บทสรุป ของ สงครามดอกกุหลาบ

ดอกกุหลาบทิวดอร์สัญลักษณ์ของราชวงศ์ทิวดอร์ที่เป็นราชวงศ์ใหม่ที่เกิดจากการรวมราชวงศ์แลงแคสเตอร์และราชวงศ์ยอร์คโดยการเสกสมรสระหว่างเฮนรี ทิวดอร์และพระนางเอลิซาเบธแห่งยอร์ก

แม้ว่านักประวัติศาสตร์จะยังคงโต้แย้งกันถึงความกระทบกระเทือนของความขัดแย้งของสงครามดอกกุหลาบต่อชีวิตในยุคกลางของอังกฤษ แต่ที่แน่คือสงครามครั้งนี้เป็นสงครามที่สร้างความระส่ำระสายทางการเมืองและความเปลี่ยนแปลงทางดุลยภาพของอำนาจทางการเมือง สิ่งที่ได้รับผลกระทบกระเทือนมากที่สุดคือการสลายตัวของราชวงศ์แพลนทาเจเน็ทที่มาแทนที่ด้วยผู้นำของราชวงศ์ทิวดอร์ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในอังกฤษเป็นอันมากในปีต่อ ๆ มา หลังจากสมัยของสมเด็จพระเจ้าเฮนรีแล้วราชวงศ์แพลนทาเจเน็ทที่ยังพอมีเหลืออยู่บ้างแต่ก็ไม่มีผู้ใดที่จะอ้างได้ว่ามีสิทธิในราชบัลลังก์โดยตรงได้ โดยเฉพาะเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงหนุนหลังให้ฝักฝ่ายย่อยขัดแย้งกันเอง

การสงครามทำให้ขุนนางเสียชีวิตกันไปเป็นจำนวนมากที่เป็นผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมระบบศักดินาของอังกฤษ ที่ทำให้อำนาจของขุนนางอ่อนแอลงขณะเดียวกันอำนาจของชนชั้นพ่อค้าก็เพิ่มขึ้น การปกครองโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางของอำนาจของราชวงศ์ทิวดอร์เป็นการสร้างเสริมให้ระบบพระมหากษัตริย์ของอังกฤษแข็งแกร่งขึ้น ซึ่งเป็นการสิ้นสุดของยุคกลางของอังกฤษและก้าวเข้าสู่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา

แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งการชี้ให้เห็นถึงความเสียหายอันใหญ่หลวงของสงครามดอกกุหลาบก็อาจจะเป็นเครื่องมือที่พระเจ้าเฮนรีที่ 7 ทรงใช้ในการช่วยแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของพระองค์ในการนำมาซึ่งความสันติในบั้นปลายก็เป็นได้ แต่จะอย่างไรก็ตามผลกระทบกระเทือนต่อชนชั้นพ่อค้าและแรงงานในการเป็นสงครามอันยืดเยื้อในการล้อมเมืองหรือปล้นเมืองก็ยังน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสหรือประเทศอื่น ๆ ในยุโรปที่ประสบกับสงครามอันยาวนาน แม้ว่าจะมีการล้อมที่เนิ่นนานอยู่บ้างเช่นการล้อมปราสาทฮาร์เล็ค แต่ก็เป็นการล้อมสถานที่ที่ไกลผู้ไกลคน ในบริเวณที่มีประชากรหนาแน่นถ้ามีการสู้รบกันขึ้นก็จะสร้างความเสียหายอันไม่ควรค่าให้แก่ทั้งสองฝ่าย ฉะนั้นการต่อสู้ส่วนใหญ่จึงเป็นการต่อสู้ที่มีการนัดกันล่วงหน้าในการเลือกจุดที่จะทำการต่อสู้ (pitched battle)

สงครามดอกกุหลาบไม่ได้ช่วยอิทธิพลของอังกฤษในฝรั่งเศสที่เริ่มลดลงอยู่แล้ว เมื่อเสร็จสิ้นสงครามดินแดนที่เคยได้มาระหว่างสงครามร้อยปีก็ไม่มีเหลืออยู่อีกเลยนอกไปจากคาเลส์ซึ่งก็มาเสียให้แก่ฝรั่งเศสระหว่างรัชสมัยของพระนางแมรี แม้ว่าพระมหากษัตริย์อังกฤษจะพยายามรณรงค์ในยุโรป แต่อังกฤษก็ไม่สามารถยึดดินแดนใดใดที่เสียไปคืนมาได้ ดัชชี และราชอาณาจักรต่าง ๆ ในยุโรปมีบทบาทโดยตรงต่อผลของความพยายามของอังกฤษ โดยเฉพาะเมื่อพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสและดยุกแห่งเบอร์กันดียุยงฝักฝ่ายในอังกฤษให้มีความขัดแย้งกันเองโดยการสัญญาว่าจะให้ความช่วยเหลือทางการเงินหรือทางการทหาร หรือให้ที่พำนักแก่พระราชวงศ์ ขุนนาง หรือผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์ผู้มาลี้ภัย ซึ่งเป็นสร้างสถานการณ์ที่ช่วยเพิ่มความแตกแยกขึ้นในอังกฤษซึ่งเป็นผลทำให้อ่อนแอลง

เมื่อสงครามยุติลงก็เท่ากับเป็นการสิ้นสุดของกองทัพส่วนตัวของขุนนางผู้มีอำนาจ ระเจ้าเฮนรีผู้ทรงต้องการที่จะยุติความขัดแย้งระหว่างขุนนางก็ทรงพยายามโดยการควบคุมขุนนางอย่างไม่ให้ห่างพระหัตถ์ และไม่ทรงอนุญาตให้ขุนนางมีสิทธิในการรวบรวมกองกำลัง อาวุธ และ เลี้ยงกองทัพเพื่อที่จะไม่ให้สามารถก่อความขัดแย้งระหว่างกัน หรือลุกขึ้นมาต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ ฉะนั้นอำนาจทางทหารของบารอนจึงลดถอยลงไปเป็นอันมาก และราชสำนักทิวดอร์อันมีอำนาจกลายเป็นสถานที่สำหรับการตัดสินข้อขัดแย้งระหว่างขุนนางด้วยอิทธิพลของพระเจ้าแผ่นดิน

ระหว่างสงครามก็แทบจะไม่มีการยุบเลิกตำแหน่งขุนนางใดใด เช่นในระหว่าง ค.ศ. 1425 ถึง ค.ศ. 1449 ก่อนที่สงครามจะเริ่มขึ้นก็มีการยุบตำแหน่งขุนนางไป 25 ตำแหน่ง พอพอกับ 24 ตำแหน่งที่ยุบไประหว่างการต่อสู้ระหว่าง ค.ศ. 1450 ถึง ค.ศ. 1474[15] แต่ขุนนางที่มีความทะเยอทะยานสูงเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก มาถึงสมัยต่อมาก็แทบจะไม่มีขุนนางที่เต็มใจที่จะสละชีพในการต่อสู้ที่ไม่มีผลที่จะทราบได้แน่นอน

ใกล้เคียง

สงครามโลกครั้งที่สอง สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามเวียดนาม สงครามกลางเมืองอเมริกา สงครามแปซิฟิก สงครามเกาหลี สงครามอ่าว สงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง สงครามครูเสด สงครามกัมพูชา–เวียดนาม