างุ้มเห็นว่าเจ้าหมื่นแกให้ดินเป็นบ้านเป็นนาแก่แม่นมชอบควรแล้วจึงพระราชทานบ้านที่ดินแก่พวกแม่นม ข้อยคน และวัดแก้วต่อมาเรียกว่าบ้านไผ่แม่นมและวัดแก้วสืบมา พระพุทธศาสนางก็รุ่งเรืองบ้านเมืองก็กว้างขวางผู้ใดมาเป็นกษัตริย์ก็ให้ทานบ้านทานคนแก่วัดแก้วและให้อาจารย์สิทธิพระพรแก่พระมหาสามีเจ้าเป็นธรรมเนียมสืบมา[79]

ใกล้เคียง

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ