ประวัติ ของ มุฮัมมัด

ชีวิตวัยเด็กและช่วงต้น

อบูกอซิม มุฮัมมัด อิบน์ อับดุลลอฮ์ อิบน์ อับดุลมุฏฏอลิบ อิบน์ ฮาชิม[9] ถือกำเนิดที่มักกะฮ์[10] ในช่วงประมาณปีค.ศ. 570[11] และเชื่อว่าวันเกิดของท่านอยู่ในเดือนรอบีอุลเอาวัล.[12] ท่านเป็นส่วนหนึ่งของเผ่าบนูฮาชิมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเผ่ากุเรช และเป็นหนึ่งในครอบครัวที่สำคัญในมักกะฮ์[13][14] ตามธรรมเนียมว่าวันเกิดของมุฮัมมัดตรงกับปีช้าง ซึ่งถูกตั้งชื่อตามความล้มเหลวในการทำลายมักกะฮ์โดยอับรอฮะ กษัตริย์เยเมน ที่นำกองทัพช้างมาที่นี่[15][16][17]นักวิชาการในศตวรรษที่ 20 บางคนได้ตั้งปีเกิดจำเพาะ เช่น ค.ศ. 568 หรือ 569[18]

ภาพมุฮัมมัดนำหินดำไปตั้งที่กะอ์บะฮ์ในปีค.ศ. 605 ใน ญามิอ์ อัตตะวาริค โดยเราะชีด-อัล-ดิน-ฮามาดานี (ยุคจักรวรรดิข่านอิล)[19]

อับดุลลอฮ์ อิบน์ อับดุลมุฏฏอลิบ พ่อของมุฮัมมัด เสียชีวิตก่อนที่ท่านเกิดเกือบ 6 เดือน[20] ตามธรรมเนียมอาหรับในสมัยนั้น หลังจากถือกำเนิดแล้ว ท่านถูกส่งไปอยู่กับพวกครอบครัวเบดูอินในทะเลทราย แต่นักวิชาการตะวันตกบางคนปฏิเสธประวัติความเชื่อนี้[21] มุฮัมมัดอาศัยอยู่กับแม่เลี้ยงฮาลีมะฮ์ บินต์ อบีฎุร็อยบ์กับสามีของเธอจนกระทั่งท่านอายุ 2 ขวบ ตอนอายุ 6 ขวบ อะมีนะฮ์ บินต์ วะฮับ แม่ของมุฮัมมัด ป่วยแล้วเสียชีวิต และทำให้ท่านกลายเป็นเด็กกำพร้า[21][22] จนกระทั่งอายุ 8 ขวบ มุฮัมมัดได้อยู่ในความคุ้มครองกับอับดุลมุฏฏอลิบ ผู้เป็นปู่ของท่าน จากบนูฮาชิม จนกระทั่งเขาเสียชีวิต แล้วจึงอยู่ภายใต้ความคุ้มครองของอบูฏอลิบ อิบน์ อับดุลมุฏฏอลิบ ลุงของท่าน ผู้เป็นผู้นำคนใหม่ของบนูฮาชิม[18]

ในช่วงวัยรุ่น ท่านได้ช่วยลุงไปค้าขายที่แผ่นดินชาม หรือบริเวณประเทศซีเรียในปัจจุบัน เพื่อเก็บประสบการณ์ทางการค้า[23] ตามธรรมเนียมอาหรับในสมัยนั้นไว้ว่า ตอนที่ท่านนบีมุฮัมมัดอายุ 9 หรือ 12 ขวบ ในตอนที่เดินทางไปกับคาราวานไปที่ซีเรีย ท่านได้พบกับบาดหลวงคริสเตียนหรือฤๅษีนามว่าบะฮีรอ ซึ่งเป็นคนที่เห็นอนาคตของมุฮัมมัดในฐานะศาสนทูตของพระเจ้า[24]

เนื่องจากท่านมีนิสัยที่ซื่อตรงและซื่อสัตย์ของท่าน ทำให้ท่านได้ชื่อเล่นว่า "อัลอะมีน" (الامين) ที่หมายถึง "ผู้ซื่อสัตย์, เชื่อถือได้" และ "อัศศอดิก" หมายถึง "ผู้มีสัจจะ"[25] ชื่อเสียงของท่านทำให้เคาะดีญะฮ์ บินต์ คุวัยลิด หญิงหม้ายวัย 40 สนใจท่านเพื่อให้ช่วยในการค้าขาย และภายหลังท่านมุฮัมมัดก็ได้แต่งงานกับนาง ซึ่งทุกสายรายงานบอกว่าเป็นการแต่งงานที่มีความสุขที่สุด[26]

ไม่กี่ปีต่อมา รายงานจากอิบน์ อิสฮาก มุฮัมมัดได้จัดตั้งหินดำกลับไปตั้งที่กะอ์บะฮ์ในปีค.ศ. 605 โดยหินดำถูกเอาออกไปจากการปรับปรุงกะอ์บะฮ์ ผู้นำมักกะฮ์ไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าให้เผ่าไหนนำหินดำกลับไปที่เดิม พวกเขาจึงตัดสินใจว่าใครมาที่ประตูเมืองคนแรก ก็ให้คนนั้นเป็นผู้ตัดสิน; ณ วันนั้นเอง ผู้ที่มาคนแรกคือมุฮัมมัดในช่วงอายุ 35 ปี เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนการประทานวะฮ์ยูครั้งแรกของท่านเป็นเวลา 5 ปี ท่านจึงตัดสินใจให้นำหินดำไปตั้งบนผ้า แล้วให้ผู้นำเผ่าต่าง ๆ จับผ้าผืนนั้นพร้อมกัน และท่านจะเป็นคนนำหินตั้งเอง[27][28]

จุดเริ่มต้นของอัลกุรอาน

จงอ่านด้วยพระนามแห่งพระเจ้าของเจ้าผู้ทรงบังเกิด—ทรงบังเกิดมนุษย์จากก้อนเลือด จงอ่านเถิด และพระเจ้าของเจ้านั้นผู้ทรงใจบุญยิ่ง—ผู้ทรงสอนการใช้ปากกา—ผู้ทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่เขาไม่รู้

— กุรอาน (96:1–5)

ถ้ำฮิรอบนภูเขาญะบัลนูร เป็นที่ที่ตามรายงานจากชาวมุสลิมว่า มุฮัมมัดได้รับโองการแรกที่นี่

มุฮัมมัดเริ่มขอพรคนเดียวที่ถ้ำฮิรอบนภูเขาญะบัลนูรใกล้มักกะฮ์ไปหลายสัปดาห์ของทุกปี[29][30] ในธรรมเนียมอิสลามได้กล่าวว่า ในคืนหนึ่งของปีค.ศ.610 มลาอิกะฮ์ญิบรีลได้ปรากฏตัวและสั่งให้มุฮัมมัดอ่านอายะฮ์แรกของอัลกุรอาน[31] โดยมันอยู่ในช่วงแรกของซูเราะฮ์ที่ 96:1.[32]มุฮัมมัดรู้สึกเป็นทุกข์จากการได้รับโองการแรก หลังจากกลับบ้าน ท่านถูกปลอบโยนและทำให้อุ่นใจโดยเคาะดีญะฮ์กับ วะเราะเกาะฮ์ อิบน์ เนาฟัล ลูกพี่ลูกน้องชาวคริสต์ของเธอ[33] ท่านรู้สึกกลัวว่าคนอื่นจะทิ้งท่านโดยอ้างว่าท่านถูกสะกดจิต[34] แต่ตามธรรมเนียมชีอะฮ์แล้ว มุฮัมมัดไม่ได้รู้สึกประหลาดใจหรือตกใจต่อการปรากฏตัวของญิบรีล แต่ท่านได้ต้อนรับเทวทูตเหมือนกับสิ่งที่ท่านคาดไว้[35]มีฮะดีษจากซอฮิฮ์ อัล-บุคอรีได้บันทึกว่า โองการที่มุฮัมมัดได้รับ "บางครั้งมัน (ตอนเปิดเผยโองการ) เหมือนกับเสียงกรื่งของระฆัง" รายงานจากอาอิชะฮ์ไว้ว่า "ฉันเห็นท่านศาสดาได้รับโองการในช่วงที่อากาศเย็นและสังเกตว่ามีเหงื่อไหลที่หน้าผากของท่าน (หลังประทานเสร็จแล้ว)"[36] ตามรายงานของอัลฟอร์ด ที. เวลช์ ไว้ว่าคำอธิบายนี้เป็นของแท้ เพราะมันไม่ค่อยถูกดัดแปลงโดยมุสลิมในยุคหลัง[13] รายงานจากอัลกุรอาน หนึ่งในบทบาทสำคัญของท่านคือตักเตือนผู้ปฏิเสธศรัทธาสำหรับบทลงโทษทางชีวิตหลังความตาย (กุรอาน 38:70, กุรอาน 6:19) ถึงแม้ว่ากุรอานไม่ได้กล่าวถึงวันกิยามัตโดยตรง แต่มันได้ให้ตัวอย่างของสังคมที่ถูกทำลาย และเตือนคนที่อยู่ในยุคเดียวกันกับมุฮัมมัด (กุรอาน 41:13–16).[37] มุฮัมมัดไม่ได้แค่เตือนผู้ที่ปฏิเสธโองการพระเจ้าอย่างเดียวเท่านั้น แต่ท่านได้กล่าวถึงข่าวดีแก่ผู้ที่หลีกเลี่ยงสิ่งชั่วร้าย ฟังโองการที่ถูกประทาน และรับใช้พระเจ้า[38]

การเป็นปรปักษ์

อายะฮ์สุดท้ายของซูเราะฮ์อันนัจม์: "ดังนั้นพวกเจ้าจงสุญูดต่ออัลลอฮ์เถิดและจงเคารพภักดีต่อพระองค์เถิด" เป็นประโยคที่มุฮัมมัดกล่าวท้าต่อขนบธรรมเนียมดั้งเดิม

รายงานจากธรรมเนียมมุสลิม เคาะดีญะฮ์ บินต์ คุวัยลิดเป็นคนแรกที่เชื่อว่าท่านเป็นศาสดา[39] ตามมาด้วยอะลี ลูกพี่ลูกน้องของท่านตอนอายุ 10 ขวบ เพื่อนใกล้ชิดของอะบูบักร์ และบุตรบุญธรรมซัยด์ อิบน์ ฮาริษะฮ์.[39] ราว ๆ ปีค.ศ.613 มุฮัมมัดเริ่มเผยแผ่แบบเปิดเผยต่อสาธารณะ (กุรอาน 26:214).[40][41] ชาวมักกะฮ์ส่วนใหญ่ไม่สนใจและล้อเลียนท่าน โดยมีผู้เข้ารับศาสนาไม่กี่คน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ: น้องชายและบุตรของพ่อค้า; บุคคลที่ล้มเหลวในการเป็นหัวหน้าเผ่าหรือประสบความล้มเหลว และคนอ่อนแอ ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติที่ไม่ได้รับการป้องกัน[42]

รายงานจากอิบน์ ซะอัด การต่อต้านในมักกะฮ์เริ่มต้นขึ้น เมื่อมุฮัมมัดเริ่มกล่าวโองการที่โจมตีการสักการะรูปปั้นและพหุเทวนิยมที่ถูกสอนมาตั้งแต่บรรพบุรุษ[43] อย่างไรก็ตาม นักอรรถกถากุรอานยืนยันว่า มันเป็นจุดเริ่มต้นของการเผยแผ่ศาสนาแบบเปิดเผย[44] ในขณะที่ผู้ติดตามเพิ่มขึ้น มุฮัมมัดกลายเป็นภัยต่อชนเผ่าและผู้นำของเมือง พ่อค้าผู้มีอิทธิพลพยายามให้ท่านหยุดสอนเสีย; โดยมีเงื่อนไขหลายประการ แต่ท่านปฏิเสธ[42]

มีรายงานเกี่ยวกับทารุณกรรมต่อมุฮัมมัดและผู้ติดตาม สุมัยยะฮ์ บินต์ ค็อยยาฏ ทาสีของอบูญะฮัลเป็นผู้พลีชีพคนแรกของศาสนาอิสลาม โดยถูกฆ่าด้วยหอกโดยเจ้านายของเธอ บิลาล อิบน์ เราะบาอ์ ทาสอีกคนถูกทรมาณโดยอุมัยยะฮ์ อิบน์ เคาะลัฟ โดยการวางหินขนาดใหญ่บนหน้าอกของเขา[45][46]

ในปีค.ศ. 615 ผู้ติดตามมุฮัมมัดบางส่วนอพยพไปที่อาณาจักรอักซุม โดยอยู่ภายใต้ความคุ้มครองของจักรพรรดิคริสเตียนนะญาชี[13] อิบน์ สะอัด อัลบัฆดาดี รายงานถึงการอพยพ 2 ครั้ง โดยเขารายงานว่า มุสลิมส่วนใหญ่กลับไปที่มักกะฮ์เพื่อฮิจเราะห์ ในขณะที่อีกกลุ่มร่วมกันไปที่มะดีนะฮ์ แต่อย่างไรก็ตามส่วน อิบน์ ฮิชามกับมุฮัมมัด อิบน์ ญะรีร อัตตะบารี กล่าวว่ามีการอพยพแค่ครั้งเดียว รายงานจากจดหมายสำคัญของอุรวะฮ์ อิบน์ ซุบัยร์ มุสลิมส่วนใหญ่กลับมายังบ้านเกิดหลังจากศาสนาอิสลามมีความแข็งแกร่งมากขึ้น และอุมัรกับฮัมซะฮ์ เข้ารับอิสลาม[47]

ในปีค.ศ.617 ผู้นำจากเผ่ามัคซูมกับบนูอัดดุชชัมส์ สองเผ่าสำคัญของมักกะฮ์ ได้ลงนามคว่ำบาตรเผ่าบนูฮาชิม โดยมีผลแค่ 3 ปีแต่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง[48][49]

อิสรออ์กับมิอ์รอจญ์

ดูบทความหลักที่: อิสรออ์กับมิอ์รอจญ์
มัสยิดอัลอักศอที่ถูกสร้างในปีค.ศ. 705 ถูกเรียกเป็น "มัสยิดที่ไกลที่สุด"[50]

ในธรรมเนียมอิสลามได้กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่า ในปีค.ศ.620 มุฮัมมัดได้รับประสบการณ์ อิสรออ์กับมิอ์รอจญ์ เป็นการเดินทางในยามค่ำคืนที่เกิดขึ้นพร้อมกับมลาอิกะฮ์ญิบรีล โดย อิสรออ์ คือการเดินทางจากมักกะฮ์บนบุรอกไปถึง "มัสยิดที่ไกลที่สุด." ส่วน มิอ์รอจญ์ คือการเยี่ยมชมสวรรค์และนรก และทักทายกับศาสดาในยุคก่อน เช่น อิบรอฮีม, มูซา และอีซา[51] อิบน์ อิสฮัก กล่าวว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดในจิตวิญญาณ หลังจากนั้น นักประวัติศาสตร์ เช่นมุฮัมมัด อิบน์ ญะรีร อัตตะบารีกับอิบน์กะษีรกล่าวว่าเป็นการเดินทางทั้งร่างกาย[51]

ปีสุดท้ายก่อนฮิจเราะฮ์

โดมแห่งศิลา เป็นบริเวณที่มุสลิมเชื่อว่ามุฮัมมัดถูกยกขึ้นไปที่สวรรค์[52]

เคาะดีญะฮ์กับอบูฏอลิบ ภรรยาและลุงของมุฮัมมัด เสียชีวิตในปีค.ศ. 619 โดยปีนั้นรู้จักกันในชื่อว่า "ปีแห่งความเศร้าโศก" หลังอบูฏอลิบเสียชีวิตแล้ว อบูละฮับ ศัตรูที่ดื้อรั้นของมุฮัมมัด ได้กลายเป็นหัวหน้าคนต่อไปแล้วยกเลิกการป้องกันมุฮัมมัด นั่นทำให้ท่านอยู่ในสภาวะอันตราย เพราะการยกเลิกการป้องกันจะทำให้การหลั่งเลือดในการฆ่าท่านได้รับการยกเว้นโทษ ดังนั้น มุฮัมมัดจึงไปที่ฏออิฟ และหาผู้ปกป้อง แต่ล้มเหลวและทำให้เขาได้รับบาดเจ็บ[49] มุฮัมมัดจึงต้องเข้ามักกะฮ์ โดยชาวมักกะฮ์คนหนึ่งชื่อว่า มุตอิม อิบน์ อะดี (และผู้ปกป้องจากเผ่าบนูเนาฟัล) ได้พยายามทำให้ท่านเข้าเมืองได้อย่างปลอดภัย[49]

หลังจากการเจรจาที่ล้มเหลวหลายครั้ง ท่านให้ความหวังกับกลุ่มผู้ชายจากยัษริบ (หลังจากนั้นคือมะดีนะฮ์) ในเดือนมิถุนายน มีมุสลิม 75 คนมาแสวงบุญและพบกับมุฮัมมัดที่มักกะฮ์ โดยนัดพบกันลับ ๆ ในเวลากลางคืน กลุ่มคนเหล่านั้นได้ทำ "คำมั่นสัญญาครั้งที่สองที่อะกอบะฮ์" หรือในมุมมองของพวกตะวันออกว่า "คำมั่นสัญญาแห่งสงคราม"[53] หลังจากให้คำมั่นสัญญาแล้ว มุฮัมมัดสั่งให้ผู้ติดตามอพยพไปยังยัษริบ พวกกุเรชพยายามที่จะหยุดการอพยพ แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มมุสลิมเกือบทั้งหมดออกไปจากมักกะฮ์แล้ว[54]

ฮิจเราะฮ์

ดูบทความหลักที่: ฮิจเราะฮ์
ดูสารนิเทศเพิ่มเติมที่: อาชีพทางทหารของมุฮัมมัด

ฮิจเราะห์คือการอพยพกของมุฮัมมัดกับผู้ติดตามจากมักกะฮ์ไปที่มะดีนะฮ์ในปีค.ศ.622 ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 622 ได้มีการวางแผนลอบสังหารท่าน มุฮัมมัดได้ออกจากเมืองอย่างลับ ๆ และไปยังมะดีนะฮ์[55] ซึ่งอยู่ห่างจากมักกะฮ์ไป 450 กิโลเมตร (280 ไมล์) ทางตอนเหนือ[56]

อพยพไปมะดีนะฮ์

ดูบทความหลักที่: มุฮัมมัดในมะดีนะฮ์

มีการมอบหมายหน้าที่ในสภาของสิบสองชนเผ่าสำคัญแห่งมะดีนฮ์ ได้เชิญชวนให้มุฮัมมัดเป็นหัวหน้าของสังคมทั้งหมด เพราะว่าท่านมีสถานะเป็นกลาง[57][58] โดยมีการต่อสู้ในมะดีนะฮ์ ข้อแรกคือความขัดแย้งระหว่างชาวอาหรับกับชาวยิวที่มีมานานกว่าร้อยปีก่อนปีค.ศ. 620[57]

มุฮัมมัดได้บอกให้ผู้ติดตามให้อพยพไปมะดีนะฮ์ทั้งหมด ตามรายงานธรรมเนียมอิสลามว่า พวกมักกะฮ์วางแผนลอบสังหารมุฮัมมัด ด้วยความช่วยเหลือจากอะลี มุฮัมมัดจึงรอดจากการถูกฆ่า และหนีอออกไปจากเมืองกับอบูบักร์[59] ในปีค.ศ. 622 มุฮัมัมดได้อพยพไปยังมะดีนะฮ์ โดยใครที่อพยพมาจากมักกะฮ์จะถูกเรียกเป็น มุฮาญิรีน (ผู้อพยพ)

ก่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่

สิ่งแรกที่มุฮัมมัดทำเพื่อหยุคการแก้แค้นที่มีมานานระหว่างชนเผ่าในมะดีนะฮ์คือก่อร่างรัฐธรรมนูญประจำเมืองมะดีนะฮ์ หรือ "การสร้างพันธมิตรหรือสหพันธ์" ระหว่าง 8 ชนเผ่ามะดีนะฮ์กับมุสลิมที่อพยพมาจากมักกะฮ์ โดยให้สิทธิแก่ประชาชนทุกคนในมะดีนะฮ์ โดยเฉพาะชาวยิว และ "ชาวคำภีร์"[57][58]

กลุ่มแรกในมะดีนะฮ์ที่เข้ารับอิสลามเป็นชนเผ่าที่ไม่มีหัวหน้า[60] จากนั้นจึงตามมาด้วยการยอมรับศาสนาอิสลามโดยประชากรที่นับถือลัทธินอกศาสนาในมะดีนะฮ์ โดยมีข้อยกเว้น[61] ชาวมะดีนะฮ์ที่เข้ารับอิสลามและช่วยเหลือมุสลิมถูกเรียกว่า อันศอร (ผู้สนับสนุน)

เริ่มการใช้อาวุธในทางทหาร

สำหรับบรรดาผู้ (ที่ถูกโจมตีนั้น) ได้รับอนุญาตให้ต่อสู้ได้ เพราะพวกเขาถูกข่มเหง และแท้จริงอัลลอฮ์ทรงสามารถที่จะช่วยเหลือพวกเขาได้อย่างแน่นอน บรรดาผู้ที่ถูกขับไล่ออกจากบ้านเรือนของพวกเขา โดยปราศจากความยุติธรรม นอกจากพวกเขากล่าวว่า “อัลลอฮ์คือพระเจ้าของเราเท่านั้น” และหากว่าอัลลอฮ์ทรงขัดขวางมิให้มนุษย์ต่อสู้ซึ่งกันและกันแล้ว บรรดาหอสวด และโบสถ์ (ของพวกคริสต์) และสถานที่สวด (ของพวกยิว) และมัสยิดทั้งหลายที่พระนามของอัลลอฮ์ ถูกกล่าวรำลึกอย่างมากมาย ต้องถูกทำลายอย่างแน่นอน และแน่นอนอัลลอฮ์ จะทรงช่วยเหลือผู้ที่สนับสนุนศาสนาของพระองค์ แท้จริงอัลลอฮ์เป็นผู้ทรงพลัง ผู้ทรงเดชานุภาพอย่างแท้จริง

— กุรอาน (22:39–40)

หลังจากอพยพแล้ว ชาวมักกะฮ์ได้ยึดทรัพย์สินของชาวมุสลิมที่อพยพไปยังมะดีนะฮ์[62] และสงครามได้เกิดขึ้นระหว่างชาวมักกะฮ์กับมุสลิม ศาสดาได้บอกโองการจากอัลกุรอานที่อนุญาตให้มุสลิมต่อสู้ได้ (ดูซูเราะฮ์อัลฮัจญ์ กุรอาน 22:39–40).[63]รายงานจากธรรมเนียมมุสลิม ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 624 ในขณะละหมาดที่มัสยิดอัลกิบละตัยน์ในมะดีนะฮ์ มุฮัมมัดได้รับโองการจากอัลลอฮ์ให้เปลี่ยนกิบลัตจากเยรูซาเลมไปยังมักกะฮ์[64]

ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 624 มุฮัมมัดได้นำทหาร 300 นาย ไปโจมตีกองคาราวานของมักกะฮ์ โดยซุ่มอยู่ที่บัดร์[65] เนื่องจากรู้แผนแล้ว พวกมักกะฮ์จึงเลี่ยงเส้นทางนั้น แล้วถึงอย่างปลอดภัย และยุทธการที่บะดัรจึงเกิดขึ้น[66] ถึงแม้ว่าพวกมักกะฮ์มีจำนวนมากกว่ามุสลิมอยู่ 3 ต่อ 1 แต่ฝ่ายมุสลิมก็ชนะสงครามโดยชาวมักกะฮ์ถูกฆ่าไป 45 คน และฝ่ายมุสลิมถูกฆ่าไป 14 คน และได้ฆ่าหัวหน้าชาวมักกะฮ์คนสำคัญหลายคน เช่น อบูญะฮัล[67] มีการจับนักโทษ 70 คน โดยส่วนใหญ่ถูกไถ่แล้ว[68][69][70] มุฮัมมัดกับผู้ติดตามเห็นชัยชนะครั้งนี้เป็นการยืนยันความศรัทธา และท่านกล่าวว่าชัยชนะนี้เกิดจากกลุ่มเทวทูต อายะฮ์กุรอานในช่วงนั้นกล่าวถึงการจัดการปัญหาของรัฐบาลและปัญหาต่างๆ [71]

มุฮัมมัดได้สั่งเนรเทศเผ่าบนูกุร็อยเซาะฮ์ หนึ่งในสามชนเผ่ายิว ออกจากมะดีนะฮ์ แต่นักประวัติศาสตร์บางคนกล่าวว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากท่านเสียชีวิตไปแล้ว[72] รายงานจากอัลวะกีดี หลังจากอับดุลลอฮ์ อิบน์ อุบัยด์พูดกับพวกเขา มุฮัมมัดละเว้นการประหารชีวิต และสั่งให้พวกเขาเนรเทศออกจากมะดีนะฮ์[73] หลังจากสงครามนี้ มุฮัมมัดได้สร้างพันธมิตรกับชนเผ่าเบดูอินหลายเผ่า เพื่อปกป้องสังคมของท่านจากการโจมตีในบริเวณตอนเหนือของฮิญาซ

ความขัดแย้งกับมักกะฮ์

ดูบทความหลักที่: ยุทธการที่อุฮุด
"ศาสดามุฮัมมัดกับกองทัพมุสลิมที่ยุทธการที่อุฮุด" จาก Siyer-i Nebi ในปีค.ศ. 1595

ชาวมักกะฮ์ต้องการแก้แค้น เพื่อให้เศรษฐกิจกลับคืนมา พวกเขาต้องฟื้นฟูศักดิ์ศรีที่สูญเสียไปที่บัดร์[74] ไม่กี่เดือนต่อมา พวกมักกะฮ์ส่งหน่วยสอดแนมไปที่มะดีนะฮ์ ในขณะที่มุฮัมมัดเดินทางไปที่ชนเผ่าที่สวามิภักดิ์ต่อมักกะฮ์ และส่งหน่วยจู่โจมไปที่คาราวานมักกะฮ์[75] อบูซุฟยานได้เตรียมกองทัพ 3,000 คนไปโจมตีที่มะดีนะฮ์[76]

ในวันต่อมา หน่วยสอดแนมได้มาเตือนมุฮัมมัดถึงการมาและจำนวนทหารขงฝ่ายมักกะฮ์ เช้าวันต่อมา ได้มีการประชุมเกี่ยวกับสงคราม มุฮัมมัดกับผู้อาวุโสหลายคนมีมติว่าควรสู้ในมะดีนะฮ์ดีกว่า แต่ผ่ายมุสลิมโต้แย้งว่าฝ่ายมักกะฮ์ได้ทำลายพืชผล และการสู้รบในเมืองอาจทำลายศักดิ์ศรีของมุสลิม มุฮัมมัดจึงยอมรับฝ่ายมุสลิมและเตรียมกองทัพไปสู้รบที่ภูเขาอุฮุด (ที่ตั้งของค่ายชาวมักกะฮ์) แล้วสู้รบในสงครามอุฮุด เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 625[77][78] ถึงแม้ว่าฝ่ายมุสลิมมีความได้เปรียบในช่วงแรก แต่ความหละหลวมต่อยุทธวิธีของพลธนูทำให้ฝ่ายมุสลิมพ่ายแพ้ไป โดยถูกฆ่าไป 75 คน ซึ่งรวมไปถึงฮัมซะฮ์ อิบน์ อับดุลมุฏฏอลิบ ลุงของมุฮัมมัด พวกมักกะฮ์ไม่ได้ไล่ตามพวกมุสลิม แต่ได้รวมพลกลับมักกะฮ์เพื่อประกาศชัยชนะ เพราะพวกเขาคิดว่ามุฮัมมัดบาดเจ็บและคงตายไปแล้ว เมื่อพวกเขาพบว่ามุฮัมมัดยังไม่ตาย พวกมักกะฮ์จึงล้มเหลวต่อการกำจัดพวกมุสลิมให้สิ้นซาก[79][80] ชาวมุสลิมได้ฝังศพและกลับบ้านในเวลาเย็น แล้วถามถึงสาเหตุความพ่ายแพ้ มุฮัมมัดได้กล่าวอายะฮ์กุรอาน 3:152 ว่าสาเหตุการพ่ายแพ้มีอยู่สองอย่าง คือ: การไม่เชื่อฟัง และการทดสอบความแน่วแน่[81]

อบูซุฟยานได้นำกองทัพอีกกลุ่มไปโจมตีมะดีนะฮ์ โดยได้ผู้สนับสนุนจากชนร่อนเร่ในบริเวณตอนเหนือกับตะวันออกของมะดีนะฮ์ ผ่านการโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับจุดอ่อนของมุฮัมมัด สัญญาที่จะปล้น ความทรงจำในศักดิ์ศรีของเผ่ากุเรช และสินบน[82] มุฮัมมัดรู้ถึงความดื้อดึงต่อผู้คนในมะดีนะฮ์ และตอบสนองอย่างดี[83] ตัวอย่างแรกคือ การลอบสังหารกะอับ อิบน์ อัลอัชรอฟ หัวหน้าเผ่ายิวบนูนาดีร อัลอัชรอฟไปยังมักกะฮ์แล้วเขียนกวีให้ชาวมักกะฮ์แก้แค้นต่อสงครามบะดัร[84][85] ในปีต่อมา มุฮัมมัดได้เนรเทศเผ่าบนูนาดีรไปจากมะดีนะฮ์[86]โดยบังคับให้อพยพไปที่ซีเรีย ซึ่งทำให้ศัตรูรวมกันเป็นหนึ่งเพื่อทำลายท่านเสีย มุฮัมมัดพยายามหลีกเลี่ยงการรวมตัวของพวกเขาแต่ล้มเหลว ถึงแม้ว่าท่านสามารถเพิ่มจำนวนพลทหารและหยุดชนเผ่าอื่นเข้าร่วมฝ่ายศัตรูก็ตาม[87]

การล้อมมะดีนะฮ์

ดูบทความหลักที่: ยุทธการสนามเพลาะ
มัสยิด อัลกิบละตัยน์ เป็นที่ที่มุฮัมมัดได้กิบลัตใหม่

ด้วยความช่วยเหลือจากบนูนะดีรที่ถูกเนรเทศ พวกกุเรชที่นำโดยอบูซุฟยานได้นำทหารมาสู้รบ 10,000 คน ในขณะที่มุฮัมมัดมีทหารเพียง 3,000 คนและนำวิธีการป้องกันที่ผู้คนในอาระเบียยังไม่ค่อยรู้จักกันในเวลานั้น; พวกมุสลิมได้ขุดสนามเพลาะรอบบริเวณที่โล่ง โดยได้ความคิดนี้จากซัลมาน ฟารซี ชาวเปอร์เซียผู้เข้ารับอิสลาม ยุทธวิธีในมะดีนะฮ์เริ่มขึ้นในวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 627 โดยกินระยะเวลาไป 2 สัปดาห์[88] กองทัพของอบูซุฟยานไม่ได้เตรียมแผนนี้ และหลังจากล้อมเป็นเวลานาน ฝ่ายสหพันธ์ได้ตัดสินใจกลับบ้านไป[89] ในกุรอานได้กล่าวไว้ในซูเราะฮ์อัลอะฮ์ซาบ อายะฮ์ที่ 33:9–27.[44]ในระหว่างสงครามนั้น ชนเผ่ายิวแห่งบนูกุร็อยเซาะฮ์ที่อยู่ทางใต้ของมะดีนะฮ์ ได้เข้าร่วมกับฝ่ายมักกะฮ์เพื่อก่อกบฏต่อมุฮัมมัด[90] หลังจากฝ่ายสหพันธ์ล่าถอยแล้ว ฝ่ายมุสลิมได้กล่าวหาบนูกุร็อยเซาะฮ์ต่อการทรยศ และปิดล้อมรอบป้อมเป็นเวลา 25 วัน บนูกุร็อยเซาะฮ์จึงยอมแพ้ รายงานจากอิบน์ อิสฮาก ผู้ชายทุกคนโดนตัดหัว ยกเว้นคนที่เข้ารับอิสลามบางส่วน ในขณะที่ผู้หญิงและเด็กกลายเป็นทาส[91][92] วาลิด เอ็น. อะรอฟัต กับบะรอกัต อะฮ์มัดได้ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความแม่นยำของรายงานนี้[93] อะรอฟัตเชื่อว่ารายงานนี้ ถูกกล่าวโดยชาวยิวที่พูดกันเป็นเวลา 100 ปีหลังจากเหตุการณ์นั้น และถือว่า อิบน์ อิสฮาก เป็นนักประวัติศาสตร์ที่ไม่น่าเชื่อถือโดยมาลิก อิบน์ อะนัส[94] อะฮ์มัดได้โต้แย้งว่ามีเผ่าไม่กี่กลุ่มที่ถูกฆ่า ในขณะที่อีกส่วนถูกขายเป็นทาส[95][96]

ในการล้อมมะดีนะฮ์ครั้งนั้น ทำให้พวกมักกะฮ์สูญเสียศักดิ์ศรี และการค้ากับซีเรียได้ล่มสลายลง[97] หลังจากยุทธการสนามเพลาะ มุฮัมมัดได้เดินทางไปทางเหนือสองแห่ง และจบลงโดยไม่มีการต่อสู้ทั้งคู่ ในขณะกลับมานั้น (หรือในปีก่อนตามรายงานบางอัน) ได้มีการใส่ความอาอิชะฮ์ว่าเธอผิดประเวณี แต่เธอรอดพ้นจากข้อกล่าวหาเม่อมุฮัมมัดประกาศว่า ท่านได้โองการใหม่เกี่ยวกับความบริสุทธิ์ของอาอิชะฮ์ และกฎของการเป็นพยานของล่วงละเมิดประเวณี คือมีพยาน 4 คน (ซูเราะฮ์ที่ 24, อันนูร).[98]

สนธิสัญญาฮุดัยบิยะฮ์

ดูบทความหลักที่: สนธิสัญญาฮุดัยบิยะฮ์
"ด้วยนามของพระองค์ โอ้อัลลอฮ์!
นี่คือสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างมุฮัมมัด อิบน์ อับดุลลอฮ์ กับสุฮัยล์ อิบน์ อัมร์ เรายินยอมไม่ก่อสงครามไปเป็นเวลา 10 ปี ในช่วงระยะเวลานั้นแต่ละกลุ่มควรได้รับการปกป้อง และห้ามใครก็ตามทำร้ายอีกกลุ่ม... ใครก็ตามในอาระเบียที่ยินยอมที่จะลงนามหรือเข้าร่วมกับมุฮัมมัด สามารถทำได้ และใครก็ตามที่ยินยอมที่จะลงนามหรือเข้าร่วมกับพวกกุเรช ก็สามารถทำได้เช่นกัน และถ้าพวกกุเรชมาโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง เขาควรถูกส่งกลับไปยังพวกกุเรช แต่ถ้าใครคนหนึ่งจากมุฮัมมัดมายังพวกกุเรช เขาจะไม่ถูกส่งกลับไปยังมุฮัมมัด ณ ปีนี้ มุฮัมมัดกับผู้ติดตาม ต้องถอนตัวออกจากมักกะฮ์ แต่ในปีหน้า พวกท่านสามารถมามักกะฮ์ได้และอยู่ได้เพียงสามวัน โดยห้ามเอาอาวุธใด ๆ มา นอกจากดาบในฝักไว้ป้องกันตัว"

—คำแถลงในสนธิสัญญาฮุดัยบิยะฮ์[99]

กะอ์บะฮ์ในมักกะฮ์เป็นจุดศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจกับศาสนา หลังจากมุฮัมมัดไปที่มะดีนะฮ์ 17 เดือน มันได้กลายเป็นกิบลัตของชาวมุสลิมสำหรับละหมาด กะอ์บะฮ์ถูกสร้างใหม่หลายรอบ; อาคารหลังปัจจุบันถูกสร้างในปีค.ศ. 1629 ซึ่งเป็นการสร้างทับอาคารหลังเก่าที่สร้างในปีค.ศ.683.[100]

ถึงแม้ว่ามุฮัมมัดได้กล่าวโองการเกี่ยวกับการทำฮัจญ์[101] ชาวมุสลิมยังคงทำไม่ได้เพราะความเป็นปฏิปักษ์ของพวกกุเรช ในเดือนเชาวาล ค.ศ.628 มุฮัมมัดได้สั่งให้ผู้ติดตามนำสัตว์ที่จะมาเชือดพลี และเตรียมตัวไปแสวงบุญ (อุมเราะฮ์) ที่มักกะฮ์[102]หลังจากได้ยินเสียงชาวมุสลิมประมาณ 1,400 ที่กำลังเดินทางมา พวกกุเรชได้นำทหารม้า 200 คนเพื่อหยุดพวกเขา มุฮัมมัดเลี่ยงพวกมักกะฮ์โดยเลือกใช้เส้นทางที่ลำบากกว่า ซึ่งทำให้ผู้ติดตามถึงฮุดัยบิยะฮ์ ซึ่งอยู่แค่รอบนอกมักกะฮ์[103]

ในขณะที่รออยู่ตรงนั้น มีคนบอกข่าวลือว่า อุษมานถูกฆ่าโดยชาวกุเรช มุฮัมมัดจึงเรียกผู้แสวงบุญเพื่อทำสัญญาว่าจะไม่หนีไป (หรืออยู่กับมุฮัมมัด โดยไม่สนว่าจะมีการตัดสินใจเป็นอย่างไร) ถ้าสถานการณ์นำพาไปสู่สงครามกับมักกะฮ์ การปฏิญาณเป็นที่รู้จักกันในชื่อ "ปฏิญาณแห่งการยอมรับ" หรือ "ปฏิญาณใต้ต้นไม้" แล้วมีข่าวว่าอุษมานปลอดภัย และทำสัญญาสงบศึกเป็นเวลา 10 ปีระหว่างพวกกุเรชกับมุสลิม[103][104] จุดประสงค์หลักของสัญญาคือ: การหยุดสงคราม, ให้มุฮัมมัดทำการแสวงบุญในปีหน้า และยอมรับที่จะส่งชาวมักกะฮ์ที่มามะดีนะฮ์โดยไม่ได้รับอนุญาตกลับบ้าน[103]

มุสลิมหลายคนไม่ยินดีกับสัญญานี้ อย่างไรก็ตาม กุรอานซูเราะฮ์ "อัลฟัตฮ์" (ชัยชนะ) (กุรอาน 48:1–29) สร้างความมั่นใจว่าการเดินทางนี้จะต้องเป็นชัยชนะแน่นอน[105]

หลังจากสงนามสัญญาแล้ว มุฮัมมัดได้รวมกองทัพเดินทางไปที่โอเอซิสของชนเผ่ายิวแห่งค็อยบัร ซึ่งทำให้เกิดสงครามค็อยบัร โดยมีสาเหตุจากเผ่าบนูนาดีรที่ถูกเนรเทศโดยมุฮัมมัด หรือเพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรีในความไม่ลงเอยของสนธิสัญญาฮุดัยบิยะฮ์[76][106] รายงานจากธรรมเนียมมุสลิม มุฮัมมัดได้ส่งจดหมายแก่ผู้นำหลายคน เพื่อเชิญชวนให้เข้ารับอิสลาม[107][108] ท่านส่งผู้ส่งสาร (พร้อมจดหมาย) ไปยังจักรพรรดิเฮราคลิอัสแห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์ (จักรวรรดิโรมันตะวันออก), คุสโรแห่งเปอร์เซีย, ผู้นำแห่งเยเมน และคนอื่น ๆ[107][108] ในปีต่อมา มุฮัมมัดได้นำกองทัพโจมตีเผ่าอาหรับที่ทรานส์จอร์แดเนียในสงครามมุตอะฮ์[109]

ช่วงปีสุดท้าย

การพิชิตมักกะฮ์

มุฮัมมัด (คนที่คลุมหน้า) เดินทางไปมักกะฮ์ โดยมีเทวทูตญิบรีล มิกาอีล อิสรอฟีล อิสรออีลอยู่เหนือท่าน ภาพจาก Siyer-i Nebi ศตวรรษที่ 16

สนธิสัญญาฮุดัยบิยะฮ์ถูกใช้แค่ 2 ปี[110][111]เพราะเผ่าบนูคุซาอะฮ์มีความสัมพันธ์ที่ดีกับมุฮัมมัด ในขณะที่ศัตรูของพวกเขาซึ่งเป็นเผ่าบนูบักร์ได้เป็นพันธมิตรกับมักกะฮ์[110][111] เผ่าบนูบักร์ได้โจมตีเผ่าคุซาอะฮ์ในเวลากลางคืน และฆ่าไปบางคน[110][111] พวกมักกะฮ์ได้ช่วยเหลือบนูบักร์อย่างดี และในบางรายงานกล่าวว่า มีพวกมักกะฮ์บางคนเข้าร่วมด้วย[110] หลังจากเหตุการณ์นั้น มุฮัมมัดได้ส่งจดหมายแก่ชาวมักกะฮ์ โดยมีสามเงื่อนไข และต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ: พวกมักกะฮ์อาจต้องจ่ายด้วยเลือดสำหรับการฆ่าคนจากเผ่าบนูคุซาอะฮ์, ประกาศปฏิเสธการกระทำของพวกบนูบักร์ หรือทำให้สนธิสัญญาฮุดัยบิยะฮ์เป็นโมฆะ[112]

พวกมักกะฮ์ได้เลือกข้อสุดท้าย (สัญญาเป็นโมฆะ)[112] จากนั้นพวกเขาจึงรู้ถึงความผิดพลาด และส่งอบูซุฟยานไปเพื่อทำสัญญาใหม่ แต่มุฮัมมัดปฏิเสธ

มุฮัมมัดเรื่มเตรียมการพิชิตขึ้นในปีค.ศ. 630[113] มุฮัมมัดเดินทางไปมักกะฮ์พร้อมกับมุสลิม 10,000 คน แล้วควบคุมมักกะฮ์ได้[114] ท่านประกาศนิรโทษกรรมแก่ทุกคน ยกเว้นชายและหญิง 10 คนที่ "มีความผิดจากการฆ่าคนหรืออื่น ๆ หรือก่อสงครามและทำลายสันติภาพ"[115] บางคนถูกให้อภัยในภายหลัง[116] ชาวมักกะฮ์ส่วนใหญเข้ารับอิสลาม และมุฮัมมัดเริ่มดำเนินการทำลายรูปปั้นเทพเจ้าอาหรับทั้งหมดจากข้างในและรอบกะอ์บะฮ์[117][118] รายงานจากอิบน์อิสฮักกับอัลอัซรอดี มุฮัมมัดที่ได้งดเว้นภาพหรือเฟรสโกของพระแม่มารีย์กับพระเยซู แต่ในรายงานอื่นกล่าวว่า ภาพทุกรูปถูกลบหมด[119] ในอัลกุรอานได้กล่าวถึงเหตุการณ์พิชิตมักกะฮ์[44][120]

การพิชิตคาบสมุทรอาหรับ

การพิชิตของมุฮัมมัด (เส้นเขียว) กับเคาะลีฟะฮ์อัรรอชิดูน (เส้นดำ) โดยมีจักรวรรดิไบเซนไทน์ (เหนือกับตะวันตก) กับแซดซานิด (ตะวันออกเฉียงเหนือ) อยู่ในแผนที่

หลังจากพิชิตมักกะฮ์แล้ว ฝ่ายสหพันธ์ของเผ่าฮะวาซินที่มีกองทัพมากกว่ามุฮัมมัดถึงสองเท่า ซึ่งเป็นศัตรูเก่าของมักกะฮ์ พวกเขาได้ร่วมกันกับบนูษะกีฟ (ที่อาศัยอยู่ในฏออิฟ) เพื่อทำลายศักดิ์ศรีของชาวมักกะฮ์[121] มุฮัมมัดเอาชนะเผ่าฮะวาซินกับษะกีฟที่สงครามฮุนัยน์

ในปีเดียวกัน มุฮัมมัดได้โจมตีบริเวณอาระเบียตอนเหนือ เพราะพวกเขาพ่ายแพ้ในสงครามมุตอะฮ์กับรายงานความดื้อดึงต่อมุสลิม ที่ต้องนำชาย 30,000 คน; ครึ่งหนึ่งกลับบ้านไปในวันที่สองของการเดินทางโดยอับดุลลอฮ์ อิบน์ อุบัย ถึงแม้ว่ามุฮัมมัดไม่ได้ข้องเกี่ยวกับกองกำลังที่ดื้อดึงที่ตะบูก แต่ท่านได้จดหมายจากผู้นำท้องถิ่นของแคว้นนั้น[122]

ท่านได้สั่งให้ทำลายรูปปั้นในบริเวณตะวันออกของอาระเบีย เมืองสุดท้ายที่ยังมีรูปปั้นในอาระเบียตะวันตกคือฏออิฟ มุฮัมมัดปฏิเสธที่จะให้เมืองหนึ่งยอมแพ้ จนกว่าพวกเขาจะเข้ารับอิสลามและทำลายรูปปั้นของเทพีอัลลาต[123][124][125]

ในปีต่อมาหลังสงครามตะบูก เผ่าบนูษะกีฟได้ส่งทูตมาเพื่อยอมแพ้และเข้ารับอิสลาม ชนเผ่าเบดูอินหลายเผ่าขอให้มุฮัมมัดปกป้องเผ่าของพวกเขา และได้กำไรจากสงคราม แต่อย่างไรก็ตาม เผ่าเบดูอินยังคงแปลกใหม่ต่อระบอบอิสลาม และยังต้องการเป็นอิสระ มุฮัมมัดจึงให้เงื่อนไขทางทหารกับการเมืองว่า "ให้รับรองอำนาจของมะดีนะฮ์ เพื่อละเว้นจากการโจมตีของมุสลิมและพันธมิตร และต้องจ่ายซะกาต"[126]

ฮัจญ์อำลา

ดูบทความหลักที่: ฮัจญ์อำลา
ดูเพิ่มเติมที่: เหตุการณ์ที่ฆอดิรคุมม์
ภาพใน The Remaining Signs of Past Centuries ของอะบู เรฮัน อัลบิรูนี แสดงภาพมุฮัมมัดห้ามนะซีอ์ (การเลื่อนเดือน) ในช่วงฮัจญ์อำลาฉบับของออตโตมันในศตวรรษที่ 17 จากฉบับของศตวรรษที่ 14 (เอดินบะระโคเด็กซ์)

ในปีค.ศ.632 ปลายปีที่ 10 ของการอพยพไปยังมะดีนะฮ์ มุฮัมมัดได้ทำพิธีฮัจญ์อย่างสมบูรณ์ครั้งแรก ณ วันที่ 9 ของซุลหิจญะฮฺ มุฮัมมัดได้กล่าวบทเทศนาสุดท้ายที่เขาอะรอฟาตที่อยู่ทางตะวันออกของมักกะฮ์ ในการเทศนาครั้งนั้น ท่านสั่งให้ผู้ศรัทธาห้ามทำสิ่งที่มีก่อนการมาของอิสลาม อาทิ ท่านกล่าวว่าคนผิวขาวไม่ได้เหนือกว่าคนผิวดำ และคนผิวดำก็ไม่ได้เหนือไปกว่าคนผิวขาว เว้นแต่กตัญญูและการกระทำที่ดี[127] ท่านยกเลิกการล้างแค้นและยกเลิกระบอบชนเผ่า มุฮัมมัดกล่าวแก่ผู้ชายว่า "จงทำดีแก่ผู้หญิง..." ท่านบอกกับพวกเขาว่าจงให้สิทธิแก่ภรรยาแต่ต้องทำด้วยความมีเมตตา ท่านได้ยกย่องถึงความศักดิ์สิทธิ์ของ 4 เดือนต้องห้าม[128][129] รายงานจากตัฟซีรของซุนนี อายะฮ์สุดท้ายของอัลกุรอานถูกประทานว่า: "...วันนี้ข้าได้ให้สมบูรณ์แก่พวกเจ้าแล้ว ซึ่งศาสนาของพวกเจ้าและข้าได้ให้ครบถ้วนแก่พวกเจ้าแล้ว ซึ่งความกรุณาเมตตาของข้า และข้าได้เลือกอิสลามให้เป็นศาสนาแก่พวกเจ้าแล้ว..." (กุรอาน 5:3).[13] ส่วนรายงานจากชีอะฮ์ ได้กล่าวถึงการแต่งตั้งอะลีที่บ่อแห่งคุมม์ในฐานะผู้สืบทอดของมุฮัมมัด[130]

เสียชีวิตและที่ฝังศพ

ไม่กี่เดือนหลังจากฮัจญ์อำลา มุฮัมมัดได้ป่วยลงและตัวร้อน ปวดหัว และอ่อนแอเป็นเวลาหลายวัน ท่านเสียชีวิตในวันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน ค.ศ. 632 ในมะดีนะฮ์ ตอนอายุ 62 หรือ 63 ปี ในบ้านของอาอิชะฮ์ ภรรยาของท่าน[131]

รายงานจาก สารานุกรมอิสลาม สาเหตุการเสียชีวิตของมุฮัมมัดอาจเกิดจากไข้ในมะดีนะฮ์ที่ทำให้รุนแรงขึ้นทั้งทางร่างกายและจิตใจ[132]

ท่านถูกฝังอยู่ในบ้านของอาอิชะฮ์[133][134] ในรัชสมัยของอัลวะลีดที่ 1 มัสยิดอันนะบะวีถูกขยายจนรวมบริเวณสุสานของมุฮัมมัด[135] ส่วนโดมเขียวเหนือสุสานถูกสร้างขึ้นในรัชสมัยของสุลต่านอัลมันศูร เกาะละวุนในศตวรรษที่ 13 ถึงแม้ว่าสีเขียวของมันจะถูกทาในศตวรรษที่ 16 ในรัชสมัยของสุลต่านสุลัยมานผู้เกรียงไกร.[136] ในสุสานเหล่านั้น มีสหายของท่าน (เศาะฮาบะฮ์) ที่เป็นเคาะลีฟะฮ์สององค์แรกคืออะบูบักร์กับอุมัร และห้องที่ว่างไว้ ซึ่งเชื่อว่าได้เตรียมไว้ให้กับอีซา[134][137][138]เมื่อซะอูด อิบน์ อับดุลอะซีซ อิบน์ มุฮัมมัด อิบน์ ซะอูดยึดครองมะดีนะฮ์ในปีค.ศ. 1805 เพชรและทองที่ประดับอยู่หน้าสุสานถูกนำออกไป[139] โดยผู้สนับสนุนวะฮาบีย์ได้ทำลายโดมสุสานทั้งหมดในมะดีนะฮ์เพื่อหลีกเลี่ยงความเลื่อมใส[139]และสุสานของมุฮัมมัดรอดได้อย่างหวุดหวิด[140] และเหตุการณ์เดียวกัที่เกิดขึ้นในปีค.ศ.1925 เมื่อกองกำลังติดอาวุธของซาอุยึดเมืองอีกครั้ง[141][142][143] แต่ในครั้งนี้ การฝังศพจะไม่ถูกเขียนชื่อ[140] ถึงแม้ว่ามันยังคงผิดหวัง เพราะผู้แสวงบุญหลายคนยังคงมาซิยาเราะฮ์—เยี่ยมชม—ที่สุสานอยู่ดี[144][145]

มัสยิดอันนะบะวี ("มัสยิดของท่านศาสดา") ในมะดีนะฮ์, ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีโดมเขียวถูกสร้างบนสุสานของมุฮัมมัดอยู่ตรงกลางภาพ

หลังมุฮัมมัดเสียชีวิต

การขยายตัวของรัฐเคาะลีฟะฮ์ ตั้งแต่ปีค.ศ.622–750
  มุฮัมมัด ค.ศ. 622–632
  รัฐเคาะลีฟะฮ์รอชิดีน ค.ศ. 632–661
  รัฐเคาะลีฟะฮ์อุมัยยะฮ์ ค.ศ. 661–750

มุฮัมมัดได้รวมชนเผ่าในอาระเบียให้กลายเป็นหนึ่ง หลังจากท่านเสียชีวิตแล้ว ได้มีการโต้แย้งว่าใครควรเป็นผู้สืบทอดคนต่อไป[146] อุมัร เศาะฮาบะฮ์ที่โดดดัง ได้เลือกอะบูบักร์ เพื่อนของมุฮัมมัด เป็นเคาะลีฟะฮ์คนแรก โดยยังคงโต้แย้งกับผู้ติดตามของมุฮัมมัดที่เลือกอะลี ลูกพี่ลูกน้องของท่าน ให้เป็นผู้สืบทอดโดยมุฮัมมัดที่ฆอดิรคุมม์ อะบูบักร์ได้โจมตีจักรวรรดิไบเซนไทน์ (หรือจักรวรรดิโรมันตะวันออก) เพราะความพ่ายแพ้ในช่วงแรก ถึงแม้ว่าจะต้องจัดการกับกบฎชาวอาหรับ นักประวัติศาสตร์ชาวมุสลิมกล่าวถึงเหตุการณ์นั้นว่า สงครามริดดะฮ์ หรือ "สงครามต่อผู้ละทิ้งศาสนา"[147]

ใกล้เคียง

มุฮัมมัด มุฮัมมัด เศาะลาห์ มุฮัมมัด บิน รอชิด อาล มักตูม มุฮัมมัด ซัยยิด ฏ็อนฏอวี มุฮัมมัด อัลบุคอรี มุฮัมมัด บิน ซัลมาน มุฮัมมัด อิบน์ อับดุลวะฮ์ฮาบ มุฮัมมัด อุมัร มุฮัมมัด อัลอิดรีซี มุฮัมมัด อับดุฮ์

แหล่งที่มา

WikiPedia: มุฮัมมัด //www.amazon.com/dp/B000BWQ7N6 http://bahai-library.com/buck_eschatology_globaliz... http://referenceworks.brillonline.com/entries/ency... http://www.britannica.com/EBchecked/topic/396226/M... http://www.britannica.com/eb/article-9105853/Muham... http://www.islamhouse.com/p/51772 http://www.islammore.com/main/content.php?page=sub... http://jewishencyclopedia.com/articles/10918-moham... http://thai.mindcyber.com/modules.php?name=Section... http://www.nybooks.com/articles/archives/1988/jan/...